<< Back
" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2544 "
(น.78) เมื่อจบจากวิทยาลัยครูในปักกิ่งเมื่อ ค.ศ.1918 เหล่าเซ่อทำงานเป็นครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษา เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจราชการทางการศึกษา บริเวณชานเมืองด้านเหนือของปักกิ่ง ค.ศ.1924
เดินทางไปอังกฤษไปสอนภาษาจีนที่ SOAS (School of Oriental and African Studies) วิชาที่สอนร่วมกับศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ มีภาษาพูดจีน แปล
(ทั้งภาษาทางการและภาษาพูด) เอกสารจีนคลาสสิก และเอกสารประวัติศาสตร์ เอกสารศาสนาเต๋าและพุทธ การเขียนภาษาจีน เป็นต้น ขณะนั้นใช้ชื่อว่า Colin C. Shu ตนเองก็เรียนภาษาอังกฤษจากเพื่อน
ในเวลาว่างเริ่มเขียนนวนิยาย ปรัชญาของเหล่าจัง เจ้าจื่อเย เอ้อร์หม่า และเรื่องอื่นๆ ได้ช่วย Clement Egerton แปลเรื่อง จิน ผิงเหม่ย ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Golden Lotus เป็นคนอ่านเสียงภาษาจีนในลิงกัวโฟนสอนภาษาอังกฤษ
ค.ศ.1930 กลับจากอังกฤษไปสอนที่มหาวิทยาลัยฉีหลู เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง และสอนที่มหาวิทยาลันซานตงด้วย ขณะนั้นอยู่ที่ชิงเต่า ช่วงนั้นเขียนเรื่อง บันทึกเมืองแมว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงมาก
เรื่อง หย่าร้าง และนวนิยายอื่นๆ นิทรรศการแสดงภาพตอนแต่งงาน รูป และของขวัญที่ได้รับเมื่อแต่งงาน ทะเบียนสมรสยังอยู่ ที่ชิงเต่าเขียนเรื่อง คนลากรถ ซึ่งถือว่าเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่แต่งเมื่อเป็นนักเขียนอาชีพ เป็นเรื่องที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุด ภาษาไทยก็มี และมีคนนำไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ งิ้ว ละครพูด ไต้หวันก็เอาไปเล่น ละครพูดที่มีชื่อเสียงอีกเรื่องคือเรื่อง ร้านน้ำชา
ไปห้องด้านตรงข้าม เป็นห้องที่คนอธิบายเคยอยู่ตอนเด็กๆ เล่าประวัติตอนสมัยต่อต้านญี่ปุ่น เหล่าเซ่อไปฉงชิ่ง (จุงกิง) คนเดียวทิ้งครอบครัวที่ปักกิ่ง ตอนนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมนักเขียน
ไปรู้จักกับโจวเอินไหล เหล่าเซ่อมีหน้าที่เขียนปลุกใจประชาชนให้ลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น คนทั่วๆ ไปที่ไม่มีความรู้ อ่านหนังสือไม่ได้ก็ใช้เขียนการ์ตูน และแต่งเพลงปลุกใจ เช่น เพลงสามีไปเป็นทหาร แม่พาลูก 3 คนไปเยี่ยมที่
(น.79) ฉงชิ่งแล้วเล่าเรื่องความเป็นไปที่ปักกิ่ง พ่อเอาไปเขียนเรื่อง ซื่อซื่อถงถัง หรือ สี่ชั่วคนอยู่พร้อมกันใต้หลังคาเดียวกัน
หลังสงครามไปอยู่นิวยอร์ก ใช้ชื่อ Lau Shaw เขียนเรื่อง The Yellow Storm เรื่อง The Drum Singer เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และแปลเป็นภาษาจีนภายหลัง
เมื่อปลดแอก (หลัง ค.ศ.1949) นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลให้กลับมาเมืองจีนมาอยู่บ้านหลังนี้ ค.ศ.1950 เขียนเรื่อง หลงซูโกว (คูน้ำหนวดมังกร) เป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ความล้าหลังของสังคมในอดีต
และชมเชยว่าการปฏิวัติช่วยให้มีชีวิตชนชั้นกรรมาชีพดีขึ้น เป็นเรื่องที่ได้รางวัล “ศิลปินประชาชน” ในช่วงนี้เขียนหนังสือหลายประเภท เช่น บทละคร (งิ้ว) เรื่อง ร้านน้ำชา มีผู้แปลเป็นหลายภาษา เขียนหนังสือสำหรับเด็กหลายเรื่อง มีรูปถ่ายกับประธานเหมา นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลและหลิวเซ่าฉี เรื่องสุดท้ายที่เขียนเขียนไม่จบชื่อ เรื่อง ภายใต้ธงแดง เป็นเรื่องเกี่ยวกับกองธงแดงสมัยแมนจู
เดินย้อนกลับไปดูห้องข้างๆ ห้องกินข้าว สมัยก่อนเป็นห้องครัว ตอนนี้เป็นห้องเก็บหนังสือต่างๆ ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เขาชอบอ่านภาษาอังกฤษเพื่อฝึกภาษา มีบางเล่มเพื่อนชาวต่างประเทศเซ็นให้ ท่านเสียชีวิตใน ค.ศ.1966 โดยกระโจนลงในบึงไท่ผิงหูในกรุงปักกิ่ง เนื่องจากทนความอัปยศระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมไม่ได้
(น.79) รูป 84 ตู้หนังสือ
Book cabinets.
(น.80) รูป 85 ลูกสาวเหล่าเซ่อให้หนังสือประวัติเหล่าเซ่อ
Lao She's daughter giving me a book on Lao She's biography.
(น.80) ในห้องสำนักงานลูกสาวท่านเหล่าเซ่อให้หนังสือซึ่งมีข้อมูลมากกว่าที่แสดงไว้ มีศิลปินท่านหนึ่งชื่อ สูเฟิงถัง ให้รูปที่เขียนจากความบันดาลใจที่ได้อ่านหนังสือของเหล่าเซ่อ เป็นรูปรถเจ๊กกับเสือมีโบว์ผูกที่หาง
บ้านนี้เพิ่งเปิดเป็นอนุสรณ์สถานเมื่อ ค.ศ. 1999
จากนั้นเดินทางต่อไปเขตที่ยังมีหูถงอยู่รวมกันจำนวนหนึ่ง มีบ้านอนุรักษ์ของบุคคลสำคัญหลายท่าน เช่น ซ่งชิ่งหลิง ซึ่งข้าพเจ้าเคยไปแล้ว ไปบ้านท่านกัวมั่วรั่ว นักการเมืองมีชื่อของจน
ลูกสาวของกัวมั่วรั่วมาต้อนรับ ที่นี่บริเวณบ้านและตัวบ้านใหญ่กว่าบ้านของเหล่าเซ่อมาก ที่สนามมีต้นแป๊ะก๊วย มีประวัติว่าท่านปลูกเอง เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อ ค.ศ.1988 มีรูปปั้นของท่านกัวมั่วรั่ว มีภูเขาเล็กๆ ลูกหนึ่ง ต้นไม้ใหญ่ๆ ขึ้นเต็ม
ที่นี่แสดงอย่างเดียวกับที่บ้านเหล่าเซ่อคือ แบ่งเป็นส่วนที่รักษาสภาพเดิมไว้กับที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์
มีรูปถ่ายต่างๆ เช่น ถ่ายกับเติ้งอิ่งเชาและโจวเอินไหล รูปถ่ายที่พระราชวังฤดูร้อนและที่บ้านนี้ มีรูปพวกหลานๆ ด้วย ห้องรับแขกขนาดใหญ่รักษาไว้สภาพเดิม มีรูปทิวทัศน์ขนาดใหญ่ มีเปียโนหลังเดียวที่เป็นของแปลกปลอมมา
(น.81) รูป 86 รูปปั้นกัวมั่วรั่ว
Guo Moruo's statue.
(น.82) รูป 87 ตู้หนังสือที่บ้านกัวมั่วรั่ว
Book cabinets at Guo Moruo's house.
รูป 88 โต๊ะหนังสือ
A desk.
(น.83) ห้องทำงานมีโต๊ะใหญ่ 2 ตัวต่อกัน บนโต๊ะมีเครื่องเขียนพู่กันก็ใช้พู่กันธรรมดาๆ ไม่ใช่พู่กันราคาแพง ข้าพเจ้าไปที่ไหนๆ
ก็ต้องเห็นลายมือพู่กันของท่าน ลูกสาวบอกว่าในห้องทำงานคุณพ่อก็เลยไม่ติดลายมือตนเองไว้ แต่จะพูดอย่างนั้นไม่ได้ มีลายมือพู่กันจีนของคุณแม่เขียนเป็นตัวประดิษฐ์ คุณพ่อเขียนอักษรหวัดแกมบรรจงไว้ข้างๆ
มีรูปม้าของสวีเปยหง ซื้อมาราคา 5 หยวน เท่านั้น
ห้องนอน เป็นเตียงธรรมดาๆ มีหลอดไฟพันอยู่ที่หัวนอน มีตู้ใส่หนังสือประวัติศาสตร์จีน 24 ราชวงศ์ที่ต้องอ่านประจำอยู่ข้างเตียง ทำเป็นช่องๆ มีบานตู้ปิด บนบานตู้สลักอักษรบอกไว้ว่าเป็นสมัยอะไร ข้าพเจ้าไปเปิดดูว่ามีหนังสืออะไร ปรากฏว่าในตู้ไม่มีหนังสือ แถมข้าพเจ้าทำบานตู้หลุด ติดเข้าไปใหม่ก็ไม่ได้
นอกจากห้องที่แสดงว่าสมัยก่อนอยู่กันอย่างไรแล้ว ยังมีห้องที่ใช้แสดงนิทรรศการ มีคำอธิบายเขียนเอาไว้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ แต่อ่านไม่ทัน มีบทความที่ท่านขยายใหญ่แปะเต็มฝาผนัง
(น.83) รูป 89 เตียงกัวมั่วรั่ว ข้างๆ เป็นตู้หนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์
His bed. Books on the history of China's 24 Dynasties are kept in a cabinet at the bed side.
(น.84) มีโมเดลแสดงบ้านเดิมอยู่ที่เล่อซาน มณฑลเสฉวน บิดาเป็นแพทย์แผนโบราณ ตัวเองก็เรียนเพราะสมัยเด็กๆ เรียนหนังสือโรงเรียนราษฎร์
สมัยนั้นเป็นการเอาเด็กมารวมกันจำนวนไม่มากนัก เชิญครูมาสอน ท่านเติบโตมาในครอบครัวที่เข้มงวด มีบิดาเป็นใหญ่ แต่เมื่ออายุ 20 ปี เดินออกจากชีวิตวัยเด็ก ใช้ชีวิตเป็นตัวของตัวเอง ได้เข้าร่วมขบวนการ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919
ในการเรียนหนังสือครูลงสมุดพกว่าเป็นเด็กดื้อไม่เชื่อฟังครู เรียนวิชาเลขได้ 100% ภาษาอังกฤษได้ 98% แต่ภาษาจีนเรียนไม่ค่อยดี เพราะว่ามีความคิดที่แตกต่างจากความคิดครู
ที่บ้านอยู่ใกล้ลำธารชื่อ ลำธารใบชา (ไม่ทราบว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร) กัวมั่วรั่วแต่งกลอนบอกว่าตกปลาอยู่ที่ลำธารไปพลาง อ่านหนังสือไปพลาง ดื่มด่ำในเนื้อหาจนปลากินเบ็ด และหนีไปแล้วยังไม่รู้ตัว
มีห้องใหญ่อีกห้องหนึ่ง เด็กๆ เรียกกันว่าห้องแม่ แม่ชอบเขียนพู่กันจีน มีลายมืออยู่แผ่นหนึ่งที่พ่อกับแม่ช่วยกันเขียน
อีกห้องติดรูปที่ไปประเทศต่างๆ เช่น ไปรัสเซีย เยอรมนี ญี่ปุ่น อินเดีย อียิปต์ สวีเดน คิวบา อินโดนีเซีย และพม่า บทกวีที่ประธานเหมาแต่งโต้ตอบกัน แท่นฝนหมึกที่ใช้เป็นรูปกลมเปรียบเหมือนกระจก
อีกห้องมีลายมือเขียนพู่กันจีน หนังสือต่างๆ ที่เขียน ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติศาสตร์ บทละครพูด ท่านเขียนหนังสือไว้มากมาย ปัจจุบันนี้ยังรวบรวมไว้ไม่ได้ครบถ้วน ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี
นักเขียนบทละครและกวี เริ่มศึกษาตัวอักษรที่เขียนบนกระดองเต่าสมัยราชวงศ์ชัง และจารึกบนเครื่องสำริดสมัยชุนชิวและจั้นกั๋ว การศึกษาวัฒนธรรมโบราณของจีนจะช่วยให้สามารถพัฒนาอุดมการณ์ทางการเมืองของจีนทางด้านสังคมและประวัติศาสตร์ว่า
สอดคล้องกับแนวคิดระบบ dialectical materialism อย่างไร ได้เขียนประวัติศาสตร์จีน 4 เล่มจบ ช่วงที่กำลังศึกษาอักษรกระดองเต่าอยู่นั้นถูกรัฐบาลก๊กมินตั๋งตามจับ เลยต้องหนีไปอยู่ญี่ปุ่น
(น.85) รูป 90 อักษรกระดองเต่าที่กัวมั่วรั่วศึกษา
Script on tortoise shell deciphered by Guo Moruo.
(น.85) นอกจากศึกษาโบราณคดีแล้ว ยังศึกษาวรรณกรรมโบราณและกวีโบราณด้วย ตั้งแต่ชวีหยวน โจโฉ หลี่ไป๋ ตู้ฝู่ และเฉินตวนเซิง (ค.ศ.1751 – ประมาณ ค.ศ.1796)
กวีหญิงในราชวงศ์ชิงผู้ประพันธ์ถานฉือ (บทขับ) ชื่อ ไจ้เซิงหยวน กัวมั่วรั่ววิจารณ์ว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ดีกว่า หงโหลวเมิ่ง (ความฝันในหอแดง) เสียอีก คำวิจารณ์ของกัวมั่วรั่ว ทำให้ข้าพเจ้าสนใจ ได้ค้นข้อมูลเพิ่มเติมและเรียบเรียงไว้ในภาคผนวก
ท่านกัวมั่วรั่วชอบอ่านหนังสือของนักคิดชาวต่างประเทศ เช่น Tagore, H.Heine, Goethe, Whitman, Shelly ท่านรู้ภาษาอังกฤษ เยอรมัน
และญี่ปุ่น ชอบ Goethe และนักเขียนนักคิดเยอรมันอื่นๆ เช่น T.W. Storm, Schiller, Nietzsche มีนักคิดคนอื่นที่เคยอ่านอีกหลายคน เช่น H.G. Well, U. Sinclair
มีแผ่นกระดานพิมพ์ลายมือท่านที่แปลลงไปในหนังสือบทกวีของ Grave, Thomas Nash, Wolfe, Blake นอกจากแปลแล้วยังเขียนความคิดเห็นเอาไว้ข้าง บางทีวิจารณ์มาก เช่น เรื่อง Daffodils ของ Wordsworth
เมื่อดูเสร็จแล้วไปนั่งดื่มน้ำชาในห้องที่สร้างเมื่อเริ่มสมัยสาธารณรัฐใหม่ๆ ลูกสาวของกัวมั่วรั่วให้รูปที่พิมพ์จากงานของพ่อและแม่ช่วยกันเขียนลายมือและเขียนภาพ เป็นรูปแมวและผีเสื้อ
ข้าพเจ้าสนใจผลงานของนักประพันธ์ 2 ท่านนี้มาก่อน มาได้เห็นและได้ศึกษาชีวประวัติ ทำให้คิดว่าในสังคมยังมีสิ่งที่ต้องสร้างต้องทำอีกมาก
Next >>