Please wait...

<< Back

ราชวงศ์ซ่ง

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 39,51

(น.39) ศาลาว่านโค่ว เมื่อสมัยราชวงศ์ซ่ง ฟั่นจ้งเยียนซึ่งเคยมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมาสร้างไว้ แต่พังไปนานแล้ว ที่เห็นนี้สร้างขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 1987 หอนี้มีชื่อว่าหอเด็ดดวงดาว เป็นด่านชายแดนสมัยราชวงศ์ซ่ง สำหรับป้องกันการรุกรานของพวกซีเซี่ย

(น.51) ดินแดนซานตงเป็นที่ตั้งของแคว้นฉีและแคว้นหลู่ในสมัยชุนชิว จั้นกว๋อ เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญในการผลิต การถลุงเหล็ก นอกจากนั้นยังเลิกทาส และมีอารยธรรมสูงกว่ารัฐอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน ในสมัยนั้นขงจื่อรับราชการในแคว้นหลู่ และได้รวบรวมความคิดตั้งลัทธิขงจื่อ รัฐต่างๆ ได้ใช้ลัทธิขงจื่อเป็นหลักในการปกครองในสังคมศักดินา ถิ่นกำเนิดขงจื่ออยู่ในอำเภอจี้หนิง ปัจจุบันมีศาลเจ้าขงจื่อ บ้านตระกูลข่งสร้างในสมัยราชวงศ์ซ่ง ยังมีสุสานตระกูลข่งซึ่งคนแซ่นี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เมื่อตายแล้วเอาศพมาฝังได้ สมัยนี้จีนให้ความสำคัญแก่การวิจัยขงจื่อถึงกับจัดกองทุนสำหรับศึกษาขงจื่อไว้ ประธานคนปัจจุบันชื่อหานจงไถ

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 68-69,79

(น.68) ตุ๊กตาหินแกะสลัก สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) มีรูปผู้หญิงเล่นโปโล แสดงว่าสมัยราชวงศ์ถังผู้หญิงยังมีสิทธิทำอะไรได้เหมือนผู้ชาย รูปไม้สลักสมัยราชวงศ์ซ่ง และมีไม้เขียนสีลายพระอรหันต์

(น.69) ในการขุดค้น ค.ศ. 1970 พบโบราณวัตถุ 432 ชิ้น เป็นตุ๊กตาดินเผาเขียนสี (สีจางไปแล้ว) และนักดนตรีรวม 406 คน ม้า 24 ตัว รถคันหนึ่ง นอกจากนั้นมีหมากล้อม ตราประทับของอ๋องแห่งแคว้นหลู่ ภาพเขียนสมัยราชวงศ์หยวน ปลอกพู่กันหยก ปลอกพู่กันงาช้าง แท่นฝนหมึกหยก ตราประทับหนังสือ เครื่องเซรามิก แผนภูมิแสดงพระโอรสของจักรพรรดิหงอู่ (จูหยวนจัง) ของอื่นๆ มีเครื่องเขียนสมัยราชวงศ์ซ่ง ของใช้ประจำวัน หวายสานเป็นกลองเล็ก กุญแจต่างๆ ทั้งกุญแจประตู กุญแจหีบ เครื่องเรือนเล็กๆ ทำให้ทราบว่าสมัยก่อนเครื่องเรือนเป็นอย่างไร

(น.79) ในต้าหมิงหูมีเกาะ 6 เกาะ มีอยู่เกาะหนึ่งมีศาลากลางทะเลสาบ (หูซินถิง) ที่เกาะฉวินฟังเซียงเต่า มีสวนบุปผชาติ มีวัดทางศาสนาเต๋า และศาลาแปดเหลี่ยมชื่อ ลี่เซี่ย ซึ่งมีประวัติว่าสร้างมา 1,400 กว่าปีแล้ว แต่ที่เห็นในปัจจุบันคือ ศาลาที่สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิคังซี ปีที่ 32 มีประวัติ 300 กว่าปีเท่านั้น ป้ายหน้าศาลาเป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลง ข้างในจัดให้มีรูปคนดังเมืองจี่หนานทุกยุคทุกสมัย 15 ท่าน คือ
1. โจวเหยียน สมัยจั้นกว๋อ ก่อน ค.ศ. 355-265 ปี เป็นนักปรัชญา
2. ฝูเซิง สมัยราชวงศ์ฮั่น ในยุคที่ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) สั่งเผาคัมภีร์ขงจื่อจนหมด แต่ท่านผู้นี้จำไว้ได้ ภายหลังท่องให้ผู้อื่นเขียน
3. หลวงจีนอี้จิ้ง สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 635-713) เป็นผู้นำคัมภีร์พุทธศาสนาจากอินเดียมา 300 กว่าเรื่อง แปลได้ 107 เรื่องก็ถึงแก่มรณภาพ
4. กวีเอกหลี่ชิงเจ้า สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1084-1151) มีชื่อเสียงในด้านการแต่งบทกวีรักและโศก
5. ซินชี่จี๋ (ค.ศ. 1140-1207) สมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นกวีผู้รักชาติ
6. ตู้เหรินเจี๋ย สมัยราชวงศ์จินหรือกิมก๊ก (ค.ศ. 1210-1280) เป็นนักแต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว
7. จังหยั่งเหา สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1270-1329) นักแต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว
8. จังฉี่เหยียน สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1285-1353) เป็นนักประวัติศาสตร์

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 90,96,105

(น.90) ศาลเจ้าปี้เสียฉือ มีเรื่องเล่าว่าเทพแห่งไท่ซานได้พบกับพระนางซีหวังหมู่หรือเทพมารดรแห่งตะวันตก มีสาวสวรรค์มารับใช้ 7 นาง ศาลนี้สร้างใน ค.ศ. 1009 เมื่อจักรพรรดิซ่งฮุยจงเสด็จมาที่ภูเขาไท่ซาน ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้สร้างศาลเจ้า สมัยราชวงศ์หมิงใช้เป็นที่ทำพิธีเซ่นไหว้

(น.96) ศาลาจารึก มีจารึกอยู่สามหลัก จารึกในสมัยราชวงศ์ จิ้น ซ่ง และหมิง มีฐานตั้งป้ายเป็นรูปเต่าและสัตว์อื่นๆ บ้าง มีจารึกหลักหนึ่งที่จักรพรรดิคังซี (ค.ศ. 1662-1722) ทรงย้ายจากปักกิ่งโดยลำเลียงทางคลองขุดใหญ่ เหลือระยะทางอีก 45 กิโลเมตร ใช้วิธีรอให้ถึงหน้าหนาวเอาน้ำราดถนน น้ำกลายเป็นน้ำแข็งแล้วใช้วัวลากมา ใช้เวลาครึ่งเดือน ศิลาจารึกนี้หนักถึง 65 ตัน ต้องใช้วัวลาก 465 ตัว

(น.105) ปลายราชวงศ์ซ่ง มีพวกจินหรือกิมก๊กเข้ามารุกราน ทหารกลุ่มหนึ่งจะมาขุดสุสาน เมื่อนายทหารทราบว่าเป็นสุสานของขงจื่อ พวกที่จะขุดสุสานก็ถูกประหารชีวิต แสดงว่าแม้แต่ชาวจินก็รู้จักขงจื่อ เป็นเหตุให้ตั้งป้ายนี้ เมื่อขงจื่อเสียชีวิตแล้ว มีลูกศิษย์มาเฝ้าอยู่ 3 ปี คนที่ชื่อจือกังมาอยู่ถึง 6 ปี ภายหลังมีศาลาที่ประทับจักรพรรดิที่มาไหว้สุสาน มีพวกอ๋องของคนกลุ่มน้อยด้วย

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 115,117,121,127-128

(น.115) นั่งรถไปที่ พิพิธภัณฑ์ Yellow River Exhibition Hall ซึ่งทำมาตั้งแต่ ค.ศ. 1955 ขึ้นตรงกับสำนักงานชลประทานแม่น้ำหวงเหอ เป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับรวบรวม สะสม และวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับแม่น้ำหวงเหอ เช่น ลักษณะพิเศษทางธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ ประวัติศาสตร์ อารยธรรมของชาวลุ่มแม่น้ำ มีนิทรรศการชลประทานสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์ชิง ฟอสซิลและวัตถุโบราณที่ขุดพบในลุ่มน้ำ เช่น อักษรโบราณบนกระดองเต่าที่หมู่บ้านเสี่ยวถุนชุน เมืองอานหยัง มนุษย์หลานเถียนซึ่งอยู่ยุคเดียวกับมนุษย์ปักกิ่ง รูปภาพ ข้อมูล และผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับแม่น้ำหวงเหออีกร่วมหมื่นชิ้น

(น.117) แม่น้ำหวงเหอ
ในลุ่มแม่น้ำนี้แหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ได้แก่ ซีอาน ลั่วหยัง ไคเฟิง อานหยัง (พบจารึกบนกระดองเต่า) ฯลฯ เขาแสดงภาพถ้ำหลงเหมิน เจดีย์สมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นต้น เมื่อเขียนลงในแผนที่เปรียบเทียบกับลุ่มแม่น้ำฉังเจียงแล้ว ลุ่มแม่น้ำหวงเหอมีมากกว่า

(น.121) เมืองไคเฟิงเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ที่พื้นปูกระเบื้องทำเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเต๋า มณฑลซานตงเป็นแหล่งกำเนิดลัทธิขงจื่อ แต่ที่มณฑลเหอหนานนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของลัทธิเต๋า

(น.127) พระพุทธรูปในลัทธิมี่จง (ตันตระ) พระพักตร์งาม อวบอิ่มแบบผู้หญิงสมัยราชวงศ์ถัง มีพักตร์ 11 พระหัตถ์ 6

(น.128) สมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน ตอนนี้เวลาชักน้อย ไม่มีเวลาจะดูแล้วจึงจดอะไรไม่ค่อยได้ กลับไปดูส่วนที่แสดงเรื่องการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งในแถบนี้ของจีนมีชื่อมาก แสดงการเชิดหุ่นไม้และหุ่นน้ำ (ฉันเคยเห็นแต่หุ่นน้ำของเวียดนาม)
สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ. 960-1127) มีหีบศพทองคำที่เก็บพระธาตุ เก็บไว้ที่ใต้ฐานเจดีย์

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 174,177,182-184

(น.174) วันนี้ไปเมืองไคเฟิง เดินทางชั่วโมงเดียวก็ถึง เมืองไคเฟิงตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำ ทางตะวันออกของมณฑลเหอหนาน เป็นเมืองที่มีประวัติเก่าแก่ถึงประมาณ 2,700 ปี และเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ใหญ่-เล็กถึง 7 ราชวงศ์ เช่น ราชวงศ์ซ่งเหนือ แคว้นเว่ยสมัยจั้นกว๋อ สมัยห้าราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์เหลียงยุคหลัง ราชวงศ์ถังยุคหลัง ราชวงศ์จิ้นยุคหลัง ราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง และราชวงศ์โจวยุคหลัง สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือไคเฟิงมีชื่อว่า ตงจิง (แปลว่า เมืองหลวงทางตะวันออก เขียนและมีความหมายเหมือนคำว่า โตเกียว) เป็นนครที่โอ่อ่าและมั่งคั่ง ดังที่เราจะเห็นได้จากภาพเขียนที่มีชื่อว่า “ภาพริมแม่น้ำในเทศกาลเช็งเม้ง” หรือที่ภาษาจีนว่า “ชิงหมิงซั่งเหอถู” ของจิตรกรจังเจ๋อตวน สมัยราชวงศ์ซ่ง ปัจจุบันตั้งแต่ประเทศมีนโยบายเปิดสู่โลกภายนอก ไคเฟิงพัฒนาไปในด้านอุตสาหกรรม การพาณิชย์ วัฒนธรรม การศึกษา การคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม การท่องเที่ยว ไคเฟิงเป็นเขตผลิตธัญพืชและฝ้าย นอกจากนั้นยังมีการเลี้ยงสัตว์ การประมง การปลูกผักและผลไม้ เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมการเกษตร และยังมีอุตสาหกรรมสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม

(น.177) จุดแรกที่ไปเป็นเมืองจำลองสมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่สร้างขึ้นจากภาพชิงหมิงซั่งเหอถู หน้าเมืองจำลองมีรูปปั้นของจิตรกรจังเจ๋อตวน ตกแต่งดอกไม้สวยงาม เมื่อลงจากรถ มีท่านเปาบุ้นจิ้นนำลูกน้องออกมากล่าวต้อนรับ มีทหารม้านำเข้าเมือง (มีคนตามกวาดขี้ม้า) ไกด์อวดว่าในสมัยราชวงศ์ซ่ง เมืองไคเฟิงมีพลเมืองถึง 1,560,000 คน ในขณะที่เมืองอิสตันบุลซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางตะวันตกในสมัยก่อนมีพลเมืองเพียง 400,000 คน ในสวนมีการเชิดสิงโต ในแม่น้ำเปี้ยนเหอมีเรือโบราณจอดอยู่ แม่น้ำเปี้ยนเหอนี้ที่จริงก็คือ คลองขุดใหญ่ถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดของเมือง เป็นเส้นทางส่งเสบียงอาหารไปทั่วประเทศ
จุดที่ 3 คือ เจดีย์เหล็ก ที่จริงเจดีย์เหล็กนี้ไม่ได้ทำด้วยเหล็ก แต่เป็นกระเบื้องดินเผาสีเหมือนเหล็กเป็นสนิม เขาก็เลยเรียกกันว่าเจดีย์เหล็ก สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1049 สมัยราชวงศ์ซ่ง วัดที่มีเจดีย์เหล็กนี้เป็นวัดประจำราชสำนักเรียกว่า วัดไคเป่า มีพระธาตุเจดีย์นี้เขาว่าไม่ได้ใหญ่หรือเก่าที่สุด แต่ว่างามที่สุด เขาเปรียบว่าต้าเยี่ยนถ่า หรือเจดีย์ห่านฟ้าที่ซีอานนั้นมองไกลๆ โอ่อ่า แต่มองใกล้แล้วก็รู้สึกว่าลายไม่ละเอียด สมัยก่อนเจดีย์สูงกว่านี้ แต่ตะกอนแม่น้ำทับถมจนเหลือเท่าที่เห็นนี้ (ก็ยังสูง 55.8 เมตร) ปกติการสร้างเจดีย์สูงอย่างนี้ฐานต้องกว้าง แต่ที่นี่จากยอดมาถึงฐานสัดส่วนกำลังพอดีโดยธรรมชาติ อิฐที่เห็นก็ไม่ใช่แต่เพียงประดับประดา แต่ว่าช่วยให้ยึดกันอยู่ได้ อิฐหรือกระเบื้องเหล่านี้มีลวดลาย สลักเป็นรูปพระ มังกร สัตว์ต่างๆ เมื่อสลักแล้วจึงเผาฐานเป็นแปดเหลี่ยม เจดีย์นี้ทนทานน้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุพัดเจดีย์อื่นๆ ล้มไปแยะแล้ว เจดีย์เหล็กยังอยู่ (แต่ก็ดูเอียงไปหน่อย) เจดีย์นี้สูงโปร่งเหมือนหญิงสาวรูปร่างดี จึงมีฉายาว่า ธิดาไคเฟิง

(น.183) วัดไคเป่านี้ก็เป็นวัดโบราณมากว่า 1,000 ปี นอกจากเจดีย์ ยังเหลือพระพุทธรูปทองแดงอีกองค์ เป็นพระอมิตาภพุทธเจ้า หล่อสมัยราชวงศ์ซ่งสูง 5.8 เมตร หนัก 12 ตัน เขาว่าหล่อทั้งองค์ทีเดียวไม่ได้ต่อ ยกพระหัตถ์ซ้าย นำเราขึ้นสวรรค์ (ไกด์บอกอย่างนี้)

(น.184) มีศิลาจารึกรายชื่อผู้ว่าราชการไคเฟิงสมัยราชวงศ์ซ่ง มีผู้ว่าราชการมา 168 ปี ผู้ว่า 183 ท่าน เรียงตามเวลา ท่านเปาเป็นผู้ว่าท่านที่ 93 รับตำแหน่งยาวที่สุด แต่ก็เพียงปีกว่า ชื่อท่านเปาในจารึกนั้นมองไม่เห็น เพราะมีคนเอานิ้วไปจับจนกระทั่งสึกเว้าลงไป จารึกหลักที่เห็นเป็นหลักจำลอง (แต่ก็ทำรอยเว้าไว้ด้วย) ของจริงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ มีโมเดลรูปศาลาว่าการสมัยนั้น มีเรื่องเล่ากันว่าก่อนที่ท่านเปาจะเสียชีวิต จักรพรรดิอยากจะมอบเมืองเหอเฟย (ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของมณฑลอานฮุย) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านให้ท่าน ท่านบอกว่าตอนนี้ก็ชราแล้ว อาจจะไม่มีชีวิตอยู่ และไม่ทราบว่าลูกหลานจะปกครองดี ดูแลประชาชนให้มีความสุขได้หรือไม่ ถ้าจะพระราชทานก็ขอแค่คูรอบเมือง ถ้าลูกหลานยังมีอยู่ก็จะต้องมาลอกคูทำประโยชน์แก่แผ่นดิน ทำผลเสียแก่ประชาชนไม่ได้ จักรพรรดิก็พระราชทานตามที่ต้องการ ขณะนี้คูเมืองนี้ก็ยังอยู่ ราษฎรเรียกกันว่า แม่น้ำเปา


หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 203,205

(น.203) มีที่เก็บแผนที่โบราณสมัยราชวงศ์ซ่ง ผู้เขียนคือ หวงซัง ลักษณะเป็นสำเนาแผนที่กว้าง 184 เซนติเมตร ยาว 98 เซนติเมตร พื้นที่ฝั่งทะเลแถวๆ ฮ่องกง หู่เหมิน ก่วงโจว อีกแผ่นหนึ่งเป็นสำเนาแผนที่แถวๆ มณฑลเจียงซี เขียนสมัยราชวงศ์หมิง ลักษณะแผนที่เหล่านี้คล้ายๆ แผนที่ไทยที่หมู (สันทนีย์) กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ แต่เขาบอกชื่อคนเขียนได้ ของเราบอกไม่ได้ แม้แต่ว่าเป็นของที่หน่วยงานไหนทำ และทำเมื่อไร แผนที่ของหวงซังที่กล่าวมานั้น เขาทำถวายอ๋ององค์หนึ่ง ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นจักรพรรดิซ่งหนิงจง (ค.ศ. 1194-1224) มี 8 ฉบับ ที่เห็นนั้นเป็น 1 ใน 8 ที่ทำถวาย หวงซังพยายามเน้นเขียนพื้นที่ขอบชายแดนของจีน เพื่อให้จักรพรรดิระลึกว่า จีนกำลังถูกรุกรานจากพวกซีเซี่ย พวกกิมก๊ก พวกมองโกล ปลุกใจให้ยึดดินแดนกลับคืนมา ทำถวาย ค.ศ. 1190 แผนที่นี้มาตราส่วน 1 : 2,500,000 ค.ศ. 1247 มีคนแถวทางใต้เอาไปจารึกบนหิน ตัวแผนที่เล็กกว่าแผ่นจารึกเล็กน้อย ในหมวดแผนที่ยังมีแผนที่ atlas ชื่อว่า Le Grand Atlas ของ Johan Blaeu พิมพ์ในฮอลแลนด์ แสดง Boston Habor แผนที่อีกเล่มเป็นแผนที่ยุโรป พิมพ์ ค.ศ. 1526 ชื่อ Theatrum Orbis Terrarum

(น.205) หนังสือ เชียนเจียซือ เป็นหนังสือรวมบทกวี 1,000 บทสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง หลิวเค่อจวงเป็นผู้รวบรวมในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127-1279) แยกเป็นหมวดหมู่ เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป ของเดิมคงจะสูญหายไปแล้ว ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีไม่กี่สิบบท และไม่ใช่ของหลิวเค่อจวงรวบรวม แต่ยังใช้ชื่อ เชียนเจียซือ เป็นหนังสือที่ชาวจีนใช้สอนลูกหลานให้ท่องจำบทกวีดีๆ ฉบับที่ดูนี้อายุ 500 กว่าปีช่วงกลางสมัยราชวงศ์หมิง เป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือและมีภาพประกอบด้วย ผู้อำนวยการบอกว่าได้เคยทำสำเนาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว (แต่ฉันนึกไม่ออก)

"ไอรัก"คืออะไร?
"ไอรัก"คืออะไร? หน้า 11,15

(น.11)
07.20 น. รับประทานอาหารเช้า
08.00 น. ไปหอสมุดแห่งชาติปักกิ่ง
เมื่อไปถึงนายถังเชาหมิง รองผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ นักวิจัย ต้อนรับ อธิบายว่าหอสมุดนี้เปิดมาตั้งแต่ ค.ศ. 1912 หนังสือส่วนหนึ่งของห้องสมุดนี้มาจากหอสมุดหลวงสมัยราชวงศ์ซ้องใต้ 700 ปีมาแล้ว หอสมุดเดิมสร้างปี 1930 อยู่ที่เป่ยไห่ ค.ศ. 1987 สร้างหอสมุดหลังใหม่ มีเนื้อที่ 140,000 ตารางเมตร เก็บหนังสือได้ 20 ล้านเล่ม (ขณะนี้มีกว่า 16 ล้านเล่ม ภาษาจีน 40% ภาษาต่างประเทศ 60%) ห้องอ่านหนังสือ 30 ห้อง ทุกวันมีคนมาอ่านหนังสือประมาณ 5,000 คน (มีที่นั่ง 2,000 ที่)

(น.15) มีห้องแสดงวิวัฒนาการของการเขียนหนังสือจีน เทียบอักษรสมัยต่างๆ ตัวหนังสือสลักบนกระดองเต่าและโลหะ ไม้ไผ่ พบในสุสานหม่าหวังตุย สมัยราชวงศ์ฮั่น กระดาษสมัยต่างๆ การพิมพ์หนังสือ สมัยราชวงศ์ซ้อง การทำบล็อกดินเผา
ดูหนังสือ Sì Kŭ Quán Shŭ ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้สี่ประเภทของจีน ได้แก่
1. คัมภีร์ศาสนา หน้าปกสีเขียว เปรียบกับฤดูชุนเทียน (ฤดูไม้ผลิ)
2. คัมภีร์ปรัชญา หน้าปกสีเหลือง เปรียบกับฤดูชิวเทียน (ฤดูใบไม้ร่วง)
3. คัมภีร์เบ็ดเตล็ด หน้าปกสีเทา เปรียบกับฤดูตงเทียน (ฤดูหนาว)
4. คัมภีร์ประวัติศาสตร์ หน้าปกสีแดง เปรียบกับฤดูเซี่ยเทียน (ฤดูร้อน)

"ไอรัก"คืออะไร? หน้า 37

(น.37) ห้องแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าไม่ค่อยเข้าใจเพราะเขาอธิบายเป็นภาษาจีน ล่ามเองก็แปลไม่ออก ไม่มีเวลาซักถาม ไปที่ห้องแสดงละคร จุคนได้เกือบ 300 คน มีระบบเสียงดี ห้องนิทรรศการมีภาพลอกมาจากภาพดั้งเดิมที่เก็บรักษาไว้ในพระราชวังโบราณที่ปักกิ่ง ข้าพเจ้าได้รับภาพวาดกวีหลี่ชิงเจ้า กวีสตรีมีชื่อสมัยซ้องใต้ ฝีมือของอาจารย์ท่านหนึ่งในภาควิชาศิลปะ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนบทกวีของกวีผู้นี้หลายบทด้วยกัน มีผู้นำประวัติของท่านมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้มีโอกาสดู ทราบแต่เรื่องคร่าวๆ ว่าท่านเกิดในตระกูลนักปราชญ์ ใน ค.ศ. 1084 ที่เมืองจีหนานแต่งงานกับเจ้าหมิงเฉิง บุตรอัครมหาเสนาบดี ได้ร่วมกันทำงานวิชาการที่สำคัญหลายอย่าง เช่น การคัดลอกศิลาจารึก ศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์ ใน ค.ศ. 1127 ชนเผ่าจินรุกรานมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวจีนราชวงศ์ซ้องต้องหนีลงใต้ เป็นช่วงที่ชีวิตเขาลำบากมาก หลี่ชิงเจ้าเสียชีวิตในปี 1151 มีผลงานบทกวีนิพนธ์อยู่มาก บทกวีในตอนต้นๆ แสดงชีวิตอิสระที่สบาย งานในช่วงหลังจะเกี่ยวกับความเหงาและแสดงความชาตินิยมรุนแรง