Please wait...

<< Back

สุสานตงหลิง

จากหนังสือ

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า 44-80

(น.44)ตอนบ่ายเดินทางไปสุสานตงหลิง
คำว่า “ตงหลิง” แปลว่า “สุสานตะวันออก” มีสุสานที่ใช้ชื่อว่า “ตงหลิง” อยู่ 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือสุสาน ตงหลิงที่อำเภอจุนฮว้า ในมณฑลเหอเป่ย อยู่นอกเมืองปักกิ่งไปทางตะวันออก อีกแห่งหนึ่งคือสุสานตงหลิงที่อยู่ใกล้ๆเมืองเสิ่นหยางอันเป็นสุสานที่ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยมชม ข้าพเจ้ารู้สึกสับสนเรื่องสุสานของพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีของราชวงศ์ชิง กลับมาเมืองไทยแล้วจึงได้ศึกษาเพิ่มเติม และเรียบเรียงไว้ในภาคผนวก ค


(น.45) รูป 62 ออกจากพิพิธภัณฑ์เพื่อเดินทางต่อไป


รูป 61 เหรียญที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์

(น.45) ข้าพเจ้าสงสัยคำว่า “หลิง” ก็แปลว่า “สุสาน” คำว่า “มู่” ก็แปลว่า “สุสาน” ต่างกันตรงไหน ท่านทูตจางเหลียนบอกว่า หลิง ใช้เฉพาะสุสานของเชื้อพระวงศ์ แต่ มู่ เป็นคำกลางๆ ใช้กับใครก็ได้ มาในยุคหลังสุสานคนสำคัญเช่นท่านซุนยัดเซ็นก็เรียกว่าหลิงเช่นกัน สุสานของท่านเรียกว่า จงซานหลิง


(น.46) รูป 63 สุสานตงหลิง

(น.46) ระหว่างเดินทางได้ความรู้ว่าที่ฟูซุ่นมีเหมืองถ่านหินใหญ่ โดยปกติคนที่ทำงานเหมืองต้องลงไปอยู่ใต้ดิน แต่เหมืองที่ฟูซุ่นนี้ตักเอาข้างบนได้ บ้านที่ผ่านไปข้างทาง ถ้าเป็นตึกใหญ่ก็ไม่มีปล่องไฟ แต่ถ้าเป็นบ้างหลังเล็กๆต้องมีปล่องไฟ ตามตึกใช้ central heating บ้านเล็กๆต้องมีเตาผิงใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ถ้าเห็นบ้านไหนมีปล่องไฟสองปล่องหมายถึงมี 2 ครอบครัว อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน นี่เป็นความรู้จากคนขับรถ นอกจากบ้านเรือนธรรมดาแล้ว สถานที่ปล่อยควันที่ใหญ่โตของเมืองเสิ่นหยางก็คือโรงงานจ่ายไฟฟ้าด้วยพลังความร้อนที่เรียกว่า เรื่อ (คนเมืองนี้ออกเสียงเป็น แหย) เตี้ยนฉ่าง แต่ถ้าคิดรวมๆแล้วก็ยังน้อยกว่าบ้านเรือน เป็นการลดมลพิษ


(น.47) รูป 64 สุสานตงหลิง

(น.47) สุสานตงหลิงที่เสิ่นหยางนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าฝูหลิงฝู แปลว่าโชคดี หรือความสุข เป็นสุสานของพระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิงหรือเช็ง และพระมเหสีในราชนิกูลเย่เฮ้อนาลาซื่อ สร้างใน ค.ศ. 1629 เสร็จในปีค.ศ. 1651 บ่ายนี้คุณก่วนมู่ไม่แปล ให้คุณชัยรัตน์แปล เข้าถึงประตูหน้าเจิ้งหงเหมิน เขาอธิบายว่าสมัยก่อนต้องเป็นจักรพรรดิจีนจึงเข้าประตูกลางได้ อีกสองประตูสำหรับขุนนาง ทั้งฝ่ายบู๊และบุ๋น (คนอื่นจะต้องอ้อมไปทางไหนไม่ทราบ) เมื่อพ้นประตูนี้เข้าไปมีถนนซึ่งเรียกว่า เสินเต้า แปลว่า ทางสำหรับเทวดา เฉพาะจักรพรรดิจึงเสด็จพระราชดำเนินตามทางนี้ได้ อันที่จริงแล้วจักรพรรดิองค์อื่นๆนอกจากองค์แรกก็ไม่กล้าเสด็จพระราชดำเนิน


(น.48) รูป 65 ไปสุสานทีไรเขาให้คุณขลุ่ยเป็นล่ามแปลทุกที

(น.48) เพราะถือว่าองค์แรกสวรรคตแล้วไปเป็นเทวดา (นี่เขาเล่าแบบนี้ไม่ได้ไปค้นคว้าว่าจริงหรือไม่) สองข้างทางเดินมีเสาเรียกว่าหัวเปี่ยว เป็นเสามงคล เขาว่าเดิมเป็นหลักบอกทาง ต่อมาเป็นที่สำหรับชาวบ้านมาเขียนข้อความร้องเรียน ในระยะหลังกลายเป็นเสาแสดงอำนาจของจักรพรรดิ เรื่องความหมายของเสานี้จะต้องค้นคว้าต่อไป


(น.49) รูป 66 ภายในสุสานตงหลิง


รูป 67 ภายในสุสานตงหลิง

(น.49) นอกจากนั้นมีสัตว์มงคลได้แก่ม้า ชื่อต้าชิงหม่า เป็นม้าประจำพระองค์ของจักรพรรดิ มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่พระองค์ต่อสู้กับกองทหารราชวงศ์หมิงประสบความยากลำบาก ตกอยู่ในอันตราย แต่ม้ามาช่วยไว้จนม้าตาย เสือหินสุสานอื่นไม่มี ถือว่าในที่ราบภาคอีสาน เสือเป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง อูฐเป็นสัตว์พาหนะของผู้ที่อยู่ในดินแดนทางตะวันตกแสดงว่าพระองค์ได้โจมตีแว่นแคว้นต่างๆไปจนจดดินแดนที่ใช้อูฐ (แต่ภายหลังลูกหลานได้ทั้งแผ่นดิน)


(น.50) รูป 68 ภายในสุสานตงหลิง

(น.50) สิงโตตัวผู้เหยียบโลก หมายถึงการปกครองแผ่นดิน ส่วนสิงโตตัวเมียมีลูกอยู่ใต้ท้อง ไกด์อธิบายเช่นนี้


(น.51) รูป 69 ภายในสุสานตงหลิง

Next >>