Please wait...

<< Back

ราชวงศ์ชิง

(น.33)
กำลังคน 300 คน เป็น 1 หนิวลู่ มีหัวหน้า 1 คนเรียกว่า หนิวลู่เอ๋อเจิน
5 หนิวลู่ (1,500 คน) เป็น 1 เจี่ยลา มีหัวหน้า 1 คนเรียกว่า เจี่ยลาเอ๋อเจิน
5 เจี่ยลา (7,500 คน) เป็น 1 กู้ซาน มีหัวหน้า 1 คนเรียกว่า กู้ซานเอ๋อเจิน
คำว่า “กู้ซาน” เป็นภาษาแมนจู แปลว่า “ธง” คำว่า “ธง” นี้ ภาษาจีนออกเสียงว่า “ฉี” ส่วนคำว่า “กู้ซานเอ๋อเจิน” นั้นภาษาแมนจูแปลว่า “ผู้บัญชาการกองธง” ถึง ค.ศ. 1606 หลังการพัฒนาระบบหนิวลู่เป็นระบบกองธงได้ 5 ปี พระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อได้จัดตั้งกองธงขึ้น 4 กอง แต่ละกองใช้ธงสีเหลือง สีขาว สีแดง และสีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ตามลำดับ

(น.34) ถึงค.ศ. 1615 พระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อได้จัดตั้งกองธงขึ้นอีก 4 กองธง ใช้ธงสีเหลืองมีขอบแดง ธงสีขาวมีขอบแดง ธงสีแดงมีขอบขาว และธงสีน้ำเงินมีขอบแดง เป็นสัญลักษณ์ รวมมีกองธงทั้งหมด 8 กองธง กำลังพล 60,000 คน หรือ 200 หนิวลู่ (1 หนิวลู่มี 300 คน) ต่อมาถึงแม้จำนวนหนิวลู่จะเพิ่มขึ้นจาก 200 เป็น 400 หนิวลู่ หรือกำลังพลเพิ่มจาก 60,000 คนเป็น 120,000 คนก็ตาม ก็ยังคงจัดเป็น 8 กองธงเหมือนเดิม ด้วยเหตุนี้จึงเรียกระบบการควบคุมกำลังคนแบบนี้ว่า ระบบปาฉี หรือระบบกองธงทั้งแปด (ปา = แปด, ฉี = ธง) สันนิษฐานว่า การที่ชาวแมนจูใช้ธงสีต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์และเป็นชื่อหน่วยในระบบการควบคุมกำลังพลนั้น คงเป็นเพราะว่าธงเป็นสัญลักษณ์ของชนชาติจีนและเป็นของคู่บ้านคู่เมืองมาแต่ครั้งโบราณ รวมทั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการบัญชาการรบคู่มากับกลอง ธงจึงมีความสำคัญในวัฒนธรรมจีน ชาวแมนจูคงได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจีน จึงนำเอาธงมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในระบบการควบคุมกำลังคนที่พัฒนาขึ้นจากพื้นฐานเดิม ต่อมาระบบปาฉีของชาวแมนจูได้ขยายตัวออกไป มีปาฉีทหารฮั่นและปาฉีมองโกลด้วย เริ่มจากพระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อผู้ทรงเป็นข่านแห่งอาณาจักรโฮ่วจิน ได้จัดให้ชาวฮั่นหรือชาวจีนที่มาสวามิภักดิ์เป็นกำลังพล 6 หนิวลู่ ขึ้นสังกัดกับปาฉีแมนจูถึงสมัยพระเจ้าหวงไทจี๋หรือพระเจ้าชิงไท่จง (ค.ศ. 1627 – 1643) กำลังพลชาวฮั่นมีเพิ่มขึ้น จึงจัดเป็นทหารฮั่น 1 กองธง และได้




(น.35) รูป

(น.36) จัดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปลายรัชกาลใน ค.ศ. 1642 ก็ตั้งครบทั้ง 8 กองธง มีจำนวนพล 24,050 คน ส่วนปาฉีมองโกลนั้นได้เริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1635 ในสมัยพระเจ้าหวงไท่จี๋ และได้จัดตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนครบ 8 กองธง มีกำลังพล 16,840 คน ทั้งปาฉีทหารฮั่นและปาฉีมองโกลมีระบบการควบคุมกำลังคนลดหลั่นเป็นลำดับ และใช้ธงสีต่าง ๆ เหมือนปาฉีแมนจูทุกประการ แม้ว่าปาฉีของชนทั้ง 3 เผ่ารวมกันแล้วจะเป็น 24 กองธง แต่ก็ยังคงเรียกว่า “ระบบปาฉี” หรือ “ระบบกองธงทั้งแปด” เหมือนเช่นเดิม เพียงแต่เติมคำภาษาจีน “ชิง” เข้าไปเป็น “ชิงปาฉี” แปลว่า “ระบบกองธงทั้งแปดแห่งราชวงศ์ชิง” ส่วนคำลงท้ายชื่อตำแหน่งของผู้คุมกำลังพลในแต่ละระดับนั้นเมื่อระบบปาฉีพัฒนามาได้ระยะหนึ่ง ได้มีการเปลี่ยนแปลงกล่าวคือ ใน ค.ศ. 1634 สมัยพระเจ้าหวงไท่จี๋ได้เปลี่ยนตำแหน่งจาก “หนิวลู่เอ๋อเจิน” เป็น “หนิวลู่จางจิง” และ “เจี่ยลาเอ๋อเจิน” เป็น “เจี่ยลาจางจิง” ส่วนตำแหน่ง “กู้ซานเอ๋อเจิน” ยังคงใช้ชื่อตำแหน่งเหมือนเดิม คำว่า “จางจิง” เป็นภาษาแมนจูแปลว่า “หัวหน้า” การเปลี่ยนแปลงคำลงท้ายชื่อตำแหน่งจาก “เอ๋อเจิน” เป็น “จางจิง” นั้น เป็นเพราะว่าในเวลาต่อมาคำว่า “เอ๋อเจิน” ได้ใช้ในความหมายว่า “ผู้นำชั้นสูงชาวแมนจู” เทียบได้กับคำภาษาจีน 3 คำคือ “เทียนจื่อ” (天子) แปลว่า “โอรสสวรรค์” “หวัง” (王 หรือ “อ๋อง” ในภาษาไทย) แปลว่า “เจ้านาย


(น.37) รูป

(น.37) ทรงกรมชั้นใหญ่” และ “จวิน” (君) แปลว่า “เจ้าเมืองหรือขุนนางผู้ใหญ่” ส่วนชื่อตำแหน่ง “กู้ชานเอ๋อเจิน” ที่ไม่เปลี่ยนคำลงท้ายนั้นอาจเป็นเพราะว่าผู้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่หรือบางคนก็เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์อยู่แล้ว ในระยะแรกของการจัดตั้ง ระบบปาฉีมีบทบาทหน้าที่ทั้งในด้านการทหาร การปกครอง และการผลิต เช่น ผู้เป็น “หนิวลู่จางจิง” นั้นนอกจากออกรบแล้ว ในยามปกติจะทำหน้าที่สำรวจจัดทำบัญชีสำมะโนครัว จำนวนไร่นา บ้านเรือน ทะเบียนทหาร ไปจนถึงการแก้ไขข้อขัดแย้งของผู้คนที่อยู่ในความควบคุมของตน ส่วน “กู้ซานเอ๋อเจิน” นั้น นอกจาก


(น.38) รูป

(น.38) บัญชาการรบในยามสงครามแล้ว ในยามปกติจะทำหน้าที่คุมทะเบียนบัญชีกำลังพล ดูแลการผลิต ฝึกหัดทหาร และอบรมให้การศึกษา แต่ในระยะหลังบทบาทด้านการทหารของระบบปาฉีจะเด่นเหนือบทบาทอื่น ๆ และกองทัพปาฉีเป็นกำลังสำคัญในการก่อร่างสร้างชาติและแผ่ขยายอำนาจของชาวหนี่เจินในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ใน ค.ศ. 1616 พระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อได้อาศัยกองทัพปาฉีรวบรวมชาวหนี่เจินกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ก่อตั้งอาณาจักรโฮ่วจินขึ้น ทรงดำรงตำแหน่งข่านคนแรกของอาณาจักร รัชทายาทของพระองค์ได้พัฒนาอาณาจักรและขยายอิทธิพลสืบต่อมาจนถึง ค.ศ. 1635 พระเจ้าหวงไท่จี๋ (ราชบุตรองค์ที่ 8 ของพระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อ) ได้เปลี่ยนชื่อเผ่าของตน จากชนชาติ “หนี่เจิน” มาเป็น “หม่านโจว” หรือ “แมนจู” ในปีถัดมา (ค.ศ. 1636) ได้เปลี่ยนชื่ออาณาจักรจาก “อาณาจักรโฮ่วจิน” มาเป็น “อาณาจักรชิง” และพระเจ้าหวงไท่จี๋ได้สถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้ มีพระนามว่า พระเจ้าชิงไท่จง


(น.39) รูป

(น.39) พระเจ้าหวงไท่จี๋สวรรคตใน ค.ศ. 1643 ราชบุตรองค์ที่ 9 ได้ครองราชย์สืบต่อมา ทรงพระนามว่า พระเจ้าชิงซื่อจู่ แต่เนื่องจากทรงมีพระชนม์เพียง 6 พรรษา ตัวเอ๋อกุ่น ผู้ทรงเป็นพระปิตุลาจึงได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใน ค.ศ. 1644 ตัวเอ๋อกุ่นได้อาศัยกองทัพปาฉีทะลวงด่านซานไห่กวานเข้าดินแดนจีน ยึดนครปักกิ่งไว้ได้ และย้ายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตงเป่ย) ถิ่นฐานเดิม มาตั้งมั่นในดินแดนจีนสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้น และเริ่มรัชศกพระเจ้าชิงซื่อจู่ว่า “ซุ่นจื้อ” พระองค์จึงเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “พระเจ้าซุ่นจื้อ” ราชวงศ์ชิงเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน ได้ปกครองจีนระหว่าง ค.ศ. 1644 – 1911

(น.40) หลังจากชาวแมนจูได้ปกครองประเทศจีนแล้ว ระบบปาฉีได้เน้นหนักในด้านการทหาร รักษาความมั่นคงความสงบเรียบร้อย ราชวงศ์ชิงได้อาศัยระบบปาฉีในการเสริมอำนาจควบคุมปกครองชาวจีน โดยได้รับการเสริมกำลังจากกองทหารลวี่หยิงปิงหรือกองทหารชาวจีนด้วย ส่วนบทบาทในด้านการผลิตนั้นนับวันมีแต่จะลดน้อยลง ในด้านการเป็นองค์กรการปกครองนั้น ระบบปาฉีอยู่ร่วมกับระบบการปกครองโจวเสี้ยว*ของจีนมาจนถึงปลายสมัยราชวงศ์ชิง และได้ก่อให้เกิดคำศัพท์ว่า “ฉีเหริน” คำว่า “ฉีเหริน” เป็นภาษาจีน “ฉี” แปลว่า “ธง” ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ส่วนคำว่า “เหริน” แปลว่า “คน” รวมความแล้วแปลว่า “ชาวธง” เนื่องจากชาวแมนจูถูกควบคุมจัดตั้งภายใต้ระบบกองธงทั้งแปด จึงเรียกชาวแมนจูว่า “ฉีเหริน” หรือ “ชาวธง” เพื่อให้ต่างจากชาวฮั่นหรือชาวจีนที่เรียกกันว่า “หมินเหริน” แปลว่า “ชาวบ้าน” ระบบโจวเสี้ยนเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคของจีน คำว่า “โจว” พอจะเทียบกับคำภาษาไทยได้ว่า “เมือง” ส่วนคำว่า “เสี้ยน” เทียบได้กับคำว่า “อำเภอ”


(น.41) รูป

(น.41) นอกจากคำว่า “ฉีเหริน” ยังมีคำศัพท์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากระบบปาฉีอีกคำหนึ่งคือ คำว่า “ฉีผาว” “ผาว” แปลว่า “เสื้อคลุมยาว” รวมความแล้ว “ฉีผาว” แปลว่า “เสื้อคลุมยาวของชาวแมนจู” ฉีผาวเดิมเป็นเครื่องแต่งกายของชาวแมนจู ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงที่ว่า “กี่เพ้า” ปัจจุบันฉีผาว หรือกี่เพ้าเป็นชุดประจำชาติของสตรีจีนที่ผู้คนทั่วไปรู้จักกันดี เป็นที่น่าสังเกตว่า กองทหารชาวฮั่นที่ประจำอยู่ในเมืองหลวงและตามมณฑลต่าง ๆ แม้จะมิได้ถูกจัดตั้งอยู่ในระบบปาฉี แต่ก็ถูกกำหนดให้ใช้ธงเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน กล่าวคือให้ใช้ธงสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ เรียกว่า “ลวี่ฉีปิง” “ลวี่” แปลว่า “สีเขียว” “ปิง” แปลว่า “ทหาร” รวมความแล้ว “ลวี่ฉีปิง” แปลว่า “ทหารธงเขียว” หรือบางครั้งก็เรียกกันว่า “ลวี่หยิงปิง”

(น.42) แปลว่า “ทหารค่ายเขียว” (หยิง แปลว่า ค่าย) ทหารปาฉีและทหารลวี่ฉีเป็นกำลังทหารที่สำคัญของประเทศจีนมาตลอดสมัยราชวงศ์ชิง เรื่องระบบปาฉียังมีเรื่องน่าสนใจที่ควรจะพูดถึงสักเล็กน้อยกล่าวคือในบรรดากองธงทั้ง 8 กองธงนั้น เมื่อมาถึงสมัยพระเจ้าซุ่นจื้อ ใน ค.ศ. 1650 พระองค์ได้กำหนดให้กองธงเหลือง ธงขาว และธงเหลืองขอบแดงขึ้นต่อพระองค์โดยตรง กองธงทั้งสามจึงมีฐานะเป็นทหารรักษาพระองค์และมีบทบาทสำคัญ จึงเรียกกองธงทั้งสามนี้ว่า “ส้างซานฉี” แปลว่า “ธงบนทั้งสาม” (ส้าง = บน, ซาน = สาม) หรือบางครั้งก็เรียกว่า “เน้ยฝู่ซานฉี” แปลว่า “ธงในวังทั้งสาม” (เน้ย = ใน, ฝู่ = วัง) ส่วนที่เหลืออีก 5 กองธงเรียกว่า “เซี่ยอู่ฉี” แปลว่า “ธงล่างทั้งห้า” (เซี่ย = ล่าง, อู่ = ห้า) ธงล่างทั้งห้าอันประกอบด้วยธงแดง ธงน้ำเงิน ธงขาวขอบแดง ธงแดงขอบขาว และธงน้ำเงินขอบแดงนั้น ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งระบบปาฉีในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็อยู่ในความควบคุมบัญชาการของเจ้านายเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่มาตลอด จนถึง ค.ศ. 1729 พระเจ้าหย่งเจิ้งได้ถอนอำนาจการควบคุมบัญชาการมาขึ้นกับพระองค์เองโดยตรง นับเป็นการรวมศูนย์อำนาจการควบคุมบัญชาการกองทหารปาฉีมาอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์โดยตรงทั้งหมด


(น.43) รูป


(น.44) รูป

(น.44) นอกจากนั้น เมื่อราชวงศ์ชิงมาปกครองประเทศจีน ได้รับและปรับเปลี่ยนตนเองเข้ากับวัฒนธรรมจีนแล้ว ก็ได้ปรับชื่อตำแหน่งผู้ควบคุมกำลังพลและเทียบเคียงให้เข้ากับระบบราชการจีน ดังจะเห็นได้ว่าในสมัยพระเจ้าหย่งเจิ้ง เมื่อ ค.ศ. 1723 ได้เปลี่ยนตำแหน่ง “กู้ซานเอ๋อเจิน” เป็น “กู้ซานอ๋างปาง” คำว่า “อ๋างปาง” เป็นภาษาแมนจูแปลว่า “เสนาบดี” คำว่า “หนิวลู่จางจิง” “เจี่ยลาจางจิง” และ “กู้ซานอ๋างปาง” ในสมัยนั้นได้แปลเทียบเป็นภาษาจีนไว้ดังนี้
หนิวลู่จางจิง เทียบเป็น จั๋วหลิ่ง ภาษาจีนแปลว่า “หัวหน้าช่วยนำ”
เจี่ยลาจางจิง เทียบเป็น ชานหลิ่ง ภาษาจีนแปลว่า “หัวหน้าร่วมนำ”

Next >>