<< Back
ราชวงศ์ชิง
(น.45) รูป
(น.45) กู้ซานอ๋างปาง เทียบเป็น ตูถุ่ง ภาษาจีนแปลว่า “ผู้บัญชาการ”
กู้ซานอ่างปางมีผู้ช่วย 2 คน คนแรกภาษาแมนจูเรียกว่า “จั่วเหมยเลอะจางจิง” เทียบเป็น “จั่วฟู่ตูถุ่ง” ภาษาจีนแปลว่า “รองผู้บัญชาการฝ่ายซ้าย”
ส่วนคนที่สองภาษาแมนจูเรียกว่า “โย่วเหมยเลอะจางจิง” เทียบเป็น “โยว่ฟู่ตูถุ่ง” ภาษาจีนแปลว่า “รองผู้บัญชาการฝ่ายขวา”
เมื่อจีนเผชิญกับการคุกคามของจักรวรรดินิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระบบปาฉีที่ชาวแมนจูนำมาจัดระเบียบสังคมและการปกครองในสังคมจารีตของจีนก็ค่อย ๆ เสื่อมสลายลงและถูกแทนที่ด้วยการปฏิรูปการทหารตามแบบตะวันตกพร้อม ๆ กับการจัดระเบียบสังคมเข้าสู่สมัยใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก หน้า 48-49
(น.48) (น.48) พระราชนิพนธ์บทกวีของพระเจ้าคังซีเกี่ยวกับแม่น้ำซงฮัวเจียง
ใน ค.ศ. 1682 พระเจ้าคังซีได้เสด็จประพาสภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เสด็จทอดพระเนตรอู่ต่อเรือที่เมืองจี๋หลิน และสักการะเขาฉางไป๋ซาน การเสด็จประพาสในครั้งนั้นได้ทรงพระราชนิพนธ์บทกวี เกี่ยวกับแม่น้ำซงฮัวเจียงไว้ด้วยมีความดังนี้
ลำน้ำซงฮัวเจียง น้ำใสสะอาด
ฝนเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาได้ก่อเกลียวคลื่นแห่งฤดูใบไม้ผลิ
ระลอกคลื่นลูกแล้วลูกเล่างามวิจิตรตระการตา (ซัดกระทบกราบเรือ) แลเห็นเนื้อไม้ต้นกู่ (榖)1 เด่นชัด
ใบเรือหลากสีที่แต่งแต้มด้วยรูปนกเป็ดน้ำพลิ้วไหวลู่ลม
(น.49)
เสียงกระแสน้ำไหลแผ่วเบาดุจบรรเลงเพลง “เซียวเสา” (蕭韶)2
ช่างเจิดจ้าแพรวพราวเสียจริง เจ้าดวงอาทิตย์ที่ทะยานสูงขึ้นจากหมู่เมฆที่ลอยฟ่อง
มังกรคะนองน้ำตื่นตระหนก เมื่อแลเห็นนาวาลอยละลิ่วแล่นฉิวตามกระแสน้ำ
เสากระโดงเรือรบเรียงรายลำแล้วลำเล่า ตั้งมั่น ณ นครริมฝั่งแม่น้ำ
ทหารเสือผู้กล้าหาญพร้อมด้วยสรรพาวุธอันเกรียงไกร
พู่สีแดงบนยอดธงที่ประดับด้วยขนนกและธงที่ประดับด้วยหางจามรีทอดเงาลงบนผิวน้ำ
เรามาเยี่ยมเยียนพสกนิกรหาใช่มาตรวจพล
ลำน้ำซงฮัวเจียง น้ำใสสะอาด
สายน้ำกว้างใหญ่ไพศาล ถาโถมเคลื่อนรุดหน้าไป
แสงเงินแสงทองบนขอบฟ้ากว้างไกลนับหมื่นลี้สะท้อนแสงบนผิวน้ำใสของลำน้ำซงฮัวเจียง
แกะรอยโสม
แกะรอยโสม หน้า 123,131
(น.123) สวนหยวนหมิงหยวน สวนนี้สร้างในสมัยราชวงศ์ชิง พระเจ้าคังซีสร้างพระราชทานพระเจ้าหย่งเจิ้น (องค์ชายสี่ในเรื่องศึกสายเลือด) เมื่อ ค.ศ. 1860 เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ทหารพันธมิตร 8 ชาติ เผาทำลายพระราชวังนี้ มาภายหลังทางราชการจีนจึงค่อยๆ บูรณะ ไปทีละเล็กทีละน้อย เช่นประตูก็เพิ่งบูรณะใน ค.ศ. 1988 นี่เอง วันนี้เราจะเดินดูสถานที่ต่างๆ ข้าพเจ้าสังเกตว่าเรามาตอนนี้คงไม่มีอะไรดูมากนัก ถ้าเป็นช่วงหลังจากนี้ ประมาณเดือนพฤษภาคม เมื่อต้นไม้ผลิดอกออกใบเต็มที่ คงจะสวยงามมาก พี่อู๋ชี้ให้ดูต้นหยาง ต้นหวย ซึ่งเขาถือกันว่าเป็นต้นไม้ประจำปักกิ่ง ต้นไป๋ ซึ่งคล้ายๆ กับต้นสน คือไม่ทิ้งใบในฤดูหนาว ต้นพลับ และต้นท้อป่า
(น.131) เจียงหนานคือภาคใต้ของจีน ซึ่งพระเจ้าเฉียนหลงโปรดปราน ในพิพิธภัณฑ์มีภาพเหตุการณ์วันที่ฝรั่งเข้าทำลายวังเมื่อเดือนตุลาคม 1856 อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย สหรัฐ ฯลฯ เข้ามา ช่วงนั้นเรียกว่าสงครามฝิ่น ครั้งที่ 2 ทหารราชวงศ์ชิงอ่อนแอไม่กล้าต่อสู้ พวกฝรั่งเข้าเทียนสิน บังคับให้ทำสนธิสัญญาซึ่งเขาเรียกว่าเป็นสัญญาขายชาติ
แกะรอยโสม หน้า 164
(น.164) มีแผ่นหินศิลาจารึกแล้วยังมีบล็อกพิมพ์ไม้สำหรับพิมพ์พระไตรปิฎก สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงอีกด้วย
คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 22
(น.22) ท่าเรือโบราณจางหลิน (คนแต้จิ๋วอ่านว่า จึงลิ้ม) มีจารึกประวัติท่าเรือ ท่าเรือนี้ถือว่าเป็นท่าเรือที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง มีความสำคัญทางการทหารและพาณิชย์เจริญรุ่งเรืองที่สุดสมัยราชวงศ์ชิง ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ.1736-1796) ต่อมาถึงจักรพรรดิเจียชิ่งหรือเกียเข่ง (ค.ศ. 1796-1821) หรือประมาณ 200 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นก็ค่อยๆเสื่อมไปเมื่อฝรั่งบังคับให้เปิดซัวเถา ความเจริญก็ย้ายไปทางนั้น
ท่าเรือจางหลินนี้เดิมเป็นศูนย์กลางของเรือหัวแดงหรืออั้งเท้าจุ๊น ซึ่งเป็นเรือของมณฑลกวางตุ้ง (เรือของมณฑฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน จะทาสีเขียว) เส้นทางเดินเรือทางเหนือไปถึงต้าเหลียน เซี่ยงไฮ้ หนิงโป ส่วนทางใต้ไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เชื่อกันว่าพระราชบิดาของพระเจ้าตากสินก็ใช้ท่าเรือนี้เดินทางมาประเทศไทย สมัยก่อนเขาว่ากันว่าใช้เวลาประมาณเดือนหนึ่ง
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 74,76-77,86
(น.74) พิพิธภัณฑ์กวางโจว
ชั้นที่ 3 แสดงประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง
(น.76) สิบสามห้างนี้คือระบบการค้าจีนกับประเทศตะวันตก ชาวตะวันตกในยุคก่อนสงครามฝิ่นค้าขายได้เฉพาะกับสิบสามห้างนี้เป็นการควบคุมหรือการค้าผูกขาด ส่วนไทยไม่ได้ผ่านทางระบบนี้ (เราค้าในระบบบรรณาการ) รูปร้านรวงต่างๆ เช่น ร้านขายหมวก ร้านขายใบชา ร้านขายโคมไฟ
วัตถุโบราณสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีรูปเรือมังกรแกะสลักจากงาช้าง สำหรับถวายเป็นของขวัญวันประสูติพระนางซูสี
(น.77) เรื่องคังหยูเหว่ย ที่ปรึกษาของพระเจ้ากวางสูในการปฏิรูปการปกครองร้อยวัน ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ
ชั้นที่ 4 แสดงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงตอนปลาย และสมัยสาธารณรัฐ
(น.86) อาคารชั้นใน มีที่บูชา มีรูปปั้น อาคารข้างๆ แสดงศิลปหัถกรรมหลายอย่าง แสดงการปักไหม ผ้าลูกไม้ทำมากสมัยราชวงศ์ชิง มักจะทำประสมกับการปักผ้า ผ้าชาวเขาเผ่าต่างๆ ในไหหลำ มีพวกม้ง พวกเย้า
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 113-125
(น.113) เราไปดูพิพิธภัณฑ์สงครามฝิ่น หรือเรียกอีกอย่างว่า อนุสรณ์สถานหลินเจ๋อสู สร้างอยู่บริเวณที่นายพลหลินเจ๋อสูทำลายฝิ่นของอังกฤษระหว่างวันที่ 3-25 มิถุนายน ค.ศ. 1839 ฝิ่นที่ทำลายมีปริมาณถึงสองล้านกว่ากิโลกรัม วิธีการทำลายคือ การขุดสระขนาด 150×150 เมตร เมื่อน้ำทะเลขึ้นและไหลเข้ามาในสระนี้นำฝิ่นใส่ลงไปพร้อมกับเกลือและหินปูน วิธีนี้ทำให้ฝิ่นย่อยสลาย เมื่อน้ำทะเลลดเปิดประตูน้ำ ทิ้งฝิ่นที่ย่อยสลายแล้วลงทะเลไป ไม่ทราบว่าท่านนายพลไปเรียนวิธีการเช่นนี้มาจากไหน หรือว่าคิดเอง สมัยนี้เห็นเขามีแต่จุดไฟเผายาเสพติด ขณะนี้สระน้ำที่ใช้กำจัดฝิ่นก็ยังอยู่ แต่ไม่ได้ใช้ทำอะไร
(น.114) รูป 111 อนุสาวรีย์หลินเจ๋อสู
(น.114) บริเวณนั้นเป็นสวนสาธารณะใหญ่ ปลูกต้นไม้ไว้มาก มีอนุสาวรีย์ต่อต้านการสูบฝิ่นและอนุสาวรีย์นายพลหลินเจ๋อสู
เข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสร้างใน ค.ศ. 1989 ทำเป็นรูปกำแพงมี 3 ชั้น ตกแต่งอย่างง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือมาก แต่ว่ามีคำอธิบายและภาพประกอบ รวมทั้งสิ่งของมาก จนดูไม่ทันเพราะว่าเรามีเวลาน้อย จะพยายามเขียนบรรยายเท่าที่จะทำได้ ถ้าผู้อ่านสงสัยว่าเขียนตรงไหนผิดจากที่เขาบรรยายไว้จะต้องไปดูเอง
(น.115) ชั้นล่าง เป็นการปูพื้นประวัติศาสตร์ เล่าตั้งแต่สภาพทั่วไปของราชวงศ์ชิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยจักรพรรดิเตากวาง (ค.ศ. 1821-1851) มีปัญหาและค่อยๆ เสื่อมไป แต่ผู้ปกครองสมัยนั้นไม่สู้จะรู้สึก พวกขุนนางเหล่าผู้ดีก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา ข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง สังคมเสื่อมโทรม ประชาชนยากจนไม่มีที่ทำกินเพราะว่าที่ดินถูกคนมั่งมีโกงไป คนจนต้องทำสัญญาขายลูกไปเป็นทาสช่วงใช้ ส่วนในยุโรป มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้มีพลังทางเทคโนโลยีลัทธิทุนนิยมของตะวันตกจึงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว (เขาแสดงเครื่องต้นของจักรพรรดิ รูปหน้าพระราชวังปักกิ่ง แสดงแผนที่ของจักรวรรดิจีนในสมัยนั้นซึ่งใหญ่โตกว่าปัจจุบัน ลากเส้นไว้ให้เห็นว่าถูกตัดดินแดนไปหลังสงครามฝิ่น ธงประจำพระองค์ของจักรพรรดิเป็นรูปมังกร ใบสัญญาขายลูกซึ่งคนรวยเขียน คนจนเพียงแต่ปั๊มนิ้วมือ รายงานเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง)
ตอนที่ 2 เป็นเรื่องการขยายตัวของการแสวงหาอาณานิคม
ในสมัยนั้นในจีน จักรพรรดิเป็นผู้ถือกรรมสิทธิที่ดิน แบ่งให้เจ้านายและขุนนาง ส่วนพวกชาวนาต้องเช่าที่ ดอกเบี้ยสูงถึง 20% เขาถ่ายรูปสัญญาเช่าที่ดินไว้ให้ดูด้วย
(น.115) รูป 112 ฉลองพระองค์จักรพรรดิ
(น.116) รูป 113 เส้นทางที่จักรวรรดินิยมตะวันตกเข้ามาบุกจีนก่อนสงครามฝิ่น
(น.116) นักสำรวจยุโรปชาติต่างๆ เข้ามาทางประเทศตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน (แผนที่แสดงการแผ่อำนาจของชาวตะวันตก) ตามด้วยพวกพ่อค้า และนักล่าอาณานิคม (แสดงภาพแต่ละคน บอก ค.ศ. ที่มา) เช่น ฮอลแลนด์มาที่เกาะไต้หวันใน ค.ศ. 1624 โปรตุเกสมาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ค.ศ. 1622 ฮอลแลนด์ยึดเกาะเผิงหูได้ เรือรบอังกฤษมาใน ค.ศ. 1834 รูปบุคคล เช่น Earl McCartney ค.ศ. 1791 เป็นทูตอังกฤษสมัยนั้น Lord Amherst ค.ศ. 1834
ตอนที่ 3 การติดต่อทางการค้าระหว่างจีนกับอังกฤษก่อนสงครามฝิ่น
ชาวตะวันตกต้องการสินค้าของจีน เช่น ผ้าไหม และเส้นไหมดิบ เครื่องกระเบื้อง (porcelain) ชา (มีตัวอย่างให้ดูในตู้) แต่ว่าไม่มีสินค้าตะวันตกที่จีนต้องการ จีนมีเศรษฐกิจดี ทำเองได้หมด อังกฤษไม่สามารถแทรกแซงได้ ต้องดำเนินนโยบายให้เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลง จึงทดลองนำฝิ่นจากอินเดียเข้ามาขาย ร่วมมือกับชาวอเมริกันที่นิวยอร์ก โดยเริ่มมาจำหน่ายที่หวงผู่ในมณฑลกวางตุ้ง คนอังกฤษ 2 คนคือนายวิลเลียม จาร์ดีนส์ และนายเจมส์ แมธีสันร่วมมือกันตั้งบริษัทค้าฝิ่น นายจาร์ดีนส์เป็นนายแพทย์ ดังนั้นใครๆ จึงเข้าใจว่าใช้ฝิ่นเป็นยา ขณะนั้นมีขุนนางท้องถิ่นหลายคนที่เริ่มเห็นภัยของฝิ่นและทูลจักรพรรดิว่าควรต่อต้านการค้าฝิ่น เขาเอาก้อนฝิ่น
(น.117) ดิบใส่ตู้ไว้ให้ดู ฝิ่นที่นี่เขาทำเป็นรูปทรงกลม (เหมือนลูกบอล) ต่างจากฝิ่นดิบที่ข้าพเจ้าเคยเห็นที่เมืองไทย ทำเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า เขาถ่ายภาพโกดังเก็บฝิ่นที่อินเดีย และบริษัท East India Company ที่กรุงลอนดอน มองดูเหมือนพิพิธภัณฑ์ การปลูกฝิ่น การตรวจคุณภาพฝิ่น รูปเมืองกวางโจวใน ค.ศ. 1730 รูปอ่าวหวงผู่ก่อนสงคราม รูปเรือขนฝิ่น
เขาแสดงตารางสินค้าเข้าสินค้าออกของจีนเป็นช่วงๆ ระหว่าง ค.ศ. 1760-1833 สินค้าเข้ามีมูลค่าน้อยกว่าสินค้าออกทุกปี
ตอนที่ 4 เรื่องการค้าฝิ่น จีนเขียนไว้ว่า Ignominious Trade of Opium ช่วงนี้รับว่าจดมากระท่อนกระแท่น จึงต้องเรียบเรียงใหม่จึงพอจะสรุปได้ว่าเป็นเรื่องของชาวตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษลักลอบนำฝิ่นเข้าจีนเพื่อหารายได้ซื้อสินค้าจีน ฝิ่นนี้ปลูกในอินเดียเป็นส่วนใหญ่ ปลูกในตุรกีบ้าง แต่เดิมพวกอาหรับและเตอร์กเคยนำฝิ่นเข้าจีนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 หรือต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 จีนใช้เป็นยาแก้ปวดหรือยากล่อมประสาท ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ความนิยมสูบฝิ่นจากอเมริกาแพร่เข้ามาในจีน มีคนนำฝิ่นมาผสมยาสูบ สูบกันแพร่หลายนิยมกันทั่วไป ราว ค.ศ. 1729 มีปัญหาเรื่องฝิ่นมากจนทางการจีนต้องออกประกาศห้ามขายห้ามสูบ ค.ศ. 1729 จักรพรรดิออกราชโองการห้ามนำเข้าฝิ่นและห้ามปลูกฝิ่น แต่ไม่เป็นผล การค้าฝิ่นยังเจริญเรื่อยมา
(น.118) เขาว่ากันว่าในตอนเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 โปรตุเกสเริ่มค้าขายฝิ่นก่อน แต่พอปลายศตวรรษ อังกฤษกลายเป็นเจ้าแห่งการค้าฝิ่น บริษัทอินเดียตะวันออกผูกขาดการค้าฝิ่นในแคว้นเบงกอลของอินเดีย มีการปรับปรุงพันธุ์ วิธีปลูกให้ได้ผลมาก ลงทุนน้อย ชาติตะวันตกที่มีส่วนในการค้าฝิ่นอีกชาติหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกา
บริษัทอินเดียตะวันออกไม่ได้นำฝิ่นเข้าจีนเอง ให้พ่อค้ารายย่อยเป็นผู้นำฝิ่นจากอินเดียเข้าจีนโดยการลักลอบไปให้พวกนำเข้าอีกกลุ่มเข้าทางชายฝั่งทะเล เงินแท่งทองแท่งที่ได้จากการค้าก็จะต้องนำมาส่งที่บริษัทอินเดียตะวันออกที่กวางตุ้ง พวกพ่อค้าจะได้เป็นตั๋วแลกเงินปอนด์ไปขึ้นเงินได้ที่ลอนดอน ส่วนบริษัทอินเดียตะวันออก (หลัง ค.ศ. 1858 รัฐบาลอังกฤษเข้าปกครองอินเดียโดยตรง) เอาเงินแท่งทองแท่งซื้อสินค้าจีนไปขาย
ตอนที่ 5 ความขัดแย้งในเรื่องการห้ามจำหน่ายฝิ่น (The Debate on Opium Prohibition)
หวงจิ้วจื่อ เป็นขุนนางที่ดูแลเรื่องการพิธี เขาเป็นคนแรกที่เสนอให้เลิกฝิ่น ถึงกับทำหนังสือกราบทูลจักรพรรดิ ในพิพิธภัณฑ์มีรูปถ่ายหนังสือกราบบังคมทูลให้ดูด้วย
หลินเจ๋อสู เป็นหัวหน้าใหญ่ที่ทำลายฝิ่นครั้งใหญ่ที่สุดของจีนบริเวณที่ตั้งพิพิธภัณฑ์นี้
(น.119) รูป 114 ภาพแสดงผลเสียของการติดฝิ่น
(น.119) นอกจากนี้ยังแสดงหนังสือพับแบบจีน แสดงประวัติคนติดฝิ่นว่า เดิมเป็นคนที่มีฐานะ ติดฝิ่นแล้วต้องขายบ้าน ขายสมบัติ กลายเป็นขอทาน ลูกเมียตกยากต้องร้องไห้ เมียเอามีดสับกล้องสูบฝิ่น (แล้วมีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่ทราบ) หนังสือนี้เขียนสมัยราชวงศ์ชิง เป็นที่แพร่หลาย เป็นความพยายามประชาสัมพันธ์โทษของฝิ่น โดยบอกว่าเมื่อติดแล้ว เลิกไม่ได้ (You could not get rid of the habit)
แสดงสัญญาจำนองที่ของคนติดฝิ่น
รูปคนสูบฝิ่น ซึ่งมีทั้งคนรวย คนชั้นสูง คนจน ขุนนาง และทหาร แสดงให้เห็นว่าการนำฝิ่นมาจำหน่ายนั้น ไม่เป็นผลเสียในด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับเรื่องดุลการค้าเท่านั้น แต่เป็นการทำลายโครงสร้างของประเทศทั้งทางด้านการเมืองเศรษฐกิจ (เงินเฟ้อมาก) และสังคม ทำลายทรัพยากรมนุษย์ เช่น ในการรบกัน ทหารที่ติดฝิ่น มีสุขภาพเสื่อมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Next >>