Please wait...

<< Back

ชนเผ่าอี๋

จากหนังสือ

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 174

(น.174) คัมภีร์ใบลานของสิบสองปันนาก็มีเป็นจำนวนมากเช่นกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ตำรายา นอกจากนั้นมีหนังสือภาษาไทใหญ่จากเต๋อหง มีคนแปลเป็นภาษาจีนแล้ว เอกสารที่พิมพ์แล้วอยู่ในตู้หนังสือ มีเอกสารโบราณของพวกอี๋ ปัจจุบันนี้พวกอี๋ได้ปรับปรุงตัวอักษรจากภาษาโบราณผสมกับอักษรจีนมาใช้ โทรทัศน์วิทยุก็ออกเป็นภาษาอี๋ เผ่าฮาหนี (อีก้อ) ใช้อักษรโบราณเขียนหนังสือ นอกจากนั้นยังมีพจนานุกรมภาษาฮั่น (จีน) - จิ่งพอ จีน – ลีซอ จีน – ตู๋หลง อี๋ – ฮั่น คัมภีร์ไบเบิลภาษาเหมียว (แม้ว, ม้ง) คัมภีร์ทิเบต ภาษามองโกล ภาษาหุย (อาหรับ) ภาษาเววูเอ๋อร์ (อุยกูร์) ภาษาคาซัก ภาษาแมนจู หนังสือเรื่องอักษร 5 ลักษณะในราชวงศ์ชิง มีภาษาหม่าน (แมนจู) ฮั่น (จีน) มองโกล ทิเบต และหุย หนังสือวรรณคดีทิเบตสมัยต่างๆ
อาจารย์หวงฮุ่ยคุนอธิบายเรื่องสถาบันว่าแบ่งเป็นหลายคณะดังนี้
1. คณะภาษาชนชาติกลุ่มน้อย เปิดสอน 8 ภาษา คือ
1) ภาษาไทลื้อสิบสองปันนา
2) ภาษาไทใหญ่ เต๋อหง
3) ภาษาอี๋ เป็นภาษาตระกูลทิเบต – พม่า
4) ภาษาจีน (ฮั่น)
5) ภาษาหว่า (ว้า) ซึ่งเป็นภาษาตระกูลมอญ – เขมร สาขาปะหล่อง – ว้า
6) ภาษาลาฮู (มูเซอร์) แบ่งเป็น มูเซอร์เหลือง ดำ, แดง เป็นภาษาตระกูลทิเบต – พม่า
7) ภาษาฮาหนี (อีก้อ) เป็นภาษาตระกูลทิเบต – พม่า
8) ภาษาจิ่งพอ เป็นภาษาตระกูลทิเบต – พม่า
2. คณะวิชาภาษาตะวันออก มีสอน 4 คณะ

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 187,188,189,190,191,192,193


(น.187) รูป 199 หมู่บ้านจำลองชนกลุ่มน้อย


รูป 200 ชนเผ่าต่างๆ

(น.187) หมู่บ้านจำลองที่นี่มีหลายชนเผ่าหลายหมู่บ้าน แต่เรามีเวลาน้อยจึงเลือกดูได้เพียงไม่กี่เผ่า เริ่มต้นเราไปที่หมู่บ้านของชนเผ่าอี๋ พวกอี๋มีหลายกลุ่มวัฒนธรรม ชาวอี๋นับถือเสือและถือวัวเป็นสัตว์สิริมงคล เมื่อไปถึงมีคนมาร้องเพลงต้อนรับ ยื่นจอกสุราให้จิบ เป็นการแสดงว่าเขาต้อนรับเรา พาไปที่ลานกลมๆ แสดงปฏิทินชาวอี๋ มี 10 เดือน เดือนละ 36 วัน บวกเวลาพักผ่อนอีก


(น.188) รูป 201 บ้านเผ่าอี๋


รูป 202 การเชิดมังกร


(น.189) รูป 203 การเชิดมังกร


รูป 204 ลานที่ใช้เต้นรำ

(น.189) นอกจากคนต้อนรับ แล้วยังมีการเชิดสิงโต แต่ไม่ใหญ่โตเท่าที่บ้านเรามี ได้ความว่าธรรมเนียมการเชิดสิงโตไม่ได้เป็นธรรมเนียมชาติอี๋เป็นธรรมเนียมจีน วันนี้ตั้งใจจัดต้อนรับข้าพเจ้าโดยเฉพาะรอบๆ ลานเป็นรูปปีนักษัตร มีการเต้นรำของเผ่าอี๋ให้เราดู


(น.190) รูป 205 การเต้นรำเผ่าอี๋

(น.190) กำเนิดของเผ่าอี๋มีนิทานเล่าว่า แต่โบราณไม่มีฟ้าไม่มีดิน มีแต่เสือซึ่งกินสัตว์อื่นหมดไปแล้ว เหลือแต่เสือ เสือนั้นค่อยๆ กลายร่างไป ตาขวาเปลี่ยนเป็นดวงอาทิตย์ ตาซ้ายเป็นดวงจันทร์ เลือดเป็นป่าไม้ กระดูกเป็นภูเขา น้ำในร่างกายกลายเป็นน้ำ หัวใจเป็นบรรพบุรุษพวกอี๋ รวมความแล้วพวกอี๋ได้หัวใจเสือ ได้อำนาจเสือ จึงมีเรี่ยวแรงแข็งแกร่ง
พวกอี๋มาชวนให้เต้นรำ เนื้อเพลงที่ร้องฟังไปฟังมาไม่ใช่ภาษาอี๋กลายเป็นภาษาจีนว่า “อยากมา ไม่อยากมา ก็ต้องมา”


(น.191) รูป 206 พวกปีแพะทั้งไทยและจีน

(น.191) เต้นสักพักหนึ่งก็จบเพลง พวกเราปีแพะชวนกันถ่ายรูปหมู่ทั้งไทยทั้งจีนกับรูปปั้นแพะในที่นั้น พวกปีแพะเห็นจะมีมากกว่าปีอื่น ท่านทูต (สวนิต) ก็ถ่ายด้วย (เป็นปีแพะคนละรอบ) ในหมู่บ้านชาวอี๋ยังมีชิงช้า เขาโล้ชิงช้าขึ้นไปสูงน่ากลัว บ้านชาวอี๋สร้างด้วยหินกับไม้ หลังคาแบนใช้ตากข้าวหรืออะไรๆ ที่ต้องการตาก

Next >>