Please wait...

<< Back

บ้านของกัวมัวรั่ว

จากหนังสือ

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 80,81,82,83,84

(น.80) จากนั้นเดินทางต่อไปเขตที่ยังมีหูถงอยู่รวมกันจำนวนหนึ่ง มีบ้านอนุรักษ์ของบุคคลสำคัญหลายท่าน เช่น ซ่งชิ่งหลิง ซึ่งข้าพเจ้าเคยไปแล้ว ไปบ้านท่านกัวมั่วรั่ว นักการเมืองมีชื่อของจีน ลูกสาวของกัวมั่วรั่วมาต้อนรับ ที่นี่บริเวณบ้านและตัวบ้านใหญ่กว่าบ้านของเหล่าเซ่อมาก ที่สนามมีต้นแป๊ะก๊วย มีประวัติว่าท่านปลูกเอง เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อ ค.ศ.1988 มีรูปปั้นของท่านกัวมั่วรั่ว มีภูเขาเล็กๆ ลูกหนึ่ง ต้นไม้ใหญ่ๆ ขึ้นเต็ม ที่นี่แสดงอย่างเดียวกับที่บ้านเหล่าเซ่อคือ แบ่งเป็นส่วนที่รักษาสภาพเดิมไว้กับที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ มีรูปถ่ายต่างๆ เช่น ถ่ายกับเติ้งอิ่งเชาและโจวเอินไหล รูปถ่ายที่พระราชวังฤดูร้อนและที่บ้านนี้ มีรูปพวกหลานๆ ด้วย ห้องรับแขกขนาดใหญ่รักษาไว้สภาพเดิม มีรูปทิวทัศน์ขนาดใหญ่ มีเปียโนหลังเดียวที่เป็นของแปลกปลอมมา
(น.81) รูป 86 รูปปั้นกัวมั่วรั่ว
(น.82) รูป 87 ตู้หนังสือที่บ้านกัวมั่วรั่ว
รูป 88 โต๊ะหนังสือ
(น.83) ห้องทำงานมีโต๊ะใหญ่ 2 ตัวต่อกัน บนโต๊ะมีเครื่องเขียนพู่กันก็ใช้พู่กันธรรมดาๆ ไม่ใช่พู่กันราคาแพง ข้าพเจ้าไปที่ไหนๆ ก็ต้องเห็นลายมือพู่กันของท่าน ลูกสาวบอกว่าในห้องทำงานคุณพ่อก็เลยไม่ติดลายมือตนเองไว้ แต่จะพูดอย่างนั้นไม่ได้ มีลายมือพู่กันจีนของคุณแม่เขียนเป็นตัวประดิษฐ์ คุณพ่อเขียนอักษรหวัดแกมบรรจงไว้ข้างๆ มีรูปม้าของสวีเปยหง ซื้อมาราคา 5 หยวน เท่านั้น ห้องนอน เป็นเตียงธรรมดาๆ มีหลอดไฟพันอยู่ที่หัวนอน มีตู้ใส่หนังสือประวัติศาสตร์จีน 24 ราชวงศ์ที่ต้องอ่านประจำอยู่ข้างเตียง ทำเป็นช่องๆ มีบานตู้ปิด บนบานตู้สลักอักษรบอกไว้ว่าเป็นสมัยอะไร ข้าพเจ้าไปเปิดดูว่ามีหนังสืออะไร ปรากฏว่าในตู้ไม่มีหนังสือ แถมข้าพเจ้าทำบานตู้หลุด ติดเข้าไปใหม่ก็ไม่ได้ นอกจากห้องที่แสดงว่าสมัยก่อนอยู่กันอย่างไรแล้ว ยังมีห้องที่ใช้แสดงนิทรรศการ มีคำอธิบายเขียนเอาไว้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ แต่อ่านไม่ทัน มีบทความที่ท่านขยายใหญ่แปะเต็มฝาผนัง
(น.83) รูป 89 เตียงกัวมั่วรั่ว ข้างๆ เป็นตู้หนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์
(น.84) มีโมเดลแสดงบ้านเดิมอยู่ที่เล่อซาน มณฑลเสฉวน บิดาเป็นแพทย์แผนโบราณ ตัวเองก็เรียนเพราะสมัยเด็กๆ เรียนหนังสือโรงเรียนราษฎร์ สมัยนั้นเป็นการเอาเด็กมารวมกันจำนวนไม่มากนัก เชิญครูมาสอน ท่านเติบโตมาในครอบครัวที่เข้มงวด มีบิดาเป็นใหญ่ แต่เมื่ออายุ 20 ปี เดินออกจากชีวิตวัยเด็ก ใช้ชีวิตเป็นตัวของตัวเอง ได้เข้าร่วมขบวนการ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 ในการเรียนหนังสือครูลงสมุดพกว่าเป็นเด็กดื้อไม่เชื่อฟังครู เรียนวิชาเลขได้ 100% ภาษาอังกฤษได้ 98% แต่ภาษาจีนเรียนไม่ค่อยดี เพราะว่ามีความคิดที่แตกต่างจากความคิดครู ที่บ้านอยู่ใกล้ลำธารชื่อ ลำธารใบชา (ไม่ทราบว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร) กัวมั่วรั่วแต่งกลอนบอกว่าตกปลาอยู่ที่ลำธารไปพลาง อ่านหนังสือไปพลาง ดื่มด่ำในเนื้อหาจนปลากินเบ็ด และหนีไปแล้วยังไม่รู้ตัว มีห้องใหญ่อีกห้องหนึ่ง เด็กๆ เรียกกันว่าห้องแม่ แม่ชอบเขียนพู่กันจีน มีลายมืออยู่แผ่นหนึ่งที่พ่อกับแม่ช่วยกันเขียน อีกห้องติดรูปที่ไปประเทศต่างๆ เช่น ไปรัสเซีย เยอรมนี ญี่ปุ่น อินเดีย อียิปต์ สวีเดน คิวบา อินโดนีเซีย และพม่า บทกวีที่ประธานเหมาแต่งโต้ตอบกัน แท่นฝนหมึกที่ใช้เป็นรูปกลมเปรียบเหมือนกระจก อีกห้องมีลายมือเขียนพู่กันจีน หนังสือต่างๆ ที่เขียน ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติศาสตร์ บทละครพูด ท่านเขียนหนังสือไว้มากมาย ปัจจุบันนี้ยังรวบรวมไว้ไม่ได้ครบถ้วน ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักเขียนบทละครและกวี เริ่มศึกษาตัวอักษรที่เขียนบนกระดองเต่าสมัยราชวงศ์ชัง และจารึกบนเครื่องสำริดสมัยชุนชิวและจั้นกั๋ว การศึกษาวัฒนธรรมโบราณของจีนจะช่วยให้สามารถพัฒนาอุดมการณ์ทางการเมืองของจีนทางด้านสังคมและประวัติศาสตร์ว่า สอดคล้องกับแนวคิดระบบ dialectical materialism อย่างไร ได้เขียนประวัติศาสตร์จีน 4 เล่มจบ ช่วงที่กำลังศึกษาอักษรกระดองเต่าอยู่นั้นถูกรัฐบาลก๊กมินตั๋งตามจับ เลยต้องหนีไปอยู่ญี่ปุ่น