<< Back
หลู่ซุ่น
จากหนังสือ
เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 13
(น. 13) ท่านเล่าถึงเมืองหยังโจว ว่าเป็นบ้านเกิดของเจิ้งป่านเฉียว (ค.ศ. 1693 – ค.ศ. 1765) จิตรกรและนักเขียนตัวหนังสือหรือลายมือที่มีชื่อเสียงในราชวงศ์ชิง เขียนตัวหนังสือสวยมาก เหตุที่ลายมือของเขางามเป็นพิเศษ ก็เพราะว่าเขาได้ศึกษาค้นคว้าลายมือของคนสมัยก่อน แล้วได้มาหัดเขียนลายมือโดยคิดแบบของตนเอง เขายังมีความสามารถพิเศษในการเขียนภาพไม้ไผ่ด้วย
ข้าพเจ้าถามถึงเมืองเซ่าซิง ภริยาของท่านรองนายกรัฐมนตรีเล่าว่าเป็นบ้านเกิดบุคคลสำคัญ เช่น นางชิวจิ่น วีรสตรีที่ได้เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยของท่านซุนยัดเซ็น ท่านหลู่ซวิ่น นักประพันธ์มีชื่อ (ซึ่งข้าพเจ้าเคยเขียนประวัติของท่านอย่างละเอียดแล้วในหนังสือ เย็นสบายชายน้ำ) สุสานของกษัตริย์ต้าอวี่ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ก็อยู่ที่เซ่าซิง พระราชบิดาของกษัตริย์ใช้วิธีปิดกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้ามา แต่กษัตริย์พระองค์นี้ใช้วิธีระบายน้ำออก
เจียงหนานแสนงาม หน้า 315,316,317,318,319,320
(น. 315) อาหารที่นี่มีอีกหลายอย่าง เช่น ถั่วหมัก แบบที่บ้านเราเรียกว่า ถั่วเน่า เป็ดปักกิ่งและลิ้นเป็ด นายกเทศมนตรีท่านนี้อายุ 43 ปี เพิ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อวานนี้ มีเสียงสนับสนุนท่วมท้น ที่ล้อบบี้โรงแรม มีจอคอมพิวเตอร์แบบ touch screen แนะนำเมืองเซ่าซิงและการท่องเที่ยว
ไปบ้านเกิดท่านหลู่ซวิ่น (หลู่ซุ่น) ท่านเกิดที่บ้านนี้เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1881 ท่านมีชื่อเดิมว่า โจวซู่เหริน ใช้นามปากกาในการเขียนหนังสือว่า หลู่ซวิ่น แซ่หลู่เป็นแซ่ของมารดา นามปากกา “หลู่ซวิ่น” เป็นที่รู้จักกันดี จนเรียกขานท่านในชื่อนี้ มิได้เรียกชื่อเดิม ท่านอยู่ที่บ้านนี้จนอายุ 18 ปี จึงออกไปเรียนหนังสือ เมื่อกลับมาอยู่เมืองเซ่าซิงอีกก็มาอยู่ที่นี่ บ้านหลังนี้เป็นตัวอย่างของบ้านคนเซ่าซิงที่มีฐานะดีปานกลาง โจวสงจั้น (ค.ศ. 1742 – 1821) ได้ซื้อที่ดินและปลูกบ้านระหว่างรัชสมัยจักรพรรดิเจียชิ่ง (ค.ศ. 1796 – 1820 เมื่อครอบครัวตกอับใน ค.ศ. 1918 คนในตระกูลตกลงขายสวนหลังบ้าน (ไป๋เฉ่าหยวน) และอาคารด้านหลังให้เพื่อนบ้านแซ่จู หลังสมัยปลดปล่อย รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจ่ายงบประมาณเป็นค่าซ่อมแซมบ้านหลังนี้ รวมทั้งขอซื้อคืนเครื่องเรือนและสิ่งของเครื่องใช้ที่เคยอยู่ในบ้านหลังนี้มาจัดแสดงเป็นที่ระลึกถึงหลู่ซวิ่น และเป็นที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์
เมื่อเข้าประตูบ้าน ผ่านลานโล่ง มีเกี้ยวและพายที่ครอบครัวเคยใช้ มีลานโล่งระหว่างอาคาร มีต้นไม้ดอกติงเซียงออกดอกม่วงหรือขาว มีอาคารเสี่ยวเค่อถังที่ครอบครัวใช้เป็นที่รับแขก
(น. 316)รับประทานอาหาร และเขียนหนังสือ มีห้องนอนของหลู่ซวิ่นตอนที่เขากลับมาอีกครั้งหนึ่ง ห้องนอนของคุณแม่ เตียงที่คุณแม่นอน มีรูปถ่ายของคุณแม่แขวนอยู่ คุณแม่เป็นคนฉลาดถึงแม้จะไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียนแต่ก็ศึกษาด้วยตนเองจนสามารถอ่านหนังสือ หงโหลวเมิ่ง (ความฝันในหอแดง) ได้ ในห้องนี้มีรูปเขียนน้องชายของหลู่ซวิ่นที่เสียชีวิตเมื่ออายุ 6 ปี ของที่วางในห้องมีเตารีดแบบโบราณ เครื่องมือเย็บผ้า
(น. 317) เดินต่อไปห้องคุณย่า คุณย่าเป็นคนมีความรู้ เก่งในด้านการเล่านิทาน เล่นทายปริศนา หลู่ซวิ่นได้ความรู้จากคุณย่าและได้นำมาใช้ในการเขียนหนังสือ ในห้องมีกระติกน้ำร้อนสำหรับชงชา ส่วนห้องครัวมีเตาใหญ่สามเตา โอ่งใบใหญ่ๆ สำหรับใส่น้ำและดองผัก บนกระเบื้องมีภาพสิริมงคลสำหรับใช้กันผี มีรูปหนังสือ รูปกระบี่ (เขาว่าผีกลัวหนังสือ) รูปกะละมังหมายถึง มีทรัพย์สิน รูปกุ้ง ปลา หมายความว่า เหลือกินเหลือใช้
หลังบ้านมีสวนไป๋เฉ่าหยวน (แปลตามศัพท์ว่า สวนหญ้า 100 ชนิด แต่มีได้มีมากอย่างนั้น ใช้คำว่า ร้อย เพื่อสื่อความว่า มีหญ้านานาชนิด) เป็นสวนครัวของบ้านตระกูลโจว หลังฤดูใบไม้ร่วงใช้เป็นที่ตากข้าว หลู่ซวิ่นตอนเด็กๆ ชอบชวนเพื่อนมาเล่นที่สวนนี้ ในฤดูใบไม้ผลิเล่นว่าว ฤดูร้อนบริเวณนี้มีต้นไม้ก็จะเย็นสบายดีกว่าที่อื่น เด็กๆ ชอบเล่นจับจิ้งหรีด ดูมดแดง เป็นการศึกษาธรรมชาติจากของจริง ฤดูหนาวจับนกที่อยู่ในหิมะ สมัยก่อนว่ากันว่ามีต้นไม้หลายชนิดอยู่ในสวนนี้ มีกำแพงหินเตี้ยๆ ล้อมอยู่ การเล่นของหลู่ซวิ่นมีประโยชน์ต่อชีวิตของเขาเมื่อเป็นนักเขียน เขาชอบสวนนี้มากเมื่อโตขึ้นถูกส่งไปเรียนหนังสือ ต้องอยู่ในกรอบของกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด จึงรู้สึกอาลัยสวนนี้มาก
(น. 318) รูป 219 พิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่น
(น. 318) เราเดินจากบ้านเกิดหลู่ซวิ่นไปที่พิพิธภัณฑ์ ตอนดูพิพิธภัณฑ์นี้ ดูอย่างคร่าวๆ มาก เพราะมีเวลาจำกัด สังเกตได้แต่ว่า เขาจัดรูปและสิ่งของต่างๆ เป็นระยะๆ เช่น ในสมัยที่หลู่ซวิ่นยังอยู่ที่เซ่าซิง เรื่องบ้าน เรื่องโรงเรียนประถมศึกษาที่เขาเรียน รูปคุณแม่ ชีวิตในวัยเด็ก เขามีโอกาสได้อยู่ในชนบท (แสดงที่ที่เขาเคยไป) ได้รู้จักชาวนา เล่นเก็บขนนก หอย เพรียง แสดงของเล่นต่างๆ ชนิดที่เขาเคยเล่น เรื่องที่ครอบครัวยากจนลงไป ชีวิตตอนที่ไปนานกิง แล้วไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น มีรูปเรือที่เขาโดยสารไปญี่ปุ่น มีรูปนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส Victor HUGO ซึ่งเขาสนใจอ่าน และรูปอาจารย์เถิงเหยี่ย
เรื่องอาจารย์เถิงเหยี่ยนี้ข้าพเจ้าสนใจ เพราะเคยเรียนเรื่องของหลู่ซวิ่นว่าเขาเข้าเรียนแพทย์ เมื่อ ค.ศ. 1904 อาจารย์สอนวิชากายวิภาคชื่ออาจารย์เถิงเหยี่ย (ภาษาญี่ปุ่นว่า Mr. Fujino) เป็นคนสอนหนังสือสนุก ใจดี หลู่ซวิ่นรักและเคารพอาจารย์ท่านนี้มาก ช่วยตรวจสมุดจดงานของหลู่ซวิ่นให้เป็นพิเศษ เพราะเห็นเป็นชาวต่างชาติ ถามทุกข์สุขอยู่เสมอ ทำให้หลู่ซวิ่นเกรงใจและพยายามศึกษาอย่างขยันขันแข็ง อยู่มาวันหนึ่งเกิดมีการฉายหนังสารคดีเรื่องคนจีนมุงดูทหารญี่ปุ่นยิงเป้าคนจีนที่เป็นสายลับให้รัสเซีย ดูแล้วนักเรียนญี่ปุ่นตะโกนว่า “บันไซ” เป็นการทำร้ายจิตใจหลู่ซวิ่นมาก เขาคิดจะปลุกสำนึกของชาวจีน จึงเลิกเรียนแพทย์หันไปเรียนทาง
(น. 319)อักษรศาสตร์ ก่อนจะออกจากโรงเรียนได้ไปลาอาจารย์เถิงเหยี่ย อธิบายความรู้สึกของตน อาจารย์เถิงเหยี่ยมีความอาลัยลูกศิษย์ แต่ก็ประทับใจในความรู้สึกรักชาติ ก่อนจากกันอาจารย์เถิงเหยี่ยได้เซ็นรูปให้หลู่ซวิ่น ถึงจะจากญี่ปุ่นมาหลายปี แต่หลู่ซวิ่นก็ระลึกถึงอาจารย์ท่านนี้อยู่เสมอ และได้เขียนบทความเรื่อง “อาจารย์เถิงเหยี่ย” ขณะที่อยู่ปักกิ่งเขาแขวนรูปอาจารย์ท่านนี้ไว้ในห้องทำงาน เมื่อใดที่ได้มองรูปนี้ก็มีพลังที่จะต่อสู้กับอธรรม
(น. 319) รูป 220 พิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่น
(น. 320) เล่าเรื่องมาเสียยาวขอกลับเข้าเรื่องพิพิธภัณฑ์ หลู่ซวิ่นไปเป็นครูที่หังโจวใน ค.ศ. 1909 พิพิธภัณฑ์แสดงการทำภาพพืชอัดแห้ง หนังสือเรียน ค.ศ. 1912 ไปปักกิ่ง ได้พบกับอาจารย์ไช่หยวนเผยอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่งในตอนนั้น ค.ศ. 1927 ไปกว่างโจว ในปีนั้นเจียงไคเช็กก่อการรัฐประหาร หลู่ซวิ่นไม่พอใจ เลยไปอยู่เซี่ยงไฮ้ และอยู่ที่นั่นต่อมาจนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1936 ข้าพเจ้าได้ไปบ้านหลู่ซวิ่นและพิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่นที่เซี่ยงไฮ้แล้ว ผู้สนใจรายละเอียดดูได้ในหนังสือ “เย็นสบายชายน้ำ” ห้องสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมหนังสือต่างๆ
เดินไปโรงเรียนซานเว่ย โรงเรียนนี้หลู่ซวิ่นเรียนเมื่ออายุ 12 – 17 ปี เป็นที่ปูพื้นฐานด้านภาษาจีน ซึ่งเป็นประโยชน์กับชีวิตในอนาคตมาก โรงเรียนนี้เป็นสถานศึกษาเอกชนที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในเซ่าซิงสมัยราชวงศ์ชิง
ข้าพเจ้าถามผู้บรรยายว่าชื่อโรงเรียนซานเว่ยซึ่งแปลตามศัพท์ว่าโรงเรียนสามรสชาตินั้น ฟังแล้วไม่เข้าใจว่ามีความหมายอะไรอีก ผู้บรรยายอธิบายว่าแต่เดิมโรงเรียนชื่อ ซานอวี๋ ซาน แปลว่า สาม อวี๋ แปลว่า เวลาว่าง เหลือ เกิน คำนี้มาจากคำกล่าวของต่งอวี้ในสมัยสามก๊กที่กล่าวว่า ตงเจ่อซุ่ยจืออวี๋ เยี่ยเจ่อรื่อจืออวี๋ อินอวี่เจ่อ ฉิงจืออวี๋ แปลว่า ฤดูหนาวเป็นเวลาว่างของปี ค่ำคืนคือเวลาว่างของวัน ช่วงฝนตกครึ้มเป็นเวลาว่างของยามอากาศสดใส จึงควรใช้เวลาว่างนี้ศึกษาหาความรู้ให้เป็นประโยชน์ คุณปู่ของอาจารย์ของหลู่ซวิ่นชอบคำกล่าวนี้ จึงตั้งชื่อโรงเรียนว่า ซานอวี๋ (สามเวลาว่าง)
มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 6,11
(น.6) เมื่อถึงที่พักบ้านรับรองเตี้ยวหยูวไถ ไปที่ตึกหมายเลข 7 ไม่ใช่ตึกเดิมที่เคยพักเมื่อ พ.ศ.2524 ห้องพักจัดอย่างสวยงามทันสมัย เป็นห้องชุดมีห้องนอน ห้องทำงาน ห้องรับแขก มีหนังสือมากมายที่ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงได้ เช่น เรื่องหงโหลวเมิ่ง หรือความฝันในหอแดง ไซอิ๋ว คลองใหญ่ (Grand Canal) เรื่องของหลู่ซุ่น นิทานสั้น ๆ เช่นเรื่องนางพญางูขาว รวมบทกวีของไป๋จู่อี้ เรื่องกองทัพของจิ๋นซีฮ่องเต้ หนังสือเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ
(น.11) พอเขาเอาเหล้าเช่าซิงมาให้ ท่านอธิบายว่าเหล้านี้มาจากบ้านเกิดของหลู่ซุ่น นักเขียนวรรณกรรมที่เคยไปเรียนหมอที่ญี่ปุ่นแต่ไม่จบ กลับมากู้ชาติ ข้าพเจ้าบอกท่านว่าเคยอ่านเรื่องสั้นของหลู่ซุ่น
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 13
(น.13) ข้าพเจ้าถามท่านทูตถึงเช่าซิง ที่ว่าเป็นบ้านเกิดของหลู่ซุ่น ท่านทูตเล่าว่าอยู่ใกล้ ๆ กับเซี่ยงไฮ้ ยังมีบ้านหลู่ซุ่นตั้งโต๊ะตัวเดิมเอาไว้ มีโรงเรียนเก่าของหลู่ซุ่น ร้านขายสุราร้านเดิมที่หลู่ซุ่นเคยเขียนถึง มีโรงงานทำเหล้าเหลือง พูดถึงเหล้าข้าพเจ้าสงสัยว่ามาคราวนี้ไม่เห็นมีเหมาไถ ท่านทูตว่าทั่ว ๆ ไปในพิธีการเขาก็ไม่ค่อยใช้เหมาไถกันแล้ว เพราะว่าเปลืองรับประทานแล้วเมากันมาก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 121
(น.121) เรียนภาษาจีนวันนี้ ครูจังอิงอธิบายการบ้านเก่า ข้าพเจ้าเขียนหนังสือตกๆ หล่นๆ ครูเลยเล่าเรื่อง จี้หยุน ซึ่งเป็นเสนาบดีมหาดไทยสมัยราชวงศ์ชิง เป็นคนที่ลายมือดี วันหนึ่งเขาลอกบทกวีของหวังจือฮ่วน (ค.ศ.688-742) กวีสมัยราชวงศ์ถังถวายจักรพรรดิเฉียนหลง ทรงเห็นว่า จี้หยุนลอกตกไปคำหนึ่ง จี้หยุนกราบทูลว่านี่ไม่ใช่ซือ (ซึ่งแต่ละบรรทัดมีคำเท่ากัน และมีสัมผัส) แต่เป็นฉือ (ซึ่งจำนวนบรรทัดและจำนวนคำในแต่ละบรรทัดเป็นไปตามแบบแผนฉันทลักษณ์ที่แน่นอน และมีสัมผัส) แบ่งคำใหม่ อ่านได้ความเหมือนกัน
ครูเล่าเรื่อง ไช่หยวนเผย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพราะว่าเราได้เดินผ่านอนุสาวรีย์ของท่าน แล้วคุยกันว่าท่านผู้นี้เป็นอธิการบดีเมื่อไร ครูไปดูจารึกที่อนุสาวรีย์ เห็นว่าเป็นอธิการระหว่าง ค.ศ.1906 ถึง 1907 เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนที่มีชื่อเสียง เช่น หลู่ซวิ่น มาทำงานด้วย เคยเป็นรัฐมนตรีศึกษา 2 ปี
เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 274,275,276,277,278,279,280,281,282,283,284,285
(น.274) วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2539
เมื่อคืนนี้นอนไม่ดี รู้สึกจะป่วยอะไรสักอย่าง เห็นจะเป็นเพราะจวนกลับหมดแรงแล้ว รับประทานอาหารเช้าที่ภัตตาคารหมุน
เช้านี้ไปพิพิธภัณฑ์หลู่ซุ่น ชีวิตของหลู่ซุ่นน่าสนใจ ข้าพเจ้าจึงขอนำมาเขียนตามที่จดมา
หลู่ซุ่น (ค.ศ. 1881-1936) เป็นนักเขียน นักปรัชญา นักปฏิวัติชาวจีน เกิดที่อำเภอเช่าซิง มณฑลเจ้อเจียง ใน ค.ศ. 1881 ชื่อจริงของเขาคือ โจวซู่เหริน มารดาเป็นคนแซ่หลู่ ฉะนั้นเขาจึงใช้นามปากกาว่า หลู่ซุ่น
เมื่อเขาเกิดมาครอบครัวมีฐานะดี แต่เมื่ออายุได้ 13 ปี คุณปู่ถูกจับติดคุกและคุณพ่อป่วยหนัก ต้องขายที่ ทำให้ฐานะทางบ้านยากจนลง นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หลู่ซุ่นรู้สึกว่า สังคมชั้นสูงมีแต่สิ่งจอมปลอมและการคดโกง เขาจึงมีความคิดที่จะพัฒนาชาติ
หลู่ซุ่นเริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุ 7 ปี โดยเรียนที่บ้านของยายในชนบทและสถานสอนหนังสือซานเว่ยซูอู ในสมัยนั้นชาวจีนมีความ
(น.275) ยึดมั่นในหลักปรัชญาของขงจื้อ หลู่ซุ่นก็ต้องเรียนความคิดของขงจื้อเหมือนเด็กจีนทุกคน แต่สิ่งที่เขาสนใจมากกว่าก็คือ นิทานพื้นบ้านต่างๆ และประวัติศาสตร์ฉบับราษฎร์ เช่น หนังสือซือจิง หนังสือซานไห่จิง ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับภูเขาและทะเล แต่จะแทรกเรื่องเทพเจ้าและสัตว์ประหลาด ล้วนมีอิทธิฤทธิ์ เรื่องไซอิ๋ว เรื่องฮวาจิ้ง สถานที่ที่เขาเรียนมีลูกชาวไร่ชาวนาเรียนอยู่ด้วย ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้ และรู้เรื่องที่ชาวนาถูกกดขี่ข่มเหง สิ่งแวดล้อมเช่นนี้อาจมีอิทธิพลต่องานเขียนของเขา
เมื่อหลู่ซุ่นอายุ 17 ปี (ค.ศ. 1898) ได้เดินทางไปนานกิง สอบเข้าโรงเรียนฝึกหัดครูของทหารเรือ ปีที่สองย้ายไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูทหารบกที่รัฐบาลตั้งขึ้น ที่โรงเรียนแห่งนี้เขาได้เรียนรู้ความคิดแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตก ได้เรียนหนังสือแปลของเอี๋ยนฝูชื่อ เทียนเอี่ยนลุ่น มีผลกระทบต่อความคิดของเขา ต่อมาไปเรียนที่โรงเรียนเหมืองแร่เพื่อให้ได้ความรู้มารับใช้ชาติ เขาได้ประกาศนียบัตรและได้ทุนไปเรียนที่โรงเรียนหงเหวินในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1902 ในโตเกียวหลู่ซุ่นตัดเปีย (ค.ศ. 1903) เป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านราชวงศ์แมนจู เขาเรียนแพทย์ต่อที่โรงเรียนแพทย์เซนไดใน ค.ศ. 1904
ระหว่างที่อยู่ญี่ปุ่นเขาสนใจเรื่องวรรณกรรม ได้แปลวรรณกรรมญี่ปุ่นเป็นภาษาจีน ได้เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น เรื่องประวัติศาสตร์มนุษยชาติ วิจารณ์เรื่องวรรณกรรม ทำวารสารซินเซิง พิมพ์นวนิยายนอกเขตแดน เขาถือว่าการเขียนวรรณกรรมจะช่วยให้คนจีนตื่นจากการนอนหลับ ให้เข้าใจระบบการปกครองที่ล้มเหลวของรัฐบาลแมนจู ราชวงศ์ชิง นับเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาเตรียมพร้อม
(น.276) สำหรับการต่อสู้ที่ยาวนาน ในประเทศจีนเองขณะนั้นก็มีสมาคมรักชาติต่างๆ มากมาย ที่สำคัญคือ กลุ่มของดร.ซุนยัดเซ็น
หลู่ซุ่นกลับประเทศจีนในปลาย ค.ศ. 1909 เป็นอาจารย์ที่อำเภอเช่าซิงและที่หังโจว เขาใช้เวลาส่วนใหญ่วิจัยด้านวรรณกรรม
ค.ศ. 1911 เกิดการปฏิวัติที่เรียกกันว่าการปฏิวัติในปีซินไฮ่ มีการตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่นานกิง ค.ศ. 1912 หลู่ซุ่นได้เข้าทำงานกระทรวงศึกษา แล้วย้ายไปอยู่ปักกิ่ง
ใน ค.ศ. 1915 ที่ปักกิ่งเขาตีพิมพ์บทความชื่อ บันทึกประจำวันของคนบ้า จากนั้นได้ใช้นวนิยายและสารคดีเป็นเครื่องมือโจมตีรัฐบาล ช่วงที่หลู่ซุ่นโจมตีรัฐบาลด้วยวรรณกรรมนี้นักปฏิวัติคนอื่นๆ เช่น เฉินตู๋ซิ่ว (ค.ศ. 1879 – 1942) หลี่ต้าเจา (ค.ศ. 1889 – 1927) และ หูชื่อ (ค.ศ. 1891 – 1962) รวมกันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นพวกที่ทำงานมวลชนมากแต่ไม่ใช่นักเขียน ต่อจากนั้นหลู่ซุ่นเขียนเรื่องยา เรื่องอวยพร
ในค.ศ. 1921 เขียนเรื่องประวัติอาคิว เขาใช้ตัวเอกในเรื่องชื่ออาคิว แสดงปัญหาที่คนจีนในสมัยนั้นยังมีความคิดที่ล้าหลัง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมือง
ค.ศ. 1926 หลู่ซุ่นย้ายไปเซี่ยเหมิน (เอ้หมึง) สอนที่มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ค.ศ. 1927 ย้ายไปอยู่กว่างโจว ซึ่งเป็นดินแดนที่มีแรงแห่งการปฏิวัติอยู่ทุกหย่อมหญ้า เพราะกว่างโจวเป็นที่พักของพ่อค้าและทหาร เขาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยจงซาน
(น.277) ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1927 เจียงไคเช็กได้ก่อการปฏิวัติที่นครเซี่ยงไฮ้ กว่างโจวก็ได้รับผลกระทบและมีการจลาจล หลู่ซุ่นเห็นความจริงเกี่ยวกับเรื่องการฆ่าฟันกัน เลยไม่อยากอยู่กว่างโจวอีก ต่อไปจึงย้ายมาอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ขณะที่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เขาทำหน้าที่เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางด้านวรรณกรรมจีนทั่วประเทศ ตอนนั้นเกิดมีนักเขียนถูกฆ่าตาย หลู่ซุ่นก็เลยออกหนังสือพิมพ์ ออกนิตยสารรายวัน หนังสือต่างๆ เช่น เส้นทางที่ถูกต้อง คนประเภทที่ 3 ผู้หลอกลวง วัฒนธรรมโลก วัฒนธรรมของมหาชน และวัฒนธรรมเกิดใหม่
ค.ศ. 1933 หลู่ซุ่นและเพื่อน เช่น ซ่งชิ่งหลิง หลี่เผยหัว หูอี้จือ ไช่หยวนเผย หยางซิ่งโฝว์ ร่วมกันตั้งสมาพันธ์ปกป้องสิทธิประชาชนแห่งประเทศจีน หยางซิ่งโฝ่ว์ถูกฆ่าตาย หลู่ซุ่นเขียนไว้ว่า “หากฉันยังมีชีวิตอยู่ ฉันจะจับปากกามาเขียนเพื่อเป็นการคารวะต่อปืนของพวกเขา” กลุ่มของเขาพยายามต่อต้านลัทธิฟาสซิสม์ที่เผยแพร่จากเยอรมนีและญี่ปุ่นที่กำลังเข้ามารุกรานประเทศจีน
ในช่วงที่อยู่เซี่ยงไฮ้ เขาได้รู้จักผู้นำคอมมิวนิสต์รุ่นเก่าๆ และได้เขียนหนังสือร่วมกันเกี่ยวกับการปลดแอก
หลู่ซุ่นสนใจติดต่อกับต่างประเทศด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและตั้งใจสร้างผลงานอุทิศแก่ชาวโลก เขาแปลผลงานของนักเขียนต่างประเทศมากกว่า 100 ท่าน เช่น เรื่อง ล่มสลาย เสี่ยวเอี้ยหาน จิตวิญญาณแห่งความตาย เป็นต้น เป็นการแนะนำวัฒนธรรมต่างชาติให้ชาวจีนได้รู้จัก โดยส่วนตัวเขารู้จักนักเขียนและนักวิชาการชาวต่างประเทศหลายคน ตัวอย่างของคนที่เรารู้จักกันดีคือ Edgar Snow นักเขียนชาวอเมริกันที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับจีนเอาไว้มาก
(น.278) เขาใช้วิธีการต่างๆในการเผยแพร่วรรณกรรมจีนให้ชาวต่างประเทศได้รู้จัก เขาจะช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจแก่นักเขียนรุ่นใหม่ ด้วยการเขียนคำนำหนังสือหรือช่วยสละเงินบางส่วนช่วยนักเขียนรุ่นใหม่จัดทำวารสาร เขาจะแสดงความคิดเห็นแนะนำคนรุ่นใหม่ เช่น เรื่องของศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพประกอบหนังสือ เขาชอบศิลปะภาพพิมพ์ไม้ (woodcut) เพราะว่าทำได้ง่าย สวยงาม และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก
ผลงาน 3 เล่มสุดท้ายของเขาเขียนระหว่าง ค.ศ. 1934 – 1936 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ในบั้นปลายชีวิตของเขา
นิทรรศการที่จัดตรงนี้ทำดีมาก ทำเป็นชั้นหนังสือของหลู่ซุ่น รวมผลงานของเขาเอาไว้
หลู่ซุ่นเป็นวัณโรคเสียชีวิตในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1936 อายุ 56 ปี ในตู้แสดงเครื่องให้ออกซิเจนสมัยนั้น เครื่องช่วยหายใจ ใบฟอร์มปรอท ปฏิทินแขวนเปิดหน้าที่แสดงวันเดือนปีที่หลู่ซุ่นตาย ที่น่าสังเกตคือปฏิทินนี้เป็นปฏิทินที่บริษัทขายบุหรี่แจก เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งว่าเขาสูบบุหรี่มากจนตาย ในห้องนี้มีคำรำพันที่มาดามสูว์ก่วงผิง ภริยาหลู่ซุ่นเขียนรำพันถึงสามีว่า
(น.279) รูป 249 ที่พิพิธภัณฑ์หลู่ซุ่นแสดงประวัติของหลู่ซุ่นและประวัติศาสตร์ในยุคนั้น ในภาพเป็นผ้าคลุมหีบศพปักคำว่า “จิตวิญญาณของชนชาติ”
(น.279) “ความเศร้าโศกได้ปกคลุมไปทั่วทุกทิศ พวกเราจะมีอะไรพูดเกี่ยวกับการตายของคุณ? คุณเคยบอกฉันว่า ฉันเหมือนวัวตัวหนึ่ง กินแต่หญ้า แต่ที่รีดออกมาคือน้ำนมเลือด คุณไม่รู้จักคำว่า พักผ่อนคืออะไร คุณไม่รู้จักคำว่า สนุกคืออะไร ทำงาน ทำงาน เท่านั้น”
หนังสือพิมพ์ลงข่าวการตายของเขา ในงานศพมีคนร่วมงานเป็นหมื่นๆ คน มีคนมีชื่อเสียง มีนักเขียนมาร่วมงาน ประชาชนส่งผ้าคลุมหีบศพเขียนว่า จิตวิญญาณแห่งชนชาติ มาให้
(น.280) รูป 250 อนุสาวรีย์หลู่ซุ่น
(น.280) พิพิธภัณฑ์นี้กว้างมาก มีห้องอีกห้องที่ยังไม่ได้จัดอะไร ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บอกว่า เป็นห้องสำหรับจัดนิทรรศการชั่วคราว ปีนี้เป็นปีครบรอบ 60 ปีของหลู่ซุ่น ฉะนั้นวันที่ 25 กันยายนซึ่งเป็นวันเกิดจะจัดนิทรรศการในห้องนี้
ที่พิพิธภัณฑ์มีร้านเล็กๆ ขายของที่ระลึก มีทั้งของที่เกี่ยวกับหลู่ซุ่นและของที่ระลึกทั่วๆ ไป ข้าพเจ้าซื้อหนังสือมาจำนวนหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ให้หนังสือเกี่ยวกับผลงานของหลู่ซุ่น
จากนั้นไปที่อนุสาวรีย์หลู่ซุ่นที่ถนนเถียนอ้ายลู่ มีรูปหล่อสำริด ผู้ปั้นรูปเป็นศิลปินเรืองนามชื่อ เซียวฉวนจิ่ว หลังรูปปั้นทำเป็นที่ฝังศพหลู่ซุ่น ปลูกต้นไม้ทำให้ร่มรื่นดี มาดามสูว์และลูกชายชื่อ โจวไห่ เป็นผู้ปลูกต้นไม้สองต้นข้างหลุมศพ อนุสรณ์สถานนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1956 ยี่สิบปีหลังจากที่เขาเสียชีวิต
(น.281) รูป 251 บริเวณสุสานหลู่ซุ่น
(น.281) สวนสาธารณะตรงนี้ตอนเช้าๆ จะมีคนชรามารำมวยจีน ตอนนี้ใกล้เทศกาลโคมไฟและไหว้พระจันทร์ ก็มีคนมาทำโคมไฟรูปมังกรใหญ่โตมาก ยังไม่เสร็จ
(น.282 ) รูป 252 บ้านหลู่ซุ่น
(น.282) ต่อจากนั้นไปชมบ้านของหลู่ซุ่นที่ถนนซานอิน แต่ก่อนเคยเป็นเขตเช่าของญี่ปุ่น สร้างใน ค.ศ. 1931 หลู่ซุ่นเข้ามาอยู่ ค.ศ. 1933 เป็นตึกแถว (บ้านทาวน์เฮ้าส์) 3 ชั้น ส่วนที่เป็นของหลู่ซุ่นเขาเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ตึกข้างๆ ยังมีคนพักอาศัยอยู่ คงจะเป็นที่พักระดับไม่ค่อยดีนักเพราะอยู่ในสภาพที่โทรม (ส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์นี้สะอาดเรียบร้อย) สมัยก่อนถือว่าเป็นบ้านแบบทันสมัยของเซี่ยงไฮ้ อาคารสร้างด้วยปูน พื้นและราวบันไดทำด้วยไม้ เข้าไปก็ถึงห้องรับแขก มีจักรเย็บผ้าของภรรยา โต๊ะเขียนหนังสือ โต๊ะกินข้าว
(น.282) รูป 253 บ้านที่หลู่ซุ่นเคยอยู่ ปัจจุบันตรงข้างๆ ยังมีคนอยู่
(น.283) ในห้องนอนมีโต๊ะทำงาน เขาเอาบทความที่ยังเขียนไม่จบ ตายเสียก่อนวางเอาไว้ มีเก้าอี้หวายสำหรับนอนสูบบุหรี่ กาน้ำสำหรับชงชา ข้างฝาติดปฏิทินโฆษณาบุหรี่อีกตามเคย เครื่องเรือนในห้องเป็นเครื่องหวายทั้งนั้น เตียงที่หลู่ซุ่นนอนตายก็ยังอยู่ มีรูปลูกชายตอนอายุ 16 วัน ลูกชายของหลู่ซุ่นตอนนี้อายุ 67 ปียังมีชีวิตอยู่ แต่ก่อนนี้เคยทำงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ปักกิ่ง
ห้องเก็บของ เก็บยาต่างๆ เครื่องทำปกและเข้าเล่มหนังสือ เรียกว่า การเข้าเล่มแบบเซี่ยนจวง เขาสนับสนุนให้เด็กๆ รู้จักทำอะไรเอง เช่น นักเขียนก็ควรรู้จักการเข้าเล่มหนังสือเอง ทำภาพประกอบเอง
(น.283) รูป 254 โต๊ะเขียนหนังสือ
(น.284) รูป 255 เตียงนอน
(น.284) ห้องนอนของลูกชาย หลู่ซุ่นเคยใช้เตียงในห้องนี้ พอมีลูกก็เลยยกให้ลูก ไกด์บอกว่าตอนเด็กๆ หลู่ซุ่นเคยต้องนอนกับคนใช้ ถูกเบียด ก็เลยอยากให้ลูกได้นอนสบายๆ เตียงนี้นายทหารเรือญี่ปุ่นให้เขา
ห้องเล็กๆ สำหรับแขกนอน มักจะมีคนมาอาศัยบ้านเขาอยู่เสมอ เป็นพวกที่หนีจากการตามล่าของฝ่ายรัฐบาล
อาจารย์หวังซีหรง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์หลู่ซุ่นที่มาอธิบายให้ข้าพเจ้าวันนี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านวรรณคดี ค้นคว้างานของหลู่ซุ่นโดยเฉพาะ
การศึกษาสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวกับหลู่ซุ่นนี้ก็ได้ข้อคิดหลายอย่างคือ ได้เห็นวิธีการอย่างหนึ่งในการจัดพิพิธภัณฑ์แสดงชีวประวัติเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักคิดนักเขียน เขาแสดงด้วยภาพถ่ายและคำอธิบาย มีสิ่งของประกอบบ้างก็เพียงเล็กน้อย ส่วนมากเป็นหนังสือที่เขาเคยอ่าน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเล่มที่เขาเคยอ่านจริงๆ ซึ่งก็คงหายไปแล้ว การแสดงหนังสือที่เขาแต่ง อีกประการหนึ่งการยกย่องบุคคลสำคัญเพื่อเป็นตัวอย่างอันดีต่อผู้ที่มาชมนิทรรศการนั้น บางครั้งก็เป็นการเน้นประเด็นที่ผู้จัดต้องการเน้นความคิดบางอย่าง อาจจะไม่ใช่ความคิดของเจ้าของประวัติเสียด้วยซ้ำ ผู้ชมต้องใช้วิจารณญานที่ดีไตร่ตรองดู
(น.285) เมื่อศึกษาประวัติของหลู่ซุ่น ข้าพเจ้าประทับใจในความยึดมั่นอุดมการณ์ ความเป็นอยู่อย่างสมถะเรียบง่าย ภารกิจในการให้ความรู้แก่คนหรือปลุกเพื่อนร่วมชาติให้ตื่นขึ้นจากความไม่รู้และความเฉื่อยชา ในโลกสมัยใหม่ที่ว่ากันว่าไร้ขอบเขตไร้พรมแดนนั้น เป็นเรื่องที่ควรช่วยกันคิดไตร่ตรอง จะต้องให้ความรู้แก่คนในสังคมเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทและความเป็นอยู่เช่นไรเพียงใดจึงจะพอเหมาะพอควร
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 13
(น.13) ยุคที่ 3 มหาวิทยาลัยปักกิ่งช่วงระยะก่อน-หลังการเกิดขบวนการ 4 พฤษภาคม (May Fourth Movement – ค.ศ. 1919) ยุคนี้คือ ช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1916-1927
เดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 อธิการบดีชื่อ ไช่หยวนเผย์ (Cai Yuanpei) ปฏิรูปการศึกษาให้เป็นอิสระตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพิ่มจำนวนนักศึกษาให้มากขึ้น เป็นสมัยที่ออกแบบตรามหาวิทยาลัยที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ (รูปคน 3 คน) ออกแบบธงมหาวิทยาลัย เชิญคนที่มีความสามารถสูงมาเป็นอาจารย์ เช่น หลู่ซุ่น เฉินตู๋ซิ่ว หลี่ต้าเจา เป็นต้น ส่งเสริมความคิดแนวทางต่างๆ มีวารสารออกมาจำนวนมาก เน้นการแลกเปลี่ยนวิทยาการกับชาวต่างประเทศ จัดปาฐกถาบ่อยครั้ง ผู้บรรยายมีทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศ เช่น จอห์น ดิวอี้ (John Dewey ค.ศ. 1859-1952) นักการศึกษาคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งถึง 2 ปี
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 155
(น.155) ขึ้นไปชมทิวทัศน์บนชั้นบนของตึก เห็นว่ามหาวิทยาลัยนี้มีที่ตั้งดีมาก มีทิวทัศน์ทั้งทะเลและภูเขา (พวกปริญญาโทเอกเรียนบนเขา ที่จริงน่าจะให้พวกปริญญาโทเอกเรียนที่ราบๆ ปริญญาตรียังหนุ่มสาวเดินคล่องแคล่วไปเรียนบนเขา แต่เขาอาจจะให้คนแก่ออกกำลังกายก็ได้) มีหอพัก หอประชุมอยู่ใกล้ถนนรอบเกาะเซี่ยเหมิน มีสระน้ำแบบเดียวกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กำลังสร้างอาคารต่างๆ เพิ่มเติม มีสนามกีฬา อาคารพิพิธภัณฑ์หลู่ซุ่น ซึ่งมีป้ายอาคารเป็นลายมือของกัวมั่วรั่ว มีรูปปั้นหลู่ซุ่นเป็นฝีมือของอาจารย์ศิลปะในมหาวิทยาลัยนี้เอง ท่านหลู่ซุ่นเคยอยู่ที่เซี่ยเหมินพักหนึ่ง (4 กันยายน ค.ศ. 1926 – 16 มกราคม ค.ศ. 1927) ขณะนั้นคนรักอยู่ที่กวางโจว คนรักชื่อ สี่กว่างผิง เขียนจดหมายถึงกันมีสาระที่น่าสนใจ
หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 34
(น.34) มีการแสดงบัตรประจำตัว ตราประทับ ธง ของเขตปกครองชายแดนส่านซี กานซู่ หนิงเซี่ย ลูกคิดที่นักเรียนประดิษฐ์จากเม็ดลูกท้อ กล่องปฐมพยาบาลของโรงพยาบาลกลาง
6. มหาวิทยาลัยถ้ำสร้างวีรบุรุษ
แสดงสถานศึกษาต่างๆ ในเหยียนอาน เช่น มหาวิทยาลัยการทหารและการเมืองเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยสตรี สถาบันศิลปะวรรณกรรมหลู่ซวิ่น เป็นต้น และนำบทเรียนสมุดบันทึกของนักเรียนมาแสดง
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 205
(น.205) มีตู้เก็บเอกสาร ลายมือของบุคคลสำคัญ เมื่อเสียชีวิตแล้วครอบครัวหรือคนใกล้ชิดให้ห้องสมุด หนังสือชุดหย่งเล่อต้าเตี่ยน ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง รวบรวมเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1408 เป็นประมวลหนังสือที่แยกหมวดหมู่ตามเนื้อเรื่อง นอกจากนั้นมีต้นฉบับลายมือของนักเขียนจีนมีชื่อ เช่น ปาจินที่เขียนนวนิยายเรื่อง บ้าน หลู่ซวิ่นเขียนเรื่องซานเว่ยซูอู เฉาอวี๋เขียนเรื่อง ฝนฟ้าคะนอง กัวมัวรั่วเขียนเรื่อง ชวีหยวน อัลบั้มส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลและหลิวเซ่าฉีตอนไปเยือนต่างประเทศ หนังสือส่วนตัวของท่านโจวเอินไหล มีหนังสือ Das Kapital ของ Karl Marx จดหมายของ Karl Marx หนังสือเรื่อง ประชาธิปไตยใหม่ของประธานเหมา หนังสือโบราณของตะวันตกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15
Next >>