<< Back
สุสานประธานาธิบดีซุนยัดเซ็น
จากหนังสือ
เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 120-123
(น. 120) กลับมาที่โรงแรม รับประทานอาหารกลางวัน แล้วไปสุสานของประธานาธิบดีซุนยัดเซ็น หรือที่เรียกตามภาษาจีนกลางว่า ซุนอี้เซียน ท่านมีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันเป็นทางการว่า ซุนจงซาน สุสานอยู่ที่เขาลูกหนึ่งในภูเขาจื่อจินซาน
ลักษณะของสุสานเป็นแบบเดียวกับสุสานของจักรพรรดิจีนโบราณ ตั้งอยู่บนเขาสูง มีประตูทางเข้าเป็นซุ้ม เขียนอักษรว่า ปั๋วไอ้ แปลว่า ภราดรภาพ อันเป็นแนวคิดหนึ่งที่ประธานาธิบดีซุนยัดเซ็นยึดมั่น ลานหน้าสุสานเป็นรูปวงกลม เมื่อผ่านประตูขึ้นไปเป็นทางเดินลาดขึ้นเล็กน้อย ไปถึงอาคารที่ 1 มีคำว่า เทียนเซี่ยเหวยกง ลายมือประธานาธิบดีซุนยัดเซ็นติดไว้ แปลตามศัพท์ว่า ใต้หล้าเป็นของทุกคน แต่ในที่นี้หมายความว่า แผ่นดินจีนเป็นของชาวจีนทุกคน สะท้อนถึงแนวคิดประชาธิปไตย ทางเดินตรงไปอาคารที่ 2 เป็นหอป้ายลายมือเจียงไคเช็ก ต่อไปเป็นบันได 392 ขั้น พอดีตรงกับจำนวนประชากรจีน 392 ล้านคนในขณะนั้น
(น. 120) รูป 98 สุสานซุนยัดเซ็น อาคารที่เขียนคำว่า เทียนเซี่ยเหวยกง
Dr. Sun Zhongshan's Mausoleum. There is a sign saying "Tian xia wei gong".
(น. 121) อาคารประธานเป็นรูประฆังสี่เหลี่ยมแบบจีน เป็นเครื่องเตือนสติว่าประชาชนต้องต่อสู้ต่อไป หลังอาคารประธานเป็นโดมกลมเป็นที่ฝังศพ
ดร.ซุนซัดเซ็นเป็นผู้เลือกสถานที่นี้เอง ครั้งหนึ่งมาล่าสัตว์กับนายทหารคนสนิท ขณะนั้นบนภูเขามีต้นไม้ไม่มากเหมือนในปัจจุบัน มีแต่หญ้าขึ้น ดร.ซุนได้บอกคนสนิทว่าให้ขอแผ่นดินผืนนี้จากประชาชนเพื่อเป็นที่ฝังศพ และเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยในพินัยกรรม หลังจากดร.ซุนซัดเซ็นถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1925 แล้ว รัฐบาลจีนคณะชาติก็เริ่มก่อสร้างใน ค.ศ. 1926 ถึง ค.ศ. 1929 จึงย้ายศพมาที่นี่ รวมเวลาสร้าง 3 ปีในพื้นที่ 2,000 โหม่ว หรือประมาณ 833 ไร่
ผู้ออกแบบชื่อ หลี่เอี้ยนจื๋อ ขณะนั้นอายุ 32 ปี เป็นแบบที่ประกวดชนะ แบบอื่นๆ ก็ยังเก็บรักษาไว้ในหอสมุด หลี่เอี้ยนจื๋อเป็นผู้อำนวยการสร้างด้วยตนเอง ไม่ทันแล้วเสร็จ เขาก็เป็นวัณโรคเสียชีวิตไปก่อน
บันไดทางขึ้นจากหอป้ายมองเห็นแต่ขั้นบันได ไม่เห็นชานพัก แต่เมื่อมองจากด้านบนลงมาเห็นเป็นชานพักต่อกัน ไม่เห็นบันได
(น. 122) รูป 99 ขึ้นไปเห็นแต่ขั้นบันได
On the way up to the main building I only saw a flight of steps.
(น. 122) อาคารประธานมีรูปสลักหินอ่อนอยู่กลาง มีป้ายแบบศาลเจ้าแต่ทำเป็นแผ่นทองเหลืองบอกให้คนเงียบๆ และให้ความเคารพ รอบๆ อาคารมีคำจารึกนโยบายสร้างชาติของประธานาธิบดีซุนยัดเซ็น ก่อนเข้าอาคารก็มีตัวอักษรจารึกลัทธิไตรราษฎร์ไว้ ได้แก่ ชาตินิยม เสรีสังคมนิยม และประชาธิปไตย เหนือขึ้นไปเป็นลายมือท่านซุนยัดเซ็นเขียนว่า เทียนตี้เจิ้งชี่ แปลตามศัพท์ว่า อำนาจชอบธรรมแห่งฟ้าและดิน
คำว่า เจิ้งชี่ เป็นคำที่ชาวจีนใช้ในความหมายว่า ถูกต้องชอบธรรม และเนื่องจากชาวจีนเชื่อในอำนาจแห่งฟ้าและดินที่จะบันดาลความถูกต้องชอบธรรมแก่มวลมนุษย์ วลี เทียนตี้เจิ้งชี่ จึงเป็นคำกล่าวที่ชาวจีนเชื่อถือและพูดกันติดปาก (เทียน = ฟ้า ตี้ = ดิน แผ่นดิน)
(น. 123) รูป 100 ที่ฝังศพซุนยัดเซ็น
The tomb of Dr.Sun Zhongshan.
(น. 123) ส่วนเก็บศพเป็นหลุมลึกลงไป ใส่หีบหินอ่อนทำรูปดร.ซุนยัดเซ็นนอนอยู่ ฝีมือช่างเชโกสโลวะเกีย ศพจริงฝังลึกลงไปอีก 5 เมตร แต่แรกเตรียมใส่โลงกระจก แต่โลงกระจกที่ทำมาจากรัสเซียรั่ว ทำให้หน้าเริ่มเน่า จึงต้องฝังธรรมดา ที่จริงข้าพเจ้าคิดว่า ฝังธรรมดาหรือเผาศพดีกว่า ไม่ยุ่งยากวุ่นวาย จะระลึกถึงบุคคลควรระลึกถึงคุณงามความดี
ปัญหาคือเรื่องข่าวลือ มีคนพูดว่าญี่ปุ่นย้ายเอาศพไป หรือเจียงไคเช็กขุดเอาไปไต้หวัน แต่ทหารคนสนิทยืนยันว่าไม่มีใครเอาไปไหน เขามารับอาสาเฝ้าศพอยู่ที่นี่นานแล้ว (เขาเพิ่งเสียชีวิต) ศพฝังในหีบทองแดงทำในสหรัฐอเมริกา สมัยญี่ปุ่นขึ้น ญี่ปุ่นมาที่สุสาน มีการยิงกัน ยังมีรอยกระสุนอยู่บนกระถางกำยานใบใหญ่ กระถางใบนี้เลยกลายเป็นที่นักท่องเที่ยวบริจาคเงิน ทหารญี่ปุ่นเห็นว่าทำเลที่นี่ยากแก่การรักษา น่าจะทำลาย และอีกอย่างหนึ่งถือเป็นศูนย์รวมจิตใจคนจีน น่าจะทำลายให้ย่อยยับ แต่ดร.ซุนยัดเซ็นเป็นผู้ที่มีคนรู้จักมากทั่วโลกและเคยไปเรียนที่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงไม่ทำลายสุสานเพราะกลัวถูกประณาม