<< Back
หลี่ชิงเจ้า
จากหนังสือ
เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 105-107
(น. 105) บ้านเลขที่ 35 เป็นห้องทำงานของโฆษกคณะผู้แทน ซึ่งมีหน้าที่โฆษณาพรรคด้วย
มีห้องต่งปี้อู่ เป็นห้องนอนเล็กๆ มี 2 เตียง อยู่กัน 5 คน ตอนนั้นท่านต่งอายุ 61 ปีแล้ว ห้องมีขนาด 8 ตารางเมตรเท่านั้น ผ้าห่มที่จัดแสดงได้ก็ขาดๆ ปะๆ เพราะใช้งานนานถึง 20 ปี
หน้าลานมีต้นไห่ถัง ออกดอกเต็ม ที่นี่เขามีระบบการปกปักรักษาต้นไม้อยู่อย่างหนึ่ง กล่าวคือ ต้นไม้ที่สำคัญเขาจะลงทะเบียนไว้ แต่จะมีวิธีการหรือเครือข่ายอย่างไรไม่ได้ถาม เขาจะมีคำอธิบายชนิดของต้นไม้ ชื่อวิทยาศาสตร์ ความสำคัญพิเศษของต้นไม้ และคำอธิบายอีกหลายอย่างผูกป้ายเอาไว้ อีกอย่างหนึ่งคือ เห็นต้นไห่ถังแล้วทำให้ข้าพเจ้านึกถึงบทกวีของหลี่ชิงเจ้า กวีหญิงผู้มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้ศึกษากวีนิพนธ์ของท่านหลายบท มีบทหนึ่งพรรณนาว่า
เมื่อคืนวานฝนตกหยิมๆ ลมกรรโชก
หลับสนิท เมาค้างไม่สร่าง
ลองถามคนม้วนมู่ลี่
กลับตอบว่า ไห่ถังยังเหมือนเดิม
รู้หรือไม่ รู้หรือไม่
ควรจะเป็นว่า เขียวอ้วน แดงผอม
(น. 105) รูป 85 ต้นไห่ถัง
Haitang tree.
(น. 106) หลี่ชิงเจ้า (ค.ศ. 1084 – ค.ศ.1155?) เป็นบุตรีของขุนนางผู้ใหญ่ ในวัยเยาว์ได้เรียนหนังสือ จนมีความรู้แตกฉานในด้านภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์ มีอัจฉริยภาพในการแต่งบทกวี ฝีมือประพันธ์ดีเยี่ยม เมื่ออายุ 18 ปีแต่งงานกับเจ้าหมิงเฉิง ผู้ซึ่งเป็นบุตรของอัครมหาเสนาบดี เป็นคู่สมรสที่เหมาะเจาะ มีรสนิยมตรงกันทั้งในด้านบทกวี ศิลปะ และวิชาการ ต่อมาหลี่ชิงเจ้าและสามีต้องอพยพจากภาคเหนือลงมาอยู่ทางภาคใต้ เพราะว่าราชวงศ์ซ่งเสียดินแดนแก่ชนเผ่าหนี่ว์เจินแห่งราชวงศ์จิน (พวกกิมก๊ก) จนใน ค.ศ. 1127 ต้องมาตั้งมั่นอยู่ทางใต้ ตั้งเมืองหลวงที่หังโจว เป็นราชวงศ์ซ่งใต้ (หนานซ่ง ค.ศ. 1127 – ค.ศ. 1279) สามีของหลี่ชิงเจ้าถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1129 เมื่อสามีจากไปแล้ว ชีวิตของหลี่ชิงเจ้าก็ผกผัน ฐานะตกต่ำลง อยู่อย่างลำบาก เงียบเหงา เดียวดาย บทกวีของหลี่ชิงเจ้านั้น ในช่วงแรกชีวิตมีสุข รำพันถึงความรัก ความรื่นรมย์ ชีวิตในช่วงหลังมีความทุกข์ พรรณนาถึงความเศร้า ความเดียวดาย และชะตากรรมของยุคสมัย
(น. 106) รูป 86 ดอกไห่ถัง
Haitang in full bloom.
(น. 107) บทกวีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นพรรณนาถึงความเศร้ารันทดไว้อย่างแนบเนียนซับซ้อน ให้ผู้อ่านจิตนาการเองจากรสคำที่สั้น กระชับ เป็นคำคู่ที่ตัดกันในบาทเดียวกันและสื่อความลึกซึ้ง เช่น ฝนหยิมๆ ลมกรรโชก หลับสนิท-เมาค้าง เขียวอ้วน-แดงผอม บทกวีนี้สื่อถึงความเศร้ารันทด ความคิดคำนึงถึง การพรากจากกัน โดยสื่อจากภาพฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจากไป
เทคนิคการแต่งนั้นเริ่มสองบาทแรกอย่างเรียบๆ ต่อด้วยคำถามที่ไม่ได้เผยออกมา ซ่อนเอาไว้ แต่คำตอบบอกให้รู้ว่าคนถามถามอย่าง กังวล แต่คนใช้ตอบอย่างจืดชืด ไม่สนใจ ตอบไปอีกทางหนึ่ง จนคนถามต้องบอกว่า รู้หรือไม่ รู้หรือไม่ ควรจะเป็นว่า เขียวอ้วน แดงผอม บาทสุดท้ายเป็นจุดสุดยอดของบทกวีนี้ ลวี่เฝย หงโซ่ว หรือ เขียวอ้วน แดงผอม เป็นวลีที่ผู้อ่านติดใจท่องติดปาก บทกวีให้ภาพฝนตก ลมกรรโชก ทำให้ดอกไห่ถังสีแดงร่วงหล่นไปมาก (แดงผอม) เหลือแต่ใบงามเขียวขจี (เขียวอ้วน) ดอกไห่ถังร่วงหล่นโรยรา ฤดูใบไม้ผลิที่งดงามกำลังหมดไป เหมือนชีวิตของกวี
เห็นต้นไห่ถัง ณ ลานบ้านเลขที่ 35 แล้ว ข้าพเจ้านึกถึงบทกวีของหลี่ชิงเจ้า เลยออกนอกเรื่องไปอยู่ที่บทกวี ข้าพเจ้าเรียนร้อยกรองบทนี้มานานแล้ว แต่เพิ่งได้เห็นดอกจริงๆ ตอนนี้เอง ถึงอย่างนั้นยังสงสัยว่าต้นไห่ถังตามบทกวีน่าจะเป็นไม้ล้มลุกต้นเล็กๆ
"ไอรัก" คืออะไร?
"ไอรัก"คืออะไร? หน้า 37
(น.37) มีคนนั่งอยู่ในห้องหลายคน แต่ข้าพเจ้าไม่กล้าเข้าไปรบกวนเขา จากนั้นไปที่ห้องแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าไม่ค่อยเข้าใจเพราะเขาอธิบายเป็นภาษาจีน ล่ามเองก็แปลไม่ออก ไม่มีเวลาซักถาม ไปที่ห้องแสดงละคร จุคนได้เกือบ 300 คน มีระบบเสียงดี ห้องนิทรรศการมีภาพลอกมาจากภาพดั้งเดิมที่เก็บรักษาไว้ในพระราชวังโบราณที่ปักกิ่ง ข้าพเจ้าได้รับภาพวาดกวีหลี่ชิงเจ้า กวีสตรีมีชื่อสมัยซ้องใต้ ฝีมือของอาจารย์ท่านหนึ่งในภาควิชาศิลปะ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนบทกวีของกวีผู้นี้หลายบทด้วยกัน มีผู้นำประวัติของท่านมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้มีโอกาสดู ทราบแต่เรื่องคร่าวๆ ว่าท่านเกิดในตระกูลนักปราชญ์ ใน ค.ศ. 1084 ที่เมืองจีหนานแต่งงานกับเจ้าหมิงเฉิง บุตรอัครมหาเสนาบดี ได้ร่วมกันทำงานวิชาการที่สำคัญหลายอย่าง เช่น การคัดลอกศิลาจารึก ศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์ ใน ค.ศ. 1127 ชนเผ่าจินรุกรานมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวจีนราชวงศ์ซ้องต้องหนีลงใต้ เป็นช่วงที่ชีวิตเขาลำบากมาก หลี่ชิงเจ้าเสียชีวิตในปี 1151 มีผลงานบทกวีนิพนธ์อยู่มาก บทกวีในตอนต้นๆ แสดงชีวิตอิสระที่สบาย งานในช่วงหลังจะเกี่ยวกับความเหงาและแสดงความชาตินิยมรุนแรง
หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 57,75,77,79
(น.57) เมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยซานตง ผู้ที่ต้อนรับเป็นรองอธิการบดีชื่อ ศาสตราจารย์จั้นเทา (Zhan Tao) เพราะอธิการบดีติดประชุมสมัชชาอยู่ที่ปักกิ่ง รองอธิการบดีกล่าวต้อนรับและบรรยายกิจการของมหาวิทยาลัย บอกว่าฉันเป็นแขกสำคัญคนแรกใน ค.ศ. 2000 ถือว่าเป็นการเสริมไมตรีด้านการศึกษาเพราะได้นำนักวิชาการมาหลายท่าน หวังว่าจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย การศึกษาวัฒนธรรมโบราณของจีนเป็นวิชาหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยซานตง มหาวิทยาลัยนี้ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1901 เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของจีน เป็นสถานศึกษาแห่งเมืองที่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลาง เหตุที่การวิจัยภาษาจีน ประวัติศาสตร์จีน ปรัชญาโบราณโดดเด่น สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะมณฑลซานตงเป็นแหล่งวิชาการจีน ที่จริงแล้วลักษณะพิเศษของมหาวิทยาลัยนี้คือ วิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการบริหาร ได้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว กลายเป็นวิชาเด่นของมหาวิทยาลัย รัฐบาลกลางให้งบประมาณมามาก โดยเฉพาะด้านวิจัย มหาวิทยาลัยพยายามเปิดสู่โลกภายนอก ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ แลกเปลี่ยนนักศึกษา มหาวิทยาลัยมีสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์เอง รองอธิการบดีให้ของขวัญเป็นซีดีรอมเกี่ยวกับขงจื่อ รองอธิการบดีเป็นนักคณิตศาสตร์ ศึกษาจากมหาวิทยาลัยซานตงและมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี คณาจารย์ที่มานั่งอยู่ในห้องมีทั้งอาจารย์ที่ศึกษาขงจื่อ ศึกษาคัมภีร์และพงศาวดารจีนโบราณ วิจัยกวีนิพนธ์จีนโดยเฉพาะสมัยราชวงศ์ซ่ง (อาจารย์หลิวหน่ายฉังท่านนี้มีผลงานเขียนเล่มใหม่คือ วิเคราะห์บทกวีของหลี่ชิงเจ้า) ปรัชญาต่างประเทศเปรียบเทียบกับปรัชญาจีน ศึกษาอักษรโบราณจีน และการเขียนตัวหนังสือ (shufa-calligraphy) วรรณคดี
(น.75) หอประวัติและผลงานของหลี่ชิงเจ้า ข้างหน้ามีลายมือของกัวมัวรั่วที่เขียนไว้เมื่อ ค.ศ. 1959 ว่า อีไต้ฉือเหริน แปลความว่า กวีผู้แต่งฉือแห่งยุค ข้างหน้าหอมีน้ำพุซู่อวี้เฉวียนหรือน้ำพุล้างหยก กล่าวกันว่าเป็นที่กวีหลี่ชิงเจ้าเคยมาแต่งตัว หลี่ชิงเจ้าเป็นกวีหญิงชาวจี่หนานผู้มีความสามารถในการแต่งฉือ บิดาของเธอเป็นนักอักษรศาสตร์มีชื่อ ต่อมาเป็นลูกสะใภ้ของเสนาบดี สามีชื่อเจ้าหมิงเฉิง เป็นนักสะสมของเก่า หนังสือเก่าและนักอ่านจารึก นอกจากหลี่ชิงเจ้าจะเขียนบทกวีแล้วยังเขียนจินสื่อลู่ รวบรวมจารึกบนโลหะและหิน (เล่มนี้เขียนกับสามี) เมื่อสามีตายแล้วหลี่ชิงเจ้าต้องใช้ชีวิตที่ระหกระเหินและลำบาก บทกวีจึงออกมาในแนวเศร้า แต่ก็เป็นที่นิยมมาจนปัจจุบัน กล่าวกันว่าที่จริงแล้วเธอเขียนบทกวีเอาไว้ถึง 6 เล่ม แต่เหลือมาถึงเราในปัจจุบันเพียง 50 กว่าบท ครูหวังเยี่ย (ครูคนเก่า) สอนบทกวีหลี่ชิงเจ้าไว้ให้ฉันหลายบท จะเอามาเขียนใหม่แล้วพิมพ์สักที
(น.77) เมื่อเร็วๆ นี้ศาสตราจารย์ Haun Saussy แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ส่งหนังสือที่เขาเขียนใหม่มาให้ฉัน เรื่อง Women Writers of Traditional China มีประวัติของหลี่ชิงเจ้าด้วย จากสวนสาธารณะนี้คุณอู่บอกว่าคนที่มากับฉันทั้งหลายอยากจะซื้อของ
ก็เลยจะพาไปที่ห้างสรรพสินค้า ไปถึงก็รู้สึกกันว่าคล้ายๆ ของไทย ที่จริงที่นี่เป็นของคนจีนแต่ว่าใช้คนไทยจัด ก็ดีเหมือนกันแต่ฉันไม่ได้ซื้ออะไร ที่จริงพวกนั้นเขาบอกว่าอยากซื้อที่ตึกขายของที่ในเรือนรับรองเท่านั้น จากร้านขายของไปที่ทะเลสาบต้าหมิง ลงเรือ เกิดปัญหาว่านั่งตรงไหนดี ฉันอยากขึ้นไปบนดาดฟ้า คิดว่าอากาศจะบริสุทธิ์ดี พอขึ้นไป ใครๆ ก็ตามไป เหล่าเติ้ง (หัวหน้าตำรวจ) ก็บอกว่าคนมากเกินไปบ้าง น้ำหนักไม่สมดุลบ้าง จนใครๆ รำคาญลงไปข้างล่างกันแยะ ตอนหลังฉันเองก็รู้สึกหนาวทั้งๆ ที่ใส่เสื้อโค้ตแล้วก็เลยลงไปข้างล่างด้วย ไกด์เล่าว่าทะเลสาบนี้อายุ 1,400 กว่าปี เป็นทะเลสาบธรรมชาติ น้ำมาจากน้ำพุ แต่ก่อนมีขนาดใหญ่กว่าที่เห็นนี้ คือ กว้างเกือบเท่าเมืองจี่หนาน น้ำลึกเฉลี่ย 3 เมตร รอบทะเลสาบยาว 4.25 กิโลเมตร มองจากทะเลสาบจะเห็นหอสมุดมณฑลซานตงซึ่งสร้างใน ค.ศ. 1949 และศาลของกวีเอกซินชี่จี๋ กวีราชวงศ์ซ่งเช่นเดียวกับซูตงปัว ทิวทัศน์ของทะเลสาบนี้งามทุกฤดูกาล ในฤดูร้อนมีดอกบัวบานสีชมพูเต็มทะเลสาบ ต้นหลิวริมทะเลสาบเขียวขจี ฤดูหนาวต้นหลิวที่ใบร่วงเหลือแต่ก้านดูเหมือนหมอกควัน
(น.79) ในต้าหมิงหูมีเกาะ 6 เกาะ มีอยู่เกาะหนึ่งมีศาลากลางทะเลสาบ (หูซินถิง) ที่เกาะฉวินฟังเซียงเต่า มีสวนบุปผชาติ มีวัดทางศาสนาเต๋า และศาลาแปดเหลี่ยมชื่อ ลี่เซี่ย ซึ่งมีประวัติว่าสร้างมา 1,400 กว่าปีแล้ว แต่ที่เห็นในปัจจุบันคือ ศาลาที่สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิคังซี ปีที่ 32 มีประวัติ 300 กว่าปีเท่านั้น ป้ายหน้าศาลาเป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลง ข้างในจัดให้มีรูปคนดังเมืองจี่หนานทุกยุคทุกสมัย 15 ท่าน คือ 1. โจวเหยียน สมัยจั้นกว๋อ ก่อน ค.ศ. 355-265 ปี เป็นนักปรัชญา 2. ฝูเซิง สมัยราชวงศ์ฮั่น ในยุคที่ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) สั่งเผาคัมภีร์ขงจื่อจนหมด แต่ท่านผู้นี้จำไว้ได้ ภายหลังท่องให้ผู้อื่นเขียน 3. หลวงจีนอี้จิ้ง สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 635-713) เป็นผู้นำคัมภีร์พุทธศาสนาจากอินเดียมา 300 กว่าเรื่อง แปลได้ 107 เรื่องก็ถึงแก่มรณภาพ 4. กวีเอกหลี่ชิงเจ้า สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1084-1151) มีชื่อเสียงในด้านการแต่งบทกวีรักและโศก 5. ซินชี่จี๋ (ค.ศ. 1140-1207) สมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นกวีผู้รักชาติ 6. ตู้เหรินเจี๋ย สมัยราชวงศ์จินหรือกิมก๊ก (ค.ศ. 1210-1280) เป็นนักแต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว 7. จังหยั่งเหา สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1270-1329) นักแต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว 8. จังฉี่เหยียน สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1285-1353) เป็นนักประวัติศาสตร์
จัดหมวดหมู่สารสนเทศ
หลี่ชิงเจ้า
กวีเอกหลี่ชิงเจ้า สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1084-1151) มีชื่อเสียงในด้านการแต่งบทกวีรักและโศก [1]
ประวัติ
กวีหลี่ชิงเจ้า กวีสตรีมีชื่อสมัยซ้องใต้ มีผู้นำประวัติของท่านมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ท่านเกิดในตระกูลนักปราชญ์ ใน ค.ศ. 1084 ที่เมืองจีหนานแต่งงานกับเจ้าหมิงเฉิง บุตรอัครมหาเสนาบดี ได้ร่วมกันทำงานวิชาการที่สำคัญหลายอย่าง เช่น การคัดลอกศิลาจารึก ศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์ ใน ค.ศ. 1127 ชนเผ่าจินรุกรานมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวจีนราชวงศ์ซ้องต้องหนีลงใต้ เป็นช่วงที่ชีวิตเขาลำบากมาก หลี่ชิงเจ้าเสียชีวิตในปี 1151 มีผลงานบทกวีนิพนธ์อยู่มาก บทกวีในตอนต้นๆ แสดงชีวิตอิสระที่สบาย งานในช่วงหลังจะเกี่ยวกับความเหงาและแสดงความชาตินิยมรุนแรง [2]
ลี่ชิงเจ้าเป็นกวีหญิงชาวจี่หนานผู้มีความสามารถในการแต่งฉือ บิดาของเธอเป็นนักอักษรศาสตร์มีชื่อ ต่อมาเป็นลูกสะใภ้ของเสนาบดี สามีชื่อเจ้าหมิงเฉิง เป็นนักสะสมของเก่า หนังสือเก่าและนักอ่านจารึก นอกจากหลี่ชิงเจ้าจะเขียนบทกวีแล้วยังเขียนจินสื่อลู่ รวบรวมจารึกบนโลหะและหิน (เล่มนี้เขียนกับสามี) เมื่อสามีตายแล้วหลี่ชิงเจ้าต้องใช้ชีวิตที่ระหกระเหินและลำบาก บทกวีจึงออกมาในแนวเศร้า แต่ก็เป็นที่นิยมมาจนปัจจุบัน กล่าวกันว่าที่จริงแล้วเธอเขียนบทกวีเอาไว้ถึง 6 เล่ม แต่เหลือมาถึงเราในปัจจุบันเพียง 50 กว่าบท เรื่อง Women Writers of Traditional China มีประวัติของหลี่ชิงเจ้าด้วย[3]
หลี่ชิงเจ้า (ค.ศ. 1084 – ค.ศ.1155?) เป็นบุตรีของขุนนางผู้ใหญ่ ในวัยเยาว์ได้เรียนหนังสือ จนมีความรู้แตกฉานในด้านภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์ มีอัจฉริยภาพในการแต่งบทกวี ฝีมือประพันธ์ดีเยี่ยม เมื่ออายุ 18 ปีแต่งงานกับเจ้าหมิงเฉิง ผู้ซึ่งเป็นบุตรของอัครมหาเสนาบดี เป็นคู่สมรสที่เหมาะเจาะ มีรสนิยมตรงกันทั้งในด้านบทกวี ศิลปะ และวิชาการ ต่อมาหลี่ชิงเจ้าและสามีต้องอพยพจากภาคเหนือลงมาอยู่ทางภาคใต้ เพราะว่าราชวงศ์ซ่งเสียดินแดนแก่ชนเผ่าหนี่ว์เจินแห่งราชวงศ์จิน (พวกกิมก๊ก) จนใน ค.ศ. 1127 ต้องมาตั้งมั่นอยู่ทางใต้ ตั้งเมืองหลวงที่หังโจว เป็นราชวงศ์ซ่งใต้ (หนานซ่ง ค.ศ. 1127 – ค.ศ. 1279) สามีของหลี่ชิงเจ้าถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1129 เมื่อสามีจากไปแล้ว ชีวิตของหลี่ชิงเจ้าก็ผกผัน ฐานะตกต่ำลง อยู่อย่างลำบาก เงียบเหงา เดียวดาย บทกวีของหลี่ชิงเจ้านั้น ในช่วงแรกชีวิตมีสุข รำพันถึงความรัก ความรื่นรมย์ ชีวิตในช่วงหลังมีความทุกข์ พรรณนาถึงความเศร้า ความเดียวดาย และชะตากรรมของยุคสมัย[4]
หนึ่งในคนดังเมืองจี่หนาน
คนดังเมืองจี่หนานทุกยุคทุกสมัย 15 ท่าน คือ 1. โจวเหยียน สมัยจั้นกว๋อ ก่อน ค.ศ. 355-265 ปี เป็นนักปรัชญา 2. ฝูเซิง สมัยราชวงศ์ฮั่น ในยุคที่ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) สั่งเผาคัมภีร์ขงจื่อจนหมด แต่ท่านผู้นี้จำไว้ได้ ภายหลังท่องให้ผู้อื่นเขียน 3. หลวงจีนอี้จิ้ง สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 635-713) เป็นผู้นำคัมภีร์พุทธศาสนาจากอินเดียมา 300 กว่าเรื่อง แปลได้ 107 เรื่องก็ถึงแก่มรณภาพ 4. กวีเอกหลี่ชิงเจ้า สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1084-1151) มีชื่อเสียงในด้านการแต่งบทกวีรักและโศก 5. ซินชี่จี๋ (ค.ศ. 1140-1207) สมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นกวีผู้รักชาติ 6. ตู้เหรินเจี๋ย สมัยราชวงศ์จินหรือกิมก๊ก (ค.ศ. 1210-1280) เป็นนักแต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว 7. จังหยั่งเหา สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1270-1329) นักแต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว 8. จังฉี่เหยียน สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1285-1353) เป็นนักประวัติศาสตร์ [5]
ตัวอย่างบทกวี
กวีนิพนธ์ของท่านหลายบท มีบทหนึ่งพรรณนาว่า
เมื่อคืนวานฝนตกหยิมๆ ลมกรรโชก
หลับสนิท เมาค้างไม่สร่าง
ลองถามคนม้วนมู่ลี่
กลับตอบว่า ไห่ถังยังเหมือนเดิม
รู้หรือไม่ รู้หรือไม่
ควรจะเป็นว่า เขียวอ้วน แดงผอม
บทกวีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นพรรณนาถึงความเศร้ารันทดไว้อย่างแนบเนียนซับซ้อน ให้ผู้อ่านจิตนาการเองจากรสคำที่สั้น กระชับ เป็นคำคู่ที่ตัดกันในบาทเดียวกันและสื่อความลึกซึ้ง เช่น ฝนหยิมๆ ลมกรรโชก หลับสนิท-เมาค้าง เขียวอ้วน-แดงผอม บทกวีนี้สื่อถึงความเศร้ารันทด ความคิดคำนึงถึง การพรากจากกัน โดยสื่อจากภาพฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจากไป เทคนิคการแต่งนั้นเริ่มสองบาทแรกอย่างเรียบๆ ต่อด้วยคำถามที่ไม่ได้เผยออกมา ซ่อนเอาไว้ แต่คำตอบบอกให้รู้ว่าคนถามถามอย่างกังวล แต่คนใช้ตอบอย่างจืดชืด ไม่สนใจ ตอบไปอีกทางหนึ่ง จนคนถามต้องบอกว่า รู้หรือไม่ รู้หรือไม่ ควรจะเป็นว่า เขียวอ้วน แดงผอม บาทสุดท้ายเป็นจุดสุดยอดของบทกวีนี้ ลวี่เฝย หงโซ่ว หรือ เขียวอ้วน แดงผอม เป็นวลีที่ผู้อ่านติดใจท่องติดปาก บทกวีให้ภาพฝนตก ลมกรรโชก ทำให้ดอกไห่ถังสีแดงร่วงหล่นไปมาก (แดงผอม) เหลือแต่ใบงามเขียวขจี (เขียวอ้วน) ดอกไห่ถังร่วงหล่นโรยรา ฤดูใบไม้ผลิที่งดงามกำลังหมดไป เหมือนชีวิตของกวี[6]
อ้างอิง
1. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 77
2. "ไอรัก"คืออะไร? หน้า 37
3. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 75,77
4. เจียงหนานแสนงาม หน้า 106
5. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 77
6. เจียงหนานแสนงาม หน้า 105,107