<< Back
ฮ่องกง
(น. 245) รูป 185 ไปดูดอกไม้ไฟและเรือไฟที่ตึก Far East Finance
(น. 245) งานฉลองการกลับคืนของฮ่องกง ที่นอกจากการจุดพลุเฉลิมฉลองแล้ว เวลาเดียวกันมีงานเลี้ยงในหมู่นักธุรกิจ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้อง เราจึงไปดูพลุอย่างเดียว
เราไปขอดูดอกไม้ไฟที่ตึก Far East Finance Centre ของบริษัท CP ซึ่งมองลงไปเห็นอ่าวฮ่องกง (Victoria Habour) นอกจากดอกไม้ไฟแล้ว เขามีดนตรีเล่นเพลงต่างๆ ที่แต่งขึ้นเพื่อฉลองฮ่องกง มีเรือไฟ 31 ลำ สร้างสำหรับโอกาสนี้ โดยเฉพาะนักธุรกิจในฮ่องกงบริจาคกันเป็นร้อยๆ ล้านเหรียญฮ่องกง เรือนี้จัดแต่งเป็นรูปต่างๆ ที่แสดงวัฒนธรรมประเพณีจีน เป็นเครื่องหมายของความสุข โชคลาภ และสันติภาพ แล่นไปรอบๆ อ่าว ตรงกลางเป็นลูกไฟหมุนๆ มีการฉายเลเซอร์ตามตึกต่างๆ
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 249,253,254,255,256
(น.249) วันพุธที่ 2 กรกฎาคม 2540
เช้าวันนี้ฝนตกปรอยๆ ข้าพเจ้าแต่งชุดเดินเขาออกมา แต่ก็ไม่แน่ว่าจะได้เดินหรือไม่เพราะว่าอากาศไม่ดี Alvin และ Ivan มาตามนัดเพื่อจะไปด้วยกัน รับประทานอาหารเช้าแล้ว เป็นที่แน่นอนว่าไปเดินไม่ได้เพราะว่าที่หมายฝนตกหนัก ดินถล่ม ซึ่งอันตรายมาก น้ำยังท่วมอีกด้วย ในที่สุดข้าพเจ้าตัดสินใจว่านั่งรถข้ามสะพานแขวนไปดูเกาะ Lantau กลับมาเที่ยวท้องฟ้าจำลอง คราวที่มาฮ่องกงครั้งแรก ค.ศ. 1981 อยู่ที่เพนนินซูลา มองจากหน้าต่างห้องลงมาเห็นท้องฟ้าจำลองนี้ อยากลงไปดูแต่เขาปิดซ่อม อีกครั้งก็ไม่มีเวลา คราวนี้ได้ดูสักที
ชวนสองคนนั้นนั่งรถไปด้วย เขาดูจะตื่นเต้นไปกับการกลับคืนของฮ่องกง เพราะว่าจะได้มีโอกาสเป็นคนจีนโดยสมบูรณ์ กิจการงานไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถามถึงพวกทหาร PLA ของจีนที่เข้ามาว่าเป็นอย่างไร บอกว่าตอนแรกเข้ามาก็ดูน่าตกใจเพราะมีในภาพข่าวมองดูขึงขัง แต่พอมาเข้าจริงๆ ไม่มีใครกลัว รู้สึกเหมือนเดิมทุกอย่าง
(น.253) รูป 193 ดูหนังที่ท้องฟ้าจำลอง
(น.253) กลับไปบ้าน กินของจำพวกบาบีคิวที่ตั้งใจจะเอาไปปิกนิกกับสองพี่น้องและคณะข้าราชการ พูดกันถึงเรื่องการประกาศค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อเช้านี้ ทำให้เงินดอลลาร์ขึ้นไปเป็น 29.5 บาท
รับประทานเสร็จแล้วไปเที่ยว Peak Alvin กับ Ivan ลากลับเพราะพอดีมีนัด เมื่อเช้านี้มาได้เพราะหยุดงาน ถือว่าเป็นประวัติการณ์ทีเดียวที่ฮ่องกงมีวันหยุด 5 วันติดกัน
(น.254) รูป 194 เที่ยวยอดเขาวิกตอเรีย
(น.254) ยอดเขาวิกตอเรีย หรือ Victoria Peak นี้สูงจากระดับน้ำทะเล 554 เมตร เป็นจุดสูงสุดของเกาะฮ่องกง ขณะเดินเล่นฝนตก ต้องใส่เสื้อฝน เดินอยู่ประมาณ 40 นาที
ตอนเย็นไปภัตตาคาร Fook Lam Moon คุณชาตรี โสภณพนิช คุณรอบบิ้น ชานและครอบครัว และยังมีแขกคนอื่น เช่น คุณโรเบิร์ต อึ้งและภริยา คุณ Anson Chan และสามี คุณโจวหนาน (ผู้แทนสำนักข่าวซินหัวในฮ่องกง ขณะที่ฮ่องกงยังเป็นของอังกฤษ สำนักข่าวนี้เป็นตัวแทนของสาธารณรัฐประชาชนจีนในฮ่องกง) และภริยา คุณโจวหนานเอา
(น.255) รูป 195 ถ่ายรูปกับไกด์รุ่นจิ๋ว
(น.255) หนังสือรวมบทกวีที่เขาแต่งเองมาให้ บอกว่ารู้สึกว่าตัวเองอายุมากแล้ว ปีหน้าจะกลับปักกิ่ง คุณก๊วกเจ้าของโรงแรมแชงกริลาและภริยา
คุณโรเบิร์ตให้ดูเอกสารโครงการที่ชาวฮ่องกงจัดทำเป็นส่วนหนึ่งของการกลับคืนสู่จีนของฮ่องกงคือ โครงการ Lifeline Express เป็นรถไฟที่จัดเป็นโรงพยาบาล แล่นจากฮ่องกงไปสู่แผ่นดินใหญ่จีนเพื่อช่วยเหลือคนป่วย คนพิการ และคนจนในประเทศจีน ให้การรักษาพยาบาลฟรี ผู้นำจีนสนับสนุนโครงการ เป็นความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงรถไฟ และสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า รายละเอียดของโครงการคือ จะเข้าไปในเขตต่างๆ ในจีน
(น.256) 5 เขตต่อปี ขณะนี้เน้นเรื่องการผ่าต้อ รักษาโปลิโอ ให้การศึกษาเรื่องสาธารณสุขมูลฐาน
พูดกันถึงข่าวหนังสือพิมพ์ที่ว่าหุ้นกิจการอสังหาริมทรัพย์บางตัวของฮ่องกงตกลงไปหลังจากที่ต่งเจี้ยนหัว กล่าวแถลงนโยบายเมื่อเช้าวานนี้เรื่องการสร้างที่พักอาศัยให้ประชาชน ความเห็นส่วนใหญ่ว่านโยบายเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว แต่ในระยะสั้นจะเป็นปัญหากับหุ้นบ้าง การที่เขามีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องการแก้ไขการเก็งกำไรที่ดิน (South China Morning Post วันที่ 2 ก.ค.) น่าจะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงมีเสถียรภาพมากขึ้น นั่งรับประทานอาหารไปได้หน่อย คุณโรเบิร์ตลุกไปให้สัมภาษณ์ CNN ในฐานะที่เป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารของสมาพันธ์ผู้พัฒนาที่ดินของฮ่องกง ประเดี๋ยวเดียวกลับมา ถามว่าว่าอย่างไร เขาบอกว่าเขาให้สัมภาษณ์สนับสนุนรัฐบาลในเรื่องการมีมาตรการเข้มงวดในเวลาอันสมควร แต่ไม่ใช่แทรกแซงตลอดไป นักข่าวถามว่าจะมีปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ไหม เขาว่าไม่เป็น เรื่องอสังหาริมทรัพย์ถ้าทำอย่างระมัดระวังไม่น่ามีปัญหา เพราะคนยังนิยมมาลงทุนที่ฮ่องกง มาอยู่ฮ่องกง
อาหารจีนมีหลายอย่างที่อร่อยคือ หอยสังข์จิ้มกะปิ
กลับมาฝนยังไม่หยุด คุณทัศนีย์ลากลับกรุงเทพฯ เพราะลูกรับปริญญา แต่ท่านทูตอยู่ต่อ
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 259,260,281,283,284,288,292
(น.259) ซามูไร ญี่ปุ่นไม่ได้รับอนุญาตให้ค้าขายกับจีน ฉะนั้นโปรตุเกสจึงทำหน้าที่คนกลาง
ความรุ่งเรืองของโปรตุเกสเสื่อมถอยลงเมื่อโปรตุเกสถูกผนวกเข้ารวมกับสเปนใน ค.ศ. 1580 และในทางตะวันออก ญี่ปุ่นปิดประเทศไล่โปรตุเกสออกจากญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1637 และดัตช์เข้ายึดมะละกาจากโปรตุเกสในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1640 ยึดได้มกราคม ค.ศ. 1641 ในช่วงปี ค.ศ. 1640 นี้โปรตุเกสกลับได้เอกราช แต่การค้ากับญี่ปุ่นและจีนถูกตัดขาด ฉะนั้นมาเก๊าก็ไม่มีประโยชน์สำหรับจีนอีกต่อไป เป็นจุดเสื่อมของมาเก๊า
ประเทศยุโรปอื่นๆ พยายามเข้าไปมีส่วนในมาเก๊า ดัตช์พยายามบุกเข้ายึดครอง 5 ครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ไม่สำเร็จ กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประเทศตะวันตกมาค้าขายกับจีนมากขึ้น เช่น ฝรั่งเศส ดัตช์ เดนมาร์ก สวีเดน อเมริกา สเปน ทางมาเก๊าเลยยกเลิกกฎระเบียบเข้มงวดที่เคยบังคับคนที่ไม่ได้เป็นชาวโปรตุเกสไม่ให้อยู่ที่มาเก๊า ทำให้มาเก๊าคึกคักดีขึ้นจนกระทั่งอังกฤษยึดฮ่องกง และบังคับให้เปิดเมืองท่าอีกหลายเมือง ใน ค.ศ. 1841 มาเก๊ากลับลดความสำคัญไปอีก ค.ศ. 1849 โปรตุเกสประกาศให้มาเก๊าไม่ขึ้นกับจีนแต่จีนไม่ยอมรับการประกาศนี้ ค.ศ. 1851 มาเก๊าถูกผนวกเป็นจังหวัดโพ้นทะเลจังหวัดหนึ่งของโปรตุเกส ซึ่งจีนยอมรับจริงๆ ใน ค.ศ. 1887 โดยมีการเซ็นสนธิสัญญาใน ค.ศ. 1888
ระยะหลังๆ นี้สภาพเศรษฐกิจของมาเก๊าไม่ดีเลย ผู้ว่าราชการคนหนึ่งแก้ปัญหาโดยอนุญาตให้เปิดบ่อนพนันถูกกฎหมาย บ่อนพนันกลายเป็นสัญลักษณ์ของมาเก๊าจนทุกวันนี้
(น.260) นอกจากคนมาเล่นการพนัน พวกมามาเก๊าก็เป็นพวกที่ลี้ภัยการเมืองและความอดอยากจากจีนและเวียดนาม ที่รุนแรงที่สุดคือช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม พวกเรดการ์ดบุกมาเก๊า ถูกทหารโปรตุเกสยิงตายไปมาก ผู้ว่าราชการโปรตุเกสเห็นว่าโปรตุเกสควรแก้ปัญหาโดยการทิ้งมาเก๊า เผอิญใน ค.ศ. 1974 มีการปฏิวัติของทหารในโปรตุเกส รัฐบาลฝ่ายซ้ายที่ได้อำนาจพยายามเลิกการมีอาณานิคม (โมซัมบิก อังโกลา ติมอร์ตะวันออก) แต่จีนไม่ยอมรับมาเก๊าคืน เพราะสนใจแต่จะเอาฮ่องกงคืน
ต่อมาใน ค.ศ. 1975 โปรตุเกสทำความตกลงให้มาเก๊าเป็นดินแดนพิเศษของจีนที่อยู่ภายใต้การบริหารของโปรตุเกส และสามารถตกลงกับจีนได้สำเร็จใน ค.ศ. 1987 โดย Sino-Portuguese Joint Declaration ว่าใน ค.ศ. 1999 จึงจะส่งมอบให้จีนโดยเด็ดขาด มาเก๊าจะเป็นเขตบริหารพิเศษมาเก๊าของสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถปกครองตนเองได้ มีวิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างเดิมไปอีก 50 ปี และมี Basic Law เป็นกฎหมายแม่บทเช่นเดียวกับในฮ่องกง คนมาเก๊าถือเป็นพลเมืองโปรตุเกส จะไปโปรตุเกสเมื่อไรก็ได้ แต่คนฮ่องกงไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนอังกฤษ จึงมีคนฮ่องกงบางคนที่ไม่อยากอยู่ใต้ระบบใหม่พยายามมาอยู่ในมาเก๊าเพื่อให้ได้สัญชาติโปรตุเกส
โปรตุเกสเริ่มปฏิรูปการเมืองในมาเก๊าให้เป็นระบบรัฐสภา มีสภาเดียว ตั้งแต่ ค.ศ. 1976 ไม่มีพรรคการเมือง มีแต่กลุ่มการเมืองปัจจุบันยังปกครองแบบเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส มีประธานาธิบดีโปรตุเกสเป็นประมุข ตั้งผู้ว่าราชการมาเป็นผู้แทนในการปกครอง
(น.281) ในงานมีแขกอื่นๆ อีกหลายคน เช่น สมาชิกสภาและบุคคลสำคัญในมาเก๊า คนที่นั่งข้างข้าพเจ้าในโต๊ะอาหารเป็นประธานกาชาดมาเก๊า บอกว่างานบรรเทาทุกข์ต่างๆ ของมาเก๊ามีไม่มาก เพราะมีพลเมืองน้อย เขาเลยเน้นเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ บอกเขาว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สภากาชาดไทยสนใจมากเช่นกัน เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง ต้องพิจารณาให้ดีเพื่อให้ปฏิบัติได้ในความเป็นจริงให้มากที่สุดเท่าที่มีได้ เขายังไม่ได้เตรียมตัวในเรื่องรวมกับก าชาดจีนมากนัก เรื่องการรวมประเทศผู้ว่าราชการเห็นว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าตอนที่มาเก๊าเป็นของโปรตุเกสก็ไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรงกับจีนเหมือนกับตอนที่อังกฤษผนวกเกาะฮ่องกง อาหารที่เลี้ยงเป็นอาหารแบบโปรตุเกส ของหวานแปลกดีเป็นเค้กผลไม้ใส่ฝอยทอง
รับประทานอาหารเสร็จขึ้นไปที่ห้องพัก นอกจากใช้เวลาเข้าห้องน้ำแล้ว ยังเขียนโพสต์การ์ดตามเคย แต่แรกให้พี่แอ๊ซื้อแสตมป์เอาไว้ ติดไปบ้าง แต่นพรมาบอกว่าแสตมป์ที่นพรซื้อสวยกว่า มีภาพต่างๆ หลากหลาย เช่น ภาพทิวทัศน์และภาพสถานที่สำคัญ แสตมป์ที่ออกในโอกาสต่างๆ
ภริยาผู้ว่านั่งไปด้วยจนถึงด่าน ข้าพเจ้าลาเขาเข้าไปในเขตจีนซึ่งมีคณะต้อนรับเดิม ทั้งฝ่ายไทยและจีน ซึ่งยังไม่ได้กลับปักกิ่งรออยู่แถวๆ นั้น มาดามเซี่ยนั่งรถด้วย คุยกันถึงเรื่องเหตุการณ์ที่ฮ่องกงหงเอี้ยนบอกว่าเขาเห็นข้าพเจ้าในโทรทัศน์
(น.283) เมืองนี้มีชื่อเสียงในด้านการชลประทาน และได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการเกษตร “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เนื่องจากมีภูมิอากาศที่อบอุ่น ฝนตกชุก ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญคือข้าว น้ำตาล ปลา ที่มีมากจนส่งไปขายเมืองอื่นได้
ตั้งแต่จีนดำเนินนโยบายเปิดประเทศ จงซานได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ จนเริ่มมีสภาพเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดกลาง มีการส่งเสริมการค้าพาณิชย์กว้างขวางขึ้น มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกว่า 3,000 ราย นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการผลิต และสามารถส่งสินค้ากว่า 140 ชนิดไปขายยังต่างประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะอยู่ใกล้กวางโจว ฮ่องกง และมาเก๊า
ที่พิพิธภัณฑ์บ้านเกิด ดร. ซุนยัดเซ็น มีหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ และรองนายกเทศมนตรีต้อนรับ ดูภายในบ้าน
(น.283) รูป 224 ห้องต่างๆ ในบ้าน
(น.284) ดร. ซุนยัดเซ็น เดิมชื่อซุนอี้เซียน (ภาษากวางตุ้งอ่านออกเสียงว่า ซุนยัดเซ็น) เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1866 ที่หมู่บ้านซุ่ยเฮิง อำเภอเซียงซาน (ชื่อสมัยนั้น) มณฑลกวางตุ้ง ได้ไปศึกษาที่ฮาวาย กวางโจว และศึกษาวิชาแพทย์ที่ฮ่องกง แล้วได้ดำเนินบทบาททางการเมืองเป็นนักปฏิวัติต่อต้านราชวงศ์ชิง และเป็นผู้นำในการปฏิวัติชิงไห่ ค.ศ. 1911 ขบวนการประชาธิปไตยของเขาได้รับการสนับสนุนจากพวกคนจีนโพ้นทะเลจำนวนมาก และจากรัสเซีย ต่อมาเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของจีน เสียชีวิตใน ค.ศ. 1925 ด้วยโรคมะเร็ง ใน ค.ศ. 1927 เจียงไคเช็ค เป็นหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งต่อ ไกด์กล่าวว่าเขาได้ปฏิบัติแตกต่างจากแนวคิดของ ดร. ซุน
(น.284) รูป 225 ห้องต่างๆ ในบ้าน
(น.288) หลังจากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว จูไห่ได้รับการพัฒนาเป็นเมืองการค้า อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว มีศักยภาพทางการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการประมง มีความสำคัญทางการค้าระหว่างประเทศ รัฐบาลจีนลงทุนทางด้านการคมนาคมขนส่ง มีท่าเรือน้ำลึกสามารถรับเรือที่มีระวาง 10,000 ตันได้ มีท่าอากาศยาน มีโครงการสร้างทางรถไฟระหว่างจูไห่และกวางโจว เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการค้าและการท่องเที่ยว ขณะนี้เดินทางไปกวางโจวใช้เวลาสองชั่วโมงครึ่ง ฐานะของประชาชนดีขึ้นทุกหมู่เหล่า มีการศึกษาดีขึ้น มีโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี อีก 2 ปีจะบังคับ 12 ปี ปัจจุบันเน้นเรื่องการพัฒนาการศึกษา และจะสร้างมหาวิทยาลัย ถือว่าความเจริญของจูไห่ เกิดจากวิสัยทัศน์ของนายเติ้งเสี่ยวผิง ถ้าไม่เปิดประเทศเช่นนี้ก็จะไม่ก้าวหน้า
ท่านนายกเทศมนตรีบรรยายละเอียดมาก ข้าพเจ้าง่วงนอนเพราะชักหมดแรงแล้ว เคราะห์ดีว่าพรุ่งนี้ก็กลับแล้ว ทางจีนก็เลยให้รวบรัดเพราะว่าจะต้องไปดูโรงงานอีก
ท่านนายเทศมนตรีไม่ได้ตามไปด้วยให้รองนายกเทศมนตรีไปกับข้าพเจ้า เขาดูแลทางด้านเกษตร การเกษตรของที่นี่มีข้าว อ้อย ไม้ผล (ลิ้นจี่ กล้วยหอม ลำไย แตงโม) แต่ตัวเขาเองชอบกินมะม่วงและมะละกอของไทย เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ที่นี่มีอ้อยมาก ผลิตน้ำตาลด้วย ถมทะเลสร้างท่าเรือสินค้าจิ่วโจว
(น.292) เมื่อดูเสร็จแล้วไปที่ท่าเรือจิ่วโจว คณะเมืองจีนให้สมุดภาพถ่ายข้าพเจ้าในเมืองจีนและลากัน ขึ้นเครื่อง hydrofoil เที่ยวสุดท้ายกลับฮ่องกง ที่ท่าเรือฮ่องกงมีคนไทยมารับกลุ่มหนึ่ง ทักทายกันครู่หนึ่งข้าพเจ้าขึ้นลิฟต์ไปออกประตู ขึ้นรถกลับบ้าน
วันนี้พี่แอ๊เชิญกุ๊กคนหนึ่งมาทำเป๋าฮื้อให้รับประทาน ตามประวัติว่าเขาเคยเป็นเจ้าพนักงานเก็บเงินที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง ได้ยินคนบ่นว่ากุ๊กทำไม่อร่อย เขาเลยขออาสาไปลองทำ ปรากฏว่าทำได้ดี มีชื่อเสียง ได้ทำอาหารให้ผู้นำหลายคน ทำเป๋าฮื้อเก่งที่สุด
ตอนรับประทานอาหารท่านทูตเล่าเรื่องปักกิ่งว่าขณะนี้จีนกำลังปรับปรุงเรื่องการดูแลสภาพสิ่งแวดล้อม โดยจะลดการใช้ถ่านหินในปักกิ่ง โดยการที่จะต่อท่อน้ำมันมาจากซินเกียง ตอนที่ข้าพเจ้าไปซินเกียงก็ได้ยินคนพูดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน
(น.292) รูป 231 ลาเพื่อนชาวจีน จากจูไห่กลับฮ่องกง
Next >>