<< Back
ฮ่องกง
(น.231)เรา เมื่อเราเข้าใจดีแล้วเราจึงลงรากฐานที่จะทำให้ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ประสบความสำเร็จ เราจะต้องกระชับความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงและแผ่นดินใหญ่ด้วยความเข้าใจร่วมกัน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันด้วยการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเคารพในวิถีชีวิตของกันและกัน เรามั่นใจว่าฮ่องกงและแผ่นดินใหญ่จะร่วมมือกันก้าวไปข้างหน้า
สังคมทุกสังคมมีค่านิยมของตนเองที่จะทำให้มีผลประโยชน์ร่วมกันและมีความสามัคคีกันคนฮ่องกงส่วนใหญ่เป็นคนจีนแต่บางคนก็ไม่ใช่ เป็นเวลายาวนานที่ฮ่องกงรับวัฒนธรรมตะวันออกและวัฒนธรรมตะวันตก เรายังสนับสนุนให้มีความหลากหลายในสังคมของเรา แต่เราก้ยังต้องยืนยันและเคารพคุณค่าของวัฒนธรรมจีนอันดีงาม รวมทั้งความกตัญญูต่อบิดามารดา ความรักครอบครัว ความอ่อนน้อมถ่อมตนและความซื่อสัตย์สุจริต และความปรารถนาที่จะปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เราเห็นคุณค่าของความหลากหลาย แต่ไม่ต้องการการเผชิญหน้าอย่างเปิดเผย เราต้องการเสรีภาพแต่ไม่ใช่เสรีภาพที่ได้มาจากการเสียกฎระเบียบ เรายอมรับนับถือความคิดเห็นของคนหมู่น้อย แต่ก็คิดถึงผลประโยชน์ที่กว้างขวางกว่า เราคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชน แต่จะต้องแบกรับความรับผิดชอบร่วมกัน ข้าพเจ้าหวังว่าคุณค่าเหล่านี้จะเป็นรากฐานของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมของเรา
การธำรงและพัฒนาระบบกฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เราให้ความมั่นใจได้ว่าฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการจะปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระแก่กัน เราจะพยายามต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง
(น.232) และพยายามรักษาสังคมให้สะอาด เราให้ความมั่นใจว่าทุกคนจะอยู่ใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และเราจะจัดให้มีสิ่งแวดล้อมที่จูงใจสำหรับนักลงทุนและชาวฮ่องกง
เราจะรักษาเสรีภาพและวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราให้ความมั่นใจว่าคนฮ่องกงยังคงมีเสรีภาพในการพูด การชุมนุม การรวมกันเป็นสมาคม เสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพอื่นๆ ตามที่มีหลักประกันจากข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ประชาธิปไตยเป็นเครื่องหมายสำหรับยุคใหม่ของฮ่องกง รัฐบาล HKSAR จะเดินหน้าต่อไปในรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามบทบัญญัติที่เขียนไว้ใน Basic Law เราจะให้โอกาสแก่ทุกชนชั้น ในสังคมและองค์การทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย แก่คนที่มีความคิดทางการเมืองต่างๆ กัน ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง รัฐบาล HKSAR จะมีทัศนคติที่เปิดกว้างและรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ฮ่องกงมีเจ้าหน้าที่รัฐที่ดีเด่นและซื่อสัตย์ พวกเขาจะมีบทบาทสำคัญภายใต้หลัก “หนึ่งประเทศ สองระบบ” รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐเราจะรับใช้ชุมชน ทำงานเพื่อฮ่องกงที่ดีขึ้น
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของฮ่องกงที่เรามีสิทธิกำหนดชะตาชีวิตของตนเองภายใต้หลัก “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เราจะก้าวไปข้างหน้าด้วยความแน่วแน่ รอบคอบและมุ่งมั่น เราจะทำงานด้วยกันเพื่ออนาคตอันดีขึ้น วิสัยทัศน์ของเราสำหรับฮ่องกงคือ
(น.233)
- สังคมที่ภูมิใจในเอกลักษณ์ของชาติ และมรดกทางวัฒนธรรม
- สังคมที่มั่นคง เท่าเทียม อิสระ เป็นประชาธิปไตย มีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน
- สังคมที่มั่งคั่ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
- สังคมที่ดีเปิดโอกาสให้กับทุกคน ให้มีการแข่งขันได้อย่างยุติธรรมภายใต้ระเบียบกฎหมาย
- เป็นหน้าต่างให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนกับโลก
- เป็นศูนย์กลางทางการเงิน การค้า การขนส่ง และการคมนาคมสื่อสารที่มีชื่อเสียง
- เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม การศึกษาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก
แขกผู้มีเกียรติและเพื่อนชาวฮ่องกง
ในอีกสองปีสาธารณรัฐประชาชนจีนจะฉลองการสถาปนาครบ 50 ปี ในอีกสองปีโลกจะได้ต้อนรับการเริ่มต้นของช่วงรอบพันปี (Millennium) ข้าพเจ้าเชื่อว่าในอีกสองปีขณะที่เราก้าวสู่ศตวรรษใหม่ ฮ่องกงจะประสบความสำเร็จและสร้างชีวิตที่ดีกว่าเดิมให้แก่ทุกคน จีนจะภูมิใจในฮ่องกง
ข้าพเจ้าขอเชิญท่านให้ร่วมกับข้าพเจ้าในการอวยพรให้จีนเจริญรุ่งเรือง
ข้าพเจ้าขอเชิญท่านให้ร่วมกับข้าพเจ้าในการอวยพรให้ฮ่องกงประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
(น.234) รูป 180 สุนทรพจน์ที่ข้าพเจ้ารวบรวมมา
(น.234) สุนทรพจน์หรือคำปราศรัยพวกนี้ถึงแม้จะยาวมาก แต่ข้าพเจ้าพยายามจะบันทึกถ่ายทอดออกมา ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า แต่เป็นอันว่าข้าพเจ้าเข้าใจเช่นนี้
ต่อจากคำปราศรัย เป็นพิธีมอบ กองทุนที่ดิน (Land Fund) นายเฉียนฉีเฉินเป็นผู้มอบให้นายต่งเจี้ยนหัว
ในปฏิญญาร่วมกำหนดไว้ว่าเมื่อปฏิญญามีผลในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1985 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1997 เงินรายได้จากค่าธรรมเนียมที่รัฐบาลอังกฤษในฮ่องกงได้รับจากการดำเนินธุรกิจที่ดิน หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเพิ่มผลผลิตของที่ดินจะต้องนำมาแบ่งเท่าๆ กันกับรัฐบาล HKSAR ในอนาคต
(น.235) ในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1986 ได้มีการตั้ง “กองทุนที่ดิน ของ HKSAR” เป็นทางการในฮ่องกง โดยสำนักงานผู้แทนจีนประจำคณะกรรมาธิการที่ดินจีน-อังกฤษ หลังจากการวางแผนอย่างจริงจังและหลังจากฝ่ายอังกฤษในคณะกรรมาธิการเห็นชอบด้วยแล้ว มีการประกาศ “บัญชีกองทุนที่ดินของ HKSAR” ในเวลาเดียวกัน ถือเป็นหลักกฎหมายในการปฏิบัติงานและการส่งมอบกองทุนที่ดินในอนาคต
ผู้แทนจีน 3 คนในคณะกรรมาธิการที่ดินจีน-อังกฤษได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เป็นคณะกรรมการดูแลรักษากองทุนนี้ไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่รัฐบาล HKSAR ต่อไป
กองทุนที่ดินนี้ตั้งมาได้ 11 ปี ผ่านความแปรผันในตลาดการเงินมาหลายครั้งแล้ว กองทุนนี้ไม่เพียงแต่เป็นหลักประกันความปลอดภัยของการลงทุน แต่ยังได้กำไรตลอด 11 ปี
เมื่อแรกตั้งมีทุนเพียง HK$ 772 ล้าน เมื่อรัฐบาลกลางมอบกองทุนนี้ให้รัฐบาล HKSAR จะมีทรัพย์สินมากกว่า HK$ 170 พันล้านรวมดอกเบี้ยสะสมอีก HK$ 40 พันล้าน
การตั้งกองทุนที่ดินเป็นการกระทำที่รอบคอบ เป็นสิ่งที่ดีที่สำคัญที่รัฐบาลกลางมอบให้รัฐบาล HKSAR และเป็นที่ชื่นชมของทุกฝ่าย
กองทุนที่ดินเป็นสถาบันการเงินของสาธารณชนที่ตั้งขึ้นในนามของรัฐบาล HKSAR หัวหน้าคณะผู้บริหารของ HKSAR คือนายต่งเจี้ยนหัวได้แต่งตั้งรัฐมนตรีคลังให้เป็นผู้บริหารกองทุนซึ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองของ HKSAR ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีคลังแยกกับกองทุนเงินแลกเปลี่ยน รัฐมนตรีคลังจะตั้งคณะกรรมการ
(น.236) ที่ปรึกษาเพื่อให้คำปรึกษาในด้านการจัดการและวิธีการลงทุนจากกองทุนที่ดิน
เมื่อมอบแล้วมีการประกาศรัฐบาลกลาง มณฑล ภูมิภาคปกครองตนเอง และมหานครต่างๆ มอบของขวัญให้แก่ HKSAR เวลามอบมีตะกร้าใหญ่ๆ มาตั้งบนเวที มีคนแต่งตัวเป็นชนพื้นเมืองจูงเด็กแต่งตัวเป็นชาติต่างๆ เอาดอกไม้ใส่ตะกร้า ขณะที่ประกาศชื่อว่าใครให้ของอะไร ฉายรูปของขวัญให้ดูชัดๆ ในจอ ฉายแผนที่มณฑลและสถานที่ที่ให้ของ และรูปทิวทัศน์ในที่นั้นด้วย มีคำอธิบายดังนี้
รัฐบาลกลาง ให้รูปปั้นทำด้วยสำริดหุ้มทอง เป็นรูปดอกชงโค (Bauhinia) บานตลอดกาล มีคำอธิบายว่าดอกชงโคเป็นสัญลักษณ์ของ HKSAR ตั้งอยู่บนฐานทำด้วยหินแกรนิตสีแดงจากเสฉวน ทำเป็นรูปกลมและรูปเหลี่ยม เป็นสัญลักษณ์ของทั้งประเทศและรูปกำแพงเมืองจีนที่สลักไว้ด้านใน หมายถึง มาตุภูมิที่ยิ่งใหญ่ รูปดอกชงโคเป็นศิลปะแบบจีน หมายถึง อนาคตอันมั่งคั่งของฮ่องกง รูปปั้นดอกชงโคนี้สูง 6 เมตร
มหานครปักกิ่ง ให้แจกันถมปัดแบบจิ่งไท่หลาน แสดงความยินดีทั่วโลก
มหานครเทียนสิน ให้พรมแขวนผนังเป็นรูปกำแพงเมืองจีน
มณฑลเหอเป่ย ให้ขวดแก้วเจียระไนที่เขียนข้างในขวด แสดงความยินดีระดับชาติ
มณฑลซานซี ให้รูปจำลองเจดีย์ที่ตำบลอินเซี่ยงทำด้วยไม้สลัก
(น.237) ภูมิภาคปกครองตนเองมองโกเลียใน ให้รูปปั้นม้าวิ่งสู่อนาคต
มณฑลเหลียวหนิง ให้เครื่องรัก วิญญาณของชาติจีน
มณฑลจี๋หลิน ให้หินฝนหมึก รูปสนและชงโคหยั่งรากลึกในดินแดนจีน
มณฑลเฮยหลงเจียง ให้แจกันรูปดอกชงโคบานอีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิ
มหานครเซี่ยงไฮ้ ให้หยกสลัก รูปชาวลุ่มน้ำผู่เจียงฉลองการกลับคืนของฮ่องกง
มณฑลเจียงซู ให้ผ้าปักซูโจว รูปการเดินทางกลับ
มณฑลเจ้อเจียง ให้ไม้สลัก รูปการเดินเรือกลับ
มณฑลอันฮุย ให้รูปทำด้วยเหล็ก เป็นรูปอาทิตย์ฉายแสงตลอดกาล
มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ให้ฉากเครื่องรัก เป็นเรื่องความรู้สึกเป็นพี่น้องที่ชาวฝูเจี้ยนมีต่อชาวฮ่องกง
มณฑลเจียงซี ให้เครื่องกระเบื้อง เป็นรูปดอกชงโคกลับคืนสู่ดอกโบตั๋น (เป็นสำนวนหมายถึงลูกกลับคืนมาหาแม่)
มณฑลซานตุง ให้ฉากทำด้วยไม้แดง สลักเป็นเรื่องภูเขาไท่ซานต้อนรับการกลับคืนมาของฮ่องกง
มณฑลเหอหนาน ให้แจกันกระเบื้อง เป็นรูปช้างเหอหนานมอบสมบัติ
มณฑลหูเป่ย ให้รูปสำริดหุ้มทอง รูปนกกระเรียนสีเหลืองกลับคืน
(น.238) มณฑลหูหนาน ให้ฉากปัก รูปฤดูใบไม้ผลิที่ทะเลสาบตงถิง
มณฑลกวางตุ้ง ให้หยกสลัก รูปการเดินเรือที่ราบรื่น
ภูมิภาคการปกครองตนเองกว่างซี จ้วง ให้ไม้สลัก รูปสะพานแห่งความสามัคคี
มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ให้หอยสลัก รูปทั้งโลกร่วมกันเบิกบาน
มณฑลเสฉวน ให้ไม้แดงสลัก รูปเสฉวนร่วมกันฉลองกับชาวฮ่องกง
มหานครฉงชิ่ง ให้รูปปั้นริบบิ้นสีอันเป็นมงคล
มณฑลกุ้ยโจว ให้ฉากไม้แดงประดับด้วยผ้าไหมและบาติกทำเป็นรูปภูเขาร้องเพลงในการฉลองฮ่องกงด้วยความเบิกบาน
มณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) ให้แจกันสำริด รูปนกมงคล
ภูมิภาคปกครองตนเองทิเบต ให้พรมแขวนผนัง รูปภูเขาสูงและแม่น้ำแยงซี
มณฑลส่านซี ให้รูปปั้น เป็นเรื่องชาวส่านซีฉลองการกลับคืนของฮ่องกง
มณฑลกานซู ให้หินฝนนหมึกจากแม่น้ำเถา เป็นเรื่องมังกรเกิดมาจากรากฐานเดียวกัน และทั้งหมดพุ่งขึ้นบนฟ้า
มณฑลชิงไห่ ให้พรมแขวนผนัง รูปคลื่นในทะเลสาบชิงไห่ร่วมต้อนรับการกลับคืนของฮ่องกง
ภูมิภาคปกครนองตนเองหนิงเซี่ย หุย ให้หินเหอหลานสลักรูปกลับจากการต้อนปศุสัตว์
(น.239) ภูมิภาคปกครองตนเองซินเจียง อุยกูร์ ให้พรมแขวนผนังขนสัตว์ รูปแสดงความยินดีในการที่ฮ่องกงกลับคืนมา
ของที่ให้ล้วนเป็นของแปลกๆ และมีความหมาย เขาน่าจะรวบรวมเอาไว้ และจัดเป็นนิทรรศการให้ประชาชนดู
การแสดงมีสองรายการคือ
1.ซิมโฟนี 1997 (สวรรค์ โลก มนุษยชาติ) เป็นการแสดงดนตรีเพลงจีนประยุกต์ ผู้ที่แต่งเพลงและอำนวยเพลงเอง ได้ยินว่าเป็นคนที่มีชื่อเสียงพอใช้ชื่อ Tan Dun อายุ 40 ปี เกิดที่หูเป่ย แต่ขณะนี้ไปอยู่ที่นิวยอร์ก มีนักเชลโลที่มีชื่อเหมือนกันชื่อ หม่าโหย่วโหย่ว อายุ 42 ปี นักร้องชื่อ แจ็กกี้ จาง กลุ่มเด็กนักร้องประสานเสียง และดนตรีระฆังชุดแบบที่จำลองจากระฆังค้นพบในสุสานอายุ 2,400 ปี ที่มณฑลหูเป่ย เมื่อ ค.ศ. 1978 ประกอบด้วยระฆัง 65 ใบ เรียงเป็น 3 แถว
ความหมายของเพลงนั้น สวรรค์ หมายถึง การค้นคว้าเรื่องวัฒนธรรมของจีนในอดีต โลก หมายถึง การค้นคว้าเรื่องความสมดุลระหว่างธรรมชาติและธาตุต่างๆ มนุษยชาติ หมายถึง การระลึกถึงผู้ที่ต่อสู้และต้องประสบความทุกข์เพราะสงคราม ที่จริงแล้วคอนเสิร์ตนี้ควรจะมีความยาว 50 นาที แต่ที่แสดงวันนี้เขาย่อเหลือ 20 นาที ผู้ใดอยากฟังคอนเสิร์ตที่ไม่ตัดทอน รอซื้อซีดีได้ในวันที่ 5 กรกฎาคม
2.Hong Kong Medley : a Musical Celebration มีนักร้องที่มีชื่อเสียง 8 คนมาร่วมกันฉลองการตั้ง HKSAR นักดนตรีมีชื่อเสียงเล่น
(น.240) เครื่องดนตรีจีน ในเพลงชุดนี้มีเพลงที่แต่งใหม่ชื่อ Homecoming ผู้แต่งคือ Dr. Victor Goh กับ Mrs. Betty Tung (ภริยาหัวหน้าคณะผู้บริหาร ต่งเจี้ยนหัว) ส่วนเนื้อร้อง Mrs. Tung ร่วมแต่งกับ Miss Linda Yung
ขณะร้องมีเนื้อเพลงภาษาจีนและคำแปลภาษาอังกฤษฉายไว้บนจอ ทำให้เราร้องตามได้เหมือนคาราโอเกะ มีการแสดงของเด็กๆ ทั้งที่เป็นการเดินแถว ระบำต่างๆ การเล่นกายกรรม ฉายสไลด์แสดงประวัติศาสตร์และความก้าวหน้าของฮ่องกง
ออกจากที่ประชุม ฝนยังไม่หยุดตก เรากลับบ้านไปรับประทานอาหารกลางวัน ยังรับประทานไม่เสร็จดี (ตามเคย) Professor Dr. Paul Wolfowitz มาถึงตามนัด เลยรีบไปคุยด้วย ท่านผู้นี้เป็น Dean ของ The Paul H. Nitze School of Advanced International Studies, The Johns Hopkins University พอดีได้ทราบว่ามางานเดียวกันเลยนัดคุยกัน Professor ก็มีความเห็นเหมือน Professor Wang Gung Wu เรื่องแนวปฏิบัติของจีนในฮ่องกงว่าจีนจะบริหารอย่างดี คิดว่าคนฮ่องกงจะรับการปกครองของจีนได้ การบริหารของจีนในฮ่องกงนี้สำคัญมาก เพราะว่าเป็นจุดสนใจของชาวโลก ถ้าบริหารได้ดีในฮ่องกง (คิดว่าทำได้ดีแน่) จีนจะสามารถปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกให้ดีขึ้นได้ เท่าที่เป็นในเวลานี้ก็เป็นสิ่งที่นึกไม่ถึงในตอนที่เซ็นสัญญาใน ค.ศ. 1984 แล้ว
(น.241) รูป 181 ไปที่ตึกเซ็นทรัล พลาซา
(น.241) เมื่อถึงเวลา 15.00 น. ไปที่ ตึกเซ็นทรัล พลาซา ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานทันสมัย อยู่ใจกลางย่านธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของฮ่องกง มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัย ตึกนี้มี 78 ชั้น สูง 1,228 ฟุต ถือว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดในเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก (ตอนสร้างเสร็จ ตอนนี้ไม่ทราบว่ายังสูงอยู่ในอันดับเช่นนี้หรือเปล่า) สร้าง ค.ศ. 1992 ใช้เวลาสร้าง 44 เดือน ลักษณะพิเศษที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของตึกนี้คือตอนกลางคืนตั้งแต่ย่ำค่ำไปจนย่ำรุ่ง แสงไฟบริเวณยอดตึก (ชั้น 73 และ 74) จะเปลี่ยนทุกๆ ชั่วโมง โดยการควบคุมของระบบคอมพิวเตอร์
(น.242) รูป 182 ภายในตึกเซ็นทรัล พลาซา
(น.242) เมื่อไปถึง เจ้าของตึกคือ คุณโรเบิร์ต อึ้ง และภริยา ต้อนรับ เขาเป็นนักธุรกิจสิงคโปร์ มีธุรกิจที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์และฮ่องกงคนหนึ่ง เดินชมทิวทัศน์รอบๆ เห็นส่วนของที่ดินที่มาจากการถมทะเล ตึกศูนย์ประชุม Convention Centre ท่าเรือ ตึก Bank of China ซึ่ง I.M. Pei ออกแบบ เป็นคนเดียวกับที่ออกแบบพีระมิดกระจกที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ กรุงปารีส
กลับไปที่ Convention Centre เพื่อร่วมงานเลี้ยงรับรอง ไปกับพี่แอ๊ รัฐมนตรีและภริยา มีแขกมาก ตอนนี้ฮ่องกงเป็นของจีนแล้ว เวลาประกาศจึงใช้แต่ภาษาจีนกลาง และภาษากวางตุ้ง เลิกใช้ภาษาอังกฤษไปเลย เดินไปเดินมาเห็นผู้ชายคนหนึ่งนั่งรถเข็น พอจำได้ว่าเป็นเติ้งปู้ฟาง บุตรของเติ้งเสี่ยวผิง เขาพิการเพราะถูกประทุษร้ายระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม ขณะนี้เขามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้พิการ มีคนฮ่องกงมาอธิบายว่าคนนี้เขาเคยเป็น
(น.242) รูป 183 ตึกต่างๆ มองจากตึกเซ็นทรัล พลาซา
(น. 243) นักกีฬาโอลิมปิกประเภทยิงธนู แต่ประสบอุบัติเหตุพิการ สักประเดี๋ยวมีอีกคนมาบอกว่าเป็นเติ้งปู้ฟางต่างหาก ข้าพเจ้าเลยบอกว่าข้าพเจ้าจะขอพิสูจน์เองดีกว่าแล้วเข้าไปคุยกับเขา เขาก็คุยกับข้าพเจ้าดี สักประเดี๋ยวเขาบอกให้ข้าพเจ้าถ่ายรูปกับเขา สักพักข้าพเจ้านึกออกส่งกล้องของข้าพเจ้าให้พี่แอ๊ช่วยถ่ายให้ ในขณะนั้นคนอื่นเริ่มรู้ว่านี่คือ เติ้งปู้ฟาง ต่างวิ่งเข้ารุมขอถ่ายรูป ยื่นนามบัตรตัวเองให้เติ้งปู้ฟาง ข้าพเจ้าเบียดคนไม่ไหวก็ไปที่อื่น
(น. 243) รูป 184 ถ่ายรูปกับเติ้งปู้ฟาง ในงานเลี้ยงรับรอง
(น. 244) ตอนที่ผู้นำจีนเข้ามาข้าพเจ้าก็ได้แต่ดูไกลๆ เบียดคนไม่ไหวเช่นกัน คนมาในงานมีหลายพวก มีพวกสมาคมจีนหรือสมาคมมิตรภาพประจำประเทศต่างๆ มาจากประเทศทางยุโรปตะวันออกจากแอฟริกาก็มี มีพวกพ่อค้านักธุรกิจ เจอคุณสุชัย ประธานธนาคาร TMI ที่ข้าพเจ้าไปเปิดที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2539) เขาเลยพาไปพบรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศจีนที่ข้าพเจ้าเคยเจอที่เซี่ยงไฮ้และเพื่อนๆ นักธุรกิจจีนของเขาอีกหลายคน ได้ทบทวนภาษาจีนมากพอสมควร รัฐมนตรีแนะนำรัฐมนตรีอาเซียนหลายประเทศที่มาร่วมงานด้วย เลยได้ความว่าระหว่างนี้ไหนๆ ก็มาอยู่กันพร้อมหน้าก็เลยถือโอกาสประชุมรัฐมนตรีของประเทศอาเซียนเสียเลย คนอื่นๆ ที่พบ เช่น นักธุรกิจที่เขาส่งเสริมสมาคมเอเชีย ภริยาอดีตผู้ว่าราชการฮ่องกง Youde (สามีเสียชีวิตแล้ว) กงสุลใหญ่โปแลนด์ประจำฮ่องกง เขาเพิ่งมาได้ไม่นานนัก เขาเคยร่วมเตรียมการเยือนของข้าพเจ้าที่โปแลนด์ รวมทั้งพบ Prof. Woifowitz และ Prof. Wang Gung Wu ด้วย
ข้าพเจ้าเดินวนไปวนมา เจอคนโน้นคนนี้หลายรอบจน 5 ชั่วโมงกว่าจึงกลับบ้าน
ที่บ้านแขกที่นัดมารับประทานอาหารมากันหมดแล้ว มีครอบครัวคุณสุพงศ์ สารสิน รัฐมนตรีประจวบกับภริยา รัฐมนตรีช่วยพิทักษ์กับภริยาและคณะ ดร. อำนวย วีรวรรณกับคุณหญิงและคณะ ดร. อำนวยเอาอาหารมาสมทบด้วย ยังไม่ทันจะรับประทานเสร็จ ใครบอกว่าถึงเวลาจะต้องไปดูการจุดดอกไม้ไฟ ต้องรีบรับประทานอาหารเร็วๆ
Next >>