Please wait...

<< Back

" มุ่งไกลในรอยทราย วันเสาร์ที่ 14 เมษายน 2533 "


(น.182) รูป 117. บนป้อมเจียยู่กวน
Jiayuguan Fort.

(น.183) เสาร์ที่ 14 เมษายน 2533
เมื่อคืนนี้หนาวมาก เห็นว่าปรอทลงไปถึง -3 ซํ. ก่อนจะออกไปข้างนอกนักวาดภาพจีนคนที่วาดภาพที่เป็นของขวัญเมื่อคืนนี้มาพบ เขาบอกว่าเขาก็ไม่เคยวาดภาพเล็ก ๆ แบบนี้ ภาพนี้เขียนจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ คุณเฉิงเล่าถึงโรงงานถลุงเหล็กที่นี่ว่าเป็นโรงงานใหญ่ ผลิตเหล็กได้ปีละแปดแสนตัน เหล็กกล้าห้าแสนตัน เหล็กเส้นสามแสนตัน กลางเมืองมีอนุสาวรีย์กรรมกรถลุงเหล็ก สวัสดิการด้านที่พักและเงินเดือนดีมากกว่าที่อื่น ทุกครอบครัวมีแก๊สใช้ ให้ย้ายไปหลานโจวก็ไม่ค่อยจะยอม คนงานที่โรงงานถลุงเหล็กส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ฉะนั้นเกิดปัญหาครอบครัวคือไม่ค่อยจะมีผู้หญิง รัฐบาลเลยกำลังก่อสร้างโรงงานทอผ้าฝ้ายเพื่อให้มีคนงานหญิง ต้นฝ้ายมีที่ตุนหวง ที่ซินเกียงก็มีมาก โรงงานนี้ยังสร้างไม่เสร็จ อนุสาวรีย์เถิงเฟยหมายถึงเศรษฐกิจรุดหน้าไปไกล ไปถึงด่านเจียยู่กวน ที่ประตูเทียนเซี่ยสยงกวน หมายถึงด่านที่สง่างามที่สุดของโลก คุณเกาฝงซานผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กับลูกน้องอีก 2

(น.184) คนมาต้อนรับ คุณเกาฝงซานอธิบายด้วยเสียงอันดังว่าด่านตะวันตกสุดนี้สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิหงอู่ รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์หมิง ใน ค.ศ. 1372 เป็นด่านที่รักษาไว้ได้ดีที่สุดในราชวงศ์หมิง ด่านมี 3 ส่วน เราเดินผ่านประตูเหล็กซึ่งท่านผู้อำนวยการเกาบอกว่าเป็นประตูเก่าดั้งเดิม เมืองด้านในนี้เป็นที่พักของนายพลผู้บัญชาการ สิ่งที่แปลกอย่างหนึ่งของด่านด้านในนี้ คือ เวลาเอาหินกระทบกันแล้วจะมีเสียงเหมือนเสียงนก เจ้าหน้าที่ของเขาทำแล้วเหมือน แต่ข้าพเจ้าทำไม่เห็นมันจะเหมือนตรงไหน คงจะต้องมีเทคนิคพิเศษที่ต้องฝึกหัด เหตุที่มีเสียงนกร้องเช่นนี้มีเรื่องเล่ากันมาว่า มีนก 2 ตัวอาศัยอยู่ในด่าน ทั้งสองรักใคร่กันมากมักจะออกไปหากินด้วยกัน และกลับด้วยกันเป็นประจำ วันหนึ่งขณะออกไปหากินเกิดมีลมพัดมาแรงมาก นกตัวหนึ่งบินเข้ากำแพงเมืองได้ ส่วนอีกตัวหนึ่งถูกลมพัดจนหลงทาง ครั้นหาทางกลับมาถึงด่านได้ประตูด่านปิดเสียแล้ว จึงบินชนกำแพงด่านตาย ตัวที่อยู่ข้างในมีความอาลัยเพื่อนจึงตรอมใจตายไปด้วยวิญญาณยังคงสิงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ไม่ไปผุดไปเกิด เรียกได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผีน่ากลัวพอสมควร ถึงแม้จะเป็นผีนกก็ตาม ในทางความเป็นจริงอาจเป็นเพราะกำแพงสูงมาก และไม่มีรอยร้าว เสียงภายในตึงสะท้อนคล้าย ๆ กับเสียงนก ปัญหาที่เกิดขึ้นคือนักท่องเที่ยวชอบเอาก้อนหินไปเคาะกำแพงเพื่อจะฟังเสียงนก จนกำแพงเสื่อมคุณภาพ ทางการจึงต้องมีป้ายประกาศติดเอาไว้ว่า ถ้าใครเอาหินไปเคาะกำแพงจะต้องถูกปรับ 5 หยวน เดินขึ้นบนกำแพงซึ่งกว้างพอที่จะขี่ม้าตรวจกำแพงได้ บนกำแพงมีเก๋งกวงฮั่วโหลว สร้าง ค.ศ. 1506 มีหลังคา 3 ชั้น ซ่อมอีกครั้งใน ค.ศ. 1958 คำว่ากวงฮั่วโหลวแปลว่าบุญบารมีของพระมหากษัตริย์แพร่ขยายไปหรือประชาชนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หอนี้ใช้เป็นที่ปรึกษาราชการและเป็นที่ทำพิธีต่าง ๆ ตามกำแพงมีช่องสำหรับยิงธนู


(น.185) รูป 118. แนวกำแพงเมืองจีน
The Great Wall.

(น.185) ท่านผู้อำนวยการอธิบายว่าชื่อเจียยู่กวนแปลว่า น้ำพุ 9 สาย ที่ด่านนี้มีน้ำพุอยู่ และเป็นธรรมดาการตั้งป้อมค่ายจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำที่มากพอใช้ ป้อมนี้มีน้ำพุ เมื่ออยู่ตรงทางเดินบนกำแพงนี้เราจะมองเห็นกำแพงเมืองจีนยาวไปถึงภูเขาฉีเหลียนในด้านใต้ และเขาเฮยซาน กำแพงเมืองจีนทางทิศตะวันตกจะไปสุดที่ภูเขาฉีเหลียน มีป้อมยาม 3 ป้อม ตรงป้อมที่ 3 จะมีแม่น้ำ แต่ก่อนเรียกกันว่าเถ่าไห่เล่อ เป็นภาษา

(น.186) มองโกล แปลว่าภูเขาหิมะ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นเป่ยต้าเหอ ตรงบริเวณด่านนี้เป็นช่องที่แคบที่สุดของฉนวนเหอซี ฉะนั้นจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเมื่อออกนอกด่านไปเป็นทะเลทรายโกบี กำลังยืนดูอยู่ด้านทิศใต้ ข้าพเจ้าพยายามดูแผนที่ด่านเจียยู่กวน ภูเขาฉีเหลียน เขาเฮยซาน เขาทั้งสองห่างจากด่าน 75 กิโลเมตร กำแพงเมืองจีน หอไฟ เขตนอกด่าน ทางรถไฟ แม่น้ำเป่ยต้าเหอ กลับมาพูดถึงกำแพงป้อมอีกครั้ง ก็มีเรื่องเล่าดังนี้ เมื่อนายช่างสร้างด่านได้วางแผนรอบคอบ โดยการคำนวณอย่างถูกต้องว่าจะต้องใช้อิฐกี่ก้อน และได้ส่งอิฐมาสำหรับการก่อสร้างเกินจำนวนที่คำนวณไว้ 1 ก้อน เมื่อสร้างแล้วเหลืออิฐไว้ก้อนหนึ่งตามที่ได้คำนวณไว้จริง จึงวางเอาไว้จนทุกวันนี้ เพื่อระลึกถึงนายช่างผู้วางแผนการใช้วัสดุก่อสร้างอย่างดี ฟังนิทานเรื่องนี้แล้วนึกถึงปราสาทหินต่าง ๆ ที่บ้านเรา เวลาสร้างก็คงจะต้องมีการคำนวณการใช้หินเป็นอย่างดีเช่นกัน ข้าพเจ้าคิดว่าการตัดหินจากภูเขาและลำเลียงมาสถานที่ก่อสร้างคงจะลำบากกว่าการเผาอิฐไปเสียอีก หออีกแห่งหนึ่งภายในด่านชื่อโร่วหย่วนโหลว หมายความว่านโยบายอะลุ้มอล่วยกับทางไกล (นโยบายนิ่มนวลต่อชนที่อยู่ไกล หรืออธิบายได้ว่าใช้พระคุณไปปกครองอันเป็นนโยบายของราชวงศ์หมิง) เราขึ้นไปบนหอเจียยู่กวนมองไปทางทิศใต้เห็นเก๋งหนึ่งอยู่ใกล้ ๆ ภายในเก๋งมีศิลาจารึกสมัยราชวงศ์ชิง ผู้สร้างศิลาจารึกเป็นผู้บัญชาการทหารมณฑลซูโจว (กานซู) ชื่อนายพลหลี่ถิงเฉิง


(น.187) รูป 119. มีเด็กนักเรียนมาเยี่ยมชมด่านเจียยู่กวน
School children touring Jiayuguan Pass.

(น.187) ถามเขาว่าทหารที่ด่านนี้เคยรบจริง ๆ หรือเปล่า ผู้อำนวยการเกาอธิบายว่าทหารราชวงศ์หมิงสมัยรัชกาลจักรพรรดิเจิ้งเต๋อสู้รบกับชนกลุ่มน้อยจากทู่หลู่ฟัน พวกเราเดินสวนกับเด็กนักเรียนกลุ่มใหญ่ มีครูควบคุมมา จึงหยุดถามว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนอะไร ได้ความว่าเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงงานถลุงเหล็กจิ่วฉวน

(น.188) เราจะเดินทางไปดูป้องไฟปลายสุดของกำแพงเมืองจีนในช่วงนี้ คุณเฉิงบอกว่าแถวนี้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงมีโรงงานถลุงเหล็กได้ เพราะโรงงานชนิดนี้ต้องใช้น้ำมาก รถข้ามทางรถไฟ (หมอนรถไฟเป็นซีเมนต์) ผ่านป้อมไฟป้อมหนึ่งไปทางเชิงเขาฉีเหลียน เห็นยอดที่เป็นหิมะอยู่ลิบ ๆ ไปหยุดบริเวณใกล้ป้อมไฟป้อมสุดท้าย รถไปจอดอยู่ใกล้ ๆ กับหน้าผา พอใครจะเดินไปใกล้หน้าผาเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ทุกคนร้องห้ามไม่ให้เข้าใกล้ ให้ถอยออกมาประมาณ 3 เมตร บอกว่าพื้นที่เป็นทราย อาจจะรับน้ำหนักคนไม่ได้ อันตรายมากมองไปเป็นผาสูง ข้างล่างเป็นแม่น้ำ ถึงตอนนี้ข้าพเจ้าแย่มาก แทนที่จะสนใจโบราณคดี เส้นทางสายแพรไหมกลับเปลี่ยนความสนใจไปที่ทะเลทรายโกบีที่ได้เห็นชัด ๆ ได้สัมผัสด้วยตัวเอง หลังจากได้ทราบแต่จากคำอธิบายในหนังสือเรียน ทะเลทรายไม่เห็นจะเป็นทรายอย่างที่เราคิด มีแต่กรวดหิน ได้เก็บหินทะเลทรายมาเป็นที่ระลึกหลายก้อน (ไม่ได้สงวน) แถมยังวิ่งไล่ถ่ายรูปจิ้งจกและแมงมุมทะเลทราย ผู้อธิบายจึงหันไปอธิบายพืชสองชนิดคือหนามอูฐและหญ้าอูฐทั้ง 2 ชนิดเป็นอาหารของอูฐที่เดินทางในทะเลทราย อย่างแรกแข็งมากและมีหนามแหลมคอยแทงเท้าเรา ไม่น่ากินเลย ส่วนอย่างหลังค่อยยังชั่วกว่าหน่อย ได้ความว่าเป็นยาจีนแก้ร้อนใน พืชเหล่านี้ทนแล้งมาก แม้ไม่มีน้ำก็อยู่ได้ เมื่อกลับกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าได้นำตัวอย่างหินเหล่านี้ส่งไปกรมทรัพยากรธรณีให้ช่วยตรวจสอบวิเคราะห์ ได้ผลที่น่าสนใจมาก จึงนำรายละเอียดไว้ในภาคผนวกของหนังสือให้ท่านผู้อ่านที่สนใจเหมือนกันได้ดูด้วย ขอขอบคุณ


(น.189) รูป 120. เมื่อไปถึงทะเลทรายโกบี ข้าพเจ้าอยากจะเป็นนักสำรวจ ให้คุณเสริมถ่ายภาพจิ้งจกทะเลทราย และพืชต่าง ๆ ในทะเลทรายโกบี
I have always wished to be an explorer so upon arrival at the Gobi Desert, I asked Police General Serm to take picture of desert lizards and the vegetation of the Gobi


รูป 121. ภาพที่ถ่ายออกมาได้
The results.


รูป 122. ภาพที่ถ่ายออกมาได้
The results.


(น.190) รูป 123. นักสำรวจทะเลทราย
Desert explorer.

(น.190) กรมทรัพยากรธรณีมา ณ โอกาสนี้ เวลาไปไหน ๆ เมื่อเห็นหินแปลก ๆ ชอบเก็บมา กะไว้ว่าจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ไว้ที่โรงเรียนจิตรลดา กลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรม ขากลับข้าพเจ้าลองเขียนแผนที่เส้นทางขากลับไปพลาง โต๊ะอาหารวันนี้ทำด้วยเครื่องรัก เจ้าหน้าที่เดินโต๊ะบอกว่าผู้จัดการให้บอกด้วยว่าโต๊ะนี้เพิ่งซื้อมาจากเมืองเทียนสุ่ย เพื่อมาต้อนรับข้าพเจ้าโดยเฉพาะ เพิ่งส่งมาถึงเมื่อวานนี้เอง เลยไม่ครบชุด ยังขาดเก้าอี้อยู่ ผู้จัดการไปเห็นโต๊ะที่โรงแรมที่เทียนสินสั่งไว้ เห็นสวยดีเลยสั่งมาบ้าง ที่โรงแรมนี้มีนายช่างแกะตรา เขามีตราอยู่แล้ว ถ้าใครจะเอาก็มาเซ็นชื่อ เป็นภาษาไทยก็ได้ เขียนอะไรก็ได้ เขาจะแกะให้เหมือน นายช่าง


(น.191) รูป 124. นักสำรวจทะเลทราย
Desert explorer.

(น.192) ให้ข้าพเจ้าเลือกตรา ก็เลือกได้ตรารูปเต่า เซ็นชื่อใส่กระดาษไว้ เขาเอากระจกส่ง (เพราะการแกะตราต้องกลับซ้ายขวา) ใช้สิ่วเล็ก ๆ แคะ ไม่นานนักก็เสร็จ ตอนบ่ายเราไปสุสานสมัยราชวงศ์เว่ยและจิ้น ซึ่งอยู่ในเขตตำบลซินเฉิงอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ห่างไป 20 กิโลเมตร สองข้างทางเห็นแต่กรวดทรายเต็มไปหมด ข้ามคลองที่ส่งน้ำจากฉีเหลียน คุณเฉิงชี้ให้ดูต้นไม้ที่ขึ้นในทะเลทราย คือต้นหลิวแดง เป็นต้นไม้ที่สถาบันวิจัยทะเลทรายศึกษาวิจัยว่าเหมาะสมที่จะปลูก จะช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้นได้ ที่อำเภอหมิงมีสวนพฤกษชาติที่รวบรวมพันธุ์ไม้ทะเลทราย ผู้อำนวยการเกา (เจ้าเก่า) มาต้อนรับ อธิบายว่าเป็นสุสานของราชวงศ์เว่ย ถึงตอนนี้ก็เริ่มมีปัญหา เพราะราชวงศ์ที่ใช้ชื่อว่าเว่ยมีหลายราชวงศ์ ได้แก่
1. ราชวงศ์เว่ย ก๊กของโจโฉ ในสมัยสามก๊ก ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ลั่วหยาง ค.ศ. 220 – 265
2. ราชวงศ์เว่ยภาคเหนือ หรือโทป้าเว่ย ค.ศ. 386 - 534
3. ราชวงศ์เว่ยตะวันออก ค.ศ. 534 – 550
4. ราชวงศ์เว่ยตะวันตก ค.ศ. 535 – 557
แต่แรกคิดว่าเป็นพวกโจโฉ แต่ผู้อำนวยการเกาบอกว่าไม่ใช่แน่ ๆ เป็นเว่ยสมัยหนานเป่ยเฉา (ราชวงศ์ใต้และราชวงศ์เหนือ สมัยแห่งการแตกแยกทางการเมือง) หมายเลข 2 – 4 ที่ข้าพเจ้าเขียนข้างต้นล้วนเป็นหนานเป่ยเฉาทั้งสิ้น แต่ข้าพเจ้าขอสรุปเอาเองว่าคงจะเป็นหมายเลข 2 เนื่องจากเป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าเสียนเป่ย (มองโกล) ที่ปรับตัวตามวัฒนธรรมจีนมากที่สุด มีอำนาจเป็นปึกแผ่นอยู่นานที่สุด (ภายหลังรับพุทธศาสนา)

Next >>