Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2545 "


(น.27) รูป

(น.27) ถัดไปเป็นศาลาหลิวเป้ย์ถิง พื้นศาลาทำเป็นร่องเขียนตัวหนังสือจีน อ่านว่า ถิง แต่เขียนหวัดดูเหมือนแม่น้ำคดเคี้ยว ศาลานี้เป็นที่ชุมนุมของนักปราชญ์และกวี มีน้ำในร่องเอาจอกลอย ถ้าจอกไปติดอยู่ตรงหน้าใครคนนั้นต้องต่อกลอน ถ้าต่อไม่ได้ต้องดื่มสุราจอกหนึ่ง


(น.28) รูป

(น.28) ทางเข้าฝ่ายในมีประตู แกะสลักรูปดอกไม้ห้อยลง โดยปกติผู้ชายไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประตูนี้ เจ้าของบ้านฝ่ายหญิงมักเป็นผู้ยืนส่งแขกที่ประตูนี้ ไม่ออกไป คนอธิบายว่าเป็นศิลปะชั้นสูง จักรพรรดิเท่านั้นที่สร้างได้ ขุนนางเหอเซินถูกประหารเพราะทำตนเทียมพระจักรพรรดิ อันที่จริงคงมีสาเหตุอื่นด้วย เข้าไปเป็นกลุ่มอาคาร ตำหนักใน เรือนด้านขวาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติเจ้าของบ้าน และวังคือ เสนาบดีเหอเซิน และเจ้าชายอี้ซิน (กงชิงหวัง)

(น.29) ดูนิทรรศการที่แสดงในอาคาร มีเอกสารลายมือเหอเซิน ว่ากันว่าเขาเป็นคนที่เก่งมาก เป็นมหาบัณฑิต นอกจากภาษาจีนแล้วยังมีความรู้ภาษามองโกล ภาษาแมนจู และภาษาทิเบต เป็นชายรูปงาม ความจำดี จำบทกวีพระราชนิพนธ์จักรพรรดิเฉียนหลงได้ทุกบท ไม่เพียงเท่านั้นยังท่องกลับจากหลังไปหน้าได้ พระราชหัตถเลขาจักรพรรดิเต้ากวง มอบหมายให้กงชิงหวังดูแลแผ่นดิน มีรูปกงชิงหวังเมื่อเป็นเสนาบดีต่างประเทศคนแรกของจีน ลายมือหงซิ่วฉวน (หัวหน้ากบฏไท่ผิง) ตั้งตนเองเป็นเทียนหวัง (ไท่ผิงเทียนกั๋ว) สนธิสัญญาเทียนสินสมัยจักรพรรดิเสียนเฟิง


(น.29) รูป


(น.30) รูป

(น.31) ภาพตำหนักใหญ่ พระราชวังหยวนหมิงหยวนก่อนถูกพันธมิตรตะวันตก 8 ประเทศทำลาย เป็นวังที่งดงามมาก ลายพระหัตถ์พระนางซูสีไทเฮา บัญชีส่งของพระราชทานที่พระนางซูสีได้รับตอนเข้าวัง (ขณะนั้นยังไม่เป็นใหญ่) เป็นของมีค่า เช่น รูปพระอรหันต์ทำด้วยทับทิม แหวนทอง รูปถ่ายเด็กหญิงที่รอคัดเลือกไปรับราชการฝ่ายใน เป็นเด็กเล็กๆ อายุราว 5-6 ปีเท่านั้น บัญชีผู้สอบรับราชการได้ที่ 1 และที่ 2 เอกสารขอก่อตั้งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หนังสือกราบบังคมทูลจักรพรรดิถงจื้อ ในหนังสือมีลายพระหัตถ์ด้วยหมึกสีแดง มีข้อความต่างๆ เช่น เห็นด้วย ให้ดูเอกสารอื่นคือ มีคำสั่งอยู่ที่อื่นแล้ว ทราบแล้ว เป็นต้น รายงานเรื่องพระราชวังหยวนหมิงหยวนถูกทำลาย จักรพรรดิเสียนเฟิงกริ้วมาก สั่งให้ปลดข้าราชการที่รับผิดชอบ (เขียนยาวและลายพระหัตถ์หวัดกว่าฉบับอื่น) ไปที่โรงงิ้ว ข้างในเขียนลายดอกวิสทีเรีย (สีม่วง) ตามเสาและเพดานเพื่อให้มีบรรยากาศเหมือนอยู่ในสวนซึ่งมีดอกไม้ชนิดเดียวกัน เสาด้านนอกทาสีเขียว สีแดงสงวนไว้เฉพาะสำหรับจักรพรรดิ ระหว่าง ค.ศ. 1920-1930 ถือว่าเป็นโรงงิ้วที่ดีที่สุดในกรุงปักกิ่ง ขณะนี้จัดการแสดงทุกวัน วันนี้มีกายกรรมตีลังกา โยนโอ่ง ผู้หญิงนอนหงายท้องเตะโต๊ะ ผู้หญิงอีกคนตีกลอง แล้วร้องเพลงละครทีวี เล่าประวัติกรุงปักกิ่งตอนญี่ปุ่นยึดครอง คนปักกิ่งสมัยนั้นบางคนขายชาติ บางคนรักชาติ การร้องเพลงตีกลองแบบนี้ เป็นศิลปะการแสดงของปักกิ่ง มีผู้หญิงเล่นกล อีกคนใช้เท้าหมุนร่ม 5 คัน หมุนผ้า 4 ผืน ผู้ชายขี่รถจักรยานล้อเดียวสูงๆ ใช้เท้ากระดกชามขึ้นไปบนศีรษะ ตัวตลกแสดงศิลปะเสฉวนคือ เปลี่ยนหน้ากากว่องไวจนดูไม่ทันว่าเปลี่ยนเมื่อไร

(น.32) ออกมาดูตำหนักลายไม้ไผ่ เรียกอย่างนี้เพราะเขาเขียนฝาผนังและส่วนต่างๆ ของอาคารเป็นรูปไม้ไผ่สีเขียวและเหลือง อาคารมีรูปร่างเหมือนค้างคาวห้อยหัว มีชื่อว่า ตำหนักค้างคาว (ฝูเตี้ยน 蝠殿) ค้างคาวห้อยหัวเป็นสัญลักษณ์ว่า โชคดีมาถึง มีถ้ำ ข้างในมีลายพระหัตถ์จักรพรรดิคังซี เขียนตัว ฝู 福(ภาษาแต้จิ๋วว่า ฮก)


(น.32) รูป


(น.33) รูป

(น.33) ด้านนอกเป็นศาลาชมวิวทิวทัศน์ ทำประตูเป็นรูปกำแพงเมืองจีนจำลอง แสดงความคิดถึงถิ่นฐานเดิม ศาลาหลังนี้เป็นรูปกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม หมายถึง สวรรค์รูปกลมมาบรรจบกับโลกมนุษย์ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยม ดูได้แค่นี้ถึงเวลากลับ ผู้อำนวยการโฆษณาว่าควรมาชมอีกครั้งเมื่อซ่อมวังเสร็จ วังน่าสนใจ หน้าต่างแต่ละช่อง 108 ช่อง รูปร่างไม่เหมือนกันเลย


(น.34) รูป

(น.34) กลับอาคาร 10 ป้าจันและอึ่งกลับมาแล้ว ซื้อได้ของครบทุกอย่างที่ต้องการ ตอนเย็นไปมหาศาลาประชาชน เนื่องจากวันนี้มีแขกที่เจรจายังไม่เสร็จจึงรออยู่ในห้องอานฮุยครู่หนี่ง แล้วท่านหลี่เผิงกับภริยาเลี้ยงอาหารที่ห้องฮ่องกง ท่านหลี่เผิงและภริยาเพิ่งไปเมืองไทยเมื่อเดิอนที่แล้ว เมื่อสนทนากันครู่หนึ่งท่านให้ของขวัญเป็นรูปถ่ายดอกโบตั๋น 2 ดอก ซึ่งมาดามถ่ายเอง ทำเป็นปฏิทิน ค.ศ. 2003 รูปที่ข้าพเจ้าถ่ายกับมาดามที่ศิลปาชีพ ภาพประดับหินสีเป็นลูกเจี๊ยบ 2 ตัวกับพวงองุ่น





(น.35) รูป

(น.35) รับประทานอาหารอร่อยทั้งนั้นนอกจากที่มีในเมนูแล้ว ยังมีของพิเศษอีกหลายอย่าง เช่น เป็ดปักกิ่ง คราวที่ท่านหลี่เผิงไปเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่หัวหิน ตอนค่ำข้าพเจ้าเลี้ยงเป็ดปักกิ่ง แต่ท่านวิจารณ์ว่า มีเป็ดน้อย แตงกวามาก คราวนี้ท่านเลยเลี้ยงเป็ดเต็มที่ มีดนตรีพื้นเมืองระหว่างอาหาร ประมาณทุ่มครึ่งรับประทานเสร็จ กลับอาคาร 10