Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2545 "


(น.187) รูป

(น.187) เรือที่ใช้สมัยนั้นบางลำใช้ใบเป็นไม้ไผ่สาน มีแผนที่แสดงที่ตั้งของเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาโบราณ มีเครื่องปั้นดินเผาโบราณ มีเครื่องปั้นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น แอฟริกา เครื่องปั้นดินเผาหรือพวกเครื่องเคลือบที่เป็นสินค้าส่งออก มักจะพบได้ตามเรือที่อับปางอยู่ตามเส้นทางการค้า เช่น ที่สิงคโปร์ พบเรือจีนจากเฉวียนโจว (เป็นโครงการที่ UNESCO สนับสนุน) นิทรรศการเกี่ยวกับโจรสลัดญี่ปุ่นสมัยราชวงศ์หมิงที่เฉวียนโจวมีศิลาจารึกที่บันทึกเรื่องนี้ไว้ เรื่องชาวต่างประเทศในเฉวียนโจว เจ้าชายจากศรีลังกามาอยู่เฉวียนโจว ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 พระศพของเจ้าชายอยู่ที่สุสานเทียนซีหลาน (เข้าใจว่าคำว่า ซีหลาน อาจจะมาจากคำศรีลังกา-ซีลอน) ลูกหลานของเจ้าชายใช้แซ่ ซือ (Shi 施) คงจะมาจากคำว่า ศรี ภรรยาเป็นคนแซ่ ผู เป็นลูกหลานคนอาหรับ ชาวจีนไปต่างประเทศมากในคริสต์ศตวรรษที่ 16-20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางคนไปอยู่เลย บางคนไปแล้วกลับมานำข้าวของต่างๆ มามาก เช่น หยกขาวจากพม่า แผนที่เกาะริวกิว จีนเรียก หลิวฉิว เรือมังกรในริวกิว ป้ายกันผี มีหลายชนิด (เรื่องนี้ข้าพเจ้าดูแล้วไม่เข้าใจ แต่ไม่มีโอกาสถาม)


(น.188) รูป

(น.188) การเดินเรือเป็นการเผยแพร่กระจายความเชื่อเรื่องเทพหมาจู่ มีงานค้นคว้าวิจัยทำแผนที่ สถานที่ที่มีความเชื่อเช่นนี้ในจีน ข้าพเจ้าสงสัยว่าสถานที่ที่ไม่ติดทะเลทำไมมีเรื่องเทพหมาจู่ คนอธิบายบอกว่าเมื่อความเชื่อแพร่กระจายความหมายก็เลือนไป ไม่ได้เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน ขอความคุ้มครองให้ปลอดภัยในการเดินเรือ กลายเป็นขออะไรก็ได้ เช่น ขอให้การค้าเจริญ ขอให้ได้ลูกชาย ขอให้ได้เลื่อนยศตำแหน่ง เรื่องเจิ้งเฉิงกง และการขยายอำนาจของดัตช์ มีรูปเรือที่ใช้ในแม่น้ำฉังเจียง รูปแสดงวิธีการต่อเรือ เดินผ่านร้านขายของของพิพิธภัณฑ์

(น.189) ห้องที่ 2 นำเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับเรื่องชาวต่างประเทศที่อยู่ที่เมืองเฉวียนโจว เช่น ชาวอาหรับ ชาวเปอร์เซีย ชาวอินเดีย ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบศิลาจารึกสุสานชาวต่างประเทศในเฉวียนโจว สมัยนี้มีชาวต่างประเทศประมาณ 200,000-300,00 คน ทางพิพิธภัณฑ์กำลังเตรียมจัดนิทรรศการพิเศษเรื่อง วัฒนธรรมอิสลาม ในเฉวียนโจวมีสุเหร่าอาหรับถึง 7 แห่ง มีชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลามหลายชาติ เช่น เยเมน ตุรกี อาร์มีเนีย อิหร่าน ชาวจีนเรียกคนต่างชาติเหล่านี้ว่า ฟานเค่อ เป็นคนร่ำรวยในสังคม บางคนแต่งงานในหมู่ของตนเอง บางคนก็แต่งงานกับชาวจีน เมื่อมาตั้งถิ่นฐานแล้ว ส่วนใหญ่จะสร้างโรงเรียนให้บุตรหลานของตนเข้าศึกษา นอกจากค้าขายทำธุรกิจแล้ว ชาวต่างชาติหรือบุตรหลานของชาวต่างชาติบางคนยังเข้ารับราชการ เช่น มีนายอำเภออาหรับ ไม่ทราบว่าเป็นนายอำเภอชนิดที่ปกครองบ้านเมืองโดยทั่วๆ ไป หรือสำหรับดูแลเฉพาะพวกอาหรับด้วยกัน เหมือนที่ไทยเรามีนายอำเภอจีน อีกตำแหน่งหนึ่งคือ ตำแหน่งที่จีนเรียกว่า โสวหลิ่ง สมัยนั้นแปลว่า ผู้ฝึกทหาร อาจจะนำวิธีการทหารจากต่างประเทศมาสอนที่จีน (นี่เป็นการเดา)

(น.190) ศิลาจารึกหรือหินจารึกที่สุสานด้านหนึ่งเขียนเป็นภาษาจีน อีกด้านหนึ่งเขียนเป็นภาษาอาหรับ ในเฉวียนโจวมีสุสานมุสลิมอยู่มาก ศาสนาคริสต์ มีหลักฐานว่าแพร่เข้ามาในจีนตั้งแต่ราชวงศ์หยวน มีจารึกที่เขียนเป็นภาษาตุรกีโบราณที่ใช้ในซีเรียโบราณ ยังไม่มีคนอ่านได้เพราะตัวอักษรเลือนมาก หินหลุมศพมีรูปไม้กางเขนของศาสนาคริสต์นิกายฟรานซิสกัน เป็นนิกายหนึ่งของคาทอลิก นักบวชชาวอิตาลีชื่อ ฟรานซิส แห่งเมืองอัสซีซิ (Assisi) เป็นผู้ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1209 แพร่เข้ามาในจีนที่เมืองปักกิ่งและเฉวียนโจวเมื่อ ค.ศ. 1294 แล้วหยุดชะงักไปพักหนึ่ง จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในสมัยราชวงศ์ชิง ศาสนาคริสต์จึงแพร่เข้ามาในจีนอีกครั้งหนึ่งหลายนิกายทั้งคาทอลิก โปรเตสแตนต์ และออร์โธดอกซ์ นอกจากนั้นนำเสนอเรื่องลัทธิเนสตอเรียน ซึ่งเป็นนิกายเล็กๆ นิกายหนึ่งของศาสนาคริสต์ ไม่ได้รับการยอมรับ ถูกตัดสินว่าเป็นพวกนอกรีตเมื่อ ค.ศ. 1431 พวกเนสตอเรียนไม่ยอมรับเคาน์ซิลออฟเอเฟซุส และสอนว่าพระเยซูเป็นมนุษย์ปุถุชน (ไม่ได้เป็นพระผู้เป็นเจ้า) ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถูกขับไล่ออกจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล มาอยู่แถวซีเรีย เมโสโปเตเมียปัจจุบันยังมีอยู่ในเคอร์กิซสถาน ลัทธิเนสตอเรียนแพร่เข้ามาในจีนตามเส้นทางแพรไหมสมัยราชวงศ์ถัง ภาษาจีนเรียกว่า จิ่งเจี้ยว ข้าวของในลัทธิเนสตอเรียนที่นำมาจัดแสดงมีจารึกเป็นภาษามองโกลซึ่งจารึกอยู่กำแพง ภาพสลักเทวดาบินถืออะไรก็ไม่ทราบ อีกรูปเป็นเทวดาถือไม้กางเขน ในเฉวียนโจว ศาสนาพุทธกับเต๋านับถือแบบปนๆ กัน ภาพวัดแบบอินเดีย เป็นวัดที่สร้างด้วยหิน มักจะสลักลวดลายอย่างสวยงาม มีหิน Beryl และหินทรายสีเขียว เป็นวัดฮินดูไศวนิกาย วัดฮินดูถูกทหารเปอร์เซียและมองโกลทำลายในคริสต์ศตวรรษที่ 14 มีจารึกภาษาทมิฬ ค.ศ. 1281 มีรูปพระศิวะ ศิวลึงค์ ปัจจุบันไม่มีลูกหลานที่สืบเชื้อสายจากพวกฮินดูเหล่านี้อยู่เลย

(น.191) ลำดับต่อไปแสดงเรื่องราวของศาสนามานีเคียน ศาสดาชื่อ มานิ (ค.ศ. 216-276) ชาวเปอร์เซีย เป็นผู้ตั้งศาสนานี้ ที่ผสานแนวคิดความเชื่อทั้งจากศาสนาคริสต์ และลัทธิโซโรอาสเตอร์ ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 3 ศาสนามานีเคียนมีผู้นับถือและสานุศิษย์อยู่มาก เผยแพร่เข้ามาในเอเชียและรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 หมดอำนาจในดินแดนตะวันตก และแอฟริกาเหนือ ส่วนทางตะวันออกเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 และรวมความเชื่อศาสนาอื่นเข้ามาด้วย มีอิทธิพลต่อศาสนาคริสต์นิกายนอกรีตทั้งหลาย ปัจจุบันยังมีศาสนานี้อยู่ในเอเชียกลาง ศาสนามานีเคียนเชื่อว่าความสว่างจะชำระขจัดสิ่งที่ไม่ดีทั้งปวง จักรวาลนี้ควบคุมโดยอำนาจ 2 อย่างที่ขัดกันคือ ความดี-ความชั่ว ในตอนนี้อยู่รวมกัน แต่ในอนาคตจะแยกออกจากกัน ความดีจะไปสู่โลกแห่งความดี ความชั่วก็จะแยกไปอยู่ในโลกแห่งความชั่ว ศาสนามานีเคียนแพร่เข้ามาในจีนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 6-7 จากเปอร์เซียเข้ามาทางเมืองซีอานในสมัยราชวงศ์ถัง เรียกกันว่า หมอหนีเจี้ยว แต่ถูกต่อต้านว่าเป็นพวกมาร เนื่องจากศาสนามานีเคียนนับถือแสงสว่าง พวกที่นับถือศาสนานี้ในจีนจึงเรียกนิกายของพวกตนว่า หมิงเจี้ยว (ภาษาแต้จิ๋วว่า เม้งก่า) ใน ค.ศ. 845 ถูกปราบจึงหนีไปอยู่ทางตะวันตกแถวซินเจียง มีบางตำรากล่าวว่าในราวคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 พวกหมิงเจี้ยวเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธนิกายสัทธรรมปุณฑริก (ไป่เหลียนเจี้ยว หรือนิกายดอกบัวขาว) นิกายนี้มีอิทธิพลต่อสมาคมลับในภาคเหนือของจีน ซึ่งสมาคมที่ใหญ่ที่สุดมีชื่อว่า “สมาคมดอกบัวขาว” มีอิทธิพลในหมู่ชาวนา และเป็นองค์กรนำในการก่อกบฏชาวนาในภาคเหนือสมัยราชวงศ์ชิง ในประเทศจีนตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็ไม่ปรากฏหลักฐานของพวกหมิงเจี้ยว (มานีเคียน) วัดที่เฉวียนโจวมีศิลาจารึกของหมิงเจี้ยว และมีหม้ออยู่ใบหนึ่ง


(น.192) รูป

(น.192) ขึ้นไปชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์เรือจีน จัดแสดงตั้งแต่เรือสมัยหินใหม่ที่ขุดพบในสุสาน แสดงความแตกต่างของเรือที่เรียกว่า โจว กับที่เรียกว่า ฉวน แสดงแผนที่บริเวณที่ขุดพบเรือโบราณ เรือทิเบตชนิดที่ใช้หนังจามรีขึง (หนังยังมีขน) เรือไม้ขุด แพหนังแพะชนิดที่ข้าพเจ้าเห็นเขาใช้กันในหนิงเซี่ยพิพิธภัณฑ์ซื้อจากเมืองหลานโจว เป็นแพที่ใช้ทั่วไปในแถบแม่น้ำหวงเหอ เรือที่ใช้กันที่เมืองเซ่าซิง (มณฑลเจ้อเจียง) เรือสำราญของจักรพรรดิสุยหยังตี้ เป็นเรือพระที่นั่ง ใช้คนลาก 80,000 คน เพราะทั้งขบวนเสด็จมีเรือ 2,000 กว่าลำ มีเรือของจักรพรรดิที่ใช้สาวอายุ 15 ปี ประมาณ 200-300 คนลากเรือเดินทะเล




(น.193) รูป

(น.194) ของที่ประกอบนิทรรศการมีเสื้อผ้าชาวเรือ แผนที่เส้นทางเดินเรือตามแม่น้ำ เพลงชาวเรือ วิดีโอเทปถ่ายการลากเรือที่โตรกซานเสีย (Three Gorges แม่น้ำฉังเจียง) แผนที่ฝั่งทะเล Diorama แสดงการต่อเรือ ประกอบกับรูปถ่ายการต่อเรือ รูปเรือที่อับปางสมัยราชวงศ์ชิง เรือคณะทูตจีนที่ไปเกาหลีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 Diorama ขนาดใหญ่ แสดงขบวนเรือของเจิ้งเหอที่ไปต่างประเทศ มี Chart เดินเรือ จำนวนเรือที่เดินทางมี 200-300 กว่าลำ ลูกเรือ 27,000 กว่าคน เรื่องของเจิ้งเหอไปปรากฏหลักฐานในหลายประเทศ เช่น ซำปอกงในประเทศไทย เจิ้งเหอและคณะเดินทางสำรวจทางทะเลทั้งหมด 7 ครั้ง ภาพสงครามทางทะเลของเจิ้งเฉิงกง ภาพหมู่บ้านชายทะเลของฮกเกี้ยนที่ฮุ่ยอาน ที่นี่พวกผู้หญิงเข้มแข็งทรหด และขยัน เลื่อยไม้ต่อเรือได้ ยังดูไม่ทันจะทั่วดีก็ถึงเวลากลับแล้ว เราเดินทางอีกประมาณชั่วโมงถึงสนามบินเซี่ยเหมิน พวกคณะต้อนรับของเมืองเซี่ยเหมินและมณฑลฮกเกี้ยนมาส่งเราเดินทางไปเกาะไหหลำ (เมืองไหโข่ว) ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า แต่ต้องหยุดกลางทางเพื่อเติมน้ำมันที่เมืองจูไห่ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของจูไห่ และนายสถานีท่าอากาศยานมารับ เขาเล่าว่าที่จูไห่มีเกาะถึง 140 เกาะที่การปกครองขึ้นกับเทศบาล (จู่ไห่) มีแม่น้ำจูเจียงกั้น ที่จูไห่เจริญก้าวหน้าด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิส์ ยา อาหาร เครื่องมือ สภาพของเมืองสวยงามบรรยากาศดี จึงมีนักท่องเที่ยวมาก ตามสถิติเป็นอันดับที่ 5 คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น และจูไห่ ที่เขาภูมิใจคือ เมืองอื่นๆ เป็นเมืองใหญ่แต่จูไห่เป็นเมืองเล็กยังแข่งขันกับเขาได้ มีรายได้ทั้งจากการท่องเที่ยวและรายได้อื่นๆ เมื่อ ค.ศ. 1997 ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมจากสหประชาชาติ เพราะปรับปรุงสภาพเมืองได้ดีมาก

(น.195) ตั้งแต่มาเก๊าคืนสู่จีนแล้ว การท่องเที่ยวในมาเก๊ามากขึ้น นักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้แวะมาจูไห่ด้วย การไปมาหาสู่ระหว่างมาเก๊ากับจูไห่สะดวกขึ้น คนจากมาเก๊ามาซื้อของที่จูไห่ เพราะข้าวของที่จูไห่ผลิตเอง ราคาจึงถูกกว่า มีการเลี้ยงสัตว์ทะเลมาก สินค้าอุปโภคบริโภคของจูไห่มีอยู่มาก แรงงานของจูไห่ถูกกว่าแรงงานที่มาเก๊า อาหารที่มาเก๊าบางอย่าง เช่น เนื้อ ปลา ผัก ส่งมาจากจูไห่ ดอกไม้จากจูไห่ส่งไปขายที่มาเก๊า น้ำจืดที่ใช้ในมาเก๊าส่วนหนึ่งก็มาจากจูไห่ด้วย ที่จูไห่พัฒนาอุตสาหกรรมประเภทไฮเทคและไอทีได้ดี เพราะมีฐานในการค้นคว้าวิจัยจึงปรับปรุงอุตสาหกรรมสาขานี้ ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 16 แห่ง มหาวิทยาลัยอื่นในจีนมาเปิดวิทยาเขตที่จูไห่ เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชิงหัว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปักกิ่ง ครุศาสตร์ ปักกิ่ง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาร์บิน มหาวิทยาลัยจงซาน เป็นต้น พัฒนาท่าเรือได้เป็นอย่างดี อยากเชิญคนไทยมาลงทุน และท่องเที่ยวพักผ่อน เข้าห้องน้ำแล้วขึ้นเครื่องบินเดินทางต่อไปไหโข่วในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) มาถึงสนามบินเมืองไหโข่ว มณฑลไหหลำ มืดแล้ว มีคณะของคุณวันชัย จิราธิวัฒน์ และคุณทรงศักดิ์ เอาฬาร จากสมาคมไหหลำไทยมารับ นั่งรถมาที่โรงแรม Mandarin ผู้จัดการมาจากสิงคโปร์ รับประทานข้าวมันไก่ตอน