Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2545 "


(น.214) รูป

(น.214) สมัยจักรพรรดิว่านลี่กลับตั้งไห่รุ่ยอีก ให้ไปทำราชการที่หนานจิง (นานกิง) เขาตายใน ค.ศ. 1587 เมื่อเขาตายแล้ว เตรียมการนำศพไปฝังที่บ้านเกิด ยังไม่ทันถึง เชือกมัดหีบมาขาดที่นี่ จึงเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่ไห่รุ่ยเลือกไว้ทำสุสาน มีจารึกเล่าประวัติว่า จักรพรรดิว่านลี่ซึ่งเป็นลูกศิษย์โปรดปรานไห่รุ่ยมาก ทำหีบศพพระราชทาน และเล่าเรื่องคนที่มาเคารพศพ ว่าพวกแรกเป็นพวกมาจากปักกิ่ง พวกที่สองเป็นพวกเพื่อนร่วมงานที่หนานจิ ง พวกที่ 3 เป็นพวกคนบ้านเดียวกัน พวกที่ 4 เป็นพวกลูกศิษย์และลูกน้อง คนกลุ่มที่ 4 นี้เป็นพวกมาช่วยคุมงานสร้างสุสาน มาช่วยทำพิธีโดยสร้างบ้านอยู่ตรงนี้ และไว้ทุกข์เป็นเวลา 3 ปี เหมือนกับเป็นลูก ไห่รุ่ยไม่มีลูก

(น.215) มีจารึกทั้งใหม่และเก่าที่มีคนเขียนให้ ส่วนใหญ่เป็นข้อความสรรเสริญความสุจริต ยุติธรรม ที่สำคัญคือแผ่นเก่าที่ว่า เย่วตงเจิ้งฉี่ คำว่า “เย่วตง” สื่อความถึงกวางตุ้งตะวันออก “เจิ้งฉี่” หมายถึง จิตวิญญาณที่มั่นในธรรมะ รวมความแล้วแปลว่า “จิตวิญญาณแห่งธรรมะของกวางตุ้งตะวันออก มีความเป็นธรรม คิดดี ทำดี” สุสานทั่วไปหันทางทิศเหนือ แต่ของไห่รุ่ยหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือ ทิศของนครเมกกะ เพราะไห่รุ่ยเป็นคนอิสลาม ที่หมายต่อไปคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือเขตการค้าเสรีไหโข่ว (Haikou National Hitech Industrial Development Zone)


(น.215) รูป


(น.216) รูป

(น.216) เมื่อไปถึงผู้อำนายการบรรยายสรุปโครงการว่า โครงการนี้เริ่มสร้างเมื่อ ค.ศ. 1991 เพื่อส่งเสริมการค้าเสรีระหว่างประเทศ ได้เงินลงทุนจากการทำการค้าระหว่างประเทศ และได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง เดิมแถบนี้ไม่มีสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ จึงพัฒนาได้ง่าย (ค่าเวนคืนไม่แพง) มีเนื้อที่ราว 10 ตารางกิโลเมตรไปตามแนวถนน เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ทางใต้สุดของจีน มีสภาพแวดล้อมดีและมีขนาดใหญ่ สามารถจัดระบบเก็บสินค้า การเงิน การประชาสัมพันธ์ได้ดี เมื่อมีรายได้โครงการเก็บไว้พัฒนาต่อได้ ปัจจุบันมีโรงงาน hitech เข้ามาประมาณ 230 แห่ง ทำรายได้ให้มาก ไปดูโรงงานต่างๆ พอให้เห็นเป็นตัวอย่างคือ โรงงานหม้อแปลงไฟฟ้า JST (Jinpan Special Transformer) เป็นระบบหม้อแปลงที่ตึกสูงๆ นิยมใช้ เพราะปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบเก่า ผู้จัดการที่มาอธิบายเคยไปเมืองไทย ลูกค้าใหญ่คือ Beijing Electric Company ที่นี่มีคนงาน 162 คน ทำงาน 3 กะ วัตถุดิบคือ เหล็กกล้า สั่งจาก

(น.217) ยุโรป ใช้เครื่องตัดทันสมัย ตอนนี้ตัดเองไม่พอแล้ว เริ่มสั่งเข้ามาบ้าง เพราะคุ้มกว่าซื้อเครื่องตัดใหม่ คนที่ทำงานที่นี่ส่วนใหญ่จบวิทยาลัยเทคนิค รู้ภาษาอังกฤษ บริษัทมีหน่วยวิจัยและพัฒนาของตนเอง ได้ช่วงปลอดภาษีในระยะเริ่มดำเนินงาน นั่งรถเลียบทะเลไป Hightech Development Zone บริษัททำ LCD ในส่วนที่ล้างกระจกให้สะอาด เคลือบตัดเป็นชิ้นๆ แล้วต่อให้ติดกัน ใช้สำหรับทำจอ เครื่องอุปกรณ์ digital เครื่อง fax เครื่องจักรต่างๆ โรงงานรถยนต์ ที่รับช่วงจาก Mazda-Ford แต่เขียนชื่อเป็นภาษาจีน ผลิตได้ปีละ 60,000 คัน มีคนงาน 1,200 คน ถึงที่หมายสุดท้ายของวันนี้ ชักจะขาเจ็บเดินไม่ค่อยไหวแล้ว


(น.217) รูป


(น.218) รูป

(น.218) อนุสรณ์สถานหลี่ซั่วซุน ซึ่งเป็นบิดาของประธานหลี่เผิง สร้างใน ค.ศ. 1986 ตอนนั้นไหหลำยังขึ้นกับมณฑลกวางตุ้ง ยังไม่ได้แยกออกมาเป็นมณฑล หลี่ซั่วซุนเป็นวีรบุรุษที่เซี่ยงไฮ้ ได้ร่วมการปฏิวัติเป่ยฝา (ค.ศ. 1926-1927) และร่วมการปฏิวัติหนานชางใน ค.ศ. 1927 เคยเป็นเลขาธิการพรรค ที่มณฑลเจียงซูและเจ้อเจียง ทำงานร่วมกับโจวเอินไหล จูเต๋อ เนี่ยหลงเจิน เฉินยี่ หลินเปียว เติ้งเสี่ยวผิง ถูกประหารชีวิตในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1931 บุตรชายตือ ท่านหลี่เผิง อายุยังไม่ครบ 3 ปี เหตุที่อนุสรณ์สถานอยู่ตรงนี้เพราะว่าเป็นที่ประหาร ขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ยังไม่แข็งแกร่ง จึงหาศพไม่พบ จึงทำเป็นอนุสรณ์สถานไว้เฉยๆ ส่วนภรรยาของท่านคือ เจ้าจุนเถา ถึงแก่กรรม ค.ศ. 1985 จึงนำมาฝังไว้ที่นี่ มีจดหมายที่เขียนถึงภรรยาก่อนตาย ฝากฝังให้ดูแลลูกชายให้ดี ที่กำแพงมีลายมือเพื่อนๆ เขียนไว้อาลัย รัฐบาลกำลังสร้างพิพิธภัณฑ์ให้


(น.219) รูป

(น.220) กลับโรงแรม ตอนค่ำมีงานเลี้ยงที่ประธานสภาประชาชนมณฑลไห่หนานเป็นเจ้าภาพ ประธานสภาประชาชนกล่าวต้อนรับและแนะนำบุคคลที่มาร่วมงาน แล้วบรรยายสรุปเกี่ยวกับมณฑลว่า มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) เป็นมณฑลทางใต้สุดของจีน ประกอบด้วยเกาะต่างๆ มากมาย ทางเหนือเป็นช่องแคบคั่นระหว่างเกาะใหญ่กับมณฑลกวางตุ้ง มณฑลนี้ตั้งเมื่อ ค.ศ. 1988 เป็นมณฑลสุดท้ายของจีนที่ตั้งขึ้น หลังจากยกขึ้นเป็นมณฑลแล้ว ได้ตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดของจีน แม้เนื้อที่มีไม่มากเพียง 34,380 ตารางกิโลเมตร แต่มีฝั่งทะเลติดทะเลจีนใต้ยาวมาก ประชากรไม่มากนักเพียงประมาณ 8 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน (ฮั่น) มีชาวหลีซึ่งเป็นชนพื้นเมือง 1.2 ล้านคน พวกแม้ว (เหมียว) แสนกว่าคน มีชนกลุ่มน้อยพวกอื่นๆ อยู่บ้าง


(น.220) รูป


(น.221) รูป

(น.221) ทรัพยากรมีมากและพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เนื้อที่ 2 ใน 3 เป็นที่ราบหรือเป็นเนินไม่สูงนัก พื้นที่สูงสุดอยู่ภาคกลางของเกาะ มีภูเขาอู๋จื่อ สูง 1,867 เมตร เขาโหวหนี สูง 1,654 เมตร เขาเจียนเฟิง สูง 1,412 เมตร และเขาหลีหมู่ สูง 1,411 เมตร ตามลำดับ ฤดูกาล 4 ฤดูไม่ต่างกันมากนัก เป็นมณฑลเดียวของจีนที่อยู่ในเขตร้อน การพัฒนามณฑล หลังจากเป็นมณฑลมา 14 ปี (ค.ศ. 2002) มีผลงานพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมมาก สมัยก่อนมีภาคการเกษตร เดี๋ยวนี้มีภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับมณฑลอื่น รายได้ของมณฑลยังต่ำ แต่ก็พัฒนาดีขึ้น มณฑลกำลังปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ การอุตสาหกรรมมี 22.7% การเกษตร 37% การท่องเที่ยว 32% กำลังพยายามเพิ่มอัตราความเจริญด้านอุตสาหกรรม

(น.222) นโยบายหลักในการพัฒนามี 3 ประการคือ
1. ไม่ทำให้เกิดมลภาวะ
2.ไม่สร้างอุตสาหกรรมที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
3. ไม่สร้างอุตสาหกรรมพื้นฐาน
การท่องเที่ยวพัฒนารวดเร็วมากเพราะไหหลำมีทิวทัศน์ที่แปลกตากว่าที่อื่นในจีน ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวหลายอย่างจากไทย จุดประสงค์ของผู้ว่าราชการมณฑลที่เดินทางไปประเทศไทยคือ จะไปดูงานการท่องเที่ยว มีความร่วมมือกับไทยด้านการท่องเที่ยวและกิจการอื่นๆ เดือนเมษายน ค.ศ. 2002 เมื่อเปิดประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้วางแผนระยะ 10 ปี – 20 ปีไว้ 4 ประการคือ
1. พัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ตามพื้นฐานที่ได้เปรียบมณฑลอื่น เช่น การเกษตรเขตร้อน ผักผลไม้เขตร้อน
2. เปิดสู่โลกภายนอก ให้เป็นเขตเศรษฐกิจของพื้นที่ที่ติดทะเล อำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจต่างชาติที่มาลงทุน
3. พัฒนาวิทยาศาสตร์และการศึกษา พยายามยกระดับความรู้ของชาวไหหลำ
4. พัฒนาสิ่งที่พัฒนาต่อเนื่องได้
สิ่งสำคัญที่ยึดไว้เป็นหลักคือ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องคิดถึงลูกหลาน
ตามเป้าหมายประมาณ ค.ศ. 2010 GDP จะเพิ่มอีกเท่า มณฑลตระหนักดีว่าต้องพยายามมากขึ้นให้บรรลุเป้าหมายหรือให้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
หลังงานเลี้ยงมีการแสดงดนตรีของพวกเด็กๆ ซึ่งเล่นได้ดีมาก