<< Back
" ใต้เมฆที่เมฆใต้ วันพุธที่ 1 มีนาคม 2538 "
(น.42) วันพุธที่ 1 มีนาคม 2538
(น.42) รูป 41 หุ่นจำลองมณฑลยูนนานและเขตต้าหลี่
(น.42) ทราบจาก ดร.ธวัชชัย ว่าที่เรากินกันวันก่อนในรายการอาหารเขียนว่า Cattails นั้น ภาษาไทยเรียกว่าหญ้าถอดปล้อง ดอกไม้สีฟ้า ๆ
เป็นจำพวก forget – me – not รับประทานเสร็จแล้ว แปดโมงออกเดินทางไปพิพิธภัณฑ์เขตปกครองตนเองชนชาติไป๋ต้าหลี่ มาดามเฉินนั่งไปด้วย มาดามท่องบทกวีสั้น ๆ ที่กล่าวถึงบริเวณต้าหลี่นี้ว่า
เซี่ยกวนเตอเฟิง
ต้าหลี่เตอฮัว
ชางซานเตอเซี่ย
เอ๋อร์ไห่เตอเย่
(น.43) รูป 42 ของในพิพิธภัณฑ์
(น.43) แปลว่า
ลมของเซี่ยกวน (เป็นชื่อบริเวณแถบนี้)
ดอกไม้ของต้าหลี่ (ชาวนาแถว ๆ นี้ชอบปลูกดอกไม้)
หิมะของชางซาน (บนยอดเขาในเทือกจะมีหิมะอยู่ถาวร)
พระจันทร์ของทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ (ไม่ทราบว่าจะแปลว่าทะเลสาบรูปร่างเหมือนพระจันทร์ หรือพระจันทร์สะท้อนแสงลงในทะเลสาบ)
ที่พิพิธภัณฑ์มีผู้อำนวยการชื่อนายจางไคหยวนคอยรับ พาไปที่โต๊ะหุ่นจำลองรูปมณฑลยูนนานและเขตต้าหลี่ มีเจ้าหน้าที่อธิบายว่า
(น.44) รูป 43 เครื่องมือหินที่พบในจังหวัดต้าหลี่
(น.44) ต้าหลี่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑล มีเนื้อที่ 28,356 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 3,001,770 คน มีคนกลุ่มน้อย 13 ชนชาติ เป็นชาติไป๋ประมาณ 33.17 %
ผังของต้าหลี่ที่เห็นอยู่นี้มาตราส่วน 1:18,500 มี 13 อำเภอ มีวัฒนธรรมอันยาวนาน มีชื่อเสียงในประเทศจีน มีทิวทัศน์ที่งดงาม มีสถานที่ท่องเที่ยวมาก ที่สำคัญได้แก่
ทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ เขาชางซาน และยังมีอีกหลายเขา เช่น สือเป่าซาน ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยว มีถ้ำที่แปลก สวยงาม จีซูซานเป็นแหล่งโบราณสถานทางพุทธศาสนา เว่ยเป่าซานเป็นโบราณสถานทางศาสนาพุทธและเต๋า ซื่อปี๋หูมีน้ำพุและทะเลสาบ เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ในพิพิธภัณฑ์มีโบราณวัตถุ มีหินอ่อน ต้าหลี่มีเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีของชนชาติ แสดงบุหรี่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของต้าหลี่ พิพิธภัณฑ์นี้มีห้องแสดง 9 ห้อง
จากนั้นผู้อำนวยการนำชมศิลปะสมัยหินและสมัยสำริด เริ่มต้นเมื่อ 4,000 ปีก่อน เมื่อสมัยหินใหม่แถบนี้ก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์อยู่แล้ว (ข้อสังเกตอีกอย่างคือ พิพิธภัณฑ์ที่คุนหมิงกับที่นี่มีคำ
(น.45) รูป 44 เงินตราจีนรูปแบบต่างๆ นอกจากของจริงที่วางไว้ให้ดูยังมีภาพขยายใหญ่
รูป 45 ระฆังสมัยฮั่นตะวันตก
(น.45) อธิบายภาษาอังกฤษด้วย พิพิธภัณฑ์ที่เราไปในภาคอีสานเมื่อปีที่แล้วมีแต่ภาษาจีน) ที่เกาะจินซัวในทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ขุดพบเครื่องมือหิน
ของที่แสดงไว้มีเครื่องมือหินต่าง ๆ มีเครื่องมือหินที่มีรูสองรู ซากข้าวเจ้าอายุ 3,700 กว่าปีมาแล้วกลายเป็นหิน (carbonized rice)
ข้าพเจ้าถามเขาว่าข้าวนี้เป็นพันธุ์เดียวกับข้าวที่ปลูกในแถบนี้ในปัจจุบันหรือไม่ เขาบอกว่าเป็นข้าวเจ้าเหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาได้เอาเศษจากเมล็ดข้าวนี้ไปวิเคราะห์อย่างจริงจังหรือเปล่า
ถ้าทำน่าจะเป็นประโยชน์ นอกจากนั้นมีเครื่องปั้นต่าง ๆ เปลือกหอย สิ่งของสมัยสำริดประมาณ 3,600 ปีมาแล้ว มีภาพถ่ายโบราณสถานไห่เหมินโข่ว อำเภอเจี้ยนฉวน ยังพบเบ้าหลอมขวานสำริด
มีขวานที่ด้ามเป็นไม้ รูปถ่ายขณะขุดค้น กลองมโหระทึกสมัยจ้านกว๋อ ประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ระฆังแขวนเปียนจงสมัยราวงศ์ฮั่นตะวันตก เงินตราหลายประเภทที่พบในต้าหลี่ เช่น เงินอู่จู
แสดงว่าต้าหลี่มีความสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ของประเทศจีน รูปสุสานที่หมู่บ้านต้าจ่านถุน อยู่เชิงเขาชางซาน อายุประมาณ 1,900 ปีมาแล้ว เครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ ที่น่าสนใจคือถาดทำเป็นรูปนาขั้นบันได มีสัตว์ต่าง ๆ
(น.46) รูป 46 แผนที่น่านเจ้าสมัยโบราณ
รูป 47 แผนที่น่านเจ้า
(น.47) รูป 48 ภายในพิพิธภัณฑ์
(น.47) ดูนิทรรศการเรื่องน่านเจ้า (หนานเจา) ประเทศนี้อยู่ระหว่างปี ค.ศ 738 – 902 (ต้าหลี่ปี ค.ศ. 937 – 1253)
ประชาชนของประเทศทั้งสองเป็นชนชาติส่วนน้อยคือพวกไป๋ มีภาพถ่ายแสดงแผนที่น่านเจ้าสมัยโบราณเป็นรูปงู 2 หัว หัวสองหัวไขว้กัน ด้านหนึ่งมีรูปปลา อีกด้านมีรูปหอยสังข์ เขาว่าพวกไป๋นับถือปลากับหอย
มีแผนที่น่านเจ้าในตอนนั้นใหญ่กว่ายูนนานเดี๋ยวนี้ รวมพม่า ส่วนหนึ่งของไทย ส่วนหนึ่งของเสฉวน และกุ้ยโจว
แผนที่ฉบับนี้กระทรวงการต่างประเทศของจีนอนุมัติแล้วให้เป็นแผนที่ประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าสงสัยว่าทำไมกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเกี่ยวกับเรื่องโบราณ ๆ แบบนี้
เขาอธิบายว่าแผนที่เป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องพิจารณาให้ดีก่อนเผยแพร่ (อาจมีปัญหาชายแดนได้)
(น.48) รูป 49 โบราณวัตถุที่แสดงอิทธิพลของพุทธศาสนาในต้าหลี่
Next >>