Please wait...

<< Back

" ใต้เมฆที่เมฆใต้ วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2538 "

(น.94) วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2538
มอบของที่ระลึกให้เจ้าหน้าที่ที่เมืองต้าหลี่นี้ก่อนจะออกเดินทาง อาจารย์หวงฮุ่ยคุน (รองอธิการสถาบันชนชาติมณฑลยูนนาน) แต่งบทกวีและเขียนด้วยพู่กันมาให้ เนื้อหาของบทกวีเหล่านี้เป็นบันทึกเกี่ยวกับการเยือนต้าหลี่ของข้าพเจ้า มีอยู่ 6 บท ถอดความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้

1. ชาสามสำรับ

ลอดหุบเขาข้ามสามยอดเนินมายังแม่น้ำโขง
เห็นสายน้ำเอ่อนองชวนให้ใฝ่หาโลกอุดมคติที่สุขสงบ
ชาสามสำรับซ่อนเร้นความหมายแห่งลำธารแม่น้ำ
เมื่อรสขมสิ้นสุด รสหวานก็เกิดมา ตามด้วยรสเข้มข้นที่ประทับใจไม่รู้ลืม

2. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงชมดนตรีและทรงลองเล่นสีซอ
เสียงดนตรีเครื่องสายช่างดื่มด่ำ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ถึง
ท่วงทำนองอิงดนตรีโบราณที่ร้องสมัยราชวงส์ถังและซ่ง
หมู่บ้านสี่โจวด้านหน้าบ้านมีพิธีกรรมร้องเพลงคัมภีร์แห่งสัจจะ
พระองค์ยังได้ทรงเล่นสีซอตามโน้ตดนตรีโบราณ

(น.95)

3. ทอดพระเนตรวัดโพธิสัตว์น้อย
ทะเลสาบเอ๋อร์ไห่เปรียบดังทะเลใต้
พระโพธิสัตว์กวนอิมก็คือพระโพธิสัตว์กวนอิมนั่นเอง
ก้านต้นหลิวบ่งบอกความหมาย
น้ำทิพย์จากแจกันโพธิสัตว์กวนอิมหลั่งลงสู่แม่น้ำโขง

4. เมืองโบราณต้าหลี่
ลาจากเจดีย์สามองค์สู่ประตูเมืองด้านเหนือ
เห็นผ้าย้อมเทียนสีเขียว น้ำเงินและดำจากเข็มถักทอที่ชำนาญ
ณ หน้าร้านเสื้อผ้าเด็กทรงหยุดยืนหลายครั้ง
แท้จริงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีน้ำพระทัยอันบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่ง

5. อาณาจักรโบราณเลื่องชื่อ
ผ่านการเปลี่ยนแปลงอันยาวนานนับหมื่นนับพันครั้ง
หลังคาหอสูงเด่นตั้งตระหง่านเป็นสง่า กำแพงเมืองโบราณ
นั่นแลคือเมืองต้าหลี่อันยิ่งใหญ่
ขอทายทักอาณาจักรโบราณเลื่องชื่อ ณ เบื้องหน้าหอกำแพงนี้

6. บ้านโบราณต้าหลี่
ห้องหับสามด้านนั้นมีกำแพงกระจกปิดอยู่ด้านหนึ่ง
ยังมีบ้านแบบสี่ด้านจัตุรัสและมีลานทะลุโปร่งฟ้า รายเรียงอยู่ห้าลาน
โลกทั่วสารทิศพากันสดชื่นแจ่มใสเหมือนเข้าสู่ฤดูในไม้ผลิ
เมื่อเสด็จฯ ถึงมวลบุปผชาติผลิบานพลิ้วไหวอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์

(น.96) ขึ้นรถกลับคุนหมิง บ่นๆ กันว่าต้องเลี้ยวรถ 58 แห่ง จริงๆ แล้วข้าพเจ้าคิดว่ามากกว่านั้น มองดูก็เหมือนเมืองไทย
มีอะไรๆ ขายข้างทาง ขายกระเทียม หยุดเข้าห้องน้ำที่เดิมเหมือนตอนขามา มาดามเฉินบอกว่าเราเดินทางกว่า 800 กิโลเมตร ผ่าน 8 ตำบล วันนี้รถติด รถมากจริงๆ กว่าจะถึงโรงแรมฉู่ฉยงรู้สึกว่าใช้เวลานาน แต่ที่จริงแล้วถึงก่อนเวลา มีท่านเลขาธิการ (ท่านเดิม) มาคอยรับส่วนรองผู้ว่าราชการเมืองท่านนี้เป็นชาวอี๋ ท่านบอกว่าเวลาไปประชุมที่มณฑล หรือไปประชุมสภาที่ปักกิ่ง จะแต่งกายชุดพื้นเมืองอี๋เสมอ วันนี้มีการต้อนรับที่ค่อนข้างจะพิเศษคือมีการร้องเพลงเผ่าอี๋ มีใจความว่า
“ท้องฟ้าทำไมไม่มีเมฆ
เนื่องจากลมพัดมา
ในโรงแรมฉู่ฉยงคึกคัก
เพราะแขกผู้มีเกียรติคนไทยมา
ไม่ถึงเวลาดอกไม้ไม่บาน
ไม่เป็นคนสนิทไม่เชิญดื่ม
มา...ขอให้แขกรับคำอวยพรของชนชาติอี๋
ดื่มด้วยความยินดี......”

พอฟังเพลงแบบนี้เข้าแล้ว ใครจะทนทำปั้นปึ่งอยู่ได้ ก็ต้องกระชับมิตรภาพกับสหายใหม่ชาวอี๋ เหล้าของท้องถิ่นนี้มีหลายชนิด มีทั้งที่ทำจากข้าวเจ้า ข้าวฟ่างรองผู้ว่าฯ อธิบายว่าปกติจะต้องรินเหล้าใส่ชามขนาดใหญ่ และส่งต่อๆ กัน เพื่อความสามัคคีและแก้หนาว วันนี้เขาเลี้ยงเหล้าทำจากข้าว 50 ดีกรี ยกจอกดื่มหมด แต่ก็ไม่ใช่จอกเดียว เนื่องจากมีสหายหลายคน

(น.97) ท่านรองฯ เล่าว่าแถบนี้มีสาลี่ผิวสีแดงหรือชมพูปนเหลืองๆ มีรสชาติดีมาก ผักที่นี่มีหลายอย่าง ต้นหอมสามารถส่งออกไปเมืองอื่นถึง 26 เมือง ส่งรถไฟ 20 ตู้ เทศกาลหั่วป่าในเดือนหกชาวบ้านจะร้องเพลงเต้นรำจนอาทิตย์ตกดิน หนุ่มเต้นระบำจนพื้นรองเท้าพันชั้นสึก สาวเต้นจนรองเท้าปักขาด สาวๆ ใช้ดอกตู้จวนปักผม และประกวดปักผ้า ท้องถิ่นนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ มีที่น่าเที่ยวอีกหลายอย่างหลายแห่ง มีของโบราณ กระดูกไดโนเสาร์ กระดูกมนุษย์โบราณ มีพวกไต่อยู่ที่ฝั่งน้ำ พวกเหมียวอยู่ยอดเขา พวกอี๋อยู่เชิงเขา ข้าพเจ้าถามถึงพืชผลไม้อื่นๆ เขาเล่าว่าที่ความสูงประมาณ 2,500 เมตรปลูกแอปเปิ้ลได้ ภูเขาลูกหนึ่งมีอากาศ 4 ฤดู ภูเขาสูงๆ ต่ำๆ มีหุบเหว ฉะนั้นในบางแห่งสถานที่ห่างกัน 5 กิโลเมตร อากาศก็ไม่เหมือนกัน เช่น ภูเขาสูง 3,680 เมตร ต่ำสุด 557 เมตร ยอดเขาร้อน พฤกษชาติพันธุ์สัตว์หลากหลาย หมีมีมากที่สุด เสือลาย ลิงกวาง (ไม่ทราบว่าแปลถูกหรือเปล่า) นกยูง ฯลฯ เศรษฐกิจก็พัฒนาเร็วเป็นอันดับ 4 ของมณฑล จังหวัดนี้ประสบความสำเร็จในกิจการสำคัญ 2 ประการคือ การปลูกป่า และเรื่องการคุมกำเนิด ได้รับการชมเชยจากรัฐบาลจีน รักษาธรรมชาติได้ดี เศรษฐกิจดี ปลูกต้นอัน สกัดน้ำมันทำยาได้ ต้นเหอจินยางไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ ส่วนพืชธรรมชาติคือต้นสน สถานที่น่าเที่ยวอีกแห่งคือแม่น้ำจินซาเจียงอันเป็นสาขาของแม่น้ำแยงซีเกียง ไหลผ่านเสฉวนและยูนนาน เป็นที่อยู่ของพวกอี๋ อี๋แถวๆ เสฉวนเรียกว่าพวกเหลียงช่าน ส่วนพวกเขาเป็นฉู่ฉยง

(น.98) มัวแต่พูดเรื่องอื่นลืมเขียนเรื่องอาหาร ที่จริงก็คล้ายๆ ขามา มีมันเทศ มันฝรั่ง หยูชิงเช่าเป็นยาสมุนไพร บำรุงตา บำรุงปอด แก้ร้อนใน ผัดเปรี้ยวหวาน (อะไรก็ไม่ทราบ) เต้าหู้ ดอกสาลี่ผัด ปลาซิ่งฉิวใส่เห็ดและหมูแฮม นกพิราบต้มยาจีน เห็ดผัดถั่วงอก รับประทานเสร็จลาจากโรงแรมฉู่ฉยงเดินทางต่อ ก่อนไปบอกกับท่านรองผู้ว่าฯ จะหาโอกาสมาเยือนใหม่ คราวหน้าจะขึ้นเขาไปเต้นระบำชาติอี๋ ออกมารถติดมากแบบแล่นไม่ไปเลย ตำรวจเปิดหวออยู่พักใหญ่จึงไปได้ แล่นๆ ไปหยุดขบวนรถ ได้ยินว่าดุมล้อรถคันไหนหลุดก็ไม่รู้มีใครต่อใครเดินด้อมๆ มองๆ ที่รถ ไม่ใช่รถเรา ตกลงไม่พบทั้งของกลาง (ดุมล้อ) ทั้งเจ้าทุกข์ (รถที่ดุมล้อหลุด) ก็เลยเดินทางต่อ มองโน่นมองนี่บ้าง คุยกันบ้าง หลับไปบ้าง นาขั้นบันไดแถวนี้เขาทำได้ดีเป็นระเบียบเรียบร้อยดูมั่นคงแข็งแรง กลับมาถึงโรงแรม 4 ดาวของเราที่คุนหมิง เห็นจะต้องให้ 5 ดาว แล้วคราวนี้ บริการดีชงกาแฟรสชาติถูกใจป้าจัน แถมพูดสวัสดีค่ะทุกคน เอาตู้เย็นมาใส่ในห้อง อื่นๆ ก็สะดวกสบายทุกอย่าง เห็นว่างๆ อยู่ ออกไปเดินดูหนังสือข้างนอก เข้าไปในร้านหนังสือเด็กก่อน ความรู้ภาษาจีนของข้าพเจ้าเหมาะสำหรับอ่านหนังสือเด็กมากกว่าหนังสือผู้ใหญ่ ไปได้หนังสือสอนเรื่องต้นไม้ให้เด็กราวๆ ชั้น ป.4 พจนานุกรมเกี่ยวกับพืช พจนานุกรมเกี่ยวกับสัตว์ บทเรียนเกี่ยวกับกวีจีนที่มีคำอธิบาย เดินต่อไปที่ร้านขายหนังสือทั่วไป ซื้อหนังสือเกี่ยวกับดนตรียูนนาน และหนังสือเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติในยูนนาน ดอกไม้ต่างๆ ซื้อพู่กันด้ามหนึ่งคิดว่าจะซ้อมเขียนหนังสือจีน แต่ร้านนี้ก็แปลก มีพู่กันแต่ไม่ยักมีหมึก ป่านนี้ก็ยังไม่ได้เขียนหนังสือ


(น.99) รูป 109 หอดูดาว

(น.99) จีน การเขียนพู่กันจีนมีประโยชน์คือทำให้จำหนังสือได้ดีขึ้น กลับโรงแรมรับประทานอาหารค่ำ เตรียมตัวไปดูดาว อาจารย์บุญรักษาบอกว่าถ้าไปกลางวันจะเห็นหอดูดาวหลายหอ แต่ข้าพเจ้าอยากดูดาวตอนกลางคืนเพราะจะได้มองเห็นดาว เท่าที่ผ่านมาข้าพเจ้าไม่ค่อยมีโชคนักในเรื่องการดูดาว (ไม่เหมือนขงเบ้ง) จะดูดาวทีไรก็เผอิญให้มีหมอกมีเมฆกั้นแสงดาวไปบ่อยๆ แต่คืนนี้ท้องฟ้าใสดี


(น.100) รูป 110 กล้องโทรทัศน์

(น.100) มาดามเฉินรู้จักการทำงานของหอดูดาวแห่งนี้เป็นอย่างดี เพราะแต่ก่อนนี้เคยทำงานด้านการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์ สาธารณสุข อุตสาหกรรม ดูแลงานของสภาวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (Academia Sinica) ข้าพเจ้าชื่นชมว่ามาดามเป็นคนที่มีความรู้กว้างขวาง มีประสบการณ์สูงมาก มาดามบอกว่าก็ได้แต่รู้และแก้ปัญหาแบบยาหม่องเท่านั้น คือรักษาได้ทั่วไป จะไม่ได้ส่วนไหนอย่างลึกซึ้งนัก แต่ข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าการรู้แบบนี้ก็มีประโยชน์ เพราะเป็นคนได้รู้ได้เห็นมาก ทำให้เกิดความคิดที่จะทำประโยชน์ต่างๆ ได้ดีขึ้น

(น.101) ที่หอดูดาว มีศาสตราจารย์ถานฮุยซง ศาสตราจารย์หลิวชิงหยาวและศาสตราจารย์หยางยู่หลาน ต้อนรับ พาขึ้นไปดูกล้องโทรทรรศน์ เครื่องที่กระจกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร โปรเฟสเซอร์ให้ภาพที่เขาถ่ายรูปดาวพฤหัสไว้ หอดูดาวแห่งนี้ไม่ได้ถ่ายภาพตอนที่ดาวหางชนดาวดวงนี้ กล้องที่ตั้งไว้ให้ดูคือกลุ่มดาว Orion ซึ่งจะมองเห็นเนบิวลาใหญ่และดาว 4 ดวง (เป็นดาวที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรา) กล้องที่ใช้เป็นของบริษัท Carl Zeiss Gena ติดตั้งที่นี่เมื่อปี ค.ศ. 1979 ในระหว่างปี ค.ศ. 1979 – 1989 เป็นกล้องที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน กล้องแบบนี้มีขั้วขนานกับแนวขั้วของโลก ชี้ไปที่ขั้วเหนือของท้องฟ้า การดูดาวกล้องจะปรับตัวให้หมุนสอดคล้องกับการหมุนรอบตัวเองของโลกและให้ตามกลุ่มดาวได้ แสงของดาวสะท้อนกระจกเข้าเครื่องต่อ CCD (Charge – Coupled Device) แล้วมีกล้องขนาดเล็กกว่าติดอยู่กับกล้องใหญ่ ทำหน้าที่ตามภาพเป็น view finder ติดตาม (track) ดาวตลอด นักวิทยาศาสตร์นักวิจัยของสถาบันที่ทำงานที่หอดูดาวแห่งนี้ แต่ละปีสามารถเขียนบทความทางวิชาการดาราศาสตร์ลงวารสารวิชาการทั้งในและนอกประเทศ วารสารต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ Astrophysical Jounal ของสหรัฐอเมริกา และ Astronomy and Astrophysics Journal ของประเทศในยุโรป มีนักดาราศาสตร์ชาวต่างประเทศ เช่น ชาวอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น มาทำงานวิจัยที่สถานดูดาวแห่งนี้ปีละหลายคน มีกล้องโทรทรรศน์ 27 กล้อง ทั้งแบบใช้แสงและ radio telescope ศึกษาดาวฤกษ์ จักรวาล Galaxy บรรยากาศของดาว (stellar atmosphere) อุณหภูมิ และสภาพทางเคมีของดาว ศึกษาได้ตั้งแต่ที่ช่วงคลื่นแสงสีน้ำเงิน ไปจนถึงแสง Infrared


(น.102) รูป 111 พยายามศึกษาดาว


(น.103) รูป 112 จอ CCD

(น.103) ไปดูภาพที่จอ CCD (512 x 512 pixels) ใช้ exposure time 3 วินาที ซึ่งสั้น เกิดแสงดาวแรงกว่ากลุ่มเนบิวลา จึงทำให้มองไม่เห็นเนบิวลา การถ่ายรูปใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม CCD ชุดนี้ค่อนข้างเก่าคือได้รับช่วงต่อจากสถานีของสหรัฐฯ ที่ Arizona เป็นของตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 ข้าพเจ้าเคยไปดู CCD ที่หอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บนดอยสุเทพ ถ่ายภาพได้ ASA ประมาณ 100,000 ปีนี้จะต่อ Sun Workstation ที่นี่ (ใช้ด้าน image processing ได้ดี)


(น.104) รูป 113 ดูดาวอังคาร


รูป 114 ดูดาวอังคาร

(น.104) กลับขึ้นไปที่กล้องดูดาว ดูดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่เห็นได้ชัดบนท้องฟ้าขณะนี้ เห็น polar cap เป็นรอยมืด เห็นดาวบริวารดวงที่ 1 ชื่อ Phobus ถ่าย 15 วินาที ดาวอังคารสว่างกว่าดาวบริวารมาก ในที่นี้เขาพยายามปรับกล้องให้มองเห็นดาวบริวารด้วยรายละเอียดที่ดาวอังคารจึงไม่ค่อยชัดเจน

Next >>