Please wait...

<< Back

" ใต้เมฆที่เมฆใต้ วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2538 "


รูป 137 ต้นจันทน์ผา


(น.128) รูป 138 ต้นไม้ในสวน

(น.128) พุงทะลาย ต้นเหม่ย เติ้งมู่ (Maytenus hookeri) เป็นพวกปอชนิดหนึ่งของท้องถิ่น เขาว่ามีสรรพคุณแก้มะเร็ง ต้นกระเบาจีน (Hydnocarpus ammanensis) คล้ายๆ กับกระเบาไทย (มองดูก็ทราบว่าเป็นกระเบา) เมล็ดให้น้ำมัน มีสรรพคุณรักษาโรคเรื้อนได้เหมือนของไทย นอกจากนั้นมีเร่ว กระวานป่า เป็นต้น ในสวนนี้มีพืชต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่สามารถจะพรรณนาได้อีก จึงขอยุติแต่เพียงเท่านี้ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือพืชสมุนไพรหลายชนิดที่มีอยู่ในสวนแห่งนี้ สามารถปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ ทางสวนจึงส่งเสริมให้ประชาชนปลูกเป็นรายได้ โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า


(น.129) รูป 139 ผู้ว่าราชการเลี้ยงอาหารค่ำ ลูกสาวผู้ว่าฯ ผูกข้อมือให้

(น.129) กลับโรงแรม พักผ่อนครู่หนึ่งก็ไปโรงแรมสิบสองปันนา ผู้ว่าราชการเลี้ยงอาหารค่ำ ก่อนรับประทานอาหารผู้ว่าราชการกล่าวต้อนรับเป็นภาษาไทลื้อและภาษาจีน จากนั้นรับประทานอาหารไปพลางดูการแสดงไปพลาง การแสดงมีหลายชุด ได้แก่
1. รำดื่มแม่น้ำเดียวกัน หมายถึง ร่วมอยู่ในสายธารแม่โขงเดียวกัน แยกออกเป็นชุดย่อยๆ
1.1 แสดงถึงสิบสองปันนาในจีน รำชาย-หญิง หญิงถือร่ม ชายแสดงท่าพายเรือ ถือพายไว้ในมือ
1.2 แสดงถึงประเทศลาว ใช้เพลงดวงจำปา มีผู้หญิงรำ 4 คน
1.3 แสดงถึงประเทศไทย ใช้เพลงลอยกระทง มีผู้หญิงรำ 4 คนเช่นกัน


(น.130) รูป 140 การแสดงระบำแม่น้ำโขง

(น.130)
1.4 แสดงถึงประเทศพม่า ใช้ผู้หญิงรำ 4 คน
1.5 แสดงถึงประเทศเวียดนาม ใช้ผู้หญิงรำ 2 คน
1.6 แสดงถึงประเทศเขมร ใช้ผู้หญิงรำ 4 คน
2. รำสอยดอกไม้ ผู้หญิง 3 คนออกมารำ มีพวงมาลัยพวงใหญ่คล้องไว้ที่คอ
3. เป่าปี่เพลง “ยินดีต้อนรับพี่น้องไทย” ขับซอ
4. ฟ้อนเทียน ผู้หญิง 7 คนฟ้อน
5. ผู้หญิงร้องเพลง “บัวขาว”
6. ชายหญิงร้องเพลง “หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ”
7. รำอีก้อเก็บใบชา มีผู้หญิงรำ 10 คน


(น.131) รูป 141 การแสดงระบำแม่น้ำโขง

(น.131)
8. รำนกยูงคำ นกยูงเป็นเครื่องหมายของสิบสองปันนา (ดอกชาเป็นเครื่องหมายของมณฑลยูนนาน)
9. ฟ้อนเล็บ
10. รำตกน้ำหาปลา (รำจับปลา) ชาย-หญิง รำ ชาย 5 – หญิง 5 เหมือนกับเซิ้งสวิงที่อีสาน ได้ความว่าตอนนำคณะมาแสดงที่เมืองไทยได้ไปเรียนรำชุดนี้
11. รำปู้หลาง เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง เป็นระบำที่เล่นในวันสงกรานต์
12. รำสนุกไปตลาด ของพวกไทย มีผู้หญิงรำ 8 คน
13. ร้องเพลง “สิบสองปันนาบ้านของฉัน” ผู้หญิงร้อง
14. รำรื่นเริงสงกรานต์ เป็นระบำชุดที่ยาวพอสมควร ชายหญิงรำ ตอนท้ายมีการโยนลูกช่วงและพรมน้ำ


(น.132) รูป 142 คุยกับลูกสาวผู้ว่า

(น.132) ขอพูดเรื่องอาหารสักเล็กน้อย วันนี้อาหารเป็นแบบไทย ไม่ได้เป็นแบบจีน เครื่องดื่มมีเหล้าตรานกคำ (นกยูง) เป็นเหล้าข้าวเหนียว 46 ดีกรี หมากเน็ง น้ำแห้ว น้ำพริกใส่มะเขือเทศ หนังพอง ปลาไหล ถั่วปากอ้า ข้าวหลาม แกงปลาฝา (ตะพาบ) ผัดกบกับถั่วดิน (ถั่วลิสง) ยังมีอาหารอีกหลายอย่างจำไม่ได้ ลูกสาวท่านผู้ว่าฯ คนเล็กชื่อกองเสียง อายุ 17 ปี รำละครด้วย ดูเหมือนจะเรียนด้านนาฏศิลป์ ส่วนลูกสาวคนโตชื่ออินเสียง เรียนอยู่ที่สถาบันชนชาติมณฑลยูนนานในคุนหมิง เมื่อเรียนจบแล้วอยากส่งมาเรียนต่อที่เมืองไทย สุดท้ายมีการจัดรำวงรอบหนึ่ง เมื่อเสร็จงาน กลับโรงแรมนั่งเขียนหนังสือดูทีวีตามเคย (ที่นี่มี Star T.V. ดูด้วย) อารยากับเอื้องโผล่มาหัวเราะคิกคักว่าเขาไปตลาดหรืองานวัดมา เขาสองคนกับผู้ช่วยทูตทหารอากาศ รวมเป็นคนไทย 4 คนเท่านั้น นอกจากนั้นเป็นพวกคนจีนซึ่งตื่นเต้นมากกว่าคนไทยไปเสียอีก แต่ที่จริงของก็ไม่ต่างจากที่ตลาดเมืองไทย ตลาดลาวมากนัก ทั้งสองคนซื้อหนอนไม้ไผ่ที่คนไทยเรียกว่ารถไฟด่วนมาให้ 5 หยวน (แพง) เก็บไว้กินเป็นอาหารเช้า


(น.133) รูป 143 ฟ้อนรำวง


รูป 144 ถ่ายภาพกับนักแสดงทั้งหมด