Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2539 "

(น.17) วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2539
ตื่นขึ้นมาแต่ตีห้าแล้วเขียนต่อ พี่หวานเขียนข้อมูลเพิ่มมาให้
06.30 น. ลงไปรับประทานอาหารเช้าที่ห้อง Sunset Grill พูดกันถึงเรื่องนครฉงชิ่งว่า เคยเป็นเมืองหลวงสำรอง เราเคยตั้งสถานทูตที่นานกิง ท่านทูตเคยไปสืบหาสถานทูตที่นานกิง ยังไม่พบ
07.30 น. ออกเดินทางไปเป๋าติ่งซาน อำเภอต้าจู๋ เพื่อไปดูภาพหินสลัก ภาพหินสลักถ้ำของจีนนั้นมีสกุลช่างสองสกุล คือ สกุลช่างทางเหนือและสกุลช่างทางใต้ หินสลักทางเหนือฝีมือละเอียด เส้นคมชัดเจน หากเป็นภาพบุคคลจะค่อนข้างท้วม ภาพสลักทางใต้นั้นเส้นไม่คมชัดนัก ฝีมือหยาบกว่า หินสลักบุคคลจะค่อนข้างผอม ที่ต้าจู๋เป็นสกุลช่างทางใต้ คณะนักธุรกิจที่มางานเลี้ยงเมื่อคืนมาส่งข้าพเจ้าไปต้าจู๋ พวกเขาก็ต้องเดินทางกลับเฉิงตู ข้าพเจ้านั่งรถคนเดียวก็ดีเหมือนกันได้เขียนหนังสือ แต่ก็เขียนลำบากเพราะทางไม่ดี เดินทางรถทำให้เข้าใจได้ชัดเจนว่าฉงชิ่งเป็นเมืองภูเขา สองข้างทางเป็นเนินเขา ต้องเข้าอุโมงค์บ่อย แต่ละอุโมงค์ยาวเป็นกิโล ๆ


(น.18) รูป 7 ประตูทางเข้าภูเขาเป๋าติ่ง


รูป 8 ซุ้มประตูชั้นใน

(น.19) ถึงเวลา 09.45 น. ถึงโรงแรมต้าจู๋ เขาให้พักผ่อน 30 นาที โรงแรมนี้เป็นโรงแรม 3 ดาว มีห้อง 136 ห้อง เทศบาลเป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง บริษัทของฮ่องกงรับเหมาตกแต่งภายใน พักผ่อนอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงเดินทางต่อ ดูสองข้างทางรู้สึกว่าชนบทที่นี่จะอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ปลูกข้าว ปลูกแตง ข้าวฟ่าง (?) ตากพริกใส่กระด้งเอาไว้ เมื่อไปถึงเป๋าติ่งซาน รองศาสตราจารย์กัวเซียงหยิ่งมาต้อนรับ อาจารย์ท่านนี้เป็นประธานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะถ้ำ แห่งอำเภอต้าจู๋ นครฉงชิ่ง เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยถ้ำต้าจู๋ แห่งสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์เสฉวน แล้วยังเป็นสมาชิกสภานครฉงชิ่ง กรรมาธิการศิลปะและอะไร ๆ อีกหลายอย่าง ซุ้มหน้าประตูเขียนชื่อภูเขาเป๋าติ่ง เป็นลายมือของท่านเจ้าผู่ชู นายกพุทธสมาคมจีน การแกะสลักภูเขานี้ราว ค.ศ. 1179 - 1249 (ราชวงศ์ซ่ง) ในช่วงเวลาเพียง 70 ปีนี้ แกะรูปพระและรูปอื่น ๆ ได้ถึง 10,000 รูป ศิลาจารึกในบริเวณนี้มีทั้งสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงกล่าวถึงรายชื่อผู้ที่บริจาคเงินบำรุงหรือซ่อมสร้างรูปสลักต่าง ๆ


(น.20) รูป 9 ทิวทัศน์เป๋าติ่งซาน


รูป 10 ป้ายที่แสดงว่าเป๋าติ่งซานเป็นสถานอนุรักษ์ระดับประเทศ


(น.21) รูป 11 ศิลาจารึกสมัยราชวงศ์หมิง เล่าเรื่องการแกะสลักรูปที่ภูเขาเป๋าติ่งซาน


รูป 12 รูปคนออกมาจากเศียรพระ

(น.21) ในค.ศ. 1961 เดือนมีนาคม วันที่ 4 รัฐบาลประกาศยกย่องเป็นสถานที่อนุรักษ์ระดับประเทศ อาจารย์กัวเลือกอธิบายรูปเป็นบางรูปเพราะเราไม่มีเวลามากนัก พระพุทธรูปปางตรัสรู้เป็นภาพสลักเขียนสี ศิลปะพวกนี้อาจารย์บอกว่าทำตามคติพุทธศาสนานิกายมี่จง หรือที่เรียกว่าตันตระ ข้าพเจ้าเห็นบนเศียรมีรูปบุคคลอยู่ ก็นึกสงสัยว่าคนอะไรจึงไปอยู่บนเศียรพระ อาจารย์กัวบอกว่าเป็นบุคคลสำคัญเจ้าลัทธิศาสนาท้องถิ่น ชื่อ หลิวเปิ่นจุน ที่อยู่บนเศียรพระเพราะถือตามลัทธิมหายานว่า ทุกคนมีโอกาสบำเพ็ญบารมีให้เป็นพระพุทธเจ้าได้เท่ากัน มีจารึกอีกแห่งในสมัยราชวงศ์หมิง เล่าถึงประวัติการแกะสลักรูปเหล่านี้ ผู้ที่เริ่มต้นสร้างเป็นพระตันตระชื่อ เจ้าจื้อเฟิ่ง


(น.22) รูป 13 หน้าถ้ำหยวนจย๋วย

(น.22) มีถ้ำที่มีชื่อว่าเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์ ภาษาจีนเขียนว่า หยวนจย๋วยเต้าฉ่าง คำว่า จย๋วย คือ การรู้แจ้งนั้นจะเกิดได้จากเหตุ 3 ประการ คือ จากสำนึกของตนเอง ประพจน์บอกว่าหมายถึงโยนิโสมนสิการในพุทธศาสนา ภาษาจีนเรียกว่า จื้อจย๋วย สำนึกจากภายนอก หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า ทาจย๋วย ข้อนี้ประพจน์ว่าคือกัลยาณมิตร ที่ประเสริฐที่สุด (กุ้ยจย๋วย) มาจากการบำเพ็ญบารมี เรียกว่า ซิวสิง มาจากธรรมชาติคือ การตรัสรู้ธรรมะสูงสุด ทั้ง 3 ประการนี้รวมเรียกว่า หยวนจย๋วย


(น.22) รูป 14 หัวสิงโต


(น.23) รูป 15 รูปสลักเรื่องคนเลี้ยงควาย

(น.23) ในถ้ำนั้นอาจารย์กัวอธิบายว่า เป็นภาพพระโพธิสัตว์ อยู่ 2 ข้างพระพุทธเจ้า ข้างละ 6 องค์ รวมแล้วมี 12 องค์ แต่ละองค์มาถามธรรมะ พระพุทธเจ้าทรงเฉลยข้อสงสัย คำไขข้อธรรมะของพระพุทธองค์ รวมแล้วเป็นพระสูตร สันนิษฐานว่าเป็นอวตังสกสูตร ภาพในถ้ำนี้อยู่ในสภาพที่ดีมาก ถึงสีจะลอกไปบ้างแต่สภาพทั่วไปเรียกว่าดี 90% ศิลปะของถ้ำนี้เป็นแบบราชวงศ์ซ่ง ยังมีอิทธิพลของราชวงศ์ถังคือ อ้วน ๆ หน้าปากถ้ำมีสิงโต ซึ่งถือเป็นสัตว์สวรรค์ในจินตนาการคือว่าจะเฝ้าสถานที่ประกอบพิธีศาสนา มีรูปสลักเรื่องการเลี้ยงควาย อาจารย์กัวว่าภาพแบบนี้ ถ้าเป็นภาพในประเทศอินเดียคงเป็นการเลี้ยงช้าง ควายในที่นี้เปรียบเทียบกับสำนึกของคนเรา เป็นอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก การเลี้ยงควายหมายถึง การฝึกจิต ต้องฝึกให้มีศีล สมาธิ แล้วปัญญาจะเกิดขึ้น

Next >>