Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2539 "

(น.87) วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2539
ประมาณตีห้าเรือเปิดหวูดอีกก็เลยตื่นขึ้น เมื่อคืนง่วง ๆ เขียนหนังสือไม่ค่อยเป็นตัว ต้องลบเขียนใหม่เสียเวลาไปอีก ออกไปนั่งหน้าเรือ อากาศกำลังสบาย เห็นว่าเรือจอดอยู่หน้าตึกที่เขียนว่า Wan Xian Habour และ Welcome to Wan Xian City (Wan Xian อ่านว่า ว่านเซี่ยน) เป็นตึกทั้งนั้น ที่นี่ได้ความว่าน้ำจะท่วม เสียงเรือที่ผ่านไปมาค่อนข้างดัง และบีบแตรตลอด ฟังเสียงระฆังหง่างเหง่ง ทำให้คิดถึงบทกวีที่ว่าระฆังวัดดังมาถึง นั่งครุ่นคิดมาได้ถึงตรงนี้พอดีประพจน์ ซุป และพี่หวานมา พี่หวานให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องต้นหวงเจี่ยวว่า มีผู้เล่าว่าต้นไม้ชนิดนี้มีลักษณะแปลกคือ มีอายุผลัดใบ 1 ปี ปลูกในฤดูใบไม้ผลิใบร่วงในฤดูหนาว ปลูกฤดูร้อนใบร่วงในฤดูใบไม้ผลิ ถ้าปลูกสลับ ๆ กันจะเขียวทั้งปี
มองไปที่ตึกริมน้ำมีคำขวัญเขียนไว้ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า
เปิดนครว่านเซี่ยน
สร้างสรรค์ซานเสียอันยิ่งใหญ่


(น.88) รูป 81 ท่าเรือ ช่างภาพจีนมาถ่ายรูป

(น.88) พี่หวานมาบอกว่ากำลังแปลบทกวีชื่อ ซ่านซื่อเสีย ของลู่โหยว กวีสมัยราชวงศ์ซ่ง บทกวีนี้เกี่ยวกับซานเสีย มีความแปลคราว ๆ ว่า กวีมาเที่ยวสนุกอยู่ที่ปาตงเสียลืมอายุ หัวเราะตัวเอง ได้ยินเสียงย่ำกลอง และออกเรือไปอีกแล้ว พี่หวานคุยกับครูหวาง ตีความบทกวีนี้ไม่ค่อยตรงกัน ไม่แน่ใจว่าจะถือว่ามีความสุขหรือความทุกข์ดี ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเป็นการแสดงความสุขความทุกข์ปน ๆ กัน เช่นเดียวกับบทกวีจีนอื่น ๆ อีกหลายบทที่พูดถึงการเดินทาง การมีความสุขอยู่กับธรรมชาติ นกร้อง ป่าเขา แต่ในขณะเดียวก็มีความทุกข์คิดถึงบ้าน บทกวีสื่อให้รู้สึกถึงความต้องการที่จะแสวงหาอิสรภาพ ความงามของธรรมชาติอัน

(น.89) ยิ่งใหญ่แบบบทกวี Romantic หรืออาจกล่าวได้ว่าได้รับอิทธิพลความคิดลัทธิเต๋าแต่ก็ยังติดอยู่กับความรู้สึกต้องการสังคมที่มีระเบียบตามลัทธิขงจื้อ ความขัดแย้งในอารมณ์เช่นนี้เป็นเสน่ห์ของวรรณคดีอันเป็นเครื่องถ่ายทอดความคิดจิตใจของบุคคลต่อผู้อื่น รับประทานอาหารเช้าแล้วลงจากเรือ มีนายกเทศมนตรีนครว่านเซี่ยนชื่อ เว่ยอี้จาง มาต้อนรับ ชี้ให้ดูหอนาฬิกาซีซานซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมือง และชี้บริเวณริมแม่น้ำซึ่งจะถูกน้ำท่วม กลายเป็นวังใต้น้ำหลังโครงการเขื่อนซานเสีย ต้องสร้างเมืองใหม่อยู่ห่างจากเมืองเดิมประมาณ 10 กิโลเมตร มีรถมารับ ในรถนายกเทศมนตรีอธิบายว่า เขตการปกครองที่เป็นเมืองว่านเซี่ยนมีประชากร 4 แสนกว่าคน แต่ถ้านับคนในนครว่านเซี่ยนทั้งหมดที่อยู่ในเขตปกครอง 3 เขตใกล้เมือง 8 อำเภอ มีประชากรประมาณ 8,350,000 คน เป็นอันดับ 4 ของมณฑลเสฉวน ถนนที่รถกำลังแล่นอยู่ชื่อ เซิ่งลี่ เป็นเขตร้านขายของประเภทขายส่ง นครว่านเซี่ยนนี้มีฐานะทางการปกครองเท่ากับ ฝูหลิง และฉงชิ่ง ปัจจุบันมีความสำคัญยิ่งขึ้นเพราะมีโครงการเขื่อนซานเสีย คนภายในและภายนอกประเทศเข้ามาท่องเที่ยวและศึกษาวิจัยกันมาก รถเข้าถนนเตี้ยนเป้าลู่ เป็นถนนกลางเมือง แต่ก่อนถือว่าพัฒนาดี ตั้งแต่เริ่มการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ว่านเซี่ยนเป็นเมืองเปิด มีสำนักงานธุรกิจต่างประเทศมาตั้ง มีความก้าวหน้าด้านโทรคมนาคม รถผ่านศาลเจ้าเล่าปี่ ถึงโรงแรมไท่ไป๋(หมายถึง หลี่ไป๋) หลี่ไป๋ กวีที่มีชื่อในสมัยราชวงศ์ถังเคยมาแถวนี้ และเขียนบทกวีพรรณนาเมืองไว้ เป็นการประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้จักเมืองนี้

(น.90) นายกเทศมนตรีกล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปว่า นครว่านเซี่ยนเป็นประตูทางตะวันออกของมณฑลเสฉวน เป็นเมืองท่า 1 ใน 10 เมืองท่าสำคัญของแม่น้ำฉางเจียง นครว่านเซี่ยน 3 เขต 8 อำเภอ มีเนื้อที่ 29,485 ตารางกิโลเมตร เมืองนี้มีมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเมื่อ ค.ศ. 206 นานกว่า 1,700 ปีแล้ว เมืองนี้ชื่อว่า ว่านเซี่ยน หมายถึง เป็นเมืองที่มีแม่น้ำหมื่นสายมารวมกัน กวีโบราณไม่ว่าจะเป็นหลี่ไป๋ ตู้ฝู่ ล้วนเคยมาที่นี่ มีชาวต่างประเทศมาลงทุนตั้งแต่ ค.ศ. 1902 ขณะนี้คนมาสนใจโครงการซานเสีย นครนี้มีภาระอพยพหนักที่สุดในโครงการ เพราะต้องย้าย 1 เมือง 5 อำเภอ 70 ตำบล และโรงงาน 957 โรง คาดว่าปลาย ค.ศ. 2008 ต้องอพยพคนมากกว่า 8 แสนคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของโครงการอพยพทั้งหมด ทั้งรัฐบาลและประชาชนจีนสนับสนุนการก่อสร้างและนโยบายพึ่งตนเอง แม้ว่าจะได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลต่าง ๆ แนวทางการอพยพนั้น ประชาชนในท้องถิ่นชนบทมาทำงานเกษตรกรรมขนาดใหญ่ การพัฒนาการเพาะปลูก ตั้งโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเป็นโรงงานขนาดเล็ก ส่วนชาวเมืองให้มีกิจการด้านบริการ จะสะดวกสบายในการประกอบอาชีพและร่ำรวยขึ้น ก่อนอื่นเทศบาลจะต้องจัดโครงสร้างพื้นฐานให้ดี คือ สร้างถนน ระบบไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม สาธารณูปโภคอื่น ๆ แม้ว่าเป็นธรรมชาติที่คนเราจะติดที่อยู่เดิม แต่ถ้าจัดให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น เขาก็ยินดีอพยพ แม้แต่คนแก่อายุ 70 – 80 ที่ปกติไม่อยากไปไหน เมื่อพาไปดูบ้านใหม่ ยังพอใจที่จะย้ายไปพร้อมลูกหลาน การมาดูโครงการ

(น.91) ซานเสียจะเห็นได้ว่ามีประวัติที่เก่าเก่และอนาคตมีความหวัง นายกรัฐมนตรีหลี่เผิงมาตรวจการดำเนินงานการอพยพที่นี่ 4 ครั้งแล้ว การสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างได้เร็วขึ้น นอกจากนั้นจะสร้างทางรถไฟและสนามบิน นครนี้จะเจริญก้าวหน้าไปได้ไว เพราะอุดมด้วยแก๊สธรรมชาติและแร่เกลือ กิจการท่องเที่ยวเจริญ มีนักท่องเที่ยว 3 ล้านคน เรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวนั้นถือได้ว่าส่วนหนึ่งเรียนประสบการณ์จากไทย นักธุรกิจจากว่านเซี่ยนได้ไปประเทศไทยและมาบรรยายสภาพของประเทศไทยให้นายกเทศมนตรีฟัง คนจีนนิยมข้าวไทยมากด้วย มิตรภาพไทยจีนจะเจริญอยู่ตลอดไปเหมือนแม่น้ำแยงซี ข้าพเจ้าถามท่านนายกเทศมนตรีว่าท่านเป็นชาวเมืองนี้หรือเปล่า ท่านบอกว่า ท่านเป็นคนว่านเซี่ยนโดยกำเนิด กินน้ำแม่น้ำฉางเจียง แม่น้ำฉางเจียงสร้างเมืองนี้มา ประชาชนกินน้ำนี้ เลือกนายกเทศมนตรี ข้าพเจ้าถามว่าคำขวัญหน้าตึกริมน้ำ ท่านเป็นผู้คิดใช่ไหม ท่านนายกเทศมนตรีบอกว่าใช่ มีแนวคิดว่าการสร้างเมืองและการสร้างเขื่อนมีส่วนสัมพันธ์กัน เรียกร้องให้ประชาชนขยันและเป็นพลังร่วมกันสร้างประเทศชาติ จากนั้นไปที่ว่าการสำนักงานก่อสร้าง ข้างหน้ามีรูปปั้นบุคคล มีนายช่างส่องกล้องธีโอโดไลท์ อีกคนจด field book สถาปนิก คนกวาดพื้น ถือว่าเป็นคนสำคัญเพราะล้างหน้าให้เมืองและให้นายกเทศมนตรีด้วย


(น.92) รูป 82 หน้าที่ว่าการสำนักงานก่อสร้าง มีรูปนายช่างสำรวจ


(น.93) รูป 83 ไกด์บรรยายสรุปเรื่องผังเมืองใหม่

ข้างหน้าห้องโถงมีป้าย ไกด์บรรยายสรุปเรื่องผังเมืองใหม่ว่าโครงการซานเสียนี้มีคนสนใจมาก การสร้างถึงจะนำความเสียหายมาให้ แต่ก็นำโอกาสมาให้ด้วย ในวันแรกที่สร้างเสร็จจะเกิดเมืองใหม่ชื่อว่านโจว กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจพิเศษ ขณะเดียวกันเมืองนี้จะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกลือและแก๊สธรรมชาติด้วย

(น.94) ข้างในห้องมีผังทำเป็นรูปยาว ๆ รอบห้องแสดงแนวจุดน้ำ ปัจจุบันและจุดที่น้ำจะขึ้นถึง ในผัง (model) นั้นท่านนายกเทศมนตรีชี้อำเภอจงเซี่ยน บอกว่าที่นี่อาหารอร่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเต้าหู้ น้ำจะท่วมเป็นบางส่วน หวังว่าจะไม่ท่วมโรงงานเต้าหู้ ข้าพเจ้าทักว่าที่สือเป่าไจ้ตามที่แสดงในผังนั้นแนวน้ำท่วมต่ำเกินไป เมืองว่านเซี่ยนจะท่วม 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ กลางห้องเป็นโต๊ะทราย แสดงสภาพปัจจุบันและใน ค.ศ. 2010 ที่จะมีเมืองใหม่ มีสาขาของแม่น้ำฉางเจียง ชื่อ แม่น้ำจู้ซีไหลผ่าน แบ่งเป็นเขตหลงเป่า เทียนเฉิง และอู่เฉียว ในเขตอพยพจะเปิดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตัวเมืองเก่าหลงเป่า ถนนสาย 318 เป็นทางหลวงระดับชาติเชื่อมเซี่ยงไฮ้กับนครลาซา (ในทิเบต) มีสะพานข้ามแม่น้ำ อีกด้านเป็นแนวทางรถไฟผ่านต๋าเซี่ยนไปเฉิงตู จะสร้างสนามบินอู่เฉียวปีหน้า ใช้เวลา 2 ปี ที่ทำการเทศบาลจะไม่ย้ายเพราะน้ำไม่ท่วม


(น.94) รูป 84 รอบ ๆ ห้องแสดงระดับน้ำ


(น.95) รูป 85 โต๊ะทราย แสดงภาพปัจจุบันและอนาคตของเมืองว่านเซี่ยน


(น.96) รูป 86 สะพานโค้งที่กำลังสร้าง


(น.97) รูป 87 เสาสะพาน

(น.97) นั่งรถไปดูสะพานที่กำลังสร้าง ในรถนายกเทศมนตรีเล่าว่า เมืองนี้ในฤดูร้อน อุณหภูมิสูงสุด 40 องศาเซลเซียส หนาวที่สุด 5 องศาเซลเซียส จึงได้เปรียบในด้านการเพาะปลูก สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 3 ครั้ง ด้านอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมเคมี อาหาร ทอผ้า เครื่องกล ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา ปัจจุบันมีวัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ดินเผา พลาสติก เครื่องตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยว่านเซี่ยนเพิ่มการพัฒนาอบรมในด้านต่าง ๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดโครงการซานเสีย สะพานขนส่งทางบกนี้เป็นส่วนของถนน 318 ที่จะเชื่อมนครต่าง ๆ คือ ลาซา เฉิงตู ฉงชิ่ง ว่านเซี่ยน อู่ฮั่น หนานจิง (นานกิง) เซี่ยงไฮ้ เป็นโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม สะพานนี้ยาว 856 เมตร กว้าง 24 เมตร สูง 250 เมตร การสร้างใช้คอนกรีตเหล็กกล้า ข้ามแม่น้ำโดยใช้โครงสร้างโค้งเดี่ยว ยาว 420 เมตร โครงสร้างลักษณะนี้ในประเทศจีนที่นี่ใหญ่ที่สุด เท่าที่ท่านนายกเทศมนตรีทราบ ยูโกสลาเวียก็มีโครงสร้างแบบนี้ แต่ยาวเพียง 390 เมตร เขตสะพานนี้ต่อไปจะเป็นเมืองใหม่ เริ่มย้ายโรงงานเกลือมาทางนี้แล้ว กำลังสร้างโรงงานดินเผา ศูนย์พาณิชย์ และธนาคารประชาชน


(น.98) รูป 88 ติดป้ายให้ระวังอันตราย

(น.98) นอกจากนั้นยังมีแหล่งหินแร่เกลือ การทำเหมืองเกลือใช้วิธีการฉีดน้ำลงไป ล้างให้เกลือละลาย แล้วสูบขึ้นมา ชั้นหินเกลือหนา 158 เมตร เป็นพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร แก๊สธรรมชาติอยู่บริเวณที่เรียกว่า เกาเฟิงฉ่าง ห่างจากที่นี่ราว 18 กิโลเมตร อุดมมากมี 40 กว่าบ่อ ส่งทางท่อไปเฉิงตู ฉงชิ่ง นอกจากนั้นมีถ่านหินอุตสาหกรรมเคมีมีทำสีน้ำมันทาบ้าน การเพาะปลูกส้มเป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีส้มธรรมดา ส้มโอ ผ้าไหมของเมืองนี้มีคุณภาพเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยว 127 แห่ง เปิดให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวได้แล้ว 50 กว่าแห่ง มีศาลเจ้าเล่าปี่มอบบุตรให้ขงเบ้งที่ไป๋ตี้เฉิง เป็นต้น

Next >>