Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2539 "


(น.170) รูป 158 หินสลักรูปจิวยี่

(น.170) ไกด์อธิบายว่าชื่ออำเภอผู่ฉีเป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่ง เป็นหญ้าสิริมงคล แม้แต่ใช้เขียนภาพ ปีศาจก็ไม่กล้ามา นอกจากนั้นยังใช้สานตะกร้าได้ พูดไปพูดมากลายเป็นว่า เถาไม้ที่เขาทึ้งมาให้ตอนมาถึงที่นี่ใหม่ ๆ นั่นเอง ดูเหมือนย่านลิเภา มีต้นปอชนิดหนึ่งอยู่ ไม้ไผ่ก็มีมาก มีสวนชา ที่หูเป่ยมีต้นกีวี ไปที่มีหินสลักรูปจิวยี่ (เรารู้กันแล้วว่าถูกขงเบ้งหลอก เสียใจจนรากเลือดตาย) จิวยี่นี้ ตามประวัติว่าเป็นคนรูปหล่อ แต่ใจแคบ เป็นคู่แค้นของขงเบ้ง รูปหินแกรนิตสลักนี้สูง 9 เมตร หนักสิบตัน เดินไปริมน้ำ ที่จริงควรจะมองเห็นตัวหนังสือเขียนชื่อ ชื่อปี้ เผอิญที่นี่เป็นที่น้ำท่วมมาก มีศาลาอี้เจียงถิง เพราะว่าภูเขาตรงนี้รูปร่างเหมือนปีกนก ข้าง ๆ ทางมีคนดูโหงวเฮ้งอยู่หลายเจ้า แต่ไม่ได้ลองดู


(น.171) รูป 159 ศาลาอี้เจียงถิง

อีกฝั่งเป็นเมืองอูหลิง ที่ตั้งทัพโจโฉ เมืองอูหลิงนี้แบ่งเป็นสามส่วน คือตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลาย เรือรบโจโฉอยู่แถวอูหลิง ตอนต้นโจโฉก็มาฝึกเรือแถวนี้ ลำใหญ่จอดด้านนอก ลำเล็กอยู่ด้านใน จิวยี่แอบดูอยู่อีกฝั่ง น้ำตรงนี้เป็นน้ำหมุน เรือถูกเผา ศพลอยอยู่บริเวณนี้ ไม่ไหลไปที่อื่น แถวนี้มีที่ฝั่งศพม้า ขุดไปพบกระดูกม้า ข้าพเจ้าเห็นจะไม่เขียนเล่าเรื่องโจโฉแตกทัพเรือในที่นี้ เพราะยาวมาก ถ้าผู้อ่านสนใจ อ่านในสามก๊กได้ ใกล้ ๆ แถวนี้ มีวนอุทยานน้ำ เรียกว่า วนอุทยานลู่สุ่ย เป็นชื่อของขุนพลก๊กซุนกวน ซึ่งมาเลี้ยงม้าแถวนี้ ประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ 600 กว่าเกาะ มีรูปต่าง ๆ บริเวณประมาณ 110 ตารางกิโลเมตร มีทะเลสาบซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำฉางเจียง มีน้ำพุร้อนเป็นน้ำแร่ซึ่งแก้เบาหวาน แก้ความดันสูง มีบ้านพัก 3 ดาว ท่าเทียบเรือทำเป็นรูปเรือบัญชาการของจิวยี่ หลังคามีรูปนกจูช่วย เป็นนกสีแดง ก่อนกลับ เขาให้ของขวัญเป็นใบชาและแสตมป์รูปสามก๊ก

(น.172) ขึ้นไปบนเรือ ครูหวางเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่จดไว้มาให้ แล้วบ่นว่าเสียดายที่เวลาในแต่ละแห่งน้อยเกินไป หาข้อมูลไม่ค่อยทัน ครูได้ไปสัมภาษณ์คนโน้นคนนี้และเก็บข้อสังเกตไว้ ข้อมูลมากจริง ๆ เวลาจะเขียนต้องหาข้อมูล ลมแรงมาก สักประเดี๋ยวฝนตกแรง เลยชมวิวอยู่ในห้อง ทิวทัศน์ดูแปลกเหมือนกัน ทำคันกั้นน้ำเอาไว้ปลูกต้นไม้บนคัน อาจารย์สารสินแต่งกลอนภาษาจีนมาได้อีกบทแล้ว บ่ายสองโมงถึงนครอู่ฮั่น ที่ท่าเรือมีปั้นจั่นเยอะแยะ เห็นหอสูงคงเป็นหอโทรคมนาคม หอนกกระเรียนเหลือง เป็นหอแบบจีน เมื่อเรือเทียบท่ามีมาดามเกา รองเลขาธิการมณฑลหูเป่ยมาต้อนรับ มาดามเป็นชาวอู่ฮั่น เพิ่งกลับมาจากต่างจังหวัด ไปช่วยน้ำท่วม นครอู่ฮั่นนี้แบ่งออกเป็น 3 เมือง คือ ฮั่นโข่ว (ฮันเค้า) ฮั่นหยางและอู่ชาง ท่าเรือนี้อยู่ในเมืองฮั่นโข่ว ส่วนหอสูงหวงเฮ่อ (นกกระเรียนเหลือง) อยู่ที่เมืองอู่ชาง ยืนอยู่บนหอนั้น จะมองเห็นเมืองได้ทั้ง 3 ส่วน ที่ท่าเรือมีตึกศุลกากร ซึ่งเป็นตึกเก่าแก่ มาดามเล่าว่าตอนน้ำท่วมนับว่าสูญเสียมาก ในเมืองไม่ท่วมเพราะมีคันกั้นน้ำและกระสอบทราย แต่ชนบทและชานเมืองเสียหายมาก เพราะที่อู่ฮั่นนี้เป็นจุดรวมของน้ำทั้งฉางเจียงและฮั่นสุ่ย น้ำท่วมทุกปีไม่มากก็น้อย (ตอนที่น้ำท่วมข้าพเจ้าดูข่าวโทรทัศน์ ในข่าวก็พูดอย่างนี้เหมือนกัน ไม่ทราบว่าที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ต่ำกว่าที่อื่นหรือไม่) มีคันกั้นน้ำ 70 กว่าแห่ง แต่ปีนี้น้ำท่วมมากสูงกว่าคันกั้นน้ำบ้านเรือนไร่นาของประชาชน พวกชาวบ้านที่มีญาติอยู่ที่อื่นที่น้ำไม่ท่วมก็ไป

(น.173) อยู่กับญาติ บางคนก็เข้าเมืองไปนอนตามโรงเรียน เคราะห์ดีโรงเรียนปิด น้ำที่ท่วมนั้นเขาว่ามาจากฝนที่ตกหนักมากในเดือนกรกฎาคม น้ำท่วมมากมาประมาณเดือนหนึ่งแล้ว ฝนตกมากแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 100 ปี (คงเหมือนกับที่เราเรียกว่า ฝนพันปี) น้ำท่วมใหญ่ ค.ศ. 1931 ดูตามบันทึกฝนไม่ตกหนักเท่าปีนี้ แต่คนตายถึง 140,000 คน ปีนี้คนตายกว่า 600 คน น้ำท่วมใน ค.ศ. 1931 เจียงไคเช็คมาตรวจสถานการณ์เอง จับผู้นำท้องถิ่นเข้าคุก คราวนี้ดูแลไม่ให้ใครอดตาย ปัญหาคือ ข้าวสารสำหรับแจก เท่าไร ๆ ก็ไม่พอ เกิดโรคต่าง ๆ ต้องเอาหน่วยแพทย์ไปช่วย ต้องพยายามแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โรงเรียนก็ใกล้จะเปิดแล้ว ต้องเตรียมให้เด็กเรียนหนังสือได้ การเกษตรปีนี้เก็บเกี่ยวไม่ได้เลย เพราะน้ำท่วมหลายครั้งต้องรอปีหน้า จะต้องใช้วิธีให้ชาวบ้านมีรายได้จากอาชีพอื่น เช่น งานอุตสาหกรรม โรงงานเหล็กของอู่ฮั่นใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน นอกจากนั้นยังมีการประกอบรถยนต์ โรงงานทอผ้า สองสามปีมานี้อุตสาหกรรมเคมีก้าวหน้าเร็วมาก ข้ามสะพานฮั่นสุ่ยเฉียวซึ่งเชื่อมฮั่นโข่วกับฮั่นหยาง ฮั่นหยางมีโรงงานทำอาวุธสมัย ค.ศ. 1910 – 1920


(น.174) รูป 160 หอนกกระเรียนเหลือง


(น.175) รูป 161 ข้างในมีแผ่นกระเบื้องเขียนรูปนกกระเรียนดั้นเมฆตามนิทานโบราณ

(น.175) ข้ามสะพานแม่น้ำฉางเจียง เป็นสะพานใหญ่มาก ท่านประธานเหมาเคยแต่งบทกวีชมสะพานนี้ เข้าเขตอู่ ถึงหอนกกระเรียนเหลือง สูง 5 ชั้น หอที่เห็นนี้สร้างขึ้นใหม่ เริ่มสร้าง ค.ศ. 1981 สร้างเสร็จ ค.ศ. 1985 คนออกแบบชื่อ เซียงซิงหวง คนตกแต่งภายในชื่อ เจิ้งจิ่งหมิง ผู้ควบคุมการก่อสร้างชื่อ จางเซียง หน้าประตูมีลายมือของเจ้าผู่ชู ข้างในมีแผ่นกระเบื้องเขียนรูปนกกระเรียนดั้นเมฆตามนิทานโบราณ

(น.176) เดินขึ้นชั้น 2 มีร้านน้ำชาสำหรับนักท่องเที่ยว ถึงชั้น 2 โผล่หน้าต่างดู เห็นยอดเจดีย์ทำด้วยสำริด ไกด์อธิบายว่าเป็นยอดหอนกกระเรียนเหลืองตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง หอพังไปแล้ว เหลือแต่ยอดแค่นี้เอง หอนี้พังไปสร้างใหม่ทุกราชวงศ์ ถือเป็นเรื่องแปลก สร้างครั้งแรกสมัยสามก๊ก ค.ศ. 223 ซุนกวนสร้างเอาไว้ดูศัตรู ตอนนี้รอบ ๆ หอเป็นสวนสาธารณะกระเรียนเหลือง มองออกไปเห็นอาคารทรงจีนชื่อ อาคารเมฆขาว (ไป๋หยุน) มีเอ่ยถึงในบทกวีสมัยราชวงศ์จิ้น เดิมชื่อหอใต้ (หนานโหลว) เพิ่งเรียกหอเมฆขาวเมื่อสมัยราชวงศ์หมิง ที่จริงกวีขึ้นไปแต่งบทกวีที่หอเมฆขาว ไม่ใช่ที่หอนกกระเรียนเหลือง


(น.176) รูป 162 อาคารเมฆขาว


(น.177) รูป 163 หอนกกระเรียนเหลืองสมัยราชวงศ์ซ่ง

(น.177) ไปที่ห้องหนึ่ง ซึ่งทำหอจำลองนกกระเรียนเหลืองในสมัยต่าง ๆ เล่าประวัติว่าหอนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสามก๊กประมาณ ค.ศ. 223 ซุนกวนสร้างเป็นหอดูข้าศึก เขาเล่าเรื่องสามก๊กตอนเล่าปี่ตีกังตั๋ง เรื่องกวนอูฆ่าตัวตาย
สมัยราชวงศ์ถัง เป็นสถานที่ใหญ่โตหรูหรา มีหลายตึก
สมัยราชวงศ์ซ่ง ก็ใหญ่เหมือนราชวงศ์ถัง
สมัยราชวงศ์หยวน ใช้ในทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริงคือ เอาไว้ดูข้าศึก


(น.178) รูป 164 หอนกกระเรียนเหลืองสมัยราชวงศ์หมิง

(น.178) สมัยราชวงศ์หมิง เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพในจีน เพราะว่าถูกเผาไปบ่อย ๆ เมื่อใดที่สร้างขึ้นมาและอยู่ได้ แสดงว่าประเทศสงบสุขและมั่นคง สมัยราชวงศ์ชิง ที่เราเห็นยอดหลังคาตั้งไว้ในสวน หอปัจจุบันคล้ายสมัยราชวงศ์ชิงมากที่สุด


(น.179) รูป 165 ประวัติหอนกกระเรียนเหลือง

(น.179) ฝาห้องติดลายมือเขียนต่าง ๆ มีบทประพันธ์ของนักปราชญ์สมัยราชวงศ์ถัง ใช้ตัวอักษร 246 ตัว รำลึกถึงการสร้างหอนี้ในสมัยราชวงศ์ถัง มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับประวัติของหอนี้ไว้ด้วย เดินขึ้นมาถึงข้างบน ได้เห็นว่าหอนี้สร้างด้วยเหล็กกล้าผสมคอนกรีต แม้แต่หน้าต่างประตูก็เป็นเหล็กดัด แต่ทำเหมือนไม้ทาสีแดงแบบเก๋งจีน มีรูปกวีต่าง ๆ เช่น ลู่โหยว สมัยราชวงศ์ซ่ง งักฮุย (เยว่เฟย) สมัยราชวงศ์ซ่ง เลี้ยงเสือดำ ที่จริงไม่ได้มีประวัติว่างักฮุยเลี้ยงเสือดำ แต่เป็นการเปรียบเทียบว่าสังคมมืดมิด สมัยราชวงศ์ถังมีกวี เช่น เมิ่งฮ่าวหราน หลี่ไป๋ ตู้ฝู่ ตู้มู่ ชุยเฮ่า หวังเหวย ไป๋จูอี้ กวีแต่ละคนก็มีบทกวีที่คนเองแต่งเขียนไว้ ทุกคนเขียนบทกวีเกี่ยวกับหอนกกระเรียนเหลืองนี้ บทที่ข้าพเจ้าท่องได้เป็นของหลี่ไป๋ แต่หลี่ไป๋เองก็ยอมแพ้บทของชุยเฮ่า

Next >>