Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2539 "


(น.262) รูป 242 ที่สนามบินเซี่ยงไฮ้ มาดามจั่วหวนเฉินรองนายกเทศมนตรีมารับ
(น.263) วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2539
รับประทานอาหารเช้า แล้วไปสนามบินขึ้นเครื่องบินสายการบิน China Eastern 5512 ไปเซี่ยงไฮ้ ใช้เวลาบินไม่ถึงชั่วโมง เมื่อไปถึงที่เซี่ยงไฮ้ มาดามจั่วห่วนเฉิน รองนายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้มาต้อนรับ แต่ก่อนมาดามเคยเป็นอาจารย์ด้านกายวิภาคอยู่ที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขณะนี้รับผิดชอบงานด้านสาธารณสุข ผังเมือง และการโยธา เป็นรองนายกเทศมนตรีหญิงคนเดียวในแปดคน มาดามเล่าว่าเซี่ยงไฮ้เปิดเมืองเมื่อ ค.ศ. 1990 ให้มีการลงทุนตั้งแต่นั้นนครก็เจริญขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก ค.ศ. 1992 เริ่มสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษผู่ตง เพื่อให้เซี่ยงไฮ้เป็นหัวมังกรนำเศรษฐกิจจีนให้ก้าวหน้า ฉะนั้นจึงต้องมีการสร้างถนนหนทาง เช่น ทางยกระดับซึ่งสร้างยังไม่เสร็จ ตึกใหม่ ๆ ก็มีมากมาย ต้องย้ายชาวบ้านออกไปอยู่ชานเมืองเป็นจำนวนมาก แม่น้ำหวงผู่แบ่งเมืองออกเป็นสองด้านคือ ผู่ซีซึ่งเป็นเมืองเก่า และผู่ตงซึ่งเป็นเมืองใหม่ เมืองอื่น ๆ สองฝั่งแม่น้ำมักจะเจริญเท่า ๆ กัน แต่ที่เซี่ยงไฮ้นี้ ผู่ซีเจริญมาก่อน การพัฒนาเป็นเมืองใหม่จึงทำได้ยาก ขณะนี้จึงพัฒนาเขตผู่ตง มีสะพานและอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำ ทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น แต่ก่อนต้องใช้เรือข้ามฟากอย่างเดียว มีท่าเรือถึง 24 ท่า


(น.264) รูป 243 ที่ทำการของศุลกากรและโรงแรมสันติภาพ
(น.264) ในด้านการศึกษา ที่เซี่ยงไฮ้นี้มีมหาวิทยาลัยมาก จนคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้อาจจะคะแนนต่ำกว่าที่อื่น ไปถึงโรงแรมจิ่นเจียง (ใหม่) ถนนฉางเล่อ เป็นโรงแรมใหญ่มาก ห้องที่ให้ข้าพเจ้าอยู่นั้นใหญ่โตเสียจนเดินหลงทาง มีห้องนอน ห้องน้ำสองห้อง ห้องเขียนหนังสือกับรับแขก ห้องเขียนหนังสือเฉย ๆ ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว ดูก็กว้างขวางดี แต่เดินหลงทางได้ง่าย เดินมาคนละทางก็ไม่เห็นกัน จึงมักจะชนกัน รับประทานอาหารกลางวันแล้วไปท่าเรือไว่ทัน ลงเรือล่องแม่น้ำหวงผู่ เรือลำนี้มีชื่อว่าโหยวเห่า แปลว่า มิตรภาพดี ผู้นำจีนเคยนั่งเรือลำนี้ เช่น ท่านเติ้งเสี่ยวผิง นายกรัฐมนตรีหลี่เผิง ท่านประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน มีภาพถ่ายเติ้งเสี่ยวผิงนั่งเรือนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1992

(น.265) แม่น้ำหวงผู่ไหลมาจากทะเลสาบไท่หูในเมืองหังโจว ไหลผ่านเซี่ยงไฮ้ แบ่งนครเซี่ยงไฮ้ออกเป็นสองฝั่งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำ เห็นที่ทำการของศุลกากร (ไห่กวน) และโรงแรมสันติภาพ แต่ก่อนเป็นอาคารที่ชาวอังกฤษชื่อวิกเตอร์ แซสซูน มาสร้างใน ค.ศ. 1928 ต่อไปเป็นธนาคารแห่งประเทศจีน มีคนเล่าว่าตั้งใจสร้างให้สูงกว่าอาคารของชาวต่างประเทศคือ โรงแรมสันติภาพ ฝั่งขวามีอนุสาวรีย์ปลดแอก และหอไข่มุกตะวันออก ผ่านปากแม่น้ำซูโจวซึ่งไหลมาบรรจบกับแม่น้ำหวงผู่ แม่น้ำหวงผู่นี้ยาวราว 114 กิโลเมตร กว้างราว 500 เมตร ลึกราว 9 เมตร เรือหนัก 20,000 ตันผ่านได้


(น.265) รูป 244 นั่งเรือชมทิวทัศน์เห็นหอไข่มุกตะวันออก

(น.266) เรื่องแม่น้ำซูโจวนี้เผอิญข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการประชุมเรื่อง “ภูมิศาสตร์กับการพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ศาสตราจารย์เฉินซู่เผิงได้กล่าวถึงปัญหามลภาวะในเขตชายฝั่งทะเลว่า เป็นปัญหาที่หนักขึ้นเนื่องจากความหนาแน่นของประชากร แต่ก่อนนี้วิธีกำจัดน้ำเสียที่ดีที่สุดคือการระบายลงทะเล ที่เซี่ยงไฮ้มีการวางท่อระบายน้ำเสียลงทะเล มองดูภายนอกแม่น้ำซูโจวสะอาดขึ้นและสิ่งแวดล้อมในเมืองก็ดูดีขึ้น ที่จริงแล้วเกิดปัญหาใหม่คือ น้ำเสียทำลายระบบนิเวศน์ของทะเลบริเวณเกาะเซิงซือ (Shengsi) ปลาที่จับได้มีโลหะหนัก ถูกส่งเข้าไปขายตลาดเซี่ยงไฮ้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน


(น.266) รูป 245 เรือในน้ำ

(น.267) ตอนนี้มีเรื่องประวัติศาสตร์เล่าแทรกว่า แต่เดิมเป็นเมืองท่าไม่ได้อยู่ตรงนี้ อยู่ลึกไปอีก ในสมัยชุนชิว จ้านกว๋อ สองพันกว่าปีมาแล้วมีขุนนางชื่อ ชุนเฉินจุน นำทหารมาขุดคลอง ชื่อจริงของขุนนางผู้นี้คือ หวงเจี๋ย คนทั้งหลายจึงเรียกคลองหรือแม่น้ำนี้ว่า หวงเจี๋ยผู่ หรือ หวงผู่ คำว่า ผู่ เป็นภาษาโบราณ แปลว่า แม่น้ำ คำอธิบายชื่อแม่น้ำนี้มีอีกอย่างคือ สมัยก่อนเรียกแม่น้ำที่ไหลจากตะวันออกไปตะวันตกว่า เจียง แม่น้ำที่ไหลจากเหนือลงใต้เรียกว่า ผู่ เนื่องจากแม่น้ำนี้ไหลทางขวางซึ่งภาษาจีนเรียกว่า เหิง แปลว่า ขวาง จึงเรียกว่า เหิงผู่ ต่อมาเพี้ยนเป็น หวงผู่ ที่เซี่ยงไฮ้มีสะพานใหญ่อยู่ 3 แห่ง เป็นสะพานแขวน แห่งแรกชื่อ สะพานหยางผู่ มีลวดขึงเป็นรูปตัวเหริน (人) สะพานที่สอง คือ สะพานหนานผู่ ลวดขึงเป็นรูปตัว H สะพานที่สาม คือ สะพานสูว์ผู่ นอกจากนั้นยังมีสะพานอีกแห่งอยู่ชานเมืองเซี่ยงไฮ้ ใช้งบประมาณของอำเภอเฟิ่งเซี่ยนสร้าง จึงเรียกว่า สะพานเฟิ่ง เมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองสำคัญที่สุดทางด้านอุตสาหกรรม เพราะนอกจากจะมีสถานีกำเนิดไฟฟ้าหลายโรงแล้ว (โรงไฟฟ้าเก่า ๆ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง แต่โรงใหม่ใช้น้ำมัน) ยังมีโรงงานแก๊สธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานเหล็กกล้า โรงงานอุตสาหกรรมเบา เช่น โรงงานอาหารนมที่ดีที่สุด มีอู่ต่อเรือขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง (ที่สำคัญ 6 แห่ง) เรือหลวงสิมิลันก็ต่อที่เซี่ยงไฮ้ นอกจากนั้นยังเป็นท่าเรือที่สำคัญ เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างเมืองสำคัญ ๆ ในเอเชียแปซิฟิกคือ ฮ่องกง ไต้หวัน กรุงเทพฯ

(น.268) แม่น้ำหวงผู่บรรจบกับแม่น้ำฉางเจียงที่ปากน้ำอู๋ซง บริเวณนั้นมีประภาคารสีขาวสลับแดง สีของน้ำก็ผิดกันมาก แม่น้ำหวงผู่สีเขียวใส ในขณะที่แม่น้ำฉางเจียงขุ่นสีเหลือง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับแม่น้ำใหญ่ ๆ ในแม่น้ำมีเรือสินค้าของประเทศต่าง ๆ จอดอยู่ มีเรือของกองทัพเรือจีน เรือขุดตะกอนลำใหญ่ที่สุดของโลก เรือขนถ่านหิน เรือพ่วง ฯลฯ ที่ดินในเซี่ยงไฮ้แพงมาก ทุกตารางเมตรมีราคามหาศาล แต่เนื่องจากจีนมีนโยบายทำให้เมืองเป็นสีเขียว เมืองเซี่ยงไฮ้จึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกต้นไม้ ปลูกมา 40 ปีแล้ว บัดนี้กลายเป็นสวนป่าที่สวยงาม ที่ปากน้ำมีท่าเรือปลอดภาษี มองเห็นเกาะฉางซิง เป็นแหล่งปลูกส้มที่มีชื่อเสียง และถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย ขณะนี้ดอกส้มกำลังบาน ไม่ใช่ฤดูที่ส้มออกผล เวลาส้มออกผลทางการท่องเที่ยวจัดเทศกาลส้ม ต่อสะพานเข้าไปถึงในสวนส้ม มีเกาะอีกเกาะเป็นเกาะของจีนที่ใหญ่เป็นที่ 3 รองจากไต้หวันและไหหลำ ที่ปากน้ำอู๋ซงนี้เป็นฐานทัพที่ 81 (ตึกที่มีดาวแดงติด) ในสมัยสงครามโลก ญี่ปุ่นเข้าโจมตีเซี่ยงไฮ้ตรงนี้ เราขึ้นจากเรือที่ท่าอู๋ซงนี้ นั่งรถไปอู่เรือหู้ตง ดูเรือ ร.ล. สิมิลัน เขาให้ไปเฉพาะคนไทย เจ้าหน้าที่จีนที่ตามข้าพเจ้านั้นก็ให้หงเอี้ยนคนเดียว


(น.269) รูป 246 แล่นผ่านเรือสิมิลัน


รูป 247 เยี่ยมเรือสิมิลัน

(น. 270) ร.ล. สิมิลันนี้เป็นเรือส่งกำลังบำรุงที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือ ใช้เวลาต่อเกือบสองปี จะกลับเมืองไทยเร็ว ๆ นี้ เมื่อไปถึงเจ้าของอู่ต่อเรือ (บริษัทไชน่าสเตทชิปบิลดิ้ง) จัดสิงโตและตีม้าล่อต้อนรับ น.อ. ไชยยศ สุนทรนาค ร.น. และผู้แทนกองทัพเรือพาดูเรือ ดูเรือครู่ใหญ่ ถ่ายภาพหมู่กับข้าราชการกองทัพเรือที่ปฏิบัติราชการบน ร.ล. สิมิลันนี้ แล้วกับไปโรงแรม เนื่องจากคืนพรุ่งนี้มีเวลาว่างที่จะเลี้ยงขอบคุณฝ่ายจีนเพราะเป็นคืนสุดท้าย พอดีตรงกับวันเกิดดร.สุเมธ ก็ต้องมีการเตรียมการกันหน่อย มีการสั่งเค้กจีน ข้าพเจ้าต้องทำการ์ดวันเกิดและซองก็เขียนเอาตรงนั้นเอง มีกระดาษที่น้อยซื้อมาเมื่ออยู่หวงซาน พอดีข้าพเจ้ามีพู่กันและสีติดมาด้วยก็เลยเขียนรูปได้ ตัดรูปจากแมกกาซีนจีนประกอบ แล้วล่าลายเซ็นทุกคนทั้งไทยและจีน ตอนค่ำราวหกโมงครึ่งไปที่ห้องอาหารชั้น 4 พบกับท่านนายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้ชื่อ สูว์ควงตี๋ ท่านนาย ฯ อายุ 58 ปี เคยเป็นอาจารย์ด้านโลหวิทยา ท่านบอกว่า ท่านได้เห็นข้าพเจ้าในโทรทัศน์เมื่อข้าพเจ้าไปเปิดโรงงานเหล็กกล้าที่เมืองไทยซึ่งไทยและจีน (จากเซี่ยงไฮ้) ลงทุนร่วมกัน ท่านอธิบายว่ามหานครเซี่ยงไฮ้นั้นเป็นเมืองใหญ่ มี 5 เขตในเมือง และมีอีก 6 อำเภอ ประชากร 13 ล้านคน มีเนื้อที่ประมาณ 6,430 ตารางกิโลเมตร เศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้แต่เดิมพัฒนาแต่เพียงเขตตะวันตก แต่หลังจากใน ค.ศ. 1992 ท่านเติ้งเสี่ยวผิงมาเยี่ยมเซี่ยงไฮ้ สั่งให้พัฒนาด้านตะวันออกด้วยคือแถบผู่ตง กล่าวได้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา 4 ปีนี้ เซี่ยงไฮ้เจริญเร็วมาก แต่ก่อนอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่อื่น 1 – 2% แต่ปัจจุบันนี้เจริญโดยเฉลี่ย 14% ที่เจริญแบบนี้เพราะให้ชาวต่างประเทศเข้ามา

(น.271) ร่วมลงทุน แต่ก่อนนี้สินค้าประมาณ 75% อยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐบาล เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางการค้า ปัจจุบันรัฐบาลลดการควบคุม จะมาเกี่ยวข้องก็เฉพาะค่าเช่าบ้าน ค่าไฟฟ้า อาหารบางประเภทที่ยังจำเป็นต้องควบคุมราคา เช่น นมซึ่งเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กและคนชรา สินค้าประมาณ 80% ผลิตในเซี่ยงไฮ้ สินค้าประมาณ 97% ที่เซี่ยงไฮ้กำหนดราคาเองโดยไม่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล ระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมานี้มีการลงนามในสัญญาเกี่ยวกับการทำธุรกิจในเซี่ยงไฮ้มากถึง 341 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากเปิดผู่ตงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว มีปัญหาหลายประการ ท่านนายกเทศมนตรีกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นมิตรที่ดีของประเทศจีนและเสมือนเป็นญาติ จึงมีความประสงค์จะเล่าถึงปัญหาต่าง ๆ ด้วยนอกเหนือจากเรื่องความสำเร็จ กล่าวคือ การพัฒนาเขตพิเศษผู่ตงต้องย้ายคนมากถึง 1.2 ล้านคนให้ไปอยู่ที่อื่นที่ไกลออกไป การวางแผนเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนที่ถูกย้ายก็ทำยากเพราะทุกคนย่อมชอบอยู่ที่เจริญ ไม่ชอบอยู่ที่ห่างไกล ทางการต้องจัดบริการด้านการศึกษาและการสาธารณสุขให้ดี นอกจากนั้นคนจีนชอบอยู่ในเมืองชอบสนุก ตอนเย็นก็ชอบไปนั่งอยู่ที่โรงน้ำชา ไม่เหมือนคนในยุโรปหรืออเมริกาที่ชอบอยู่ชานเมือง (ลืมถามว่าเรื่องนี้แก้อย่างไร) ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องผู้ใช้แรงงาน เมื่อมีการปรับปรุงโครงสร้างของอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ใช้แรงงานตกงานมากถึง 870,000 คน รัฐบาลพยายามแก้ไขเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว จัดหางานให้คนประมาณ 670,000 คน อีกสองแสนคนยังไม่เรียบร้อย เมื่อเทียบกับเมืองอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ยังนับว่ามีผู้ใช้แรงงานไม่มาก

(น.272) ประมาณ 4% เท่านั้น แต่เป็นคนอยู่ในวัย 35 – 45 ปี มีภาระเป็นหัวหน้าครอบครัว อีกปัญหาคือ เซี่ยงไฮ้มีประชากรหนาแน่น ฉะนั้นจึงมีมลภาวะมาก พยายามแก้ปัญหาดังนี้ เทศบาลพยายามรณรงค์ให้รถที่แล่นในเมืองหรือในเขตใหญ่ ๆ ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว (จะให้ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วให้หมดในศตวรรษนี้) และไม่ให้ใช้จักรยานยนต์ที่ใจกลางเมือง คือไม่อนุญาตให้จดทะเบียนจักรยานยนต์ในเมือง (ในเขตเทศบาล?) และต้องใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว อุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินก็จะพยายามให้เลิก บังคับให้โรงงานมีมาตรการกำจัดมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหวงผู่และแม่น้ำซูโจว (ในเซี่ยงไฮ้มีโรงงานประมาณ 800 โรง) ตอนนี้แม่น้ำซูโจวมีปัญหาเรื่องมลภาวะมาก ภายในศตวรรษนี้จะต้องให้ชาวเซี่ยงไฮ้ทุกคนมีที่พักอาศัยครอบครัวละ 10 ตารางเมตรให้ได้ ใน ค.ศ. 1990 มีครอบครัวละ 6.6 ตารางเมตร ท่านนายกเทศมนตรีอยากไปกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ พอดีท่านทูตถือหนังสือเชิญมาด้วย


(น.273) รูป 248 นายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้เลี้ยง

(น.273) จากนั้นไปนั่งที่โต๊ะอาหาร มีอาหารอร่อย ๆ หลายอย่าง เช่น ซุปอยู่ในซาลาเปา เป็ดปักกิ่ง แต่รสชาติไม่เหมือนเป็ดที่ปักกิ่ง มีลักษณะเฉพาะ ท่านนายกเทศมนตรีพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก ท่านบอกว่าเมื่อตอนยังหนุ่มอายุ 20 กว่า ๆ ได้ทุนไปเรียนที่ Imperial College ในกรุงลอนดอน หลังจากนั้นได้อาศัยดูโทรทัศน์ทบทวนภาษา ท่านเป็นคนเซี่ยงไฮ้ แต่ไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ภริยาท่านไม่ชอบปักกิ่ง เห็นจะเป็นเพราะปักกิ่งสมัยก่อนเป็นเมืองเรียบ ๆ ไม่มีอะไร ส่วนเซี่ยงไฮ้นั้นเจริญมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยฝรั่งยังอยู่ ระหว่างที่รับประทานอาหารอยู่นี้ก็มีคนดีดเปียโนเป็นเพลงฝรั่ง เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว คุยกับครูหวางพักหนึ่งเรื่องขอให้ครูช่วยหาข้อมูลเรื่องต่าง ๆ แล้วทดลองลงไปที่ห้อง fitness ในโรงแรมนี้ ตู่บ่นว่าที่จริงวิ่งหรือออกกำลังกายโดยไม่ใช้เครื่องดีกว่าไม่ต้องเสียเงิน ข้าพเจ้าก็ว่าอย่างนั้น แต่ที่เขาทำไว้แบบนี้มันก็สะดวกสำหรับในสถานที่ที่ออกไปวิ่งข้างนอกไม่ได้