Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2539 "

(น.274) วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2539
เมื่อคืนนี้นอนไม่ดี รู้สึกจะป่วยอะไรสักอย่าง เห็นจะเป็นเพราะจวนกลับหมดแรงแล้ว รับประทานอาหารเช้าที่ภัตตาคารหมุน เช้านี้ไปพิพิธภัณฑ์หลู่ซุ่น ชีวิตของหลู่ซุ่นน่าสนใจ ข้าพเจ้าจึงขอนำมาเขียนตามที่จดมา หลู่ซุ่น (ค.ศ. 1881-1936) เป็นนักเขียน นักปรัชญา นักปฏิวัติชาวจีน เกิดที่อำเภอเช่าซิง มณฑลเจ้อเจียง ใน ค.ศ. 1881 ชื่อจริงของเขาคือ โจวซู่เหริน มารดาเป็นคนแซ่หลู่ ฉะนั้นเขาจึงใช้นามปากกาว่า หลู่ซุ่น เมื่อเขาเกิดมาครอบครัวมีฐานะดี แต่เมื่ออายุได้ 13 ปี คุณปู่ถูกจับติดคุกและคุณพ่อป่วยหนัก ต้องขายที่ ทำให้ฐานะทางบ้านยากจนลง นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หลู่ซุ่นรู้สึกว่า สังคมชั้นสูงมีแต่สิ่งจอมปลอมและการคดโกง เขาจึงมีความคิดที่จะพัฒนาชาติ หลู่ซุ่นเริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุ 7 ปี โดยเรียนที่บ้านของยายในชนบทและสถานสอนหนังสือซานเว่ยซูอู ในสมัยนั้นชาวจีนมีความ

(น.275) ยึดมั่นในหลักปรัชญาของขงจื้อ หลู่ซุ่นก็ต้องเรียนความคิดของขงจื้อเหมือนเด็กจีนทุกคน แต่สิ่งที่เขาสนใจมากกว่าก็คือ นิทานพื้นบ้านต่าง ๆ และประวัติศาสตร์ฉบับราษฎร์ เช่น หนังสือซือจิง หนังสือซานไห่จิง ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับภูเขาและทะเล แต่จะแทรกเรื่องเทพเจ้าและสัตว์ประหลาด ล้วนมีอิทธิฤทธิ์ เรื่องไซอิ๋ว เรื่องฮวาจิ้ง สถานที่ที่เขาเรียนมีลูกชาวไร่ชาวนาเรียนอยู่ด้วย ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้ และรู้เรื่องที่ชาวนาถูกกดขี่ข่มเหง สิ่งแวดล้อมเช่นนี้อาจมีอิทธิพลต่องานเขียนของเขา เมื่อหลู่ซุ่นอายุ 17 ปี (ค.ศ. 1898) ได้เดินทางไปนานกิง สอบเข้าโรงเรียนฝึกหัดครูของทหารเรือ ปีที่สองย้ายไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูทหารบกที่รัฐบาลตั้งขึ้น ที่โรงเรียนแห่งนี้เขาได้เรียนรู้ความคิดแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตก ได้เรียนหนังสือแปลของเอี๋ยนฝูชื่อ เทียนเอี่ยนลุ่น มีผลกระทบต่อความคิดของเขา ต่อมาไปเรียนที่โรงเรียนเหมืองแร่เพื่อให้ได้ความรู้มารับใช้ชาติ เขาได้ประกาศนียบัตรและได้ทุนไปเรียนที่โรงเรียนหงเหวินในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1902 ในโตเกียวหลู่ซุ่นตัดเปีย (ค.ศ. 1903) เป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านราชวงศ์แมนจู เขาเรียนแพทย์ต่อที่โรงเรียนแพทย์เซนไดใน ค.ศ. 1904 ระหว่างที่อยู่ญี่ปุ่นเขาสนใจเรื่องวรรณกรรม ได้แปลวรรณกรรมญี่ปุ่นเป็นภาษาจีน ได้เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น เรื่องประวัติศาสตร์มนุษยชาติ วิจารณ์เรื่องวรรณกรรม ทำวารสารซินเซิง พิมพ์นวนิยายนอกเขตแดน เขาถือว่าการเขียนวรรณกรรมจะช่วยให้คนจีนตื่นจากการนอนหลับ ให้เข้าใจระบบการปกครองที่ล้มเหลวของรัฐบาลแมนจู ราชวงศ์ชิง นับเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาเตรียมพร้อม

(น.276) สำหรับการต่อสู้ที่ยาวนาน ในประเทศจีนเองขณะนั้นก็มีสมาคมรักชาติต่าง ๆ มากมาย ที่สำคัญคือ กลุ่มของดร.ซุนยัดเซ็น หลู่ซุ่นกลับประเทศจีนในปลาย ค.ศ. 1909 เป็นอาจารย์ที่อำเภอเช่าซิงและที่หังโจว เขาใช้เวลาส่วนใหญ่วิจัยด้านวรรณกรรม
ค.ศ. 1911 เกิดการปฏิวัติที่เรียกกันว่าการปฏิวัติในปีซินไฮ่ มีการตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่นานกิง ค.ศ. 1912 หลู่ซุ่นได้เข้าทำงานกระทรวงศึกษา แล้วย้ายไปอยู่ปักกิ่ง
ใน ค.ศ. 1915 ที่ปักกิ่งเขาตีพิมพ์บทความชื่อ บันทึกประจำวันของคนบ้า จากนั้นได้ใช้นวนิยายและสารคดีเป็นเครื่องมือโจมตีรัฐบาล ช่วงที่หลู่ซุ่นโจมตีรัฐบาลด้วยวรรณกรรมนี้นักปฏิวัติคนอื่น ๆ เช่น เฉินตู๋ซิ่ว (ค.ศ. 1879 – 1942) หลี่ต้าเจา (ค.ศ. 1889 – 1927) และ หูชื่อ (ค.ศ. 1891 – 1962) รวมกันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นพวกที่ทำงานมวลชนมากแต่ไม่ใช่นักเขียน ต่อจากนั้นหลู่ซุ่นเขียนเรื่องยา เรื่องอวยพร
ในค.ศ. 1921 เขียนเรื่องประวัติอาคิว เขาใช้ตัวเอกในเรื่องชื่ออาคิว แสดงปัญหาที่คนจีนในสมัยนั้นยังมีความคิดที่ล้าหลัง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมือง
ค.ศ. 1926 หลู่ซุ่นย้ายไปเซี่ยเหมิน (เอ้หมึง) สอนที่มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ค.ศ. 1927 ย้ายไปอยู่กว่างโจว ซึ่งเป็นดินแดนที่มีแรงแห่งการปฏิวัติอยู่ทุกหย่อมหญ้า เพราะกว่างโจวเป็นที่พักของพ่อค้าและทหาร เขาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยจงซาน

(น.277) ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1927 เจียงไคเช็กได้ก่อการปฏิวัติที่นครเซี่ยงไฮ้ กว่างโจวก็ได้รับผลกระทบและมีการจลาจล หลู่ซุ่นเห็นความจริงเกี่ยวกับเรื่องการฆ่าฟันกัน เลยไม่อยากอยู่กว่างโจวอีก ต่อไปจึงย้ายมาอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ขณะที่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เขาทำหน้าที่เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางด้านวรรณกรรมจีนทั่วประเทศ ตอนนั้นเกิดมีนักเขียนถูกฆ่าตาย หลู่ซุ่นก็เลยออกหนังสือพิมพ์ ออกนิตยสารรายวัน หนังสือต่าง ๆ เช่น เส้นทางที่ถูกต้อง คนประเภทที่ 3 ผู้หลอกลวง วัฒนธรรมโลก วัฒนธรรมของมหาชน และวัฒนธรรมเกิดใหม่
ค.ศ. 1933 หลู่ซุ่นและเพื่อน เช่น ซ่งชิ่งหลิง หลี่เผยหัว หูอี้จือ ไช่หยวนเผย หยางซิ่งโฝว์ ร่วมกันตั้งสมาพันธ์ปกป้องสิทธิประชาชนแห่งประเทศจีน หยางซิ่งโฝ่ว์ถูกฆ่าตาย หลู่ซุ่นเขียนไว้ว่า “หากฉันยังมีชีวิตอยู่ ฉันจะจับปากกามาเขียนเพื่อเป็นการคารวะต่อปืนของพวกเขา” กลุ่มของเขาพยายามต่อต้านลัทธิฟาสซิสม์ที่เผยแพร่จากเยอรมนีและญี่ปุ่นที่กำลังเข้ามารุกรานประเทศจีน ในช่วงที่อยู่เซี่ยงไฮ้ เขาได้รู้จักผู้นำคอมมิวนิสต์รุ่นเก่า ๆ และได้เขียนหนังสือร่วมกันเกี่ยวกับการปลดแอก หลู่ซุ่นสนใจติดต่อกับต่างประเทศด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและตั้งใจสร้างผลงานอุทิศแก่ชาวโลก เขาแปลผลงานของนักเขียนต่างประเทศมากกว่า 100 ท่าน เช่น เรื่อง ล่มสลาย เสี่ยวเอี้ยหาน จิตวิญญาณแห่งความตาย เป็นต้น เป็นการแนะนำวัฒนธรรมต่างชาติให้ชาวจีนได้รู้จัก โดยส่วนตัวเขารู้จักนักเขียนและนักวิชาการชาวต่างประเทศหลายคน ตัวอย่างของคนที่เรารู้จักกันดีคือ Edgar Snow นักเขียนชาวอเมริกันที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับจีนเอาไว้มาก

(น.278) เขาใช้วิธีการต่าง ๆ ในการเผยแพร่วรรณกรรมจีนให้ชาวต่างประเทศได้รู้จัก เขาจะช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจแก่นักเขียนรุ่นใหม่ ด้วยการเขียนคำนำหนังสือหรือช่วยสละเงินบางส่วนช่วยนักเขียนรุ่นใหม่จัดทำวารสาร เขาจะแสดงความคิดเห็นแนะนำคนรุ่นใหม่ เช่น เรื่องของศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพประกอบหนังสือ เขาชอบศิลปะภาพพิมพ์ไม้ (woodcut) เพราะว่าทำได้ง่าย สวยงาม และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ผลงาน 3 เล่มสุดท้ายของเขาเขียนระหว่าง ค.ศ. 1934 – 1936 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ในบั้นปลายชีวิตของเขา นิทรรศการที่จัดตรงนี้ทำดีมาก ทำเป็นชั้นหนังสือของหลู่ซุ่น รวมผลงานของเขาเอาไว้ หลู่ซุ่นเป็นวัณโรคเสียชีวิตในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1936 อายุ 56 ปี ในตู้แสดงเครื่องให้ออกซิเจนสมัยนั้น เครื่องช่วยหายใจ ใบฟอร์มปรอท ปฏิทินแขวนเปิดหน้าที่แสดงวันเดือนปีที่หลู่ซุ่นตาย ที่น่าสังเกตคือปฏิทินนี้เป็นปฏิทินที่บริษัทขายบุหรี่แจก เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งว่าเขาสูบบุหรี่มากจนตาย ในห้องนี้มีคำรำพันที่มาดามสูว์ก่วงผิง ภริยาหลู่ซุ่นเขียนรำพันถึงสามีว่า


(น.279) รูป 249 ที่พิพิธภัณฑ์หลู่ซุ่นแสดงประวัติของหลู่ซุ่นและประวัติศาสตร์ในยุคนั้น ในภาพเป็นผ้าคลุมหีบศพปักคำว่า "จิตวิญญาณของชนชาติ"

(น.279)
“ความเศร้าโศกได้ปกคลุมไปทั่วทุกทิศ
พวกเราจะมีอะไรพูดเกี่ยวกับการตายของคุณ?
คุณเคยบอกฉันว่า
ฉันเหมือนวัวตัวหนึ่ง
กินแต่หญ้า
แต่ที่รีดออกมาคือน้ำนมเลือด
คุณไม่รู้จักคำว่า พักผ่อนคืออะไร
คุณไม่รู้จักคำว่า สนุกคืออะไร
ทำงาน ทำงาน เท่านั้น”
หนังสือพิมพ์ลงข่าวการตายของเขา ในงานศพมีคนร่วมงานเป็นหมื่น ๆ คน มีคนมีชื่อเสียง มีนักเขียนมาร่วมงาน ประชาชนส่งผ้าคลุมหีบศพเขียนว่า จิตวิญญาณแห่งชนชาติ มาให้


(น.280) รูป 250 อนุสาวรีย์หลู่ซุ่น

(น.280) พิพิธภัณฑ์นี้กว้างมาก มีห้องอีกห้องที่ยังไม่ได้จัดอะไร ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บอกว่า เป็นห้องสำหรับจัดนิทรรศการชั่วคราว ปีนี้เป็นปีครบรอบ 60 ปีของหลู่ซุ่น ฉะนั้นวันที่ 25 กันยายนซึ่งเป็นวันเกิดจะจัดนิทรรศการในห้องนี้ ที่พิพิธภัณฑ์มีร้านเล็ก ๆ ขายของที่ระลึก มีทั้งของที่เกี่ยวกับหลู่ซุ่นและของที่ระลึกทั่ว ๆ ไป ข้าพเจ้าซื้อหนังสือมาจำนวนหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ให้หนังสือเกี่ยวกับผลงานของหลู่ซุ่น จากนั้นไปที่อนุสาวรีย์หลู่ซุ่นที่ถนนเถียนอ้ายลู่ มีรูปหล่อสำริด ผู้ปั้นรูปเป็นศิลปินเรืองนามชื่อ เซียวฉวนจิ่ว หลังรูปปั้นทำเป็นที่ฝังศพหลู่ซุ่น ปลูกต้นไม้ทำให้ร่มรื่นดี มาดามสูว์และลูกชายชื่อ โจวไห่ เป็นผู้ปลูกต้นไม้สองต้นข้างหลุมศพ อนุสรณ์สถานนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1956 ยี่สิบปีหลังจากที่เขาเสียชีวิต


(น.281) รูป 251 บริเวณสุสานหลู่ซุ่น
(น.281) สวนสาธารณะตรงนี้ตอนเช้า ๆ จะมีคนชรามารำมวยจีน ตอนนี้ใกล้เทศกาลโคมไฟและไหว้พระจันทร์ ก็มีคนมาทำโคมไฟรูปมังกรใหญ่โตมาก ยังไม่เสร็จ


(น.282 ) รูป 252 บ้านหลู่ซุ่น

(น.282) ต่อจากนั้นไปชมบ้านของหลู่ซุ่นที่ถนนซานอิน แต่ก่อนเคยเป็นเขตเช่าของญี่ปุ่น สร้างใน ค.ศ. 1931 หลู่ซุ่นเข้ามาอยู่ ค.ศ. 1933 เป็นตึกแถว (บ้านทาวน์เฮ้าส์) 3 ชั้น ส่วนที่เป็นของหลู่ซุ่นเขาเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ตึกข้าง ๆ ยังมีคนพักอาศัยอยู่ คงจะเป็นที่พักระดับไม่ค่อยดีนักเพราะอยู่ในสภาพที่โทรม (ส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์นี้สะอาดเรียบร้อย) สมัยก่อนถือว่าเป็นบ้านแบบทันสมัยของเซี่ยงไฮ้ อาคารสร้างด้วยปูน พื้นและราวบันไดทำด้วยไม้ เข้าไปก็ถึงห้องรับแขก มีจักรเย็บผ้าของภรรยา โต๊ะเขียนหนังสือ โต๊ะกินข้าว


(น.282) รูป 253 บ้านที่หลู่ซุ่นเคยอยู่ ปัจจุบันตรงข้าง ๆ ยังมีคนอยู่

(น.283) ในห้องนอนมีโต๊ะทำงาน เขาเอาบทความที่ยังเขียนไม่จบ ตายเสียก่อนวางเอาไว้ มีเก้าอี้หวายสำหรับนอนสูบบุหรี่ กาน้ำสำหรับชงชา ข้างฝาติดปฏิทินโฆษณาบุหรี่อีกตามเคย เครื่องเรือนในห้องเป็นเครื่องหวายทั้งนั้น เตียงที่หลู่ซุ่นนอนตายก็ยังอยู่ มีรูปลูกชายตอนอายุ 16 วัน ลูกชายของหลู่ซุ่นตอนนี้อายุ 67 ปียังมีชีวิตอยู่ แต่ก่อนนี้เคยทำงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ปักกิ่ง ห้องเก็บของ เก็บยาต่าง ๆ เครื่องทำปกและเข้าเล่มหนังสือ เรียกว่า การเข้าเล่มแบบเซี่ยนจวง เขาสนับสนุนให้เด็ก ๆ รู้จักทำอะไรเอง เช่น นักเขียนก็ควรรู้จักการเข้าเล่มหนังสือเอง ทำภาพประกอบเอง


(น.283) รูป 254 โต๊ะเขียนหนังสือ


(น.284) รูป 255 เตียงนอน

(น.284) ห้องนอนของลูกชาย หลู่ซุ่นเคยใช้เตียงในห้องนี้ พอมีลูกก็เลยยกให้ลูก ไกด์บอกว่าตอนเด็ก ๆ หลู่ซุ่นเคยต้องนอนกับคนใช้ ถูกเบียด ก็เลยอยากให้ลูกได้นอนสบาย ๆ เตียงนี้นายทหารเรือญี่ปุ่นให้เขา ห้องเล็ก ๆ สำหรับแขกนอน มักจะมีคนมาอาศัยบ้านเขาอยู่เสมอ เป็นพวกที่หนีจากการตามล่าของฝ่ายรัฐบาล อาจารย์หวังซีหรง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์หลู่ซุ่นที่มาอธิบายให้ข้าพเจ้าวันนี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านวรรณคดี ค้นคว้างานของหลู่ซุ่นโดยเฉพาะ การศึกษาสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลู่ซุ่นนี้ก็ได้ข้อคิดหลายอย่างคือ ได้เห็นวิธีการอย่างหนึ่งในการจัดพิพิธภัณฑ์แสดงชีวประวัติเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักคิดนักเขียน เขาแสดงด้วยภาพถ่ายและคำอธิบาย มีสิ่งของประกอบบ้างก็เพียงเล็กน้อย ส่วนมากเป็นหนังสือที่เขาเคยอ่าน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเล่มที่เขาเคยอ่านจริงๆ ซึ่งก็คงหายไปแล้ว การแสดงหนังสือที่เขาแต่ง อีกประการหนึ่งการยกย่องบุคคลสำคัญเพื่อเป็นตัวอย่างอันดีต่อผู้ที่มาชมนิทรรศการนั้น บางครั้งก็เป็นการเน้นประเด็นที่ผู้จัดต้องการเน้นความคิดบางอย่าง อาจจะไม่ใช่ความคิดของเจ้าของประวัติเสียด้วยซ้ำ ผู้ชมต้องใช้วิจารณญานที่ดีไตร่ตรองดู

(น.285) เมื่อศึกษาประวัติของหลู่ซุ่น ข้าพเจ้าประทับใจในความยึดมั่นอุดมการณ์ ความเป็นอยู่อย่างสมถะเรียบง่าย ภารกิจในการให้ความรู้แก่คนหรือปลุกเพื่อนร่วมชาติให้ตื่นขึ้นจากความไม่รู้และความเฉื่อยชา ในโลกสมัยใหม่ที่ว่ากันว่าไร้ขอบเขตไร้พรมแดนนั้น เป็นเรื่องที่ควรช่วยกันคิดไตร่ตรอง จะต้องให้ความรู้แก่คนในสังคมเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทและความเป็นอยู่เช่นไรเพียงใดจึงจะพอเหมาะพอควร กลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรม เมื่อรับประทานอาหารเสร็จฝนตกหนัก แต่เราก็ยังไปตามกำหนดการอยู่ดีตือ ไปหอไข่มุกตะวันออก เป็นหอโทรทัศน์ทำเป็นลูกกลมๆ 3 ลูกต่อกัน หอนี้สูง 468 เมตร สูงที่สุดในประเทศจีน ชั้นล่างเป็นห้างสรรพสินค้า ขึ้นไปชั้นที่เรียกว่า ไข่มุกเม็ดที่สอง ตอนที่จะขึ้นลิฟท์มีไกด์อธิบายเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เสียงมาตรฐานเหมือนอ่านหนังสือ

Next >>