Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2539 "


(น.296) รูป 266 งานเปิดธนาคาร


รูป 267 งานเปิดธนาคาร

(น.297) วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2539
เมื่อคืนนี้นอนสบาย เพราะไม่ลืมเปิดหน้าต่าง วันนี้จะกลับกรุงเทพฯ แล้ว เป็นอันว่าการเยือนจีนปิดฉากลงอีกครั้งหนึ่ง ดังที่กล่าวไว้ในความนำว่า การเดินทางครั้งนี้จุดประสงค์ใหญ่คือ การศึกษาเรื่องแม่น้ำฉางเจียง ทางจีนมีความประสงค์ให้เยือนปักกิ่งด้วย เพื่อไปพบผู้ใหญ่ฝ่ายจีนซึ่งช่วยอำนวยให้การเดินทางเป็นไปด้วยดี กับถือโอกาสไปหวงซาน ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นภูเขาที่งามที่สุดในจีน จนกล่าวกันว่าถ้าได้ไปที่เขาหวงซานแล้ว ไม่ต้องไปภูเขาไหนอีกเลย ตัวเอกในเรื่องเมฆเหินน้ำไหลที่ข้าพเจ้าแปลก็ไปเที่ยวหวงซาน

(น.298) สำหรับเซี่ยงไฮ้นั้นข้าพเจ้าอยากไปเพราะว่าเป็นปากแม่น้ำฉางเจียง ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้ามีเวลาน้อย ไม่สามารถไปที่ต้นแม่น้ำได้ คงไม่มีใครยอมไปด้วย ส่วนปากน้ำที่เซี่ยงไฮ้น่าจะไปได้ ท่านทูตจินกุ้ยหัวรีบสนับสนุน เพราะว่าท่านเป็นคนเซี่ยงไฮ้ และก็พูดแถมว่านักธุรกิจไทยจะเชิญไปเปิดธนาคาร ข้าพเจ้ายอมตกลงเพราะว่าน่าจะไม่นานนัก เรามีเวลานาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปข้าพเจ้ามีงานค่อนข้างยุ่ง การจัดรายการต้องเปลี่ยนแปลง เพราะทางจีนส่วนกลางไม่สะดวกที่จะจัดให้ข้าพเจ้าไปปักกิ่ง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาหยุดฤดูร้อน ต้องสลับกับการล่องเรือซึ่งก็จัดได้ไม่ง่ายนัก เลยลืมเรื่องการพยายามไปดูปากแม่น้ำ เพราะเขาจัดรายการอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด สรุปแล้วก็ดูแต่ภาพจากมัลติมีเดียไปก็แล้วกัน รายการเช้านี้ 09.10 น. ไปธนาคาร TMI ซึ่งเป็นธนาคารที่ต่างชาติลงทุนเป็นแห่งแรกในประเทศจีน ธนาคารแห่งประเทศจีนอนุญาตให้ดำเนินการ เป็นการร่วมทุนของกลุ่มหมิงไท่ กลุ่มซีพี และธนาคารกสิกรไทย เมื่อประมาณ 4 ปีมาแล้วได้ไปลงทุนที่ซัวเถา แล้วจึงมาลงทุนที่นี่ ที่งานมีนักธุรกิจมาจากไทยเป็นจำนวนมาก ผู้ใหญ่ฝ่ายจีนที่มามี คุณเจ้าฉี่เจิ้ง รองนายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้ และรองผู้ว่าการธนาคารชาติจีน มีพิธีคือ คุณวีระชัย วีระเมธีกุล กรรมการผู้จัดการธนาคารกล่าวรายงาน รองนายกเทศมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ ข้าพเจ้ากดปุ่มเปิดป้าย เข้าดูภายในธนาคาร เซ็นฝากเงินและถ่ายรูปหมู่ ขณะนี้ธนาคารยังไม่ได้รับอนุมัติให้ทำกิจการธนาคารทุกอย่าง เช่น ยังรับฝากเงินหยวนไม่ได้


(น.299) รูป 268 งานเปิดโรงงานทำจักรยานยนต์

(น.299) จากนั้นไปที่โรงงานผลิตรถจักรยานยนต์เซี่ยงไฮ้เอกชอ เป็นบริษัทในเครือซีพี นั่งรถออกไปนอกเมือง ระหว่างทางยังโล่ง ๆ ไม่ค่อยจะมีอะไร เป็นนาเป็นสวนผัก

(น.300) ที่โรงงานมีสิงโตและวงดนตรีต้อนรับ คุณธนากร เสรีบุรี ผู้จัดการโรงงานรายงานว่าร่วมทุนกับจีนคนละ 50% เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อข้าพเจ้ากดปุ่มเปิดโรงงานแล้ว ผู้จัดการนำชมโรงงาน รถจักรยานยนต์ของโรงงานนี้ชื่อว่า ซิ่งฝู แปลว่า โชคดี ชื่อภาษาอังกฤษว่า Lucky โรงงานนี้มีคนงานประมาณ 3,000 คน เอาญี่ปุ่นมาฝึกหัดคนงาน แรงงานที่เซี่ยงไฮ้นี้ทำงานได้ดีพอใช้ ทำงานเป็นกะ กะละเจ็ดชั่วโมงครึ่ง ค่าใช้จ่ายในผลิตไม่สูงนัก เพราะว่าส่วนประกอบ 70% ทำในประเทศจีน ส่วนมากขายในประเทศจีน ส่งออกไม่มากนัก ตอนนี้คนจีนมีเงินทองจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น มักจะเปลี่ยนจากขี่จักรยานธรรมดาเป็นจักรยานยนต์ เพราะเร็วดี การผลิตมีแบบต่าง ๆ ที่แสดงไว้มีหลายแบบ แต่ก่อนนี้จีนทำเองใช้แบบยุโรปตะวันออก ปัจจุบันเป็นแบบญี่ปุ่น ดูโรงงานเสร็จคุยกับคุณธนินท์ เจียรวนนท์ พักหนึ่ง ถ่ายรูปหมู่แล้วกลับโรงแรม ตอนอาหารกลางวัน คุณธนินท์เป็นเจ้าภาพเลี้ยงที่โรงแรม เชิญรองนายกเทศมนตรีมาด้วย หลังอาหารไปร้านหนังสือ ร้านนี้มีสามชั้น มีหนังสือมาก (ภาษาจีน) นอกจากซื้อหนังสือแล้ว ยังซื้ออุปกรณ์ทำสำเนาศิลาจารึกได้ด้วย ประมาณ 17.30 น. ไปขึ้นเครื่องบิน พบคณะที่มาร่วมงานเปิดธนาคารและเปิดโรงงานจักรยานยนต์ เขาบอกว่าเขาก็จะกลับเที่ยวบินหลังจากข้าพเจ้าไปแล้ว


(น.301) รูป 269 ร้านหนังสือ

(น.301) รับประทานอาหารในเครื่องบิน กลับถึงกรุงเทพฯ เกือบ 3 ทุ่ม อยู่จีน 15 วัน ได้พบเห็นอะไร ๆ มากเหลือเกิน จนไม่สามารถบันทึกได้ครบถ้วน รายละเอียดบางประการเขียนเพิ่มเติมไว้ในภาคผนวก ขอขอบคุณมิตรสหายจีนไทยที่ช่วยเหลือในการจัดการเดินทางและในการรวบรวมบันทึกนี้