Please wait...

<< Back

เย็นสบายชายน้ำ ภาคผนวก

เย็นสบายชายน้ำ ภาคผนวก ก

รัตนะในห้องหนังสือ (เหวินฝังซื่อเป่า)
ชาวจีนให้ความสำคัญเรื่องเครื่องเขียนมาแต่โบราณจนถึงแก่ เรียกว่า รัตนะประจำห้องหนังสือ ผู้เป็นบัณทิตต้องมีเครื่องเขียนไว้ในห้องหนังสืออย่างครบครัน นอกจากนี้ยังนิยมสะสมไว้ประกวดประขันกันด้านคุณภาพและความสวยงามด้วย รัตนะประจำห้องหนังสือมีมากมายหลายอย่าง เช่น กระบอกใส่พู่กัน ที่วางพู่กัน ที่ล้างพู่กัน ที่แขวนพู่กัน แท่นวางพู่กัน ที่ป้ายพู่กัน แท่นวางหมึก ที่กั้นแท่นฝนหมึก แท่นฝนหมึก ที่หยดน้ำลงบนแท่นฝนหมึก ที่ใส่น้ำ กาน้ำเล็ก ๆ ใส่น้ำสำหรับละลายหมึก ที่วางแขนเวลาเขียนหนังสือ กระดาษ ที่ทับกระดาษ พู่กัน หมึก ตราประทับ กล่องสีสำหรับตราประทับ เป็นต้น แต่เพราะ พู่กัน กระดาษ หมึก และแท่นฝนหมึกเป็นของสำคัญที่สุดในจำนวนเครื่องเขียนทั้งปวง จึงเรียกเครื่องเขียนสี่อย่างนี้ว่า รัตนะประจำห้องหนังสือ ในที่นี้จึงจะอธิบายเฉพาะเครื่องเขียนสี่อย่างนี้เท่านั้น

พู่กัน (ปี่)

ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าชาวจีนเริ่มใช้พู่กันเมื่อใด ต้นกำเนิดของพู่กันนั้นเล่ากันไปต่าง ๆ ในสมัยราชวงศ์ถังมีพระเถระรูปหนึ่งเล่า

(น.305) นิทานต้นกำเนิดพู่กันไว้ว่า เทพเจ้าจุ้ยเซิ่งลอกหนังตนเองมาเป็นกระดาษ ใช้เลือดเป็นหมึก กระดูกมาทำพู่กัน อีกเรื่องกล่าวว่าเมื่อมีการประดิษฐ์ตัวอักษรน่าจะคิดทำพู่กันไว้เขียนด้วย หนังสือหวยหนานจื่อกล่าวถึงการนำขนกระต่ายมาทำพู่ของพู่กัน แต่มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งกล่าวว่าเดิมนั้นปลายพู่กันเป็นไม้ไผ่ พู่กันสมัยแรก ๆ คงทำจากไม้ไผ่ เหลาปลายให้แหลมใช้จุ่มหมึกเขียนลงบนแผ่นไม้ไผ่ เมื่อเขียนผิดก็จะตัดไม้ไผ่ส่วนนั้นออก ดังนั้นตำแหน่งอาลักษณ์จดกระแสรับสั่งจึงเรียกในภาษาจีนว่า เตาปี่ลี่ แปลว่า ผู้ที่ต้องใช้มีด (ตัดไม้ไผ่) และพู่กัน ต่อมาสมัยราชวงศ์จิ้น เหมิงเถียนคิดทำพู่กันชนิดที่มีปลายเป็นขนกวางและขนแพะ พู่กันชนิดใหม่เป็นที่นิยมกันมาจนทุกวันนี้ พู่ของพู่กันนั้นนิยมใช้ขนแพะ ขนกระต่าย หรือขนกวาง มีผู้ใช้ขนสัตว์ชนิดอื่นบ้าง เช่น ขนชะมด ขนสุนัขจิ้งจอก ขนเสือ ขนเป็ด ขนห่าน ขนไก่ หนวดหนู ผมของเด็กอ่อน เป็นต้น ด้ามพู่กันนั้นนิยมใช้ไม้ไผ่ ถ้าจะให้มีราคาขึ้นก็ใช้งาช้าง นอแรด หยก หินคริสตัล หรือถ้าจะให้แปลก บางทีก็ใช้เปลือกผลน้ำเต้า ก้านสน พู่กันที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ถังและซ่งคือ พู่กันฝีมือจูเก๋อ เรียกกันว่า พู่กันจูเก๋อ ราชวงศ์หยวนมีพู่กันฝีมือจางจิ้นจงและเฝิงยิ่งเคอ ราชวงศ์หมิงมีพู่กันของลู่จี้เวิง จางเหวินกุ้ย และราชวงศ์ชิงมีพู่กันฝีมือซุนจือฟาและเฮ่อเหลียงชิง แหล่งผลิตพู่กันที่มีชื่อสมัยราชวงศ์ถังและซ่งคือ เมืองซวนเฉิง มณฑลอันฮุย สมัยราชวงศ์หยวนนิยมพู่กันที่ทำจากตำบลซ่านเหลียนสั่ว อำเภออู๋ซิ่ง มณฑลเจ้อเจียง เดิมอำเภอนี้เรียกว่า เมือง

(น.306) หูโจว พู่กันที่ทำที่เมืองนี้จึงเรียกกันว่า หูปี่ นับถือกันว่ามีคุณสมบัติเป็นเลิศครบ 4 ประการคือ หัวพู่กันกลมมน ขนพู่เสมอกัน ด้ามแข็งแรง ปลายแหลมคม พู่กันนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เหมิงซี เป็นอนุสรณ์แด่เหมิงเถียนผู้ประดิษฐ์พู่กันชนิดใช้ขนสัตว์เป็นพู่ การผลิตพู่กันที่เมืองนี้เจริญรุ่งเรืองมาก และทำส่งใช้ในราชสำนักด้วย พู่กันมีหลายขนาด ที่ใช้เขียนหนังสือตัวโต ๆ เรียกว่า โต้วปี่ หัวพู่กันใหญ่ ขนหนา อุ้มน้ำหมึกได้มาก ขนาดมีลดหลั่นกันลงมาจนถึงขนาดเล็กปลายแหลมมาก พระเจ้าหย่งเจิ้ง ราชวงศ์ชิงโปรดทรงใช้พู่กันขนาดเล็กชื่อเสี่ยวจื่อหยิ่ง ปลายแหลม แต่พู่แตกง่าย เมื่อทรงพระอักษรแต่ละครั้งจึงต้องทรงใช้พู่กันเป็นร้อย ๆ ด้ามทีเดียว

หมึก (โม่)

การใช้หมึกน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชาง ในการขุดค้นสุสานสมัยจ้านกว๋อและสมัยฮั่นพบหมึกก้อนฝังอยู่ด้วย ตรงกับที่หนังสือจวงจื่อว่าในสมัยชุนชิวจ้านกว๋อมีหมึกใช้กันแพร่หลายแล้ว แต่เดิมชาวจีนใช้พู่กันจุ่มรักเขียนหนังสือ ต่อมาจึงรู้จักทำหมึกใช้ มีการขุดพบกระบอกไม้ไผ่โบราณ มีตัวอักษรที่ใช้รักปนกับที่ใช้หมึก ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มทำหมึกนั้นมีกล่าวไว้ต่าง ๆ กันไปไม่เป็นที่ยุติ ในหนังสือต่าง ๆ กล่าวถึงผู้ผลิตหมึกที่มีชื่อเสียงในสมัยต่าง ๆ เช่น สมัยสามก๊ก เหวยต้าน ชาวเว่ย ผลิตหมึกคุณภาพเยี่ยม สีประดุจรัก สมัยราชวงศ์จิ้นมีหมึกของจางจิ้น ราชวงศ์ซ่งมีหมึกของจางหย่ง หลิวฝาในราชวงศ์จิน หูเหวินจงในราชวงศ์หยวน หลอหลงเหวิน เฉินจนฝัง หูคายหยวน ฯลฯ ในราชวงศ์หมิงและชิง ตระกูลเหล่านี้ต่างก็จัดทำหนังสือเรื่องการผลิตหมึก มีภาพแสดงหมึกแบบ

(น.307) ต่าง ๆ เป็นการแข่งขันทางการค้า เป็นผลงานที่เหลือตกทอดมาถึงรุ่นหลัง หมึกรุ่นแรกมักทำจากตะกั่วดำ หญิงสมัยโบราณใช้ทาคิ้ว เมื่อประสมกับน้ำจะกลายเป็นหมึก เชื่อกันว่าเริ่มใช้กันที่เมืองเอี๋ยนอาน ทางเหนือของมณฑลส่านซี ต่อมาสมัยราชวงศ์ฮั่นจึงเปลี่ยนเป็นหมึกก้อน ถึงสมัยราชวงศ์ถัง เกาหลีถวายหมึกทำจากเขม่าเป็นบรรณาการ จีนจึงเริ่มผลิตหมึกด้วยเขม่าต้นสนและไขกวางใช้ ต่อมาจึงทำจากเขม่าต้นหลานและต้นนุ่นผสมกับชะมดและไขสัตว์ ให้กลิ่นหอม หมึกชนิดนี้จึงมีชื่อว่า หลงเซียง แปลว่า หมึกที่เก็บไว้ได้นานหอมทน หมึกสำหรับพระจักรพรรดิโดยปกติทำเป็นลายมังกร ฝีมือสลักประณีตสวยงามปิดทองคำเปลวหรืออาจจะทำด้วยดินสีทอง หมึกของจักรพรรดิราชวงศ์ชิงเน้นเรื่องรูปร่างก้อนหมึกและลวดลาย จิตรกรในราชสำนักเป็นผู้ออกแบบให้สวยงามน่าเก็บสะสม หมึกเหล่านี้มิได้มีเพียงสีดำเท่านั้น แต่มีสีแดง น้ำเงิน เหลือง และขาวด้วย มีคำโบราณว่า หมึกเมืองฮุยหรือฮุยโจว เมืองนี้เป็นแหล่งผลิตหมึกชั้นเยี่ยมและที่เป็นยอดหมึกต้องเป็นฝีมือหลี่ถิงกุ้ย คำในราชวงศ์ถังว่า กระดาษของเฉินซินถัง หมึกของหลี่ถิงกุ้ย และแท่นฝนหมึกหินหางมังกร สามสิ่งนี้เป็นของล้ำค่าในโลก หมึกแท่งหลี่ถิงกุ้ยนี้ขอบแข็งคม ถึงตัดกระดาษได้

กระดาษ (จื่อ)

ก่อนที่ชาวจีนจะรู้จักใช้กระดาษ ได้ใช้วัสดุต่าง ๆ เช่น กระดองเต่า กระดูกสัตว์ หนังสัตว์ ไม้ไผ่ ผ้าไหม เขียนหนังสือ เราไม่ทราบ

(น.308) แน่นอนว่าชาวจีนเริ่มใช้กระดาษตั้งแต่เมื่อไร มีหนังสือโบราณเล่มหนึ่งกล่าวว่า ชาวจีนทำกระดาษจากใยไหม กระดาษนี้ใช้ใยไหมที่ลอยอยู่ในน้ำเป็นแพมาต่อกันเป็นแผ่น ตากบนตะแกรงไม้ไผ่จนแห้ง เป็นแผ่นกระดาษใช้เขียนหนังสือได้ กระดาษนี้เป็นสี่เหลี่ยม ด้านหน้ามันวาวเขียนหนังสือได้ดี ในราชวงศ์ฮั่น ไช่หลุนคิดทำกระดาษจากเปลือกไม้ เศษผ้า ป่าน และแหอวนที่เปื่อยขาด นำสิ่งเหล่านี้มาประสมน้ำตำจนละเอียดตากจนแห้งก็จะได้กระดาษ ในราชวงศ์ถังการผลิตกระดาษเจริญรุ่งเรืองมาก มีกระดาษแบบต่าง ๆ มากมาย กระดาษชนิดหนึ่งสีเหลืองทำจากกระดาษขาวหรือกระดาษที่ทำจากป่านนำไปย้อมเปลือกต้นสนจีนหวงเป๋อ กระดาษชนิดนี้แมลงไม่กิน ราคาจึงแพงมาก จึงมีกฎหมายว่ากระดาษชนิดนี้ใช้สำหรับเขียนพระราชโองการเท่านั้น ในการเขียนคัมภีร์พระพุทธศาสนาก็ใช้กระดาษสีเหลืองชนิดพิเศษชนิดหนึ่งเหมือนกัน กระดาษที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ มีกระดาษของต้วนเฉิงซื่อ เมืองจิ่วเจียง เรียกกันว่า หยุนหลานจื่อ มีผู้นิยมใช้มาก นอกจากนี้ที่เสฉวนมีกระดาษที่มีชื่อเสียงหลายอย่าง ที่นิยมมากคือ กระดาษสีแดงที่นางคณิกาเสวียเถาคิดผลิตขึ้นเรียกว่า เสวียเถาเจียน กวีและจิตรกรนิยมใช้เขียนจดหมาย โคลงกลอน วาดภาพ ตู้มู่ ไป๋จู้อี้ หลิวอวี้ก็ชอบใช้กระดาษชนิดนี้ สมัยราชวงศ์ซ่งกระดาษที่นิยมกันคือกระดาษของเฉินซินถัง กระดาษนี้เนื้อขาวละเอียดเป็นมันเงา ราชวงศ์ชิงมีกระดาษที่ทำจากนุ่นและจากต้นไผ่ ปัจจุบันกระดาษที่ถือว่าเป็นรัตนะประจำห้องหนังสือคือ กระดาษซวนจื่อแห่งเมืองซวนเฉิงหรือซวนโจว มณฑลอันฮุย กระดาษนี้มีมาตั้งแต่ราชวงศ์ถัง ความจริงแล้ววัตถุดิบที่ใช้ทำคือเปลือกไม้ซิงถังผี มี

(น.309) อยู่มากทางมณฑลอันฮุยตอนใต้ แต่ที่อำเภอจิงเซี่ยนและอู๋ซีของเมืองนี้มีน้ำพิเศษที่ทำให้กระดาษขาวกว่าที่อื่น น้ำหมึกไม่ซึม ทนทาน ไม่ฉีกขาดง่าย จึงมีชื่ออีกอย่างว่า กระดาษพันปี

แท่นฝนหมึก (เอี้ยน)

ชาวจีนเริ่มใช้แท่นฝนหมึกเมื่อไรไม่มีใครทราบ มีหนังสือเล่มหนึ่งกล่าวว่า ในราชวงศ์ฮั่นมีใช้แล้ว เดิมชาวจีนใช้มีดแกะสลักตัวอักษร หรือใช้พู่กันจุ่มรักเขียนไม่ต้องใช้แท่นฝนหมึก เมื่อนิยมทำหมึกเป็นก้อน เป็นแท่งจากตะกั่วดำก็ใช้อิฐหรือกระเบื้องแผ่นเป็นที่ฝนเพราะแท่งหมึกอ่อน ต่อมาทำหมึกจากวัสดุอื่น หมึกแข็งขึ้นจึงเริ่มใช้หินทำที่ฝน แหล่งหินฝนหมึกที่มีชื่อคือ ที่เมืองตวนซี มณฑลกวางตุ้ง มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อฝู่เคอซาน มีผาหินสีม่วงเมื่อแช่น้ำจะเป็นสีเขียวแก่ ยอดเขามีหินสีแดงเป็นหินที่ถือว่าเป็นยอดแห่งหินฝนหมึก หินจากผามีเนื้อละเอียดชุ่มชื้นเงามัน ลวดลายงาม ฝนหมึกออกได้มาก สึกช้า สมัยราชวงศ์ถังและซ่งถึงกับมีการตั้งข้าราชการมาดูแลการผลิตเพื่อนำส่งราชสำนักโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีแหล่งหินเมืองเส่อ เริ่มผลิตสมัยราชวงศ์ถังเช่นกัน คุณภาพหินเหมือนเมืองตวนซี แต่สมัยราชวงศ์ซ่งใช้หินที่นี่มากจนแหล่งหินหมดสิ้น แท่นฝนหมึกจะมีราคาหรือไม่ขึ้นอยู่กับลายหินและเนื้อหินรวมทั้งลวดลายที่สลักซึ่งมักยึดลายหินเป็นพื้นฐาน รัตนะประจำห้องหนังสือมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมทางอักษรศาสตร์จีนเป็นอย่างมาก การที่เรามีหลักฐานศึกษาวัฒนธรรมจีนได้ก็เพราะเครื่องเขียนที่มีคุณภาพดีนี่เอง

เย็นสบายชายน้ำ ภาคผนวก ข

เรือหลวงสิมิลัน
ความเป็นมา

ในปัจจุบันกองทัพเรือมีเรือขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเรือคอร์เวต เรือฟริเกต และเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ การจะทำให้เรือเหล่านี้สามารถปฏิบัติการในทะเลลึกได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานไม่ต้องกลับเข้ารับการส่งกำลังบำรุงที่ฐานทัพ จำเป็นต้องมีเรือส่งกำลังบำรุงที่สามารถส่งกำลังบำรุงในทะเลแก่เรือดังกล่าว กองทัพเรือในนามของรัฐบาลไทยจึงได้ลงนามในข้อตกลงว่าจ้างการสร้างเรือส่งกำลังบำรุงขนาดระวางขับน้ำเต็มที่ 22,000 ตัน จำนวน 1 ลำ จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ 29 กันยายน 2536 บริษัท CHINA SHIPBUILDING TRADING COMPANY LTD. (CSTC.) ออกแบบเรือต่อที่อู่ต่อเรือ HU DONG SHIPYARD เมืองเซี่ยงไฮ้ เริ่มตัดแผ่นเหล็กตัวเรือเมื่อ 17 ธันวาคม 2537 ประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือ เมื่อ 8 มิถุนายน 2538 ปล่อยเรือลงน้ำ 9 พฤศจิกายน 2538 และกำหนดส่งมอบเรือให้กองทัพเรือเดือนสิงหาคม 2539 ตามระเบียบกองทัพเรือ ว่าด้วยการแบ่งชั้นเรือ หมู่เรือ และการตั้งชื่อเรือหลวง พ.ศ. 2527 กำหนดให้ขอพระราชทานพระมหากรุณาพระมหากษัตริย์ทรงตั้งชื่อเรือตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 3 ที่มีระวางขับน้ำ

(น.311) ปกติตั้งแต่ 150 ตันขึ้นไป กองทัพเรือกำหนดการตั้งชื่อเรือส่งกำลังบำรุงให้ตั้งชื่อตามเกาะในน่านน้ำไทย ดังนั้นเรือส่งกำลังบำรุงลำใหม่จึงได้รับพระราชทานชื่อว่า “เรือหลวงสิมิลัน” (H.T.M.S. SIMILAN) หมายเลขเรือ 871 นามเรียกขานสากล HSM1 โครงสร้างเรือหลวงสิมิลันเป็นเหล็ก ตัวเรือบริเวณถังน้ำมันมี 2 ชั้น โครงสร้างเหนือดาดฟ้า คือสะพานเดินเรือและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ระบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องใหญ่จักรดีเซล 2 เครื่อง เป็นเรือที่มีความทนทะเลสูง สามารถปฏิบัติกิจต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัยในสภาวะที่มีคลื่นลมจัด กิจหลักของเรือหลวงสิมิลัน คือ การสนับสนุนหมู่เรือที่ประกอบด้วยเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เรือฟริเกต เรือคอร์เวต เป็นหลัก โดยสามารถให้การสนับสนุน น้ำมัน เชื้อเพลิง น้ำจืด อาวุธ อาหาร อะไหล่ต่าง ๆ ให้แก่หมู่เรือ ซึ่งประกอบด้วยเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ และเรือฟริเกต 6 ลำ หรือหมู่เรือประกอบด้วยเรือฟริเกต 9 ลำ ให้สามารถเดินทางปฏิบัติภารกิจได้เป็นระยะทาง 10,000 ไมล์ โดยไม่ต้องกลับเข้ารับการส่งกำลังบำรุงที่ฐานทัพ กิจรองคือการสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาล การซ่อมบำรุงสำหรับกองเรือ การบรรเทาสาธารณภัย การลำเลียงผู้อพยพ การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การควบคุมมลภาวะในทะเล จุดเด่นสำคัญของเรือหลวงสิมิลัน คือการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากลของเรือส่งกำลังบำรุง ซึ่งได้แก่ระบบรับ – ส่งสิ่งของในทะเลของบริษัท HYDRAUDYNE ประเทศเนเธอร์แลนด์ คือสามารถรับ – ส่งสิ่งของทางกราบเรือทั้ง 2 กราบ ได้พร้อมกัน ทั้งของแข็งและของเหลว (น้ำมันเชื้อเพลิงและ

(น.312) น้ำจืด) ระบบรับส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท้ายเรือสำหรับการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลท้ายเรือ การรับ – ส่งทางดิ่งโดยเฮลิคอปเตอร์ นอกจากนี้เป็นเรือที่มีดาดฟ้าและโรงเก็บสำหรับเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ ดาดฟ้าท้ายเรือสามารถรับ – ส่งอากาศยานแบบ AV8S ที่กองทัพเรือมีใช้อยู่ได้อีกด้วย
ลักษณะของเรือหลวงสิมิลัน
1.ลักษณะที่สำคัญ
ความยาวตลอดลำ 171.40 เมตร ความกว้าง 24.61 เมตร กินน้ำลึก 9.00 เมตร ระวางขับน้ำ (เต็มที่) 22,000 ตัน ระยะปฏิบัติการ 10,000 ไมล์ ที่ความเร็ว 15 นอต ความเร็วสูงสุด 19 นอต ระวางบรรทุก 11,400 ตัน กำลังพล 157 นาย ความคงทนทะเล SEA STATE 6 (ปฏิบัติการร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ได้ถึง SEA STATE 5)
2.ระบบขับเคลื่อน/ไฟฟ้า
เครื่องยนต์ดีเซล HD – SEMT PIELSTICK จำนวน 2 เครื่อง แบบ 16 PC2 – 6V 400 กำลัง 2 x 8,800 kW เพลาใบจักร 2 เพลา ใบจักรแบบ CPP (CONTROLLABLE PITCH PROPELLER) ระบบไฟฟ้ามีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล WUXI – SIEMENS จำนวน 4 เครื่อง แบบ 1FC 564 – 6TA ขนาด 1,000 kW 400 V 50 Hz 3 PHASE ต่อเครื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าฉุกเฉิน SIEMENS แบบ 1 FC5 – 4TA ขนาด 200 kW 400 V 50 Hz 3 PHASE จำนวน 1 เครื่อง

(น.313)

3.ระบบเดินเรือ
เรดาร์เดินเรือแบบ RM 1290A (X/S – BAND) เครื่องมือหาที่เรือ GPS แบบ MX1105 ไยโรแบบ CLP – 2
4.ระบบอาวุธ/ควบคุมการยิง

ปืน 37/76 มม. แท่นคู่แบบ H/PJ – 76A จำนวน 4 แท่นเรดาร์ ติดตามเป้าแบบ 321A จำนวน 2 ระบบ ระบบควบคุมการยิงแบบ 7816B จำนวน 2 ระบบ ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ 1 ระบบ ระบบสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ 1 ระบบ เฮลิคอปเตอร์ประจำเรือแบบ SEA HAWK 1 เครื่อง

5.ระบบรับ – ส่งสิ่งของในทะเล
ระบบรับ – ส่งสิ่งของในทะเลของบริษัท HYDRAUDYNE 1 ระบบ

ที่มาของข้อมูล : เอกสาร เรือหลวงสิมิลัน, กองเรือยุทธบริการ กองเรือยุทธการ, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

เย็นสบายชายน้ำ ภาคผนวก ค

แม่น้ำแยงซี
แม่น้ำสายนี้เรียกชื่อภาษาจีนว่า ฉางเจียง (Chang Jiang) แปลว่า แม่น้ำยาว คำว่า แยงซี (Yangtze, Yangze Kiang) ได้ชื่อมาจากรัฐโบราณชื่อ Yang (เข้าใจว่าอยู่ตอนล่างของแม่น้ำ) การนำมาใช้เป็นชื่อของแม่น้ำตลอดสาย ชาวตะวันตกเป็นผู้ริเริ่มขึ้นก่อน เดิมมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Blue River แต่ที่จริงไม่ค่อยตรง เพราะโดยมากสีเป็นสีกาแฟใส่นม ตอนต้น ๆ เท่านั้นที่ใสเรียกเป็นแม่น้ำเขียวหรือฟ้าได้ แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศจีนและของทวีปเอเชีย ยาวเป็นที่สี่ของโลก
- ความยาวตลอดสาย 3,434 ไมล์ (5,525 กิโลเมตร)
- เขตลุ่มน้ำ ยาว 2,000 ไมล์ จากตะวันตกไปตะวันออกกว้างมากกว่า 600 ไมล์
- ไหลผ่านมณฑลต่าง ๆ ตลอดมณฑลหรือบางส่วน รวม 12 มณฑล
- มีแควใหญ่ไหลลงสู่แม่น้ำทั้งหมด 8 แคว
ลุ่มน้ำแยงซีเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมืองจีน ผลผลิตทางการเกษตรประมาณครึ่งหนึ่งของจีน ได้จากลุ่มน้ำแยงซี เฉพาะข้าวนับเป็น 70

(น.315) เปอร์เซ็นต์ของที่จีนผลิตได้ พืชผลอื่น ๆ คือฝ้าย ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ถั่ว เฮมป์
เมืองใหญ่ตามลุ่มน้ำคือ เซี่ยงไฮ้, นานกิง, อู่ฮั่น, ฉงชิ่ง เมืองเหล่านี้มีประชากรเกินล้านคน
เขตลุ่มน้ำ มีประชากรสองร้อยล้านคน
ลักษณะทางกายภาพ
ต้นน้ำ ไหลผ่านที่ราบสูงทิเบต ประชากรส่วนมากทำการเกษตรรายย่อย อากาศอบอุ่นในฤดูร้อน หนาวในฤดูหนาว เวลาเพาะปลูกประมาณ 4 – 5 เดือน ผู้คนที่อยู่ในเขตนี้มีชาวทิเบตเป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นเป็นชาวจีน เนปาล อินเดีย บ้างเล็กน้อย เขตเขาสูงทางตะวันตกเฉียงใต้ มีชาวจีนเป็นส่วนมาก อาชีพทำการเกษตรรายย่อยเช่นกัน ต้นน้ำมีสองแห่ง อยู่ในภูเขา Tang-ku-la Shan-mo เขตที่เป็นต้นน้ำ สูง 18,000 ฟุต (5,500 เมตร) จากระดับน้ำทะเล และต้นน้ำหลัก (อยู่ทางใต้) ชื่อ Ulan Muren (ภาษาทิเบต) แม่น้ำในช่วงนี้ไหลผ่านที่ราบหุบเขากว้าง ๆ ไม่ลึกนัก มีทะเลสาบ บึงบ้างพอสมควร ลักษณะแม่น้ำมาเปลี่ยนมากเมื่อสุดแดนที่ราบสูงทิเบตทางตะวันออก เพราะระดับพื้นที่ต่ำลงอย่างรวดเร็ว แม่น้ำไหลผ่านภูเขา Pa-yen-k’a-la Shan คดเคี้ยวไปมาตามโตรกเขา เกิดเป็นหุบเขาแคบ ๆ ลึกประมาณ 1 – 2 ไมล์ ยอดเขาแต่ละยอดสูงเกิน 16,000 ฟุต มีธารน้ำแข็งและหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี จากนั้นแม่น้ำไหลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไหลลงไปทางใต้

(น.316) ระยะนี้แม่น้ำไหลผ่านเขตสูงชัน สองฟากเป็นหน้าผาดิ่งลงไป บางแห่งไม่มีทางเดิน หมู่บ้านมีน้อยมาก ถ้ามีก็ตั้งอยู่สูงจากแม่น้ำมาก ในช่วงนี้แม่น้ำแยงซีไหลขนานไปกับแม่โขง แม่น้ำสาละวิน ไหลขนานไปทั้งสามสายห่างกันประมาณ 15 – 30 ไมล์ เป็นระยะทางประมาณ 250 ไมล์ ราวเส้นรุ้งที่ 26 องศาเหนือ แม่น้ำแยงซีเปลี่ยนทางจากใต้วกไปทางตะวันออก ไหลผ่านเมือง Ipin คดเคี้ยวไปมา ฝั่งเป็นตลิ่งสูงชันไปบรรจบกับแควใหญ่คือ Ya-lung Jiang ซึ่งเป็นแควที่มีน้ำมากที่สุดของแยงซี แม่น้ำตอนนี้ขยายกว้างไปถึง 1,000 – 1,300 ฟุต บางที่ลึกเกินกว่า 30 ฟุต แต่เมื่อไหลผ่านโตรกเขาก็จะแคบลงแต่ส่วนลึกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตอนปลายของแม่น้ำช่วงต้นนี้ แม่น้ำแยงซีไหลลงสู่ระดับสูง 1,000 ฟุตจากน้ำทะเล เพราะฉะนั้นระยะทางที่ไหลลงมาจากต้นน้ำประมาณ 1,600 ไมล์นั้น ทางน้ำลดระดับลงถึง 17,000 ฟุต หรือ ประมาณ 10 ฟุตต่อไมล์หนึ่งของทางน้ำ ในเขตเขาสูงอาจลาดต่ำลงกว่าระดับเฉลี่ยมาก ช่วงกลางของแม่น้ำ ภูมิอากาศในช่วงกลางของแม่น้ำนี้ โดยมากร้อนชื้นในฤดูร้อน ฤดูหนาวไม่หนาวนัก หยาดน้ำฟ้าประมาณ 40 – 60 นิ้ว (1,016 – 1,524 มม.) ต่อปี ระยะเวลาเพาะปลูกเกินกว่า 6 เดือน ฝนตกชุกในฤดูร้อน จึงทำให้การเกษตรเจริญ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีน มีชนกลุ่มน้อยอยู่บ้าง แม่น้ำช่วงนี้ไหลผ่านมณฑลเสฉวน เขตภูเขาของมณฑลนี้เป็นแดนต่อระหว่างเขตที่ราบสูงทางตะวันตกเฉียงใต้กับเขตเขาสูงทาง

(น.317) ตะวันตกของหิมาลัย และทางใต้ของซีอาน แม่น้ำตอนนี้กว้างประมาณ 1,000 – 1,600 ฟุต ลึกประมาณ 30 ฟุต ไหลเร็วและแรง ตลิ่งมักสูงชัน ทางน้ำลาดลงประมาณ 820 ฟุตในมณฑลนี้ คนเสฉวนเรียกเขตลุ่มน้ำแยงซีว่า ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ ดินดีมาก ภูมิอากาศก็เหมาะแก่การเพาะปลูก เพราะภูเขาสูงกั้นอากาศเย็นที่มาจากทางตะวันตกและทางเหนือ ภูมิอากาศที่ค่อนข้างดีนี้ทำให้เลี้ยงไหมได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุ เช่น ถ่านหิน ทองแดง ฟอสฟอรัส ทอง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ประชากรหนาแน่นในเขตเมืองใหญ่ ๆ เช่น เฉิงตู ฉงชิ่ง อันเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่า (river port) พ้นเขตมณฑลเสฉวน แม่น้ำแยงซีไหลผ่านเขตภูเขา ประมาณ 125 ไมล์ มีโตรกเขา 3 โตรก ที่เรียกว่า ซานเสีย ก่อนที่จะไหลลงสู่ที่ราบ โตรกเขาทั้งสามนี้ลึกเป็นผาชัน เป็นหินปูน สูงประมาณ 1,300 – 2,000 ฟุตจากระดับน้ำ โตรกแรกยาว 5 ไมล์ เป็นโตรกที่สั้นที่สุด เป็นช่วงที่แล่นเรือได้ยากที่สุด เพราะแม่น้ำแคบ มีเกาะแก่งมาก โตรกที่สองยาว 30 ไมล์ มีหน้าผาสูงชัน เป็นเหมือนฝาผนัง สูงประมาณ 1,600 – 2,000 ฟุต โตรกที่สาม ยาว 21 ไมล์ ความกว้างของแม่น้ำในช่วงนี้ ประมาณ 1,600 – 2,000 ฟุต ในเขตที่เป็นโตรกกว้างเพียง 500 – 600 ฟุต แต่ความลึกลึกถึง 500 – 600 ฟุต ทำให้แม่น้ำแยงซีเป็นแม่น้ำที่ลึกที่สุดในโลก ช่วงปลายแม่น้ำ ไหลผ่านเขตที่ราบลุ่มของจีน เป็นเขตอากาศอบอุ่น ร้อนในฤดูร้อน เย็นในฤดูใบไม้ผลิ ค่อนข้างหนาวในฤดูหนาว ลมมรสุมกำหนดลักษณะอากาศในเขตนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วงมักมีไต้ฝุ่นพัดเข้ามาบ่อย ๆ ภูมิอากาศเหมาะ

(น.318) แก่การเพาะปลูก ช่วงเวลาที่เพาะปลูกได้ประมาณ 8 – 11 เดือน บางที่สามารถปลูกพืชได้ 2 – 3 ครั้งต่อปี เขตนี้เป็นเขตที่มีการเกษตร การอุตสาหกรรมหนาแน่น และพัฒนามากที่สุดของจีน มีคนจีนอยู่โดยมาก ประชากรหนาแน่น แม่น้ำในช่วงนี้ มีแควใหญ่น้อยมากมาย ระบบแม่น้ำซับซ้อนขึ้นมาก มีทะเลสาบอยู่เป็นตอน ๆ แม่น้ำไหลผ่านเมืองอู่ฮั่นไปสู่ที่ราบลุ่ม นำตะกอนที่พัดพามาทับถมในเขตทะเลสาบหยุนเหมิน ทะเลสาบในเขตนี้มีหลายแห่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ เพราะมีปลา สัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำในช่วงนี้อาจกว้างถึง 2,600 ฟุต ลึกกว่า 100 ฟุต กระแสน้ำไหลประมาณ 2 – 3 ฟุตต่อวินาที มีการก่อคันกั้นตามตลิ่งเพื่อกันน้ำท่วม บนฝั่งแยงซีตรงที่รวมกับฮั่นสุ่ย (แม่น้ำฮั่น) มีเมืองฮั่นหยาง และฮั่นโข่ว ทางฝั่งซ้าย อู่ชาง ทางขวา ต่อมารวมกันเป็นเมืองขนาดใหญ่ชื่อ อู่ฮั่น เป็นเขตที่มีการทำเหมืองโลหะ มีโรงงานถลุงโลหะ และเป็นเมืองท่าสำคัญ เมื่อไหลต่อไปทางตะวันออก แม่น้ำไหลผ่านเขตที่มีทัศนียภาพสวยงามออกไปสู่เขตที่เป็นที่ราบ มีทะเลสาบใหญ่อีกแห่งหนึ่งชื่อ โป๋หยาง แล้วจึงไหลขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำตอนนี้ขยายกว้างถึง 3,000 – 6,000 ฟุต บางแห่งลึกถึง 100 ฟุต เขตนี้มีเมืองใหญ่ ๆ หลายเมือง เช่น ซูโจว เซี่ยงไฮ้ คลองใหญ่ (The Grand Canal) ก็ขุดจากบริเวณปากน้ำนี้ เขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ บริเวณนี้แม่น้ำแยกเป็นสายเล็กสายน้อย มีทะเลสาบ แนวน้ำเก่า เขตที่ลุ่มน้ำขัง ในฤดูน้ำหลากเขตนี้จมน้ำทั้งหมด ทะเลสาบไท่หูเป็นทะเลสาบใหญ่ที่สุดใน

(น.319) เขตนี้ ความกว้างของแม่น้ำประมาณไมล์ถึงสองไมล์ ยิ่งใกล้ปากน้ำแม่น้ำจะยิ่งกว้างมากขึ้นจนถึงประมาณ 50 ไมล์ ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล แม่น้ำแยงซีแยกเป็นสองสาขาไหลลงทะเลจีนตะวันออก สาขาซ้ายกว้างประมาณ 3 – 6 ไมล์ สาขาขวา 6 – 15 ไมล์ เกาะตรงกลางระหว่างสาขาทั้งสองใหญ่ประมาณ 300 ตารางไมล์ เกิดจากตะกอนทับถมประมาณพันปี ความลึกของแม่น้ำประมาณ 100 – 130 ฟุต แต่ตื้นขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนถึงปากน้ำเพราะมีสันทรายกั้นอยู่ แม่น้ำระยะ 250 ไมล์จากปากน้ำ ได้รับผลกระทบจากน้ำขึ้นน้ำลงค่อนข้างชัดเจน ระดับน้ำตรงปากน้ำระหว่างน้ำขึ้นน้ำลงต่างกันประมาณ 13 – 15 ฟุต ท้องน้ำในเขตนี้สูงกว่าระดับที่ราบสองฟากหลายหลา จึงต้องสร้างทำนบกั้นน้ำตลอด รวมทำนบแม่น้ำแยงซีประมาณ 1,700 ไมล์ มีเขื่อนใหญ่ ๆ หลายแห่งเพื่อกันน้ำท่วมตลอดแม่น้ำนี้