Please wait...

<< Back

" ย่ำแดนมังกร วันที่ 12 พฤษภาคม 2524 "


(น.32) รูป 19 เทียนถานหรือหอฟ้า

(น.32) อาคารที่เข้าไปอีกแห่งหนึ่งมีชื่อว่า หวนชิวกว่าน มีกลักษณกลมๆ เหมือนกัน กำแพงสะท้อนเสียงได้เพราะอิฐกลมและเรียบตรงกลางมีห้องพิธีบูชาอีก ห้องนี้ไกด์เขาว่าสำหรับทำพิธีในฤดูหนาวสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1530 และบูรณะในแผ่นดินพระจักรพรรดิ เฉียนหลง หรือ เคี้ยงล้ง ในภาษาจีนแต้จิ๋วในศตวรรษที่ 18 ตรงกลางสำหรับตั้ง “เทียน” ตามเคย ส่วนข้างๆ มีอาสน์ตั้งป้ายพระนามจักรพรรดิ 8 ที่ เมื่อดูเสร็จแล้วออกไปข้างนอก เดินไปที่ลานซึ่งปูด้วยอิฐสี่เหลี่ยม จำนวนอิฐนั้นต้องเป็น 9 และตัวที่คูณด้วยเก้า แสดงว่าจักรพรรดิมีศักดิ์สูงมาก ข้าพเจ้าจับความได้แค่นี้ ความจริงเขาอธิบายอีกอย่าง ฟังอาจารย์สารสินจึงเข้าใจเหตุผลว่า “เก้า” ออกเสียงว่า “จิ่ว” เป็นเสียงเดียวกับคำที่มีความหมายว่า “นาน” หรือ


(น.33) รูป 20 เทียนถาน

(น.33) “ยาวนาน” ในภาษากลาง ฉะนั้นที่นี่เห็นจะตีความได้ว่า “นานกำลังสอง”! ตรงกลางเป็นลานซึ่งสะท้อนเสียงถ้าใครไปยืนกระทืบเท้าหรือตบมือตรงนั้นตัวเองจะได้ยินดีกว่าคนอื่น ภายในมีบริเวณยังมีอาคารอื่นอีก เช่น อาคารซึ่งใช้เป็นที่เก็บและทำเครื่องบูชา ผู้รับผิดชอบในสมัยก่อนเป็นพวกสำนักพระราชวัง (จีน) และอาคารตรงไหนก็ไม่รู้เรียกว่า หวงฉยงหยู่ รู้สึกว่าดูอะไรก็ค่อนข้างจะสับสนเต็มทีเพราะว่าเราเองยังไม่ค่อยชินกับสถานที่และ

(น.34) การบันทึกคำแปลของล่าม แถมเดี๋ยวก็จะถ่ายรูป เดี๋ยวก็จะดู เลยอลหม่านไปหมด ได้ทราบเหตุอย่างหนึ่งที่คนแต่ก่อนเขาทำตามอาคารที่ใช้บูชาสวรรค์อันเป็นอาคารทรงกลมเพราะเขาถือว่าท้องฟ้าเป็นรูปวงกลม แผ่นดินเป็นรูปสี่เหลี่ยม เราเลยถามว่าแล้วที่ทำประตูเป็นช่องสามเหลี่ยมนั้นมีคติอะไรเป็นเบื้องหลังหรือไม่ คุณเฉินหันไปถามไกด์ แล้วบอกว่าในสมัยโบราณถือว่าเลขคี่เป็นมงคลกว่าเลขคู่

การไปชมเทียนถานของข้าพเจ้าได้ความมาแค่นี้ ก็อย่างที่บอกไว้แล้วว่าเรื่องเมืองจีนใครๆ เขาก็เขียนกันมากมายทั้งภาษาฝรั่ง ภาษาไทย ถ้าขืนไปค้นคว้าให้ถูกหลักวิชาการมานักก็เสียเวล่ำเวลา
(น.34) รูป 21 เทียนถาน

(น.35) ไปเปล่าๆ ได้ยินได้เห็นอะไรก็จดมาเช่นนั้น คนเล่าอาจเล่าผิด ล่ามแปลผิดหรือเราฟังผิดก็ได้ ใครอย่าถือเป็นตำรับตำรา ขอเตือนไว้ก่อนว่าตำราฉบับนี้เหมือนตำรายาจดสามทีกินตาย ขานั่งรถกลับเรือนพักเตี้ยวหยูว์ไถ ข้าพเจ้าก็ชมนกชมไม้ไปตามเรื่อง ดูบ้านเมืองเขาสะอาดเรียบร้อยดีพอสมควรสำหรับที่มีคนมากๆ อย่างนี้ บ้านเรือนบางตอนก็เป็นตึกสูง บางที่ก็เป็นเรือนเก๋งจีนคล้ายๆ บ้านเรือนชั้นเดียว (หรือ ผิงฝาง) โบราณอย่างที่เราเห็นในภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 อันเป็นสมัยที่การค้าสำเภาระหว่างไทย-จีนกำลังรุ่งเรืองที่สุด เรือนพวกนี้ก็กำลังทรุดโทรมลงไปตามกฎธรรมชาติ อาคารที่จะสร้างใหม่ ก็ต้องเป็นลักษณะอาคารสงเคราะห์สูงๆ (หรือ โหลวฝาง) แต่เขาบอกว่าคนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทางเหนือนี้ชอบกลอยู่เป็นบ้านๆ มากกว่าอยู่อาคารสงเคราะห์ เมื่อกลับถึงเรือน ภรรยาท่านหันเนี่ยนหลงลากลับ ข้าพเจ้านึกในใจว่าอยากจะเที่ยวเดินเล่นในบริเวณแถวๆ บริเวณเรือนรับรองนี้ นอกจากเรือนหลังที่เราอยู่แล้วยังมีอาคารใหญ่น้อยอีกมากมายอยู่ในบริเวณนี้ เมื่อท่านนายกเปรมมาก็อยู่อีกหลังหนึ่ง เรือนขายของตึก (ตึก 3) อยู่อีกหลังหนึ่ง ในขณะนี้ท่านประธานาธิบดีแห่งประเทศซิมบับเว ก็พำนักอยู่ที่เรือนหลังหนึ่งใบบริเวณเดียวกันนี้ เพื่อมาปรึกษาข้อราชการกับผู้นำฝ่ายจีน


(น.36) รูป 22 ก่อนไปงาน ที่โต๊ะวางหนังสือพิมพ์

(น.37) ค่ำวันนี้ข้าพเจ้าและพวกเราบางส่วนได้รับเชิญไปรับประทานอาหารค่ำกับมาดามเติ้งอิงเชา รองประธานคณะกรรมาธิการสมัชชาประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภา) เป็นภรรยาของท่าน โจวเอินไหล มาดามเติ้งเป็นคนสำคัญมากคนหนึ่ง สำหรับตำแหน่งทางการนั้น เป็นสมาชิกโปลิตบุโร มีความสำคัญในพรรคเป็นลำดับที่ 8 เลขาธิการที่ 2 ของคณะกรรมการการตรวจสอบวินัยของพรรค รองประธาน (คณะกรรมการประจำ) สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ รองประธาน (คณะกรรมการแห่งชาติ) สภาที่ปรึกษาการเมือง ประธานกิตติมศักดิ์ของสหพันธ์สตรีแห่งชาติ ขณะนี้อายุได้ 78 ปีแล้ว ท่านมาดามมีบทบาททางด้านคอมมิวนิสต์ตั้งแต่เด็ก เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่ออายุ 21 ปี ปฏิบัติงานในองค์การใต้ดิน ในระหว่างพ.ศ. 2477 – 78 ได้เข้าร่วมเดินทัพทางไกล (Long March) เมื่อปีที่แล้วท่านเดินทางมาเยือนประเทศไทย ได้พบกันที่เชียงใหม่ด้วย นอกจากในทางการแล้ว ท่านก็เป็นบุคคลสำคัญสำหรับประชาชน คือเป็นคนที่ประชาชนรักมาก เมื่อกลับจากเทียนถาน เราได้เตรียมของขวัญที่จะมอบให้ท่านมาดาม โดยทางสถานทูตจะจัดการส่งให้ ก่อนหน้าเราได้จัดส่งมะม่วงไปให้ท่านต่างๆ ของจีน พวงมาลัยดอกไม้ แล้วตอนนี้ที่มีของเพิ่มมีรังนกและหนังสือกรมศิลปากร คราวนี้ถึงตอนจะต้องเซ็นหนังสือชักจะลำบากว่าจะเซ็นอย่างไรดี เพราะตอนอยู่ฝรั่งเศส

(น.38) เซ็นภาษาฝรั่งเศส... เราเลยไปถามอาจารย์สารสิน แกบอกให้เขียนว่า “ขอมิตรภาพไทย-จีนจงสถิตสถาพร” ซึ่งข้าพเจ้าเขียนหลายสิบเที่ยว จนถ้าเป็นคนที่ชอบละเมอคงละเมอเป็นประโยคนี้แน่ๆ เวลา 18.20 น. ออกจากเรือนเตี้ยวหยูว์ไถ ไปพบมาดามที่มหาศาลาประชาชน งานครั้งนี้จำกัดคนไปเฉพาะท่านทูตและภรรยา ท่านเลขาฯ พูนเพิ่ม ท่านผู้หญิงทั้งสอง พ.อ. ดำรง อาจารย์สารสินเมื่อไปถึงท่านมาดามและใครๆ อีกหลายคนออกมารับ ท่านดูคล่องแคล่วแข็งแรงดี คณะจีนพาเราเข้าไปในห้อง เจียงซู ในที่นั้นข้าพเจ้านั่งคู่กับมาดามเติ้งอิงเชา มีล่าม (หลี่เม่า) อยู่ข้างหลังคอยแปล โต๊ะข้างหน้าเขาตั้งน้ำชาและไมโครโฟนสำหรับสนทนากัน ส่วนคนอื่นๆ อยู่อีก 2 ข้างเป็ฯแถวๆ ยาวๆ ท่านมาดามก็กล่าวต้อนรับ บอกว่าดีใจที่เรามาที่ประเทศจีนได้ และถามถึงพระอนามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ข้าพเจ้าตอบว่าทุกพระองค์มีพระอนามัยดี สมเด็จพระศรีฯ เสด็จออกมาถามทุกข์ของราษฎรอยู่เสมอทั้งๆ ที่พระชนม์ 80 กว่าแล้ว มาดามเติ้งบอกว่าจีนให้ความสำคัญแก่การมาเยือนจีนของข้าพเจ้ามาก และจะพยายามให้ข้าพเจ้าและคณะเข้าใจเกี่ยวกับประเทศจีนยิ่งขึ้น หวังว่าการมาเยือนครั้งนี้จะส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างกัน ข้าพเจ้าบอกมาดามว่าตั้งแต่เด็กๆ ก็ได้คุ้นเคยกับวรรณคดีและศิลปะจีน แต่ลืมไปหมดแล้ว การมา


(น.39) รูป 23 คุยกับมาดามเติ้งอิงเชาก่อนรับประทานข้าว

(น.39) คราวนี้หวังว่าจะทำให้นึกออกขึ้นมาอีก หวังว่าจะได้นำความรู้ที่ได้รับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ จีนและไทยเป็นประเทศทางตะวันออกเหมือนกัน คงจะมีวิถีชีวิตวามเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกันจะได้เรียนรู้จากกันได้ มาดามเติ้งบอกว่าขอให้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ให้เสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองจีน

(น.40) ข้าพเจ้าบอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะไม่เสด็จออกนอกประเทศ ส่วนน้องเล็กนั้นเตรียมตัวจะมาแล้วเกิดป่วยกะทันหัน และเป็นมากจนมาไม่ได้ อย่างไรก็ตามจะนำความกราบบังคมทูลให้ ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้มาศึกษาเรื่องเกษตรกรรม ศิลปหัตถกรรมของจีนอยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าเองยังสนใจทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ด้วย ฝ่ายมาดามเติ้งบอกว่า ขอให้มาเยือนจีนอีกต่อๆไป ฝ่ายจีนยินดีต้อนรับเสมอ นอกจากนั้นก็มีการสนทนาถึงเรื่องต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ มาดามเติ้งแนะนำคนที่มารับฝ่ายจีน ข้าพเจ้าก็แนะนำฝ่ายไทย แล้วพาไปห้องที่จัดรับประทานอาหารที่ห้อง เสฉวน มาดามอธิบายว่ามหาศาลาประชาชนนี้สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1950 แต่ละห้องให้ชื่อเป็นชื่อของมณฑลต่างๆ และพยายามแต่งให้เข้ากับบรรยากาศของมณฑลด้วย อาหารที่เลี้ยงอร่อยๆ ทั้งนั้น ตามธรรมเนียมของจีนเจ้าภาพมักจะตักอาหารให้แขกด้วยตะเกียบกลาง ท่านมาดามเติ้งกับคุณหลี่เม่าต่างช่วยกันตักอาหารให้ข้าพเจ้า พลางท่านมาดามก็บงการให้ใครก็ไม่ทราบจำไม่ได้แล้วตักให้แขกที่อยู่อีกฟากโต๊ะ อาหารก็มี ออร์เดิฟ หูฉลามผัดกุ้ง ซุปไข่นกพิราบ เป็ดปักกิ่ง เขามีแบบห่อด้วยแป้งและห่อด้วยขนมอย่างหนึ่งมีงาโรย น้ำเป็ดของเขาดี มีหลายรส กลมกล่อม ไม่หวานอย่างเดียว ร้านอาหารที่ทำเลี้ยงแขกนี้เป็นของรัฐทำได้ดีมาก มาดามอธิบายว่า ถ้าคนไหนทำเป็ดปักกิ่งแล้วไม่

(น.41) กรอบก็ถือว่าไม่เก่ง หลังจากเป็ดก็มีไก่กรอบๆ อีก กินกับผักดองและกุ้งทอด ผักกาดผัดกับหน่อไม้ ซุปเป็ดตุ๋น ของหวานก็มีน้ำพุทราและขนม ผลไม้มีแตงโมงตามเคย ข้อสังเกตว่าเขาต้องมีขนมปังทาเนยทาแยมอยู่ด้วย เครื่องดื่มเราจะรับประทานน้ำส้มขวด หรือน้ำแร่ก็ได้ ไวน์ และเหมาไถ ตอนรับประทานจวนจะเสร็จมาดามเติ้งลุกขึ้นมากล่าวอวยพร แล้วลุกขึ้นเดินชนแก้วกับฝ่ายไทยทุกคนรอบๆ ห้อง เล่นเอาตะลึงกันไปหมดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน เพราะตามข่าวกระทรวงต่างประเทศจีน บอกว่ามาดามจะไม่กล่าวอะไรและจะไม่ลุกด้วยเพราะสุขภาพไม่ดี ลุกไม่ขึ้นแล้ว อาจารย์สารสินรีบเอาร่างคำตอบมาส่งให้บอกว่าต้องตอบแล้วล่ะ เพราะท่านมาดามกล่าว ข้าพเจ้าเลยอ่าน มีข้อเสียอยู่ที่ว่าเราไม่ได้นัดกันเสียก่อน ข้าพเจ้าอ่านคำภาษาไทยแล้วนึกจะหยุดตรงไหนก็หยุดไม่ได้สนใจภาษาจีน ซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร อาจารย์สารสิน ผู้ซึ่งรู้ทั้งภาษาจีนและภาษาไทยแปลตะกุกตะกักเข้าทุกทีๆ จนจบ อาจารย์มาต่อว่าภายหลังว่าแปลไม่ได้เพราะรูปประโยคภาษาจีนและภาษาไทยต่างกัน บางทีภาษาไทยจบแล้ว ภาษาจีนยังไม่จบ หรือบางทีภาษาจีนลัดหน้าไปก่อนคราวหน้าอ่านให้จบทีละย่อหน้า แล้วจึงจะแปล พอพูดจบข้าพเจ้าก็เดินไปชนแก้วคนจีนทั้งห้องเหมือนอย่างที่มาดามทำ เรื่องการสนทนาในโต๊ะอาหารนี้ไม่ได้จดกันเอาไว้เลย เพราะคิดว่าจะจำได้จำได้แค่ที่ว่าเที่ยวนี้ท่านมาดามสุขภาพแข็งแรงดีแล้ว เมื่อตอนที่มาเมืองไทยนั้นท่านเดินทางต่อไปยุโรปต่อ เหนื่อยมากจึงล้มป่วยลงต้องนอนพักถึงสอง

(น.42) เดือน เมื่อเสร็จอาหารมาดามเดินมาส่งเราด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง ข้าพเจ้าขึ้นรถกลับมากับคุณเฉิน คุณดำรง คุณฟ่าน เหมือนขามา ขณะนั้นเป็นเวลาสามทุ่มกว่าแล้ว ยังมีคนขี่จักรยานอยู่ตามถนนบ้างเล็กน้อย เมื่อถึงเรือน คุณเฉินถามว่าจะไปเที่ยวไหนอีกบ้างไหม ข้าพเจ้าบอกว่าไม่ไปแล้วเพราะมีงานต้องทำต่างคนต่างก็ลากัน แยกย้ายกลับ ก่อนเข้าห้องข้าพเจ้าไม่ลืมที่คว้าหนังสือพิมพ์ เหรินหมินเรื่อเป้า People’s Daily (เป็นภาษาจีนอ่านออกแต่ชื่อหนังสือ) China Reconstruct (หนังสือที่มีบทความเกี่ยวกับประเทศจีน ออกรายเดือน) Chins Pictorial (หนังสือภาพเกี่ยวกับประเทศจีน คล้ายๆ Holiday Time in Thailand ของเรา แต่มีเรื่องน้อยกว่า เรามีรูปแยะ ออกรายเดือน) News Bulletin ประจำวัน News from Foreign Agencies and Press ประจำวัน เข้าไปด้วย ข้าพเจ้ารีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อจากชุดไทยเป็นกางเกงวอร์มและเสื้อยืดคู่ชีพ แล้วออกมาจัดการเรื่องของขวัญให้ใครต่อใครในวันรุ่งขึ้น (ต้องทำการเซ็น ห่อให้เรียบร้อย) อารยานั้นมีหน้าที่เขียนข่าวถึงสำนักเลขาฯ ก็จัดการเรียบเรียงอย่างขะมักเขม้นระหว่างนั้นเราถามคุณหญิงตุ๊กตาว่า จะต่อโทรศัพท์ถึงเมืองไทยจะได้ไหม เพราะอยากรู้เหมือนกันว่าน้องเล็กเป็นอย่างไรบ้างแล้ว คุณหญิงคุยให้ฟังว่า ในเมืองจีนที่ร้านมิตรภาพใกล้ๆ กับสถานทูตนั้นเครื่องมือแพทย์ราคาถูกกว่าธรรมดา คุณหญิงเคยให้สืบราคาสำหรับใช้ที่หน่วยแพทย์ที่วิทยาลัยสงฆ์วังน้อย มีพวกกระบอกฉีดยา เข็มฉีดยา เครื่องวัดความดัน ฯลฯ เผื่ออย่างไรบอกทางเมืองไทย


(น.43) รูป 24 มาดามเติ้งอิงเชาเลี้ยงอาหาร

(น.43) อาจมีใครสนใจจะสั่งซื้อของพวกนี้หรืออื่นๆ อีก ตกลงให้อาจารย์สารสินต่อให้ ถึงแม้ว่าจะเป็นระบบดาวเทียม แต่ก็ต่อยากพอดูต้องต่อจากปักกิ่งไปเซี่ยงไฮ้ แล้วจึงต่อเข้ากรุงเทพฯ จากกรุงเทพฯ ต่อหัวหินอีกต่อ กว่าจะได้ต้องส่งภาษาหลายภาษา อาจารย์สารสินตะโกนจนท่าจะเจ็บคอ เสร็จแล้วก็ให้ คุณเสริม ช่วยตะโกนต่อจนกระทั่งข้าพเจ้าสามารถพูดกับคุณหมอจินดา และท่านผู้หญิงเกนหลง ได้แต่ต้องตะเบ็งอย่างดุเดือดเหมือนกัน ได้ทราบข่าวว่าน้องเล็กอาการดีขึ้นแต่ปรอทยังไม่ลงเป็นปกติ เมื่อพูดเสร็จแล้ว เราก็ลากันแยกย้ายไปนอน พรุ่งนี้เช้าเขานัดรับประทานอาหารเช้าพร้อมกันที่ห้องอาหารเวลา 7.00 น.