Please wait...

<< Back

" ย่ำแดนมังกร วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2524 "

(น.91) งานเลี้ยงในวังหลวงจีนที่ปักกิ่ง
วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2524


(น.92) รูป 45 วังหลวง

(น.92) อาหารเช้าวันนี้มีข้าวต้มอีกตามเคย เครื่องข้าวต้มวันนี้มีไข่เค็ม เต้าหู้ ซาละเปา นมเย็น น้ำเต้าหู้ ฯลฯ ของหวานมีแตงโมตามเคย วันนี้ได้ทราบข่าวว่าสันตะปาปาถูกลอบยิง แต่ก็เคราะห์ดีที่อาการไม่สาหัส ถึงอย่างนั้นก็น่าเป็นห่วงเพราะท่านก็อายุมากแล้ว คุณพูนเพิ่มบอกว่าที่นี่เขามีบริการซักรีดเสื้อผ้าได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ออกไปซักรีดข้างนอก

(น.93) วันนี้ตามหมายกำหนดการเราจะไปวังหลวง ก็เลยคุยกันถึงเรื่องประวัติศาสตร์จีนกันบ้าง ภุชชงค์บอกว่าได้ยินว่าที่นั่นเขามีเสื้อผ้าชุดพระนาง ซูสี ให้คนเช่าแต่งถ่ายรูป ยังหัวเราะกันว่าเที่ยวนี้จะเอาใครแต่งตัวดี ตอนนี้เรื่องที่ทุกคนกำลังสนใจคือเรื่อง “ศึกสายเลือด” ซึ่งอันที่จริงแล้วข้าพเจ้าไม่ได้ดูหรอก แต่ว่าได้ฟังคนพูดกันบ้างว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์เช็งซึ่งเป็นพวกเม่งจู (แมนจู) ไม่ใช่คนจีน องค์ชาย 4 คือ จักรพรรดิองค์ที่ 3 ของราชวงศ์ มีพระนามออกเสียงตามสำเนียงจีนกลางว่า หย่งเจิ้ง (Yong Zheng) ครองราชสมบัติระหว่าง ค.ศ. 1723 – 1736 พระเจ้า เฉียนหลง (Qian long) ค.ศ. 1736 – 1796 เป็นกษัตริย์ที่ครองย์นานที่สุดเป็นจักรพรรดิที่ทรงพระปรีชาสามารถมาก ได้ทำความเจริญแก่ประเทศจีนหลายอย่าง เรื่องประวัติศาสตร์มีบันทึกไว้อย่างคร่าวๆ เมื่อจะนำมาแสดงหนังหรือเล่นเป็นนวนิยาย ผู้แต่งจำเป็นจะต้องมีจินตนาการ (ที่ฟุ้งซ่านพอสมควร) จึงจะสามารถต่อเติมเสริมแต่งช่วงที่มืดมนได้ อย่างเช่นในประวัติศาสตร์ก็เล่าเรื่องที่องค์ชาย 4 มีเรื่องกับญาติ ฆ่ากันไปฆ่ากันมาจนขึ้นครองราชย์ แล้วมาเสียชีวิตภายหลัง ด้วยสาเหตุที่ไม่มีใครทราบ ในเรื่องศึกสายเลือดก็บรรยายเสียละเอียด เล่าเสร็จว่าผู้ฆ่าคือนาง หลี่ซื่อเหนียง พูดง่ายๆ เรื่องศึกสายเลือดก็เหมือนที่อาจารย์ สมภพ จันทรประภา เอาเรื่องอะไรต่อมิอะไรในประวัติศาสตร์ไทยมาทำเป็นละคร เหตุการณ์ต่างๆ ก็มีบันทึกไว้จริง แต่เรื่องที่ยังเป็นความลับอยู่หรือเป็นรายละเอียดที่ไม่มีบันทึกประวัติศาสตร์ อาจารย์ก็เติมเอาเอง

(น.94) ตอนเช้านี่คุณหญิงมาถามว่า “เตี่ย” นี่คือใคร ข้าพเจ้าเลยต้องขอโทษว่าที่เขียนชื่อใครๆ ไว้ที่ห่อของนั่น เขียนพอรู้เอง นึกว่าจะให้เองได้ เช่น เราเรียกคนรถว่าเตี่ย และเตี่ยของใคร ใครก็อยากให้ของขวัญที่ระลึก เพราะแกดีมากทีเดียว คอยเอาใจใส่ต้อนพวกเราขึ้นรถ เตี่ยบางคนก็ร้องเพลง บางคนก็อธิบายเก่ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เช่น คุณฟ่าน เราก็เรียกว่า ศ.ร.ภ. ยังมีชื่ออื่นๆอีกแยะ สำหรับหมายกำหนดการคืนนี้ คือจะมีเลี้ยงที่สถานทูตไทยมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย คือแต่แรกกำหนดว่าไปถึงจะพบปะสังสรรค์กับคนไทยเสียก่อน ค่อยเลี้ยงคนจีน แต่ข้าพเจ้ามาคิดดูว่า การพบกับคนไทยอาจจะกินเวลา เพราะฉะนั้นเปลี่ยนเป็นหลังอาหารดีกว่า สำหรับอาหารนั้นข้าพเจ้าคิดว่าเอาเป็นอาหารไทยก็ดี เลี้ยงในสถานทูตไทยจะได้บรรยากาศของเราบ้าง แต่คุณหญิงบอกว่าได้เคยลองแล้วปรากฎว่าคนจีนไม่ชอบ เวลาพวกคณะทูตเลี้ยงกัน แม้แต่อาหารฝรั่งเขาก็ไม่ชอบรับประทาน ก็เลยตกลงเป็นอาหารจีนนอกจากผลไม้เป็นมะม่วง ซึ่งข้าพเจ้าเตรียมจากกรุงเทพฯ และยังมีของหวานอย่างไทยๆ หลายอย่าง เช่น วุ้น ฝอยทองกรอบ ขนมดอกลำดวน ฯลฯ ผู้ที่มารับข้าพเจ้าไปเที่ยวชมพระราชวังคือมาดาม เหอหลี่เหลียง ระหว่างนั่งรถก็มีหลายการนำเที่ยวกันตลอด จนถึงที่จตุรัส เทียนอันเหมิน


(น.95) รูป 46 ถ่ายให้เห็นบันไดใหญ่ในวังหลวง ทำด้วยหินอ่อน

(น.95) ซึ่งเป็นจัตุรัสใหญ่ใจกลางเมืองสำหรับเป็นที่ชุมนุมประชาชนเป็นแสน เห็นในรูปถ่ายในหนังสือพิมพ์คราวงานมาดาม ซุนยัดเซ็น ถึงแก่อสัญกรรมก็มีการไว้อาลัยที่จัตุรัสนี้ เราเลี้ยวเข้าสู่จุดหมายปลายทางของเราคือพระราชวังโบราณ สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์เหม็ง (ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15) ไกด์อธิบายว่าวังนี้ใหญ่โตมาก มีเนื้อที่กว่า 720,000 ตารางเมตร มีห้องต่างๆกว่า 9,000 ห้อง อาคารทั้งหมดมุงด้วยกระเบื้องสีเหลือง เพราะจักรพรรดิชอบสีเหลืองกับสีแดง พระราชวังใหญ่นี้ก็เหมือนกับวังหลวงของเรา (ฉะนั้นเรียกว่าวังหลวงจีนดีกว่า) คือมีส่วนหน้าและฝ่ายใน ตอนแรกที่เราไปเดินผ่านทางประตู ไท่เหอเหมิน ดูอาณาบริเวณทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้


(น.96) รูป 47 ในวังหลวง

(น.96) ว่าสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ยังอยู่อย่างสมบูรณ์มาก และเขารักษาสถานที่เดิมได้ดีทีเดียว ของข้าวต่างๆ ที่เอามาตั้งโชว์ไว้อยู่ส่วนหนึ่ง เราเข้าไปดูพระที่นั่งซึ่งมีอยู่ 3 หลัง เรียกว่า ไท่เหอ จงเหอ และ เป่าเหอ ก่อนเข้าในพระที่นั่งเขาชี้ให้ดูตึกที่อยู่ข้างๆ บอกว่าเป็นที่พักของทูตานุทูตที่เข้ามาในราชสำนักจีนสมันก่อน ข้าพเจ้ารีบเรียกท่านทูตโกศลให้ดูไว้ว่าถ้าเป็นท่านทูตสมัยก่อนคงจะได้อยู่นั่น กระเบื้องที่เห็นสีเหลืองๆ เรียกว่ากระเบื้อง หลิวหลีหว่า มีคุณภาพดีมาก อยู่นานแล้วสียังไม่เปลี่ยน

(น.97) พื้นลานด้านนอกเป็นอิฐ ถามเขาว่าอิฐนี่มาจากไหน ได้รับคำตอบว่าอิฐก้อนใหญ่ๆ แบบกำแพงเมืองจีน เผาแถวๆ ปักกิ่ง ชานตุง ส่วนก้อนเล็กๆ อย่างที่นี่เผาแถวๆ เจียงซู มองเห็นบนหลังคามีรูปสัตว์เล็กๆ อยู่ เขาอธิบายว่าเป็นมาตรการดับไฟ เพราะถือว่าสัตว์พวกนี้พ่นน้ำดับไฟได้ มาตรการที่ดับไฟจริงๆ คือมีโอ่งใส่น้ำตั้งหน้าพระที่นั่ง โอ่งทำด้วยสำริด (อันนี้ป้าไลให้เติม เพราะกลัวว่าคนอ่านจะนึกว่าเป็นโอ่งราชบุรี) เวลาหน้าหนาวมีระบบให้ความร้อนไม่ให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง เวลาเกิดไฟไหม้จริงๆ แล้วก็ดับไม่ได้ ในสมัยราชวงศ์เช็งเคยโดนไฟไหม้ถึงกับต้องสร้างใหม่เลย การที่พระที่นั่งเป็นไม้อาจทำให้ได้รับอันตรายจากไฟได้ง่าย แต่ก็ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวปี 1976 แผ่นดินไหวก็ไม่เป็นอะไร พระที่นั่งเหล่านี้เขาไม่ได้ใช้ตะปูเลย ใช้การเข้าไม้ทั้งนั้น เราเข้าในพระที่นั่ง ไท่เหอ ก่อน พระที่นั่งนี้ใหญ่ที่สุด เป็นสถานที่ซึ่งพระจักรพรรดิออกว่าราชการโดยขุนนางทั้งหลายจะเฝ้าอยู่รอบๆ เมื่อจักรพรรดิมาถึงจะมีมโหรีบรรเลงด้วย นอกจากจะออกว่าราชการแล้วยังเป็นที่ทำพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พิธีตรุษจีน ห้องนี้มีเตาอบกำยานสำหรับอบห้อง (ฆ่าเชื้อโรค?) สำหรับหน้าหนาวมีอุโมงค์เผาไฟใต้พื้นห้อง ทำให้ห้องอบอุ่น ในห้องมีเสาต้นโตๆ อยู่หลายต้นทำด้วยไม้หนานมู่ เสานี้ทารักสีแดงหลายชั้น แล้วปิดทอง ทองคำเปลวของเขาใช้ทอง 90% ตีเป็นแผ่นเขื่องกว่าของเรา เท่ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เมื่อซักเขาเรื่องเสาแล้วเราเลยซักเขาต่อเรื่องอิฐให้ละเอียด ก็ได้ความเพิ่มเติมว่า ดินที่ทำ


(น.98) รูป 48 บันไดหินอ่อนที่วังหลวง คนที่ถ่ายรูปเป็นช่างภาพของฝ่ายจีน

(น.98) อิฐจะต้องมีการเตรียมพิเศษ คือเอาดินของมณฑลเจียงซูมาหมักไว้นานหลายปี เมื่อเผาแล้วต้องแช่น้ำมัน ถงหยิว ไว้จนอิ่มตัว ไม่กินน้ำมัน แล้วจึงนำมาใช้ได้ คราวนี้มีปัญหาว่า น้ำมัน “ถงหยิว” นี้คืออะไร เพราะทาไม้ก็ใช้น้ำมันนี้ เขาอธิบายว่าเป็นน้ำมันพืชชนิดหนึ่ง มาจากต้นไม้ใหญ่เรียกว่าต้น ถง และน้ำมันจากผลไม้นี้เรียกว่าน้ำมันถงหยิว เรารู้จักน้ำมันพืชชนิดหนึ่งเรียกว่าน้ำมัน ตั้งอิ้ว (คงเป็นภาษาแต้จิ๋ว) เราใช้ผสมกับปูน ทำปูนน้ำมันที่ใช้ปั้นลวดลายปูนปั้นประดับโบสถ์วิหาร ปราสาทราชวัง อาจจะเป็นอย่างเดียวกันเพราะชื่อเสียงฟังก็ดังคล้ายๆ กัน (ตกลงอาจารย์สารสินให้หมายเหตุว่า ถงหยิวและตั้งอิ้วคืออันเดียวกัน) เมื่อถามถึงอิฐแล้วก็เลยถามต่อเรื่องหินอ่อนที่ใช้ทำบันไดที่ขึ้นพระที่นั่งนั้น เขาว่าเอามาจากอำเภอ ฝานซาน ในมณฑลหูเป่ยเหมือนที่สุสาน สือซานหลิง พูดบันไดแล้วอดกล่าวไม่ได้ว่าที่นี่เขาก็พยายามรักษาของๆ เขาเอาไว้ดีอีกนั่นแหละ บันไดที่เราต้องเดินขึ้นนั้นเขาตีระแนงไม้ไผ่

(น.99) ปิดไว้ไม่ให้สึกเสียหาย ตรงกลางบันไดเป็นรูปสลัก เขาก็ล้อมคอกเสียเลย ส่วนบันไดด้านในเขาใช้ผ้าคลุม เมื่อเราดูบัลลังก์ (สร้างในค.ศ. 1406 ในราชวงศ์เช็ง) ก็ไม่สามารถเข้าใกล้ได้มากกว่าที่เขากำหนด เพราะเขามีเสาทำด้วยไม้กั้นเป็นหลักและขึงด้วยตาข่ายลักษณะนี้เราเองมีอยู่บ้าง แต่บางแห่งที่ยังไม่ได้ทำก็คิดว่าจะทำ เช่น ในอุโบสถวัดพระแก้ว ว่าจะทำกันรูปภาพไม่ให้เสียโดยป้องกันไม่ให้คนไปนั่งพิงผนัง พระที่นั่งองค์ที่สองที่เราดูเรียกพระที่นั่ง จงเหอ กำลังอยู่ในระหว่างซ่อมแซม ไกด์อธิบายว่าจักรพรรดิอาศัยอยู่ฝ่ายใน เวลาจะมีพิธีฉลองอะไรๆ จักรพรรดิจะต้องมาที่ ไท่เหอ ระหว่างทางจะนั่งพักที่ จงเหอ นี้ก่อน การเดินทางมานี้เขายังบอกอีกว่าจักรพรรดิ


(น.99) รูป 49ในท้องพระโรง วังหลวง


(น.100) รูป 50 วังหลวง

(น.100) ไม่เดิน จะประทับบนพระราชยาน 8 คนหาม ถ้าออกนอกสถานที่จะประทับพระราชยาน 16 คนหาม มีหลังคาด้วย จักรพรรดิคงนั่งอยู่ในนี้เป็นนาน เพราะหนาวก็ต้องจุดเตาแก้หนาว แล้วจักรพรรดิคงจะต้องรับสั่งเรื่องราชการ หรือตัดสินข้อคดีความอะไรสักอย่าง เพราะปรากฎว่าข้างๆ บัลลังก์ประทับของจักรพรรดิทั้งสองด้านมีสัตว์หน้าตาแปลกประหลาดสองตัวชื่อ เซี่ยจื้อ เฝ้าอยู่ สัตว์ทั้งสองนี้จะคอยดูจักรพรรดิ ถ้าจักรพรรดิทำอะไรที่ผิดจากทำนองคลองธรรม สัตว์นี้จะหันไปขวิดจักรพรรดิใครไม่ทราบในขบวนถามขึ้นมาว่าขวิดแรงแค่ไหน ไกด์เลยรีบอธิบายใหญ่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสมมุติ เป็นนิยายไม่ใช่เรื่องจริง

(น.101) ที่สังเกตอีกอย่างคือที่วางเท้าของจักรพรรดิที่บัลลังก์ทำเป็นรูป หรูอี้ (หรือ ยู่อี่ ตามที่เรียกในเมืองไทย) อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงอำนาจ เราออกจากพระที่นั่งจงเหอ เพื่อไปอีกพระที่นั่งซึ่งเรียกว่าพระที่นั่ง เป่าเหอ ไกด์บอกให้สังเกตว่า ลักษณะพิเศษของสิ่งปลูกสร้างในวังคือแต่ละพระที่นั่งจะมีห้องที่จัดพิธีสำคัญอยู่ตรงกลางข้างๆ มีห้องขนาบสองข้าง ทำนองเดียวกับพระปรัศว์ซ้ายขวาของเรากระมัง ส่วนลานกว้างๆ นี่ช่วยให้อาณาบริเวณดูใหญ่โต


(น.101) รูป 51 พระราชยานของจักรพรรดิ

Next >>