Please wait...

<< Back

" ย่ำแดนมังกร วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2524 "


(น.126) รูป 66 สระน้ำในวังฤดูร้อน

(น.126) ได้ทราบว่าบริเวณใกล้เคียงนี้ยังมีวัดอรหันต์ห้าร้อย เขาบอกว่าพระอรหันต์แต่ละองค์ทำด้วยไม้ มีวัดพระนอน สมัยราชวงศ์ซ้อง สมัยนั้นอยู่ที่ เหอหนาน อีกทางมีวัด ลามะ แถวนั้นเป็นที่ฝังศพของท่าน ซุนยัดเซ็น เขาเล่าว่าตอนที่ท่าน ซุนยัดเซ็น ถึงแก่อนิจกรรมนั้น โซเวียตส่งโลงศพทำด้วยตะกั่วมาให้

(น.127) อาคารอีกหลังที่เรือแล่นผ่านนั้น คุณครูอธิบายว่าเรียกว่า Spring Heralding Pavilion ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะบริเวณนี้ปลูกต้นหลิวมาก ต้นหลิวนี้เป็นเครื่องบ่งบอกว่าฤดูใบไม้ผลิหรือชุนเทียนได้ย่างกรายเข้ามาแล้ว นอกจากเรือของเราสองลำแล้ว ในทะเลสาบยังมีคน (ส่วนมากเป็นชาวจีน) มากรรเชียงเรือเล่นมากมาย คุณครูถามว่าในเมืองไทยสวนสาธารณะใหญ่ที่สุดคือสวนอะไร และสวนที่คนนิยมมาเที่ยวมากที่สุดคืออะไร ข้าพเจ้าตอบไม่ถูกทั้งสองปัญหา จากอี้เหอหยวน เรานั่งรถกลับเรือนเตี้ยวหยูว์ไถ ในระหว่างเดินทางคุณครูก็สนทนาถามถึงการงานของข้าพเจ้าในเมืองไทย ข้าพเจ้าก็เล่าว่าข้าพเจ้าก็ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปในงานต่างๆ ช่วยพระราชกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ตามเสด็จไปตามต่างจังหวัด เวลาอยู่กรุงเทพฯก็เป็นครู จริงๆ แล้วอยากสอนนักเรียนเล็กๆ แต่ว่ามีงานอื่นหลายอย่างทำให้ไม่สามารถให้เวลาแก่นักเรียนเด็กได้ จึงต้องสอนนักเรียนโตอยู่ที่โรงเรียนนายร้อย ซึ่งเป็นระดับอุดมศึกษา ซึ่งสะดวกกว่า ตอนนี้สอบเข้าเรียนชั้นปริญญาเอกในสาขาวิชาการศึกษา ข้าพเจ้าถามเขาว่า การศึกษาของจีนนั้นเวลาสอบเข้าเรียนระดับสูงเช่นเข้าวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ต้องสอบเข้าหรือเปล่า เขาบอกว่าต้องสอบเข้า คนที่สอบไม่ได้มักจะทำงาน เดี๋ยวนี้มีงานให้ทำเพิ่มขึ้นหลายอย่าง คือเมื่อมีการรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ก็มีการสร้างโรงแรม ต้องการบุคลากรเป็นจำนวนมาก ก็ได้พวกที่สอบเข้า

(น.128) มหาวิทยาลัยไม่ได้ไปอบรมเป็นพนักงานในหน้าที่ต่างๆ บางคนเขาก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง คุณครูบอกข้าพเจ้าว่า นอกจากจะเป็นครูแล้วยังเป็นสมาชิกสภากาชาดจีนด้วย เมื่อปีที่แล้วเป็นตัวแทนของสภาการชาดจีนไปประชุมที่ยุโรป ข้าพเจ้าบอกว่า ข้าพเจ้าเอง ก็ทำงานเป็นอุปนายิกาสภากาชาดไทย ครูถามว่าสภากาชาดไทยรวมกับรัฐบาลหรือเป็นเอกเทศ ข้าพเจ้าก็ตอบว่าสภากาชาดของไทยนั้นไม่ได้ขึ้นกับรัฐบาลแต่ว่าได้รับ เงินสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะลำพังเงินที่สภากาชาดไทยหาได้นั้นไม่พอที่จะทำกิจการใหญ่ๆ อย่างที่เราทำได้ ไหนจะโรงพยาบาล 2 โรง ไหนจะกิจการช่วยประชาชนที่ยากจนทั่วๆ ไปการที่เราเป็นอิสระจากรัฐบาลนี้จะเป็นผลดีมากเมื่อมีศึกสงคราม เพราะทำให้เราทำงานด้วยมนุษยธรรมอย่างจริงๆ สภากาชาดจีนก็มิได้รวมกับรัฐบาลเช่นเดียวกัน เมื่อไปถึงบ้านพักไม่เห็นพรรคพวกอื่นๆ หลายคน บางคนบอกว่าเขาไปร้านมิตรภาพกัน บางคนบอกว่าไปที่ตึก 3 (ร้านขายของ) พอดีพบกับแอ๋วๆ บอกว่าไม่ได้ไปไหน จึงชวนกันทุกคนรวมทั้งท่านผู้หญิงทั้งสองไปตึกสามกัน ที่ตึก 3 มีของขายหลายอย่าง มีทั้งเครื่องปั้นดินเผา เครื่องถ้วย ผ้าปัก เหมาไถ เครื่องประดับ ใครๆ รุมซื้อผ้ากันใหญ่ ข้าพเจ้าซื้อแจกันขนาดจิ๋วเป็นเครื่องถมปัดมีกี๋ตั้งด้วย เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย และซื้อ Postcard


(น.129) รูป 67 คุณครูให้หนังสือเรียนสำหรับเด็กจีน

(น.130) รูปสถานที่สำคัญต่างๆ ในปักกิ่ง เราน่าจะมี Postcard รูปสถานที่สำคัญของเราทำเป็นชุดๆ และพิมพ์สีให้ดีหน่อย จะมีประโยชน์มากทีเดียว เท่าที่ซื้อไว้สำหรับไว้บนโต๊ะเขียนหนังสือของแขกเมือง รูปยังไม่ค่อยสวย และมีน้อยแบบ พอซื้อของเสร็จก็เปลี่ยนเสื้อและไปสถานทูตไทย ตอนนี้ไม่มีฝ่ายข้าราชการผู้ใหญ่ของจีนมารับ ข้าพเจ้าไปคุณดำรง เตี่ย คุณฟ่าน คุณเฉิน คุยกันเรื่องอะไรก็ไม่ได้บันทึกเอาไว้ จำได้ว่ามีการคุยกันเรื่องสถานีวิทยุปักกิ่ง (เป็นสถานีวิทยุใหญ่มีแรงส่งสูงมาก) ถึงตรงนี้ใคร่จะนำบันทึกของคุณหมอดนัยมาลง ซึ่งคุณหมอเรียกว่า “บันทึกจากจีน” (ว่าด้วยวิทยุและโทรทัศน์) ดังนี้ วิทยุ สถานีในประเทศจีน ส่วนมากคลื่นยาว (AM) เมืองใหญ่ๆ มี FM หนึ่งหรือสองสถานี มีเพลงสมัยใหม่ และเพลงงิ้วสลับกับข่าวและบทความ คลื่นสั้นจากต่างประเทศ : เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย ชัดเจนมาก BBC และ Voice of America รับได้แต่ไม่ใคร่ชัดเจน ที่ คุนหมิง ตอนดึกฟังคลื่นยาวจากกรุงเทพฯ ได้ชัดเจน แต่มีรายการเพลงลูกทุ่งและโฆษณายาดองเหล้าตราเสือ 11 ตัว และปลากระป๋องปุ้มปุ้ย โทรทัศน์ ในปักกิ่งมีอย่างน้อยสองช่อง (สี) รายการสลับกันมีข่าวพัฒนาประเทศ ข่าวดาวเทียมจากต่างประเทศ ละคร (สมัยใหม่) และงิ้ว ตอนกลางวัน บ่าย และเย็น มีรายการมหาวิทยาลัยทางอากาศ (สอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์)

(น.131) ภาคข่าวสลับกัน ไม่บังคับให้ถ่ายทอดพร้อมกันทุกช่องอย่างของไทย เมืองใหญ่อื่นๆ ก็มีโทรทัศน์ใช้รายการท้องถิ่น เทปโทรทัศน์และถ่ายทอดจากปักกิ่ง เมื่อไปถึงสถานทูต มีท่านทูต คุณหญิง กับพวกคอยรอรับและพาไปนั่งในห้องรับแขก เราไปค่อนข้างจะช้าไปหน่อย พบกับคุณครูสอนภาษาอังกฤษคนเมื่อตอนบ่ายนี้มอบหนังสือภาษาจีนให้ข้าพเจ้าหลายเล่ม บางเล่มเป็นบทประพันธ์ของนักเรียนชั้นประถม บางเล่มเป็นการรวบรวมบทกวีจีนสมัยก่อนๆ ที่เอามาเป็นบทเรียนข้าพเจ้าบอกคุณครูว่าจะเก็บไว้จนกว่าจะอ่านได้ สักพักหนึ่งมาดามเติ้งอิงเชา ก็มาถึง ข้าพเจ้ารีบไปรับรองเชิญนั่งคุยกัน ที่จริงแล้วมาดามมาถึงก่อนข้าพเจ้า แต่เมื่อเห็นรถของข้าพเจ้าตามหลังมา ก็จอดข้างทางรอให้ข้าพเจ้าถึงเสียก่อน วันนี้เรานั่งคุยกันเรื่องการแต่งกวีนิพนธ์ จนกระทั่งคุณหญิงตุ๊กตามาบอกว่าอาหารพร้อมแล้ว ข้าพเจ้ากับมาดามเติ้งอิงเชานั่งในห้องหนึ่งและคนอื่นๆ นั่งอีกห้อง ผู้ที่นั่งร่วมโต๊ะของข้าพเจ้าวันนี้มี คุณพูนเพิ่ม ท่านผู้หญิงทั้งสอง ท่านทูตและคุณหญิง คุณดำรง และอาจารย์สารสิน ฝ่ายจีน ฯพณฯ มาดามเติ้งอิงเชา ฯพณฯ มาดามเฉียนเจิ้งอิง (รัฐมนตรีกระทรวงชลประทาน) มาดามเหอหลี่เหลียง (ภรรยา ร.ม.ต. ต่างประเทศ) ฯพณฯ หันเนี่ยนหลง (ร.ม.ช. ต่างประเทศ) มาดามหวังเจิ้น (ภรรยา ฯพณฯ หันเนี่ยนหลง) ฯพณฯ หวังโย่วผิง (ร.ม.ช. ต่างประเทศ) มาดามฉื่อหงเฉา (ภรรยา

(น.132) ฯพณฯ หวังโย่วผิง) ฯพณฯ โซ่วฮั่นชิง (ร.ม.ช. อุตสาหกรรมสิ่งทอ) คุณหลี่เม่า (ล่าม) งานวันนี้ก็สนุกสนานดี ข้าพเจ้าลืมเล่าตอนสำคัญไปตอนหนึ่งว่า เมื่อตอนที่พบกับ ฯพณฯ เติ้งเสี่ยวผิง ท่านเติ้งเสี่ยวผิงว่าคนจีนมีความเคารพท่านมาดามเติ้งอิงเชามาก และเรียกมาดามว่า ต้าเจี่ย (พี่สาวใหญ่) ข้าพเจ้ารู้จักมาดามแล้ว น่าจะเรียกบ้างข้าพเจ้าบอกว่า ท่าจะไม่เหมาะกระมัง ท่านเป็นผู้อาวุโสแล้ว (น่าจะเรียกว่าคุณยายมากกว่า) ท่านเติ้งเสี่ยวผิงบอกว่าเรียกอย่างอื่นจะไม่มีความสนิทสนมเหมือนเป็นพี่น้องกัน ตั้งแต่นั้นก็เลยเรียกมาดามว่าพี่สาวใหญ่ ตกลงว่าไปจีนเที่ยวนี้ได้พี่มาคนหนึ่ง ระหว่างอาหาร คนที่รื่นเริงที่สุดเห็นจะได้แก่พี่สาว ชักชวนให้คนนั้นคนนี้ดื่มอวยพรตลอดเวลา ดื่มคว่ำแก้วประมาณ 5 – 6 หนแต่ไม่ต้องห่วง พี่สาวไม่ดื่มเองหมด ท่านมีตัวแทนคือท่าน ร.ม.ช. หวัง ท่านพี่สาวเดินไปคุยกับคนนั้นคนนี้อย่างสนุก ผิดคาดแต่เดิมนั้นทางกระทรวงต่างประเทศจีนบอกว่ามาดามไม่ค่อยสบายงานวันนี้มาดามจะอยู่ได้เพียงชั่วโมงเดียว ไม่มีการพูดปราศรัยหรือดื่มอวยพร ปรากฏว่าพี่สาวข้าพเจ้าทำทุกๆ อย่าง และอยู่ในงานถึงสองชั่วโมงกว่า ร.ม.ช. หวัง กับพี่สาวรู้จักกันตั้งแต่สมัยเดินทางไกลตอนนั้น ร.ม.ช. หวัง เป็นนายทหารขี่ม้าไป ส่วนพี่สาวขณะนั้นเจ็บหนักมากเป็นโรคปอด ต้องถูกหามไปเกือบตลอดทาง อาหารการกินลำบากมาก และยังต้องสู้รบกับญี่ปุ่นอีกด้วย ตอนหลังท่านพี่สาวถามข้าพเจ้าเรื่องธรรมเนียมต่างๆ ของไทย ท่านสนใจมากว่าในตอนสงกรานต์พอดีมีคนไทยมาเยี่ยม จะเป็นใครข้าพเจ้าจำไม่แม่น


(น.133) รูป 68 ที่สถานทูต ถ่ายกับมาดามเติ้งอิงเชา

(น.133) แล้ว ดูเหมือนจะเป็นผู้แทนสภาสตรีแห่งชาติ มารดน้ำสงกรานต์ท่าน เรื่องในวงสนทนายังมีเรื่องเกี่ยวกับชนชาติ หุย ซึ่งเป็นชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลาม ในปักกิ่งยังมีอยู่จำนวนหนึ่ง และคุยเรื่องวรรณคดีจีนรวมทั้งเรื่องงิ้ว ท่านพี่สาวใหญ่อธิบายว่าไปถึงคุนหมิงก่อนกลับจะให้ข้าพเจ้าได้ดูงิ้วปักกิ่ง แล้วอยู่ๆ ท่านก็หันไปบอกรัฐมนตรีหวังว่าข้าพเจ้าชอบงิ้วแต้จิ๋ว ฉะนั้นให้หาหนังเรื่องงิ้วแต้จิ๋วไว้ให้ข้าพเจ้าดูที่เมืองไทย อาหารเป็นอาหารจีน มีออร์เดิฟ หูปลาฉลาม กุ้ง และ อะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง สำหรับอาหารไทยมีปูจ๋า มีอาหารอย่างหนึ่งเป็นอาหารเสฉวน แช่อยู่ในซอสพริก ท่าน ร.ม.ช. หันเนี่ยนหลง


(น.134) รูป 69 ที่สถานทูต นั่งกับมาดามเติ้งอิงเชา อีกข้างคือรัฐมนตรีหันเนี่ยนหลงถัดออกไปคือคุณหญิงตุ๊กตา ถัดออกไปท่านเสิ่นผิงที่มาเป็นทูตที่เมืองไทยปัจจุบันนี้

(น.134) ท่านคุยใหญ่ว่าท่านชอบอาหารเผ็ดๆ แต่สักประเดี๋ยวเดียว สูดปากแล้วร้องว่า โอยเผ็ด คนไทยรับประทานได้อย่างสบายโดยไม่รู้สึกเลยว่าเผ็ดเป็นพิเศษ ของหวานมีขนมไทย และมีมะม่วงสุกและมะม่วงห่าม (พี่สาวรู้สึกว่าชอบอย่างสุกมากกว่า)


(น.135) รูป 70 ส่งแขกที่สถานทูต

(น.135) หลังอาหารแล้วเราส่งฝ่ายจีนกลับ พวกจีนนอกจากที่กล่าวแล้ว ยังมีมาดามหวงกานอิง รองประธานสภาสตรี ท่านเสิ่นผิง อธิบดีกรมเอเชีย 1 และภรรยา นายหลิวจวิ้นเผย รองอธิบดีกรมเอเชียที่ 1 นายกว๋อเส้าผิง รองอธิบดีกรมพิธีการทูต นางจ้าวไหว เลขานุการของมาดามเติ้งอิงเชา ครูฟางปี้ฮุย ครูโรงเรียนมัธยมเป่ยจิงจิ่งซาน นางหยูเพ่ยฉ่าย นักดีดพิณ (แบบฝรั่ง) ของวงออเคสตรา ล่ามทั้งหมด คุณจาง เจ้าหน้าที่กรมพิธีการทูต

(น.136) ลืมเล่าว่าเราก็มีของแจกในโต๊ะอาหารหมือนกัน ของจีนเขา (มีพี่สาวเป็นคนเริ่มต้น) เอาที่วางตะเกียบเป็นแก้วทำเป็นรูปผลไม้ ผัก ไก่ ปลา ให้ข้าพเจ้าตอนจบงาน บอกว่าเป็นการฝีมือเล็กๆ น้อยๆ น่ารักดี ให้เก็บเอาไปฝากน้องด้วย เวลามีงานตอนหลังๆ ใครๆ เลยทำตามอย่างนี้ ของชำร่วยของเรามีอับยา ทำด้วยเหรียญสลึงซึ่งคุณหญิงไปสั่งทำมาจากไหนก็ไม่ทราบ และมีของเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณหญิงสุวัฒนา สมาคมสตรีไทยมุสลิมให้ข้าพเจ้าก่อนออกจากกรุงเทพฯ พี่สาวของข้าพเจ้าไม่ค่อยสบาย ต้องรับประทานยาเสมอข้าพเจ้าจึงอธิบายว่าทีหลังให้ท่านเอายาใส่อับนี้ได้ จีนไปหมดแล้ว ตอนนี้เป็นรายการคนไทยบ้าง เริ่มต้นด้วยรายการสำรวจสถานทูตในปักกิ่ง สถานทูตต่างๆ จะอยู่ในบริเวณเดียวกันหมด เพราะทางจีนเขาสร้างให้เช่า ในราคาค่อนข้างจะแพงส่วนที่พักของข้าราชการเขามีให้ต่างหาก (รวมๆ กัน) สำหรับสถานทูตเรานั้น ได้ยินว่าคนสวนของสถานทูตเป็นอาจารย์ใหญ่ของคนสวนต่างๆ ในแถบนี้ทีเดียว ข้าพเจ้าขึ้นไปชั้นบนคุณหญิงตุ๊กตาอวดตุ๊กตาดินปั้นขนาดจิ๋วที่สะสมไว้ บอกว่านี่ต้องแอบซื้อไม่ให้ท่าน ต้าสื่อ (ท่านทูต) ทราบเดี๋ยวจะค่อนเอาว่าซื้อของอะไรก็ไม่รู้ ก่อนไปเมืองจีน มีคนฝากซื้อตุ๊กตาดินเล็กๆ ของจีนที่ยังไม่ได้เคลือบ ข้าพเจ้าก็นึกภาพไม่ออก มาเห็นนี่รู้สึกว่าเก่งจริงๆ ปั้นได้มีหูมีตาทั้งๆ ที่ตัวเล็กนิดเดียว คุณหญิงบอกว่าหาซื้อยากเพราะ

(น.137) เมืองจีนนี่มีอยู่อย่างหนึ่ง ใครเห็นอะไรแล้วชอบใจก็ต้องรีบซื้อซะ มิฉะนั้นจะไม่มีให้ซื้อ (เหมือนร้านจิตรลดา) จากนั้นลงไปพบกับคนไทย คือข้าราชการสถานทูตทั้งหลายถ่ายรูปร่วมกัน ให้ของที่ระลึก และคุยกันสักครู่ หนึ่งก็กลับบ้านกลัว “เตี่ย” จะง่วง (คนจีนเขานอนกันหัวค่ำ) ตอนนี้ก็เป็นรายการแพคของ...เราคุยกันเรื่องของขวัญ ใครก็ไม่ทราบบอกว่า “เตี่ย” จะไปขับรถให้ที่ซีอาน เฉิงตู คุนหมิง หรือเปล่า โธ่! (ท่านผู้หญิงสุประภาดาอุทาน) เขาว่ากันว่าระยะทางไปเฉิงตู (เมื่อก่อนนี้) ขึ้นสวรรค์ยังง่ายกว่า แล้วยังจะใจร้ายให้เตี่ยขับรถไปอีก ของที่จะไปซีอานนั้นเราจะต้องรีบจัดไปวางไว้หน้าห้องให้เรียบร้อยคุณ หวังไห่ฟง เป็นคนเช็คกระเป๋าว่ากระเป๋าใบไหนเป็นของใคร จัดการได้ไม่ผิดพลาดเลย ทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้ามันเยอะแยะ เก็บเท่าไรก็ไม่หมดเสียที ตอนดึกๆ คุณหญิงเข้ามา เอาของต่างๆ มาให้ จัดการแพคเรียบร้อยแล้ว ใส่กล่องเล็กกล่องน้อยมา ข้าพเจ้าก็จัดการจุกไว้ตามซอกมุมต่างๆ ของกระเป๋า กว่าจะนอนก็ดึกเหมือนกัน นึกๆ ดูพรุ่งนี้ก็ต้องออกจากปักกิ่งแล้ว สิ่งที่อยากดูก็ยังมีอีกมากมาย สิ่งที่ดูไปแล้วก็มากจนไม่มีเวลาจะย่อย เพราะที่ไปไหนๆ ก็ตามข้าพเจ้าพยายามจะจดจำอะไรต่อมิอะไร สิ่งละอันพันละน้อยมาเป็นบรรณาการแก่ทุกท่านให้มากที่สุด คนที่ไปด้วยเขาก็ช่วยคิดช่วยตั้งข้อสังเกตเหมือนกัน แต่ระหว่างอยู่จีนก็คุยกันไม่มากนัก

Next >>