Please wait...

<< Back

" ย่ำแดนมังกร วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2524 "

(น.234) โรงงานปั่นทอ ฉะนั้นปริมาณการผลิตจึงเพิ่มจากก่อนปลดแอกถึง 40 เท่า เมื่อตอนที่แก๊ง 4 คนปกครองอุตสาหกรรมสะเทือนโรงงานปิดไป 40% คุณจางเล่าว่าสมัยนั้นเศร้าใจมากเพราะตนมีหน้าที่ดูแลเยาวชน แต่ก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ ในเสฉวนมีการต่อสู้ทำความเสียหาย คุณจางบอกว่าลำพังเด็กๆ ก็ไม่มีอะไรแต่พวกผู้ใหญ่ที่ร้ายๆ บัญชาอยู่เบ้องหลัง ข้าพเจ้ามองดูชาวบ้านชาวนาแถวๆ นี้เห็นหลังคามุงแฝก หรือหญ้าผิดกับทางเหนือที่มักจะมุงด้วยอิฐหรือกระเบื้อง ในตลาดเห็นมีร้านตัดผมอยู่ร้านหนึ่ง คุณจางบอกว่าแต่ก่อนการคมนาคมมาเสฉวนไม่ดี หลี่ไป๋ ว่าการคมนาคมสมัยก่อนยากกว่าขึ้นฟ้าเสียอีก ทางรถไฟก็ไม่มี มีทางหลวง 8,000 กิโลเมตร การบินก็มีแต่ไปปักกิ่ง การคมนาคมที่สะดวกที่สุดอาศัยเรือในแม่น้ำแยงซีเกียง เมื่อปลดแอกแล้วได้สร้างรถไฟ 2,500 กว่ากิโลเมตร ขณะนี้ทางหลวงที่มาสู่มณฑลมีถึง 8 หมื่อกว่ากิโลเมตร สายการบินก็ไปมาหาสู่ได้ทั่วประเทศ รถผ่านโรงแรมซึ่งเราจะได้พักค้างคืนกัน โรงแรมนี้ชื่อโรงแรม จิ่นเจียง จุณจางอธิบายว่า ชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่านหน้าโรงแรม คำว่า จิ่น หมายถึง ผ้าไหมชนิดหนึ่ง เจียง แปลว่า แม่น้ำ มณฑลเสฉวนมีการทอผ้าไหม มีประวัติมา 2,000 กว่าปีแล้ว สมัยก่อนเมื่อปั่นย้อมเส้นไหมแล้ว จะเอามาแช่ในแม่น้ำนี้ ทำให้มีสีสันสวยงามมาก ฝีมือผ้าไหมที่ทอใหม่ของเสฉวนก็นับว่าสวยงาม

(น.235) รถแล่นผ่านตลาด มีบ้านเรือนเหมือนร้านค้าและบ้านพักในตลาดในชนบทของไทยเป็นที่สุด ผู้คนที่สัญจรไปมาก็ดูไม่ผิดกับคนไทยเท่าไร คุณจางบ่นว่า บ้านพวกนี้เป็นบ้านก่อนสมัยปลดแอกยังไม่ได้รื้อ แต่ก่อนนี้มีเงินหรือมีทุนก็เอาไปสร้างโรงงาน ละเลยต่อการสร้างบ้านพักให้ประชาชน ตอนนี้พยายามจะสร้างให้มากขึ้นอย่างไรก็ตามจะสร้างได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับการผลิต คุณจางบอกว่าเสฉวนเป็นมณฑลที่มีความเจริญทางด้านการศึกษามากได้ยินว่าโรงเรียนมัธยมแห่งแรกก็ตั้งอยู่ที่เสฉวนขณะนี้มีสถานศึกษาชั้นอุดมศึกษาอยู่ถึง 40 กว่าแห่ง มีนักศึกษาอยู่ 8-9 หมื่นคน แม้ว่าจะมีนักศึกษามากก็ยัง ไม่พอความต้องการฉะนั้นจะต้องพัฒนาการศึกษาอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุมศึกษา คุณจางเล่าต่อไปถึงเรื่องการแพทย์ว่า มีการพัฒนาในเรื่องแพทย์พยาบาลเป็นอย่างมาก มีสถาบันการแพทย์ แพทย์ของจีนเรียนทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของจีน ตามคอมมูนมักจะมีโรงพยาบาล กองการผลิตก็มีหน่วยพยาบาล สมาชิกคอมมูนที่ป่วยเจ็บก็สามารถไปรักษาได้ฟรี หลังจากนั้นได้พูดกันถึงสถานที่ท่องเที่ยวในเฉิงตู คุณจางเล่าให้ฟังถึง เอ๋อเหมยซาน หรือภูเขา ง่อไบ๊ เป็นภูเขาหนึ่งในสี่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาของจีนอยู่ในเขตอำเภอ เล่อซาน วิวสวยมาก ข้างบนเขามีลิงมาก มีพระพุทธรูปนั่งสูงกว่า 70 เมตร ใช้ก้อนหินสลัก สิ่งแปลกอีกอย่างหนึ่งคือมีกบชนิดหนึ่งร้องเสียงเหมือนดนตรี จึงเรียกว่า “กบดนตรี”


(น.236) รูป 108 ในโรงงานทอผ้า ที่เห็นห้อยๆ อยู่เป็นกระดาษปรุแบบ

(น.236) คุยกันยังไม่ทันจะจบดีรถไปถึงโรงงานเสียแล้ว มีหัวหน้าควบคุมโรงงานคอยรับอยู่ พาเราขึ้นไปดูกิจการของโรงงาน ท่านผู้หญิงมณีรัตน์หันมาบอกว่า โรงงานที่ไปดูที่ซีอานก็เป็นแบบนี้ เราได้ชมเครื่องกรอด้ายที่กรอจากม้วนเล็กเข้าม้วนใหญ่เครื่องจักรทอซึ่งมีแผ่นปรุเป็นลวดลายเป็นแบบเหมือน “คอมพิวเตอร์” คนงานมีหน้าที่ตรวจสอบความเรียบร้อยว่าไม่มีเส้นไหมขาด


(น.237) รูป 109 ดูเขาเลือกผ้า

(น.237) ผู้ควบคุมโรงงานชื่อ คุณ ซุ่งหมิงเจียง อธิบายว่าที่นี่มีเครื่องจักร 281 เครื่อง คนงาน 1,275 คน เป็นหญิง 774 คน โรงงานนี้เริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน 1951 เมื่อแรกตั้งมีคนงาน 229 คน มีกี่ทอผ้าด้วยมือ 72 เครื่อง ขณะนี้เขาเก็บไว้เครื่องหนึ่ง คุณซุ่งพาเราไปในห้องเล็ๆ มีกี่ทอผ้าด้วยมือเครื่องหนึ่ง กี่มือของจีนต้องใช้นทอถึงสองคน คนหนึ่งนั่งทออยู่ ส่วนอีกคนปีนขึ้นไปอยู่บนกี่ คอยจัดลวดลาย เมื่อครั้งไปอิหร่าน ได้ไปชม “กองหัตถศิลป์” ของอิหร่าน ก็ได้เห็นเครื่องทอผ้าเช่นเดียวกันนี้ คุณซุ่งอธิบายว่า ตอนที่ไปแสดงนิทรรศการการทอผ้าที่แคนาดาเร็วๆ นี้จะเอากี่ทอมือนี้ไปแสดงด้วย คนทอทั้งสองคนเป็นผู้ชาย


(น.238) รูป 110 การทอผ้าด้วยมือของจีน ต้องมีคนอีกคนปีนอยู่ข้างบนกี่

(น.239) ข้าพเจ้าถามถึงการย้อมสี คุณซุ่งบอกว่าที่นี่ใช้ทั้งสีจีนและสีต่างประเทศ ผงสีบางอย่างต้องใช้น้ำร้อน บางอย่างใช้น้ำเย็นเมื่อถามถึงเครื่องจักรที่ทอผ้า คุณซุ่งบอกว่าเป็นของกรรมกรคิดสร้าง ทำที่เมืองฮั่นหยาง อยู่ใน ซานซี ดูโรงงานเสร็จแล้ว คุณซุ่งพาไปที่ห้องซึ่งมีการแสดง และขายผ้าไหมจากโรงงาน มีลวดลายต่างๆ ข้าพเจ้าซื้อได้ผ้าลายผีเสื้อให้น้องเล็ก 1 ชิ้น จะซื้อสำหรับถวายสมเด็จย่า ให้คุณยาย และผู้ใหญ่ผู้มีอุปการคุณอื่นๆ ก็ได้แต่ชี้ๆ ส่งเงินให้ป้าจันซื้อแทน เห็นคนโน้นคนนี้ซื้อกันเยอะแล้ว ข้าพเจ้าไปนั่งคุยกับคุณซุ่งหมิงเจียงสนุกดีกว่า คุณซุ่งจิบชามะลิอึกหนึ่งแล้วเล่าว่า ตนเริ่มเข้าทำงานโรงงานนี้เมื่อปี 1951 ในครั้งแรกฝึกทอผ้าไหมด้วยมือ ผู้สอนเป็นครูของโรงงาน (แสดงว่างานทอผ้าเป็นงานของผู้ชายด้วย ไม่ใช่งานเฉพาะผู้หญิง) และได้เลื่อนฐานะตำแหน่งขึ้นมาเรื่อยๆ ความจริงคุณซุ่งทอผ้าเป็นตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยเป็นศิษย์อยู่ในโรงงานของนายทุนที่อยู่ทางตะวันออกของเฉิงตู ข้าพเจ้าถามว่า ฬนครอบครัวมีคนทอผ้าเป็นหรือไม่ (ในเมืองไทยผู้ที่ทอผ้าเป็นมักจะสอนลูกหลานต่อๆ กันสำหรับทอใช้เองในครอบครัว) คุณซุ่งบอกว่าในครอบครัวไม่มีใครทอผ้าเป็นพ่อแม่เป็นชาวนายากจนอยู่ฝนชนบท ขณะนี้น้องสาวคนหนึ่งจบมหาวิทยาลัย เป็นหมออยู่ที่เมือง ห่านตัน มณฑล เหอเป่ย
(น.240) พูดถึงการให้ค่าตอบแทนแก่คนงาน คุณซุ่งเล่าว่า สมัยก่อนต้องทำงานจึงจะให้ คือเขาจะให้เมตรละหยวน เดี๋ยวนี้เขาตั้งเงินเดือนให้สำหรับคนทอผ้า 30-70 กว่าหยวนต่อเดือน 30 หยวนนี้ให้แก่นักเรียนตั้งแต่ทำอะไรไม่เป็นเลย โดยเฉลี่ยทั่วๆ ไปได้ประมาณ 45 หยวน ถ้าใครทำล่วงเวลาก็มีเงินเพิ่ม ในบริเวณนี้มีหอพักกรรมกร โรงเลี้ยงเด็ก ห้องพยาบาล โรงเลี้ยงเด็กจะรับเด็กตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป จะฝากไว้ทั้งกลางวันกลางคืนก็ได้ ห้องพยาบาลมีหมอ 10 กว่าคน ทั้งประเภทหมอจบมหาวิทยาลัยและหมอฝึกกันเองและยังมีพยาบาลอีก โรงอาหาร คนงานต้องซื้ออาหารกินเอง และอาจจะกลับไปกินที่บ้านก็ได้ ส่วนมากก็จะซื้อเอาที่โรงงานไม่มีใครห่อข้าวมาจากบ้าน ราคากับข้าวมื้อหนึ่งๆ ก็ประมาณ 3 – เหมา พูดถึงเวลาการทำงานได้ทราบว่าทำงานกันวันละ 8 ชั่วโมง (รวมเวลากินข้าวด้วย) โรงงานนี้มี 3 กะ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไหมที่ใช้ทอรับจากชานเมืองเฉิงตู รัฐเป็นผู้จัดหาซื้อให้ การขายมีทั้งส่งรัฐบาลและขายเอง ในการทำลวดลายนั้นมีนักออกแบบขณะนี้ไม่อยู่กัน ออกไปวาดภาพทิวทัศน์ธรรมชาติเพื่อมาออกแบบและยังมีเจ้าหน้าที่อีกพวกเป็นผู้ปรุลาย เมื่อดูเสร็จซื้อเสร็จแล้ว เราก็ลาคุณซุ่งกลับ ก่อนออกจากโรงงาน ข้าพเจ้าโบกมือให้คนงานที่เดินอยู่แถวนั้น ซึ่งต่างก็โบกมือตอบด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้ม คุณจางหุ้ยหมิงเล่าว่าเดี๋ยวนี้ทางการได้เลื่อนเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยงกรรมกรให้มากขึ้น และได้รับลูกหลานเข้าทำงานเพิ่มเติมคุณจางบอกว่า ถ้าเทียบกับประเทศที่เจริญต่างๆ จีนอาจจะสู้เขา

(น.241) ไม่ได้ แต่ก็แก้ปัญหาอดตายหนาวตายไปได้ ขณะนี้กรรมกรสามารถซื้อจักรยาน จักรเย็บผ้า นาฬิกา วิทยุ โทรทัศน์ บางคนซื้อตู้เย็น เครื่องซักผ้า ข้อสำคัญเราต้องพัฒนาการผลิตต่อไป เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น และต้องสร้างตึกที่พักกรรมกรมากขึ้นเดือนที่เราให้อาจจะน้อยลง แต่ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่แพง อีกประการหนึ่ง ข้าวสาร ผักของมณฑลนี้มีมาก จึงถูกกว่ามณฑลอื่น คุณจางบอกว่าที่เสฉวนเดี๋ยวนี้ชาวนามีที่ดินเพื่อทำกินส่วนตัวกันแล้ว ข้าพเจ้าเล่าให้คุณจางฟังว่า วันนี้เลือกผ้าได้หลายชิ้น ตั้งใจจะนำไปฝากญาติผู้ใหญ่ที่มีอุปการคุณ คือย่าและยายที่เคยเลี้ยงมาคุณจางบอกว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เราชาวตะวันออกยึดถือความกตัญญูเป็นสำคัญ ทำเช่นนี้ย่อมมีความเจริญ เราคุยกันอีก 2-3 เรื่องเกี่ยวกับที่ดิน พอดีถึงโรงแรมจิ่นเจียง คุณจางลากลับบอกว่าพบกันคืนนี้ ข้าพเจ้ารีบจัดการเรื่องของที่ระลึก เคราะห์ดีที่เขาจัดการเรื่องกระเป๋าได้รวดเร็วมากที่อยู่สับสนเล็กน้อยแล้วก็หาเจอกันโดยเรียบร้อยเขาเอาบัตรเชิญเลี้ยงคืนนี้มาแจกกัน อาจารย์สารสินช่วยอ่านชื่อทุกคนจากอักษรจีน ฟังแปลกมาก เสียดายที่ไม่ได้จดเอาไว้ เท่าที่จำได้มีคุณดำรงชื่อตุ้นหลง คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ กลายเป็น เหวินเปิ่น ไคหลี เราเริ่มปรึกษากันว่า วันเกิดท่านผู้หญิงสุประภาดาในวันที่ 18 เดือนนี้ เราจะอวยพรท่านกันอย่างไร เรามาอยู่กันในต่างแดนเช่นนี้ จะหาของขวัญประการใดมิได้เลย ข้าพเจ้าคิดว่าการ์ดเชิญงานเลี้ยงของจีนในวันนั้นก่อนจะแจกเราแกล้งเปลี่ยนเสียเป็น


(น.242) รูป 111 เลี้ยงอาหารที่เสฉวน วันที่มีอาหารมากเป็นประวัติการณ์ ข้างๆ เป็นผู้ว่าราชการมณฑล

(น.242) งานฉลองวันเกิดท่านผู้หญิงเสียก็ได้ อย่างไรก็ตามยังมีเวลาพอคิดหาช่องทางได้อีก เวลาประมาณทุ่มหนึ่ง เราลงไปที่ห้องเลี้ยงอาหาร มีท่าน ลู่ต้าตง ผู้ว่าราชการมณฑล ท่าน เฝิงหรูซิ่ว นายกเทศมนตรีนครเฉิงตูเป็นเจ้าภาพ ตั้งแต่กินเลี้ยงมาอาหารวันนี้รู้สึกว่ามากมายและพิสดารกว่าที่แล้วมา ฉะนั้นจึงสมควรกล่าวถึงอาหารให้จบกระบวนความจึงจะเล่าเรื่องอื่นต่อไป

(น.243) เริ่มต้นมีออร์เดิฟ แล้วมีจานกลางสีต่างๆ ตามด้วยไก่ขาว น้ำเกลือ ลูกเกี้ยมบ๊วย ผัดกระต่ายทำเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ปอดควายหั่นเป็นชิ้นๆ (ชื่อในเมนูเรียกว่าผัดปอดผัวเมียหั่นเป็นชิ้นๆ) ถั่วลิสงรสแปลก (เป็นถั่วลิสงหุ้มด้วยอะไรเค็มๆ อร่อยดีมากทีเดียว) เส้นผมม้วน 3 อย่าง ปลาหั่นเป็นชิ้น 5 อย่าง ข้าวตังกับของคาว 3 อย่าง เขายกเอาข้าวตังออกมาก่อน แล้วเอาหน้ามาราดร้อนๆ ทีหลัง แต่เราค่อนข้างจะเคราะห์ร้าย คือกำลังจะกินพอดีถึงเวลาที่ท่านผู้ว่าฯ กล่าวต้อนรับและข้าพเจ้ากล่าวตอบ พอเสร็จพิธีถึงเวลากล่าวตอบ ข้างตังก็หายกรอบแล้ว อาหารจานนี้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ติดใจมาก บอกว่ากลับเมืองไทยแล้วจะทำบ้างนอกจากนั้นมีเห็ดหอมขาวทอดอ่อน หงส์ทองคืนรัง แกงหนอนหญ้าเป็ดน้ำขาว เหมือนกับเป็ดที่มีหนอนไชออกมา หนอนนี้บางคนก็บอกว่าเป็นหนอนจริง แต่บางคนก็บอกว่าเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งเรียกว่า ตงฉงเซี่ยเฉ่า ซึ่ง “หน้าหนาวเป็นหนอน หน้าร้อนเป็นหญ้า” เป็นสมุนไพรที่แพงมาก อาหารต่อไปคือเต้าหู้ของแม่เฒ่าหน้าข้าวตังเขาอธิบายว่าแม่เฒ่าคนหนึ่ง หน้าแกปรุๆ เป็นคนที่ทำเต้าหู้อร่อยมากใครๆ ก็ต้องติดใจ ห่านกับการบูรและลูกชา ปลาใส่หัวกระเทียมใหญ่ แกงจืดเห็ดหอม ไก่ชิ้นบางๆ เหมือนแผ่นแก้วหลังจากนั้นเป็นอาหารเบ็ดเตล็ด มีบะหมี่แบบที่เขาหาบขาย เกี๊ยวน้ำของคน แซ่จุง ขนมอี๋ ข้าวเหนียวห่อใบตอง (ของหวานเขาจะเสิร์ฟก่อนจบอาหารคาว) ของหวานเป็นส้มซันคิสทั้งลูก เขาให้มีดมาผ่า และดูดกินน้ำ (ปอกไม่ออกเพราะเป็นมีดโต๊ะธรรมดา)


(น.244) รูป 112 กล่าวตอบที่เสฉวน (ตอนที่เพิ่งกินได้นิดเดียว)

(น.244) เหล้าที่ดื่มวันนี้เรียกว่า อู่เหลียงเย่ เป็นเหล้าเสฉวน ทำจากธัญพืช 5 ชนิด เขาบอกว่า 60 กว่าดีกรี 120 พรูฟ (เหมาไถก็ 60 ดีกรี) เขาอวดของเขาว่าเล้านี้รสดีกว่า เหมาไถ แต่ผู้ใหญ่ในวงการการเมืองชอบ เหมาไถ มากกว่า เหมาไถ เลยดัง อย่างไรก็ตามเหล้าชนิดนี้แรงกว่า เหมาไถ ทำเอาคนใกล้เมาไปหลายคน วันนี้ท่านผู้ว่าฯ กล่าว speech สด เนื้อหาเป็นการกล่าวต้อนรับในนามประชาชนเสฉวน ข้าพเจ้ากล่าวตอบเป็นอันเสร็จพิธี ท่านผู้ว่าเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า สมัยก่อนตอนสงครามกับญี่ปุ่นท่านเคยทำงานและทำการรบอยู่แถวๆ เสฉวนนี้ จึงทำให้รู้ประวัติของเมืองและภูมิประเทศมาก ท่านบอกว่าน่าเสียดายที่ข้าพเจ้าจะไม่มีโอกาสได้ดูโบราณสถานของเสฉวนเลย เพราะไม่มีเวลา มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น บ้านของกวีตู้ฝู่ กวีเอกสมัยราชวงศ์ ถัง


(น.245) รูป 113 เสฉวนกำลังดื่มอวยพร

(น.245) ซึ่งมาอยู่ที่เฉิงตูเป็นเวลานานและได้เขียนบทกวีที่มีชื่อเสียงหลายบทกล่าวถึงวิถีชีวิตของคนธรรมดาๆ ในเสฉวน มีโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสามก๊ก (ซานกว๋อ) เช่น ฮวงซุ้ยของ ขงเบ้ง สิ่งก่อสร้างที่ ไป๋ตี้เฉิง และกองบัญชาการอาณาจักรสู่ของ เล่าปี่ ก็ยังอยู่ หลังจากนั้น เราคุยกันเรื่องชาวเขา และชนเผ่าต่างๆ ที่พบในเสฉวน ท่านบอกว่ามีชาว จ้าง (คนทิเบต) พวก อี๋ มี 1 ล้านคนนับว่ามากที่สุด ใส่เสื้อผ้าลายๆ โพกหัวมี “หงอน” เสียบที่ผ้าโพก

(น.246) ผม มีพวก หุย อยู่หันอย่างกระจัดกระจาย พวก แม้ว พวก ไป๋ ซึ่งทางการต้องช่วยเหลือมากที่สุด เพราะอยู่ในที่ลำบาก ท่านผู้ว่าฯจะต้องขึ้นไปบนเขาเพื่อไปค้างอยู่กับพวกชาวเขา บางทีกินเวลานานๆ เขาก็มีความพยายามให้ชาวเขาอยู่กับที่ไม่ย้ายไปย้ายมาและไม่ตัดไม้ทำลายป่า โดยการให้ที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ข้าพเจ้าบอกว่า โครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้ ท่านจัดให้ชาวบ้านมีที่ทำกินอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ข้างๆ ป่าไม้ในเขตป่าไม้นั้นจะปลูกพืชที่มีประโยชน์ คือให้มีไม้สำหรับทำฟืน ไม้ปลูกสร้างบ้านเรือน ไม้ผลและไม่ที่เก็บรับประทานได้ ให้ชาวบ้านเขาได้เห็นว่าของพวกที่ปลูกนี้เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง จะได้ช่วยรักษาและจะไม่ถูกขับไล่ไปไหนๆ หลังจากอาหาร ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ซึ่งดูเหมือนจะไปสำรวจตลาดไว้ล่วงหน้าแล้ว ก็หาสมัครพรรคพวกไปซื้อของอีกตามเคย ร้านข้างล่างโฮเต็ลมีของขายหลายอย่าง ทั้งเครื่องจักสาน ผ้าปัก เสื้อผ้า สมุนไพรต่างๆ และอื่นๆ ตอนกลางคืนนี้ของบางอย่างเขาก็ไม่ขายแล้ว ดูเหมือนข้าพเจ้าจะซื้อช้าง 1 โขลง ทำด้วยหินสบู่ทำให้ไม่แพงนัก หินสบู่สลักเป็นรูปหอสูง และฉากเขียนภาพแบบจีน ทำด้วยไม้ไผ่ พอดีอาจารย์สารสินเห็นป้ายโฆษณาว่าจะมีคนที่สลักอะไรเล็กๆ ได้มาแสดง คุณซุนหมิงที่ซีอานเคยเล่าว่าเขาสลักบนเม็ดข้าวก็ได้ อาจารย์สารสินสารสินยังบอกว่ามีคนสลักบนเส้นผมได้อีกข้าพเจ้าได้แต่

(น.247) สั่นหัวเพราะมันเหลือจะเชื่อจริงๆ อาจารย์สารสินบอกข้าพเจ้าว่าจะพยายามจัดให้เขามาแสดงให้ข้าพเจ้าดู ตอนประมาณบ่ายสามโมงหลังจากกลับจากชลประทานแล้ว ก่อนที่จะไป คุนหมิง ข้าพเจ้าตื่นเต้นมากที่จะมีโอกาสเห็นของแปลกๆ พอดีคุณเชตบอกว่ามีจดหมายเขียนถึงข้าพเจ้าอยู่ที่ปักกิ่งจะส่งมาจากปักกิ่งก็ไม่ทัน ข้าพเจ้าบอกคุณเชตว่าอาจจะเป็นธุระสำคัญ ฉะนั้นขอให้สถานทูตทางโน้นเขาเปิด แล้วอ่านให้คูณเชตทางโทรศัพท์ และบอกด้วยว่าเป็นจดหมายว่าด้วยอะไร บริการอ่านจดหมายนี้ได้ผลดีมาก แต่เล่นเอาคนจีนตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น ซื้อของเสร็จก็ขึ้นไปชั้นที่พวกเราอยู่กัน ยังคุยกันต่อไปอีกตั้งนานจึงได้นอน ไม่ทราบว่าหมอนของจีนเขายัดด้วยอะไรหนักมาก


(น.247) รูป 114 ถ่ายจากห้องที่โรงแรมจิ่นเจียง เสฉวน