Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันอังคารที่ 7 มีนาคม 2543 "

(น.1) จดหมายฉบับที่ 1

(น.2) โรงแรมเชอราตัน ซีอาน
วันอังคารที่ 7 มีนาคม 2543
สวัสดีประพจน์
คราวนี้ฉันต้องเขียนเล่าเรื่องการเดินทางในจีนให้ประพจน์เพราะเธอไม่ได้มาด้วย อยู่เสียที่อเมริกา ที่จริงแล้วฉันก็เสียดายมาก รายการเดินทางคราวนี้มีเรื่องประพจน์สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ำทางพุทธศาสนา เมืองอเมริกาดูจะเป็นอุปสรรคในการดูถ้ำ ที่ฉันว่าอย่างนี้เพราะคราวก่อนเมื่อฉันเดินทางไปตามเส้นทางแพรไหม ได้ดูถ้ำตุนหวง ประพจน์ก็ยังเรียนอยู่ Berkeley คราวนี้ก็ไปวิจัยอะไรอยู่ที่ Harvard พวกเราเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปปักกิ่ง ใช้สนามบินใหม่ที่เปิดฉลองครบรอบ 50 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ติดตามเกียรติยศชื่อมาดามฉงจวิน (Cong Jun) เป็นรองเลขาธิการของสถาบันวิจัยการต่างประเทศ (Institute of Foreign Affairs)


รูป 1 ถึงสนามบิน
Arriving at the airport

(น.3) ฉันรออยู่ในห้องรับรองราวชั่วโมงหนึ่ง แล้วนั่งเครื่องบินจีน เที่ยวบิน WH 2108 บินประมาณ 1 ชั่วโมง 25 นาที นั่งมากับมาดามฉง พอจะคุยกันเป็นภาษาจีนได้ ระหว่างทางอ่านหนังสือพิมพ์ China Daily มีข่าวการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress) ตอนแรกทางฝ่ายจีนเขาจะขอให้ฉันเลื่อนการเดินทางเป็นเดือนเมษายน เพื่อให้ผู้ว่าราชการมณฑลได้มีโอกาสต้อนรับ แต่พอดีเดือนเมษายนฉันจะต้องไปประเทศอื่นที่เลื่อนไม่ได้แล้ว ข่าวหนังสือพิมพ์กล่าวถึงนโยบายการปราบคอรัปชั่น ปัญหาไต้หวัน การเข้าร่วมองค์การการค้าโลก และการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน พนักงานมาบริการอาหาร มาดามฉงบอกว่าไปถึงซีอานจะมีเลี้ยงอาหารค่ำอีก ให้รับประทานแค่รองท้องเท่านั้น เมื่อไปถึงสนามบินซีอาน มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ต้อนรับ แต่เขาก็ไม่ได้ขึ้นมานั่งด้วยในรถ ฉันก็คุยแต่กับหลี่หงเยี่ยน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย


รูป 2 คุยกับมาดามฉงจวินระหว่างรอเดินทางไปซีอาน
Talking with Madam Cong Jun before continuing my journey to Xian

(น.4)


รูป 3 สนทนากับรองผู้ว่าราชการส่านซีมณฑลส่านซี
A conversation with the Deputy Governor of Shaanxi

(น.4) เมื่อถึงโรงแรมเชอราตัน ก็พยายามหาโทรศัพท์ที่จะต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ ยังไม่ทันต่อได้ก็ถึงเวลาที่จะต้องไปรับประทานอาหารค่ำ รองผู้ว่าราชการมณฑล ชื่อคุณเจี่ยจื้อปัง เป็นเจ้าภาพเลี้ยงแทนผู้ว่าราชการ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างที่ประพจน์เคยเห็นนั่นแหละจ๊ะ คือจะต้องแนะนำเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑล อธิบดีสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ แล้วบรรยายสรุปเกี่ยวกับมณฑลส่านซีว่าเป็นมณฑลเก่าแก่ที่สุดของจีน (ไม่ทราบว่าเป็นมณฑลที่ตั้งขึ้นก่อนเพื่อน หรือมีของที่เก่าที่สุด ฉันลืมถาม) มีเอกลักษณ์ 4 ประการคือ

(น.5)
1. ทรัพยากรการท่องเที่ยว
2. ทรัพยากรมนุษย์ ที่มีการศึกษาและมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์
3. ทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆ
4. อุตสาหกรรมทางการทหาร
เนื่องจากฉันเคยมาที่มณฑลนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว (แต่ประพจน์ไม่เคยมา) จึงไม่บรรยายเรื่องเก่าๆ จะเล่าเพียงว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับภาคตะวันออกก็นับว่าช้า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปีที่แล้ว ท่านประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน มาประชุมที่ซีอาน และได้กล่าวถึงนโยบายที่จะให้พัฒนาภาคตะวันตกของจีน ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติครั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีจูหรงจีก็ได้กล่าวถึงการพัฒนาภาคตะวันตกเช่นเดียวกัน รัฐบาลของมณฑลพอใจนโยบายของรัฐบาลกลางและพยายามปฏิบัติตามนโยบายนี้ โดยกำหนดเป็นแผนงานได้แก่
1. เร่งพัฒนางานด้านสาธารณูปโภค การคมนาคม การสื่อสาร โทรคมนาคม มณฑลลงทุนด้านนี้มาก เช่น การปรับปรุงทางรถไฟ ทางด่วน
2. จัดการสิ่งแวดล้อม มีนโยบายเพิ่มป่าและทุ่งหญ้า ให้ชาวนาปลูกป่า (ที่เขาพูดตรงนี้ฉันเข้าใจว่าหมายถึง ให้ชาวนาลงแรงปลูกป่าแทนการเสียภาษี ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่) ยุติการถางป่า
อุดหนุนการปลูกป่าเป็นเงิน 200 หยวนต่อ 1 โหม่ว รัฐบาลมณฑลเป็นผู้หากล้าไม้และพันธุ์หญ้า ในมณฑลส่านซีมีแม่น้ำหวงเหอ ไหลผ่าน มีปัญหาน้ำกัดเซาะทรายไหลลงในแม่น้ำปริมาณมากต้องหาทางป้องกัน
3. ปรับปรุงการศึกษาของประชาชน เหตุผลที่ภาคตะวันตกของประเทศล้าหลังเพราะการศึกษาของประชาชนยังต่ำอยู่ ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านวิทยาศาสตร์ ปรับปรุงอุตสาหกรรม วิธีการหนึ่งคือ การติดตั้งระบบไฟฟ้าให้ครบทุกหมู่บ้าน ให้ประชาชนได้ดูโทรทัศน์ และส่งเสริมการใช้ internet เพื่อให้เกิดการศึกษาทางไกลได้

(น.6)
4. พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ซ้ำกับอุตสาหกรรมของภาคตะวันออก ตัวอย่างคือ ที่ซีอานมีอุตสาหกรรมทหาร มีโรงงานผลิตเครื่องบินใหญ่ 2 โรง กำลังแปลงโรงหนึ่งเป็นโรงงานสร้างเครื่องบินพลเรือน ที่มีข่าวเร็วๆ นี้ว่าเครื่องบินบินจากซีอานไปปักกิ่ง เพื่อให้สมาชิกสภาได้ชม ก็เป็นเครื่องบินที่ผลิตในโครงการใหม่นี้
5. พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
6. พัฒนาการปลูกไม้ผล ปริมาณการผลิตแอปเปิ้ลของมณฑลนี้เป็นอันดับสองของประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกาและจากอังกฤษเคยมาดูแล้วกล่าวว่า ต้นแอปเปิ้ลเจริญเติบโตดีมาก เพราะสภาพธรรมชาติเหมาะสมคือ ความสูงของพื้นที่ราว 500-800 เมตร อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 18 องศา ฉันคิดว่าแอปเปิ้ลคงเป็นพืชพื้นเมืองของจีน จึงมีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า ผิงกั่ว ไทยต้องเรียกทับศัพท์ตามภาษาอังกฤษ ส่วนลาวทับศัพท์ตามภาษาฝรั่งเศสว่า หมากปอมม์ แต่ทางเหนือใกล้ชายแดนจีนได้ยินเรียกว่า หมากผิงกั่ว เมื่อปีที่แล้ว มณฑลส่งผลไม้ไปจำหน่ายทั่วโลกกว่า 20 กว่าประเทศ ได้เงินจากต่างประเทศ เฉพาะที่อังกฤษแห่งเดียว 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังมีผลไม้อีกอย่างที่จีนเรียกว่า หมีโหวเถา ฝรั่งเรียกผลไม้นี้ว่า กีวีฟรุต ประเทศนิวซีแลนด์เอาของมณฑลนี้ไปปลูก ฉันชวนท่านรองผู้ว่าราชการมณฑลไปคุยกันต่อที่โต๊ะอาหาร ท่านเล่าถึงเมืองเหยียนอานว่าปัจจุบันนี้ได้แก้ปัญหาปากท้องโดยให้ประชาชนปลูกผลไม้ ปลูกยาสูบ และเลี้ยงแพะแกะ พรุ่งนี้ฉันคงจะได้เห็นสวนแอปเปิ้ล แต่ก่อนนี้จะไปเมืองเหยียนอานจะต้องใช้เวลา 8-9 ชั่วโมง ขณะนี้ลดเหลือ 4-5 ชั่วโมง ต่อไปเมื่อตัดทางด่วนแล้วจะไปได้ในเวลา 2 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น บางคนนิยมไปทางรถไฟ นอนไปตอนกลางคืน ตื่นเช้าก็ถึง ท่านรองฯ เกิดและเติบโตที่เหยียนอาน และเคยไปทำงานที่นั่นด้วย

(น.7) ตอนทศวรรษ 1970 ท่านนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลพาประธานาธิบดีฝ่ามวันดงของเวียดนามไปเยือนเหยียนอาน เมื่อท่านโจวเห็นความยากจนของประชาชนแล้ว กลั้นน้ำตาไม่ได้ กล่าวแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นว่า หากทำให้ประชาชนมีรายได้มากกว่าเดิมเท่าตัว จะกลับมาชนแก้วดื่มเหมาไถด้วยกัน แต่ว่าเขตภูเขามีที่ดินทำกินน้อย และการส่งเสริมการทำมาหากินก็ไม่ได้ทำกันจริงจัง จึงไม่สามารถปฏิบัติตามความต้องการของท่านโจวเอินไหลได้จนท่านเสียชีวิตไป ถึง ค.ศ. 1990 คุณเจี่ยจื้อปังทำงานที่เหยียนอาน สามารถช่วยเกษตรกรให้ผลิตธัญพืชได้เท่าตัว นักข่าว CCTV มาสัมภาษณ์ทำข่าวออกทีวี ที่เขาทำสำเร็จคิดว่าเป็นเพราะนโยบายอันชาญฉลาดของท่านเติ้งเสี่ยวผิงในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้สามารถแก้ปัญหาปากท้องได้ แต่อย่างไรก็ตามประชาชนยังขาดเงินจับจ่ายใช้สอยเพราะไม่ได้ผลิตสินค้าที่ขายได้ ระยะหลังจึงสนับสนุนการปลูกแอปเปิ้ล พันธุ์ที่ดีที่สุดเป็นพันธุ์ของญี่ปุ่น ตอนที่ฉันไปเหยียนอาน จะขอให้เขาเตรียมแอปเปิ้ลไว้ให้ทุกห้อง นอกจากนั้นมีการแปรรูปแอปเปิ้ลเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย ท่านรองผู้ว่าราชการฯ แนะนำเหล้าขาวของมณฑลที่ชื่อว่า ซีเฟิ่งจิ่ว คล้ายๆ กับเหมาไถ แต่เก่าแก่กว่า กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว กวีหลี่ไป๋และตู้ฝู่ล้วนแต่เขียนบทกวีสรรเสริญเหล้าชนิดนี้ เขาตั้งเหล้าสีขาวอีกชนิดหนึ่งชื่อว่า หมีจิ่ว เหมือนข้าวหมากซึ่งฉันเคยได้ชิมเกือบ 20 ปีมาแล้ว (แต่ไม่ชอบ) ฉันถามความเห็นเขาว่า ทำไมท่านประธานเหมาจึงเลือกเหยียนอานเป็นที่มั่นแม้จะมีสภาพเลวร้าย รองผู้ว่าราชการฯ เจี่ยตอบว่า
ประการแรก กองทัพแดงส่วนหนึ่งมาตั้งมั่นอยู่แถวนี้อยู่แล้ว นี่เป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด พวกที่เดินทางไกล (Long March) ล้มตายกันไปมาก เดินทางต่อไปไม่ไหวแล้ว

(น.8)


รูป 4 เลี้ยงอาหารค่ำ
At dinner

(น.8) ประการที่ 2 อยู่ในเขตทุรกันดารและห่างไกลอิทธิพลของพวกก๊กมินตั๋ง
ประการที่ 3 เส้นทางคดเคี้ยวสามารถใช้เป็นที่หลบซ่อนได้ เมื่อฉันไปเห็นสภาพภูเขาที่นั่นจะเข้าใจเอง
ฉันถามต่อไปว่ามีนักท่องเที่ยวไปที่นั่นมากไหม เขาตอบว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีไม่มากนัก มีแต่คนจีน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ คนแก่ๆ เกษียณแล้ว เคยปฏิบัติงานอยู่ทางโน้น ไปรำลึกความหลัง อีกพวกคือ เด็กนักเรียนที่ไปศึกษาเรื่องการปฏิวัติระหว่างหยุดเทอม พอดีบริกรนำเหล้าขาวเข้ามา ท่านเลขาธิการมณฑล (แซ่เจี่ยเหมือนกัน) จึงอธิบายว่าเหล้านี้แรง 42 ดีกรี ความหอมของเหล้ามีหลายชนิด เช่น แบบหงส์ แบบมังกร เหล้าที่เอามาให้ดื่มวันนี้เป็นแบบหงส์ กลิ่นเหมาไถ แบบที่ภาษาจีนเรียกว่า เจี้ยง น้ำข้นๆ ขุ่นๆ คล้ายน้ำเต้าหู้

(น.9) ฉันชอบดื่มชาจีน จึงถามว่าชาที่มณฑลนี้มีหรือไม่ ได้ความว่าปลูกอยู่ทางใต้ของมณฑล เป็นชาเขียวเรียกว่า ชิงฉา มีประโยชน์ต่อร่างกาย เขาว่าบุหรี่ของมณฑลก็มีคุณภาพดี โรงงานที่เหยียนอานมีกำลังผลิตได้ปีละ 300,000 กล่อง แต่ผลิตจริงแค่ 100,000 กล่องเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจำกัดบุหรี่ ตอนที่สร้างทางรถไฟซีอาน-เหยียนอาน บริษัทผลิตบุหรี่ให้เงินกว่า 50 ล้านหยวนแก่กระทรวงรถไฟจีน อาหารคืนนี้มีออร์เดิฟ ซุปหูฉลาม กุ้งอบ ปลานึ่ง เนื้อทอด ผักต่างๆ ผัด ผลไม้ เส้นบะหมี่ที่เรียกว่าฉีซาน ขนม 2 ชนิดและผลไม้ เขาเล่าประวัติว่าสมัยสามก๊ก ฉีซานเป็นภูเขาที่ขงเบ้งนำทหารสู้ข้าศึกถึง 6 ครั้ง มีเสบียงอาหารพอเพราะพวกผู้หญิงที่นี่ทำบะหมี่เก่ง เลี้ยงดูได้ทั้งกองทัพ ไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่า รับประทานแล้ว กลับห้อง ต่อคอมพิวเตอร์ไม่ได้อีกแล้ว เขียนบรรยายได้แค่นี้ล่ะจ๊ะ พรุ่งนี้น่าจะมีเรื่องเล่ายาวหน่อย
คิดถึง