Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2543 "

(น.42)


รูป 32 หลี่หงเยี่ยนทดลองปั่นด้าย
Li Hongyan trying spinning.

(น.42) บ้านประธานเหมา บ้านนี้เป็นบ้านเก่าที่เจ้าของที่ดินสร้างไว้ ในห้องมีหนังสือที่เขียนระหว่างอยู่ที่เจ่าหยวน มีบทความ 51 บท ได้รับคัดเลือกพิมพ์รวมเล่มในหนังสือรวมสรรนิพนธ์ประธานเหมาเจ๋อตง 28 บท ที่ฝาห้องติดรูปที่ถ่ายกับเจียงชิงและหลี่น่า ลูกสาว เตียงของประธานเหมาเป็นเตียงคู่เพราะก่อนนอนชอบอ่านหนังสือ ครึ่งหนึ่งของเตียงเอาไว้วางหนังสือ ที่บ้านสวนปทุม ฉันถึงให้ทำเป็นยกพื้นสำหรับวางที่นอนและมีชั้นลดสำหรับวางหนังสือ ก่อนมาได้ไปที่บ้านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่ซอยสวนพลู เตียงที่ท่านออกแบบเองก็มีที่ยื่นออกสำหรับวางหนังสือ

(น.43) ในห้องรับแขกมีรูปที่ถ่ายกับนายทหารอเมริกันชื่อพันเอกเดวิด บาเรตต์ (Colonel David Barrett) ซึ่งไปเหยียนอานในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1945 ตรงนี้ฉันขอแทรกเรื่องที่ฉันอ่านหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คือในช่วงปลายสงครามโลก สหรัฐอเมริกาต้องต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียอย่างดุเดือด ลำพังกองกำลังของสหรัฐฯ ไม่สามารถปฏิบัติการเป็นผลสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีกองกำลังในท้องที่ช่วยสนับสนุน ความร่วมมือของพรรคก๊กมินตั๋งไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร แถมมีข่าวในสื่อมวลชนว่า ก๊กมินตั๋งกระทำทารุณกรรมกดขี่ประชาชนและไม่ดูแลกำลังพลของตนเอง ฝ่ายอเมริกันเริ่มสนใจพรรคคอมมิวนิสต์ที่เหยียนอานและคิดว่าถ้าร่วมมือกับคอมมิวนิสต์อาจจะเอาชนะญี่ปุ่นได้ แม้ว่านายพลเจียงไคเช็คจะไม่พอใจเพียงใด สหรัฐอเมริกาก็ยังส่งกลุ่มสังเกตการณ์มีพันเอกบาเรตต์เป็นหัวหน้ามาเหยียนอาน กลุ่มนี้มีหน้าที่หาข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่น รวบรวมข้อมูลอุตุนิยมสำหรับการขึ้นลงของเครื่องบิน ถึงแม้จะมีคำสั่งห้ามการเจรจาทางการเมือง แต่พวกอเมริกันก็ได้รู้จักฝ่ายคอมมิวนิสต์และนับถือพวกคอมมิวนิสต์ในความสามารถทางการสู้รบ

(น.43)


รูป 33 ห้องประธานเหมา
President Mao's room.

(น.44) พันเอกบาเรตต์ผู้นี้ ภาษาจีนเรียกว่า เป่ารุ่ยเต๋อ เล่นเอาฉันนึกไม่ออกว่าเป็นใคร ตู่ไปไต่ถามคนจีน เขาไปค้นหนังสือภาษาอังกฤษจึงได้ชื่อมา ห้องนายพลจูเต๋อ มีรูปที่กำลังพบนักข่าวอเมริกัน ชื่ออ่านตามเสียงภาษาจีนว่า ตู้ติงหุ้ยเล่อ และนักข่าวฝรั่งเศสชื่ออะไรก็ไม่ทราบ ฉันจดไม่ทัน ขณะนั้นมีการเจรจากันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเรื่องปัญหาภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีรูปนายพลจูเต๋อกำลังอ่านเอกสารในสมัชชาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรูปที่ถ่ายกับภริยาชื่อคังเค่อชิง ห้องท่านหลิวเซ่าฉี มาอยู่ช่วง ค.ศ. 1944-1947 ขณะนั้นมีหน้าที่ดูแลหน่วยจัดตั้งและบุคลากร งานที่สำคัญคือ การจัดสัมมนาสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 7 ของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่นี่ก็มีของที่ระลึกขาย แต่ซื้อไม่ทัน ต้องนั่งรถไปอีกแห่งคือ หอประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 1 (จงยางต้าหลี่ถัง) หลังจากญี่ปุ่นมาทิ้งระเบิดหนักขึ้น ใน ค.ศ. 1938 ต้องย้ายสำนักงานกลางมาบริเวณหอประชุมนี้หลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการกลาง สำนักเลขาธิการ บ้านพักผู้นำ เช่น ประธานเหมา จอมพลจูเต๋อ และนายกฯ โจวเอินไหล

(น.44)


รูป 34 สำนักงานส่วนกลางของพรรค
Chinese Communist's Headquarters.

(น.45)


รูป 35 หอประชุม
The conference room.

(น.45) หอประชุมนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1942 หยังซื่อไฉ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติเป็นผู้ออกแบบตามสถาปัตยกรรมจีนปนตะวันตก (รัสเซีย) คนนั่งในห้องได้ 1,889 คน เทคนิคการก่อสร้างใช้วงโค้ง 4 วงรองรับหลังคา จึงไม่ต้องใช้เสากลางห้องบังสายตา บนเวทีมีรูปประธานเหมาและนายพลจูเต๋อ มีเก้าอี้ 5 ตัวสำหรับเลขาธิการ 5 ท่าน มีคำขวัญเขียนว่า “เจริญรุดหน้าใต้ธงของประธานเหมา” สื่อความได้ 2 นัยคือ เป็นแบบอย่าง หรือ เป็นแนวคิดที่จูงใจให้ผู้อื่นทำตาม มีที่เสียบธงของพรรค มีรูปเลนินและสตาลินติดอยู่ด้วย ด้านข้างมีไม้ประดับรูปตัววี หมายถึง ชัยชนะ วันที่ 23 เมษายน-1 มิถุนายน ค.ศ. 1945 จัดสัมมนาสมัชชาครั้งที่ 7 มีผู้แทน 547 คน รวมผู้สังเกตการณ์เป็น 755 คน ได้ข้อสรุปจากการประชุมคือ

(น.46)
1. เขียนกฎบัตรของพรรคคอมมิวนิสต์ใหม่
2. กำหนดนโยบายการเมืองของพรรค
3. เลือกคณะกรรมการนำโดยประธานเหมา
ห้องประชุมนี้ยังเป็นประโยชน์ในการจัดกิจกรรมใหญ่ด้วย เช่น ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 กรรมการจัดฉลองอายุ 60 ปี ให้นายพลจูเต๋อ นอกจากนั้นยังเป็นที่แสดงศิลปะยุคปฏิวัติ เช่น งิ้วสมัยใหม่ นิยมเล่นเรื่อง ขึ้นเขาเหลียงซาน หญิงผมขาว เป็นต้น สำนักงานส่วนกลางของพรรค เป็นอาคาร 3 ชั้น แบ่งห้องเป็นทิศตะวันออก ทิศตะวันตก มีประตูเข้าห้องตะวันออก ด้านตะวันตกเป็นโรงอาหาร ห้องประชุม ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 หน่วยโฆษณาชวนเชื่อจัดสัมมนาศิลปะและวรรณกรรม หน้าอาคารมีภาพถ่ายหมู่บุคคลต่างๆ เช่น เหรินปี้สือ หวังเจี้ยเสียง สวี่เท่อลี่ โป๋กู่ (ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสารนิเทศ) หลิวไป๋อวี่ (นักประพันธ์) เฉ่าหมิง (นักประพันธ์หญิง) จังอู่เซิน (เจ้าหน้าที่สถาบันศิลปะหลู่ซวิ่น) ติงหลิง (นักประพันธ์หญิง) มีนักประพันธ์ นักแต่งเพลง นักแสดง และบรรณาธิการหนังสืออีกหลายคน การสัมมนาศิลปะและวรรณกรรมนี้จัดขึ้นในวันที่ 2, 16, และ 23 เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 ตอนต้นประธานเหมากล่าวสุนทรพจน์เรื่องศิลปวัฒนธรรม ผลของการจัดสัมมนาดีมาก เพราะทำให้มีสิ่งใหม่ๆ ในวงการศิลปวัฒนธรรมมากมาย ข้างฝามีรูปนักแสดงเล่นงิ้วยังเกอกลางเมืองเหยียนอาน มีคนดูประมาณ 200,000 คน มีการปรับปรุงการเต้นแบบใหม่ซึ่งคนเหยียนอานสนใจมาก มีการเล่นงิ้วใหม่ (ผิงจวี้) ประธานเหมาสนใจการแสดงถึงกับเขียนจดหมายชมเชยถึงผู้อำนวยการแสดง (จดหมายนี้ติดไว้ข้างฝาให้เราดู) มีโน้ตเพลงยอดนิยมติดฝาไว้ เช่น เพลงไป๋หม่าเตี้ยว มีเนื้อหาบรรยายความรักต่อพรรค เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ (ชาย) ร้องเพลงพื้นเมืองชื่อ เพลงขึ้นภูเขาลงภูเขา เป็นเพลงความรักระหว่างหนุ่มสาว

(น.47) อาคารหลังนี้คนทั่วไปเรียกกันว่า อาคารเครื่องบิน เพราะมีระเบียงต่อออกไปสองข้างเหมือนปีกเครื่องบิน ชั้น 2 (ยังไม่เปิดให้คนเข้าชม) เป็นที่ทำการของประธานาธิบดีหยังซั่งคุน ชั้น 3 เป็นสำนักงานการเมือง ฉันมาดูที่นี่แล้วรู้สึกว่างานศิลปวัฒนธรรมเป็นงานสำคัญมากต่อการโฆษณาชวนเชื่อหรือประชาสัมพันธ์ทางการเมือง เพราะนอกจากจะเป็นการให้ข้อมูลแล้ว ศิลปะสามารถสนองตอบความต้องการด้านจิตใจของมนุษย์ได้ด้วย เมื่อได้สัมผัสศิลปะที่สอดคล้องกับอารมณ์ อาจทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามได้ จุดหมายสุดท้ายที่คณะเราจะไปเยือนในเหยียนอานคือ โรงเรียนถ้ำ ในกำหนดการเขียนไว้เช่นนี้ ฉันก็เลยเข้าใจว่าเป็นโรงเรียนโบราณสมัยปฏิวัติ เพราะตอนไปดูอนุสรณ์สถานผู้บรรยายได้เล่าถึงการจัดการศึกษาระหว่างที่พรรคคอมมิวนิสต์มาตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่เมืองเหยียนอาน เข้าไปถึงเห็นชาวบ้านและเด็กๆ ตบมือต้อนรับเรียก “กงจู่อาอี๋” หรือ “คุณน้าเจ้าหญิง” เข้าไปนั่งในห้องซึ่งเหมือนกับอุโมงค์รถไฟเช่นเดียวกับบ้านผู้นำ ครูใหญ่บรรยายสภาพของโรงเรียน และแจกเอกสารซึ่งคล้ายๆ กับที่บรรยายแต่ละเอียดกว่า ฉันจะเล่าตามเอกสารก็แล้วกัน โรงเรียนประถมศึกษาจังผิง อยู่ในตำบลว่านฮวา อำเภอเป่าต้า อยู่ห่างตัวอำเภอ 5 กิโลเมตร ว่านฮวาเป็นสถานที่ที่ผู้นำพรรคและผู้นำประเทศ เช่น เจียงเจ๋อหมิน หลี่เผิง จูหรงจี ฯลฯ เคยมาตรวจราชการ และเป็นบ้านเดิมของมู่หลานซึ่งเข้ารับราชการทหารแทนบิดาของเธอ เป็นเรื่องสมัยราชวงศ์ฮั่น ปรากฏหลักฐานในกลอนสมัยหนานเป่ยเฉา (ราชวงศ์เหนือใต้) หมู่บ้านจังผิงอยู่ตรงกลางหมู่บ้าน 4 หมู่บ้าน มีสภาพค่อนข้างดี ในหมู่บ้านมีประชากร 86 ครอบครัว 342 คน รายได้ต่อหัวต่อคนตัดค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 700 หยวน (ตรงนี้ฉันไม่เข้าใจ เพราะว่าค่าใช้จ่ายแต่ละคนก็ต่างกัน) ในมาตรฐานของประเทศยังนับว่าเป็นหมู่บ้านที่ค่อนข้างยากจน

(น.48) โรงเรียนบ้านจังผิงบริหารโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน มีนักเรียน 96 คน ครู 5 คน เป็นพนักงานของรัฐ 2 คน กรรมการหมู่บ้านจ้าง 2 คน ชาวบ้านจ้างอีกคนหนึ่ง มี 6 ระดับชั้น (ถ้านับเด็กอนุบาลก็เป็น 7 ระดับ) มี 4 ห้องเรียน ห้องเด็กก่อนวัยเรียนอีกห้องหนึ่ง ไม่มีพื้นที่ทำสนามเด็กเล่น สภาพของโรงเรียนทำให้ไม่สามารถรับเด็กที่ยังไม่ได้รับการศึกษาจากหมู่บ้านใกล้เคียงได้ ถ้าต้องการไปเรียนชั้นสูงขึ้นต้องไปอยู่โรงเรียนมัธยมที่อยู่ไกลถึง 1-2 ไมล์ เด็กบางคนไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาเลยเพราะไม่สามารถเดินทางไปไกลๆ ได้ เมื่อมีสภาพเช่นนี้ คณะกรรมการสภาตำบลว่านฮวา และพวกชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ จึงมีดำริที่จะสร้างโรงเรียน โดยใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ประมาณ 15 โหม่ว แต่ยังไม่มีเงินพอที่จะสร้าง จึงปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนสร้างโรงเรียนให้รับเด็กได้ 175 คนในบริเวณนี้ โดยสร้างอาคารชั้นเดียว 20 ห้อง มีห้องเรียนใหญ่ 7 ห้อง สำนักงาน 6 ห้องในเนื้อที่ 462 ตารางเมตร ค่าใช้จ่าย 255,000 หยวน (ที่จริงยังต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรๆ อีกมาก)

(น.48)


รูป 36 ครูนักเรียนโรงเรียนถ้ำคอยต้อนรับ
Teachers and schoolchildren of Cavern School awaiting to greet me.

(น.49)


รูป 37 โรงเรียนถ้ำ
'Cavern' School.

(น.49) ครูใหญ่อธิบายว่าการศึกษาพื้นฐานเช่นนี้กรรมการหมู่บ้านต้องรับผิดชอบ ถือว่าไม่เก็บค่าเล่าเรียน แต่เก็บค่าใช้จ่ายเทอมละ 21 หยวน การแก้ปัญหาห้องเรียนไม่พอ ต้องรวมห้อง ป.1 กับ ป.4 ไว้ในห้องเดียวกัน ตำราเรียนที่ใช้เป็นตำรามาตรฐานที่ใช้ทั่วประเทศ นักเรียนต้องซื้อเอง เด็กทุกคนเดินมาเรียน ที่อยู่ไกลที่สุดคือ 6 กิโลเมตร คนที่บ้านใกล้ตอนหยุดพักกลางวันก็กลับไปกินที่บ้าน คนที่บ้านไกลก็ถืออาหารมาด้วย ครูที่นี่จบอนุปริญญา 2 คน อาชีวะ 2 คน อีกคนจบมัธยมปลาย เด็กที่จบจากโรงเรียนนี้แล้วไปเรียนชั้นมัธยมตอนต้นที่ตำบล ส่วนชั้นมัธยมปลายต้องไปเรียนที่ตัวเมือง นักเรียนชั้นประถมได้ไปต่อชั้นมัธยมต้นถึง 98% แต่มีโอกาสเรียนมัธยมปลายเพียง 30% ศิษย์เก่าที่นี่จบมหาวิทยาลัยก็มี

(น.50)


รูป 38 ภายในห้องเรียน
In the classroom.

(น.50) ห้องเรียนค่อนข้างแออัด กระดานดำที่ติดฝาก็ชื้น ใช้ไม่ได้ ต้องเอาแผ่นกระดานอื่นมาเขียน เห็นเรียนกวีนิพนธ์ของตู้ฝู่ และเด็กอนุบาลคัดตัวพินยิน ฉะนั้นเด็กต้องรู้ตัวอักษรโรมันด้วย กลับมารับประทานอาหารกลางวันที่เรือนรับรองแล้วเดินทางกลับซีอาน หงเยี่ยนเล่าว่าที่น้ำตกหูโข่วที่นายกเทศมนตรีกล่าวถึงเมื่อตอนที่เลี้ยงเมื่อคืนนี้ มีดาราหนังไต้หวันขับรถเหาะข้ามน้ำตกกว้าง 20 เมตร ปลอดภัยดี ไม่เป็นอะไร ได้ออกทีวีด้วย (ความสามารถส่วนตัวห้ามลอกเลียน) หยุดรถเข้าห้องน้ำที่ซวนหยวน ฉันฝากนายอำเภอส่งโปสต์การ์ด เดินทางต่อไปถึงซีอานช้ากว่ากำหนดครึ่งชั่วโมง รับประทานอาหารยังไม่ทันจะเสร็จดีก็ถึงเวลาต้องขึ้นเครื่องบิน China Eastern Airlines พวกมณฑลส่านซีให้อัลบั้มรูป แถมรูปที่มาคราวก่อนด้วย

(น.51) ไปถึงสนามบินจี่หนาน มณฑลซานตง นครจี่หนานเป็นเมืองหลวงของมณฑล มีคุณอู่จงชู่ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ต้อนรับ มานั่งในรถด้วย อธิบายเรื่องต่างๆ ตอนที่ไปถึงมืดแล้ว ฉันขอให้คนขับรถเปิดไฟจะได้จดที่คุณอู่พูดได้ คนรถบอกว่าไฟเสียเปิดไม่ได้ แต่แรกฉันเขียนมืดๆ โดยใช้วิธีเอานิ้วจิ้มในกระดาษเป็นเครื่องหมายว่าเขียนถึงบรรทัดไหนแล้ว สักพักค่อยฉลาดขึ้นมาหน่อย นึกขึ้นมาได้ว่ามีไฟฉายอยู่ในกระเป๋า เลยเขียนได้ปกติ คุณอู่เล่าว่า ดินแดนซานตงเป็นที่ตั้งของแคว้นฉีและแคว้นหลู่ในสมัยชุนชิว จั้นกว๋อ เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญในการผลิต การถลุงเหล็ก นอกจากนั้นยังเลิกทาส และมีอารยธรรมสูงกว่ารัฐอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน ในสมัยนั้นขงจื่อรับราชการในแคว้นหลู่ และได้รวบรวมความคิดตั้งลัทธิขงจื่อ รัฐต่างๆ ได้ใช้ลัทธิขงจื่อเป็นหลักในการปกครองในสังคมศักดินา ถิ่นกำเนิดขงจื่ออยู่ในอำเภอจี้หนิง ปัจจุบันมีศาลเจ้าขงจื่อ บ้านตระกูลข่งสร้างในสมัยราชวงศ์ซ่ง ยังมีสุสานตระกูลข่งซึ่งคนแซ่นี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เมื่อตายแล้วเอาศพมาฝังได้ สมัยนี้จีนให้ความสำคัญแก่การวิจัยขงจื่อถึงกับจัดกองทุนสำหรับศึกษาขงจื่อไว้ ประธานคนปัจจุบันชื่อหานจงไถ มีสถาบันวิจัยลัทธิขงจื่อในวิทยาลัยครูชวีฝู่และมหาวิทยาลัยซานตง (ฉันไม่รู้จะเขียนขงจื่อ ขงจื้อ หรือขงจื๊อ ดี ซุปว่าขงจื่อก็แล้วกัน จีนกลางเรียกแบบนี้ แต้จิ๋วเรียกขงจื้อ แต่ไทยเรียกขงจื๊อ) สำหรับภูเขาไท่ซานนั้นคนจีนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของบ้านเมือง ไท่ซานเป็นหนึ่งในภูเขาสำคัญ 5 ลูกของจีน มีความยิ่งใหญ่ตระหง่าน จักรพรรดิราชวงศ์เซี่ย ซัง โจว จำนวน 72 พระองค์เคยเสด็จขึ้น ในสมัยหลังนั้นได้ขึ้นทุกราชวงศ์ จึงมีมาก ไม่ได้นับจำนวน มีป้ายพระเจ้าในสรวงสวรรค์และพระธิดา จากเชิงเขาขึ้นได้ 2 ทาง คือ ทางตะวันออก และทางตะวันตก ไปบรรจบกันที่จงเทียนเหมิน (จง = กลาง เทียน = ฟ้า เหมิน = ประตู) จากนั้นขึ้นรถกระเช้าไปได้ มีทิวทัศน์งามๆ มากมาย มีลายมือนักประพันธ์มีชื่อสลักไว้ มีวัดต่างๆ ถือกันว่ายอดเขาหนานเทียนเหมินเป็นประตู

(น.52) สวรรค์ มีตำหนักเทียนค่วงซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 ตำหนักสำคัญ ทั้งจักรพรรดิและประชาชนที่จะขึ้นเขาไท่ซานจะต้องไปบวงสรวงศาลเจ้าไต้เมี่ยวก่อน มหาวิทยาลัยซานตงเป็นมหาวิทยาลัยรวมวิชา มีทุกสาขาทั้งวรรณคดี ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ มีคณะโบราณคดี ครูอาจารย์ขุดพบของโบราณในซานตง เขาจะให้ดูของที่ขุดได้ บ่ายพรุ่งนี้จะได้ไปดูสถานที่สำคัญในจี่หนาน เช่น น้ำพุเป้าทูเฉวียน และทะเลสาบต้าหมิงหู ภูมิประเทศของเมืองจี่หนานทางใต้สูงทางเหนือต่ำ ใต้ติดไท่ซาน เหนือติดหวงเหอ อยู่ในหุบเขา จึงมีน้ำพุมากมาย ถ้าฝนตกน้ำมาก น้ำพุก็จะผุดมามาก หลายปีมานี้แห้งแล้ง ขนาดตอนนี้เป็นฤดูใบไม้ผลิ น้ำยังน้อย ฉะนั้นน้ำพุจึงไม่มาก สมัยโบราณจี่หนานมีน้ำพุที่มีชื่อเสียง 72 แห่ง สวนเป้าทูมีน้ำพุใหญ่ที่สุด เคยมีน้ำออกมาก ขณะนี้น้ำไม่มากนัก ภายในสวนมีห้องที่จัดเป็นที่ระลึกหลีขู่ฉาน จิตรกรมีชื่อของจีนปัจจุบัน ทะเลสาบต้าหมิงเป็นทะเลสาบธรรมชาติ ไม่ใช่ทะเลสาบขุด มีทิวทัศน์สวยงาม กวีมีชื่อคือหลี่ไป๋กับตู้ฝู่เคยมา ในสมัยราชวงศ์ฮั่น โจโฉเคยมาปกครองเมืองนี้ พรุ่งนี้จะได้ดูพิพิธภัณฑ์ซานตง ตอนค่ำรองผู้ว่าราชการจะเป็นเจ้าภาพในนามมณฑล ท่านผู้ว่าราชการติดประชุมสภามาไม่ได้ คุณอู่เองเคยทำงานการค้าต่างประเทศ เคยไปเมืองไทย 3 ครั้ง ได้ไปวัดพระแก้ว พัทยา และเชียงใหม่ ได้ศึกษาเรื่องการนำเข้ามันสำปะหลังเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ นำเข้าปอจากไทยมาทอเป็นกระสอบส่งกลับไทย เยอรมนีมีอิทธิพลอยู่ที่ชิงเต่า ทุกวันนี้ยังมีบ้านที่มีรูปแบบสไตล์เยอรมัน คนเยอรมันทำทางรถไฟสายจี่หนาน-ชิงเต่ า (ที่จริงฉันสนใจประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่การประชุมแวร์ซายส์ตกลงโอนทรัพย์สินของเยอรมนีเป็นของญี่ปุ่นทำให้คนจีนไม่พอใจเกิดการประท้วงวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919) ทั้งมณฑลมีเนื้อที่ 156,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 87 ล้านคน (มากกว่าประเทศไทยทั้งประเทศ!)

(น.53) บริเวณที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือแหลมซานตง ซึ่งเป็นแหลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีระยะทาง 3,100 กิโลเมตร ติดทะเล มีท่าเรือชายฝั่งทะเล 22 ท่า ใหญ่ที่สุดคือชิงเต่า เมื่อ ค.ศ. 1999 เศรษฐกิจดีเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ก่อนที่จะมีนโยบายเปิดสู่โลกภายนอก ประชาชนยากจนมาก ได้พัฒนามา 20 ปี เศรษฐกิจดีขึ้น ซานตงมีแม่น้ำหวงเหอไหลผ่าน แต่ก่อนมักเกิดอุทกภัยและมีการสู้รบในมณฑล ประชาชนอพยพหนีความอดอยากไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ คนจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเชื้อสายซานตง ในเวลา 20 ปีบ้านเมืองพัฒนาเร็ว มีประชากรมาก ถึงรายได้ GDP จะมาก แต่พอเอาจำนวนคนหารก็เหลือน้อย จากอันดับ 3 เป็นอันดับ 10 พูดถึงแค่นี้รถไปถึงเรือนรับรองหนานเจียว ที่ใช้เป็นสถานที่รับแขกเมืองของมณฑล หลังที่จัดให้ฉันอยู่ คืออาคารหลังที่ 7 เขาอวดว่าท่านประธานเหมาเคยอยู่เวลามาที่ซานตง เรือนรับรองนี้อยู่ติดกับสวนสาธารณะ ถึงอาคาร 7 มีคนพาขึ้นไปที่ห้อง ห้องใหญ่โตสวยงาม ให้ฉันอยู่คนเดียว 3 ห้องนอน มาถึงก็ดึกแล้ว และฉันพยายามต่อคอมพิวเตอร์ให้ได้ กว่าจะเข้าใจกันว่าเครื่องไหนหมุนหมายเลขอะไรก็ตั้งนาน ฉันยังอยากเล่าเรื่องเหยียนอานต่อ (ประพจน์ทนอ่านไปอีกหน่อยก็แล้วกัน) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยึดได้ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และมีเงื่อนไขดีเกือบหมด จีนแตกออกเป็นกลุ่มก๊กมินตั๋ง ตั้งที่มั่นอยู่ที่เมืองฉงชิ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่เจริญนัก ยากจะใช้เป็นฐานในการตีตอบโต้ญี่ปุ่นได้ (ที่จริงประพจน์ก็ไปเห็นมาพร้อมๆ กับฉันก็ไม่ต้องเล่ามาก) ส่วนคอมมิวนิสต์ไปตั้งศูนย์อยู่ที่เหยียนอาน ซึ่งมีสภาพแย่ไปกว่าฉงชิ่งเสียอีกแม้แต่ในด้านเกษตร ไม่น่าเป็นแหล่งแพร่ขยายอุดมการณ์ปฏิวัติได้เลย ในระหว่างสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรสนับสนุนก๊กมินตั๋ง ส่วนคอมมิวนิสต์ที่เหยียนอานต้องใช้อาวุธล้าสมัยที่ผลิตขึ้นเองหรืออาวุธที่ยึดได้จากญี่ปุ่น

(น.54) ทั้งสองฝ่ายพยายามต่อต้านการโจมตีของญี่ปุ่น ก๊กมินตั๋งมีปัญหามาก สูญเสียกำลัง และอยู่โดดเดี่ยว สำหรับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ได้พยายามปรับปรุงองค์การการปกครองทั้งพรรค รัฐบาล และกองทัพ สามารถควบคุมคนไม่ให้ไปรังแกชาวบ้าน ตั้งระบบภาษีในลักษณะที่คนรวยต้องแบ่งที่ให้คนจนมิฉะนั้นจะไม้คุ้มภาษี ความรับผิดชอบมีการโฆษณาชวนเชื่อ การศึกษาขบวนการเรื่องสตรี สื่อมวลชน และเรื่องเยาวชน หลังสงคราม ก๊กมินตั๋งเข้ายึดเหยียนอานได้ใน ค.ศ. 1947 แต่ต่อมาฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถยึดคืนได้ วันพรุ่งนี้จะบรรยายเรื่องเมืองจี่หนาน ตอนนี้ไม่ไหวแล้วจ๊ะ Good Night