Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2543 "

(น.109) จดหมายฉบับที่ 6

(น.110) โรงแรมโซฟิเตล นครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน
วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2543
หนีเห่าประพจน์
คุณอู่นั่งรถไปส่งที่สนามบิน บอกว่าที่จริงมณฑลซานตงยังมีอะไรให้ดูอีกมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวัฒนธรรม แถวๆ ริมทะเลก็ควรไป สมัยก่อนซานตงเป็นที่กันดาร คนซานตงจึงไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือกันมาก ขึ้นเครื่องบินไปลงที่สนามบินนครเจิ้งโจว แล้วนั่งรถไปโรงแรมโซฟิเตลเป็นโรงแรมสร้างใหม่ ทันสมัย รับประทานอาหารกลางวันแล้วตอนบ่ายสองโมงไปที่ทำการคณะกรรมาธิการควบคุมแม่น้ำเหลือง (Yellow River Conservancy Commission) เจ้าหน้าที่พาไปที่ห้องประชุม รองผู้อำนวยการเลี่ยวอี่เว่ยเป็นผู้บรรยายสรุป คุณอู๋หันมาถามฉันว่าจะให้แปลไหม ฉันเห็นว่าล่ามของเขาทำท่าเตรียมพร้อมแปล นอกจากนั้นเขาเป็นคนของกรรมาธิการอาจจะรู้เรื่องเขื่อนดีกว่า ที่ไหนได้ แกพูดเร็วมาก ถึงเป็นภาษาไทยก็คงจะฟัง

(น.110)


รูป 79 ฟังบรรยายสรุป ที่ที่ทำการคณะกรรมการควบคุมแม่น้ำเหลือง
Listening to a briefing at the office of the Yellow River Conservancy Commission.

(น.111) ไม่ทัน จดมาตามภาษาอังกฤษที่เขาแปล ถ้าจะจดเป็นภาษาจีน เห็นจะแย่กว่านี้ เขาบอกว่าจะบรรยายเรื่องโครงสร้างการบริหาร จะฉายวีดีโอ 13 นาที และจะพาไปชมพิพิธภัณฑ์ ฉันจะกล่าวอย่างย่นยอก็แล้วกัน กล่าวยาวไม่ไหว คณะกรรมาธิการนี้เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงชลประทานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีอำนาจหน้าที่เกินกว่าภูมิภาค ครอบคลุมหลายมณฑล ในลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ภูมิภาคปกครองตนเองซินเจียง รวมทั้งแม่น้ำบนผืนแผ่นดินใหญ่ของมองโกเลียใน มีหน้าที่หลักคือ
1. จัดทำนโยบายและกฎระเบียบการใช้น้ำ รวมทั้งตรวจสอบดูแลเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับน้ำ ให้มีการกระทำตามกฎหมายเหล่านั้น
2. เขียนแผนการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งแผนระยะกลางและระยะสั้น รวมทั้งจัดทำโครงการหลักของการพัฒนาชลประทานลุ่มน้ำ
3. บริหารทรัพยากรแหล่งน้ำอย่างเป็นเอกภาพ จัดให้มีการควบคุมดูแล ทดสอบ และประเมินจากการสำรวจภาคสนามเกี่ยวกับทรัพยากรแหล่งน้ำของลุ่มแม่น้ำ
4. จัดการแม่น้ำลำคลอง ห้วยหนอง ทะเลสาบ หาดทรายชายทะเลน้ำตื้น รวมทั้งบริหารแม่น้ำสายสำคัญตามหน้าที่ที่รัฐบาลมอบหมาย
5. จัดการประสานงานการควบคุมป้องกันน้ำท่วม และแก้ปัญหาภัยแล้งในเขตลุ่มแม่น้ำ
6. แก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องน้ำระหว่างมณฑลต่างๆ
7. ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดิน แก้ปัญหาดินที่อุดมสมบูรณ์ถูกน้ำพัดไป และเป็นที่ปรึกษาแก่ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ในการรักษาผิวดิน

(น.112)

8. เป็นตัวแทนรัฐบาลกลางดูแลกระบวนการอุทกวิทยา บริหารโครงการก่อสร้างงานชลประทานขนาดใหญ่ของราชการบริหารส่วนท้องถิ่นแทนราชการบริหารส่วนกลาง
9. ควบคุมงานอุทกวิทยา งานชลประทานที่สำคัญ
10. ให้แนวทางแก่หน่วยงานในชนบทในด้านกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ และกิจการที่ทำให้ชนบทมีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง
มีหน่วยงานขึ้นตรง 22 หน่วยงาน อาทิ หน่วยทำงานวางแผนการสำรวจ หน่วยงานการบริหารแก้ไขปัญหาของตอนต้นน้ำและตอนกลางแม่น้ำ หน่วยงานวิศวกรรม หน่วยงานบริหารงานเจ้าท่า หน่วยอุทกวิทยา หน่วยงานรักษาทรัพยากรน้ำ หน่วยก่อสร้างงานชลประทานและการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ หน่วยบริหารโยกย้ายประชาชน หน่วยบริหารงานอ่างเก็บน้ำ หน่วยวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มีคนทำงาน 30,000 คน เป็นพวกวิชาชีพทำงานเทคนิคเฉพาะทาง 9,100 คน ทั้งรวมพนักงานระดับศาสตราจารย์ 110 คน นายช่างใหญ่ 600 คน และวิศวกร 3,570 คนด้วย
การบริหารงานแก้ไขปัญหาแม่น้ำหวงเหอภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นได้เริ่มงานมาตั้งแต่ ค.ศ. 1946 การบริหารงานที่ดำเนินมา 50 กว่าปีได้กำไร 1.32 ล้านล้านหยวน ความสำเร็จมีดังนี้
1. ในห้าสิบกว่าปีมานี้ยังไม่เคยมีฝายหรือเขื่อนแตก แต่เดิมแตกแห่งหนึ่งใน 3 ปี ทำให้ได้ประโยชน์จากการลดอุทกภัยรวมเป็นเงิน 4.0 แสนล้านหยวน
2. อัตราการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำสูงถึง 53% ประโยชน์โดยตรงทางเศรษฐกิจที่ได้รับสะสมรวมเป็นเงิน 6 แสนล้านหยวน
3. การอนุรักษ์ดินดีขึ้น ทำให้ระบบนิเวศวิทยาและปัจจัยการผลิตดีขึ้นตามมาด้วย รวมทั้งได้ลดจำนวนดินและทรายที่เลื่อนไหลลงสู่แม่น้ำหวงเหอ ได้รับประโยชน์รวม 2.0 แสนล้านหยวน

(น.113)

4. เพิ่มผลผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำ มูลค่า 1.2 แสนล้านหยวน
5. ได้ดำเนินงานอย่างมากด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการสำรวจ
ปัญหาก็มีคือ
I. ปัญหาน้ำหลาก ก่อผลดังนี้
1. ท้องแม่น้ำมีตะกอน ทำให้ปริมาณความจุน้อยลง สภาพ “แม่น้ำลอยฟ้า” ทวีความรุนแรงมากขึ้น เผชิญน้ำหลากได้น้อยลง
2. ถ้าน้ำท่วมใหญ่ยังรับไม่ได้
3. พื้นแม่น้ำจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะตะกอนดินและทรายที่ทับถมกันมา
4. อัตราประชากรมีความหนาแน่นมาก จึงต้องระวังไม่ให้ลุ่มน้ำเสีย
II. ทรัพยากรน้ำไม่พอ
1. ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำมีไม่มาก ประมาณว่าเมื่อถึง ค.ศ. 2030 อาจจะขาดน้ำ 1.1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร
2. ปัญหาสายน้ำขาดช่วง มีผลกระทบทางลบต่อความสมดุลของระบบนิเวศวิทยาที่ปากแม่น้ำ รวมทั้งการที่ดินและทรายเลื่อนไหลลงสู่ทะเล
III. การแก้ไขระบบนิเวศวิทยาให้ดีขึ้นยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก
1. ผิวดินที่อุดมสมบูรณ์ถูกน้ำพัดพาไป มีปริมาณ 4.54 แสนตารางกิโลเมตร
2. บางช่วงของแม่น้ำเกิดมลภาวะอย่างรุนแรง
ปัญหาสำคัญของแม่น้ำหวงเหอเกิดขึ้นจากสภาพที่มีลักษณะพิเศษคือ “น้ำมีน้อยแต่ทรายมีมาก และบนบกมีแม่น้ำลอยฟ้า” เป้าหมายการ บริหารงานแก้ไขปัญหาคือ ต้องกำหนดแผนงานทั้งระบบ ดำเนินงานอย่างมีเอกภาพ ทุ่มเทงบประมาณให้มากขึ้น บริหารจัดการอย่างรวมศูนย์และมีแผน การพัฒนาเศรษฐกิจต้องกระทำอย่างราบรื่นกลมกลืนกับเรื่องจำนวนประชากร ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม

(น.114) มาตรการสำคัญ ได้แก่
การป้องกันน้ำหลาก ได้แก่ ตอนต้นของแม่น้ำต้องกั้นน้ำ ตอนล่างของแม่น้ำต้องระบายน้ำ แม่น้ำสองฝั่งต้องสร้างฝายย่อยกักเก็บน้ำเพื่อชะลอความเชี่ยวของสายน้ำ
รักษาทรัพยากรน้ำ ได้แก่ มาตรการเพิ่มพูนแหล่งน้ำ ประหยัดการใช้น้ำและบำรุงรักษาควบคู่กันไป แต่ยึดหลักประหยัดเป็นสำคัญ ให้บริหารงานอย่างมีเอกภาพ ควบคุมการระบายน้ำเสีย และปริมาณของน้ำเสียที่อนุญาตให้ระบายได้
การบำรุงรักษาน้ำ ใช้วิธีผสมผสานระหว่างการป้องกันกับการบริหารงานแก้ไขปัญหา และให้การบริหารเข้มแข็งมากขึ้น รวมทั้งการใช้มาตรการผสมผสานระหว่างฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายชีวภาพ และฝ่ายเกษตรรวมกัน
อาศัยการดำเนินงานอย่างทุ่มเทจริงจังตามนโยบายเศรษฐกิจ โดยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการบริหารงานแก้ไขตามกฎหมาย ปัญหาแม่น้ำหวงเหอคงจะสามารถขจัดได้รวดเร็วและดีขึ้น
ดูวีดีโอพูดภาษาจีน ฟังไม่ค่อยเข้าใจ พอจับใจความได้ว่า กล่าวถึง ความสำคัญของแม่น้ำหวงเหอว่าเป็นแหล่งชีวิต ตั้งแต่ ค.ศ. 1952 ท่านประธานเหมากำชับเรื่องการจัดการลุ่มน้ำหวงเหอนี้มาก ต้นน้ำหวงเหอตั้งแต่ที่ราบสูงดินเหลืองที่ทิเบต ชิงไห่ ซินเจียง กานซู่ หนิงเซี่ย เหอหนาน และซานตง ไปลงที่ทะเลโป๋ไห่ ในประวัติศาสตร์มีน้ำท่วม เกิดปัญหามาก ประธานเหมาไปดู ค.ศ. 1952 ใน ค.ศ. 1999 ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินได้มาดูเรื่องการผลิตไฟฟ้า

(น.115)


รูป 80 แผนที่แสดงแม่น้ำเหลือง
Map of the Yellow River Basin.

(น.115) นั่งรถไปที่ พิพิธภัณฑ์ Yellow River Exhibition Hall ซึ่งทำมาตั้งแต่ ค.ศ. 1955 ขึ้นตรงกับสำนักงานชลประทานแม่น้ำหวงเหอ เป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับรวบรวม สะสม และวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับแม่น้ำหวงเหอ เช่น ลักษณะพิเศษทางธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ ประวัติศาสตร์ อารยธรรมของชาวลุ่มแม่น้ำ มีนิทรรศการชลประทานสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์ชิง ฟอสซิลและวัตถุโบราณที่ขุดพบในลุ่มน้ำ เช่น อักษรโบราณบนกระดองเต่าที่หมู่บ้านเสี่ยวถุนชุน เมืองอานหยัง มนุษย์หลานเถียนซึ่งอยู่ยุคเดียวกับมนุษย์ปักกิ่ง รูปภาพ ข้อมูล และผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับแม่น้ำหวงเหออีกร่วมหมื่นชิ้น ลักษณะพิเศษของแม่น้ำนี้คือ จะมีน้ำท่วมเล็กประจำปี ท่วมขนาดกลางทุก 3 ปี แต่ท่วมขนาดใหญ่ทุก 10 ปี แม่น้ำหวงเหอให้คุณอนันต์ แต่ก็สร้างภัยมหันต์แก่ประชาชน แม่น้ำนี้ชาวจีนทั้งรักทั้งกลัว จนมีคำกล่าวว่า “หวงเหอสงบ โลกสันติ” โลกในที่นี้หมายถึง จีน

(น.116)


รูป 81 โมเดลเขื่อน
Model of the dam.

(น.116) ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการที่ดินอุดมสมบูรณ์สำหรับเพาะปลูก และชอบท้าทายธรรมชาติ สองฝั่งแม่น้ำหวงเหอจึงเป็นที่ทำมาหากินของมนุษย์มาตั้งแต่โบราณ รวมทั้งเป็นแหล่งก่อเกิดอารยธรรมจีนด้วย แม่น้ำหวงเหอเป็นแม่น้ำยาวอันดับสองของจีน มีต้นน้ำจากเทือกเขาที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ ในเขตกลางมณฑลชิงไห่ สูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,500 เมตร ไหลผ่านมณฑลชิงไห่ เสฉวน กานซู่ หนิงเซี่ย มองโกเลียใน ส่านซี ซานซี เหอหนาน และซานตง ออกสู่ทะเลโป๋ไห่ที่รอยต่ออำเภอเขิ่นลี่กับอำเภอลี่จิน มีรูปถ่ายตั้งแต่ต้นน้ำที่ชิงไห่ รวมทั้งแสดงว่าแม่น้ำมีการกั้นเขื่อนที่ไหนบ้าง มีแผนที่เริ่มตั้งแต่ชิงไห่เช่นเดียวกัน ผ่านมณฑลต่างๆ แล้วไปลงทะเลโป๋ไห่ มีสาขาของแม่น้ำหลายสาขา ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ส่วนกลางของลุ่มน้ำ เนื้อที่ทั้งหมด 752,443 ตารางกิโลเมตร ความยาว 5,464 กิโลเมตร แสดงปัญหาตะกอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางและปัญหาน้ำน้อย

(น.117) ในลุ่มแม่น้ำนี้แหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ได้แก่ ซีอาน ลั่วหยัง ไคเฟิง อานหยัง (พบจารึกบนกระดองเต่า) ฯลฯ เขาแสดงภาพถ้ำหลงเหมิน เจดีย์สมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นต้น เมื่อเขียนลงในแผนที่เปรียบเทียบกับลุ่มแม่น้ำฉังเจียงแล้ว ลุ่มแม่น้ำหวงเหอมีมากกว่า (ยังมีคำอธิบายอะไรอีกแยะ แต่ก็ซ้ำเลยไม่ได้เขียน) มีภาพแสดงทั้งเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งในแต่ละปี เช่น ใน ค.ศ. 1942 คนอดตายไปมาก ค.ศ. 1933 น้ำท่วมพาโคลนมาท่วมบ้านสูงเกือบถึงหลังคา มีภาพบริเวณต่างๆ ในลุ่มน้ำ แสดงว่าตะกอน (sediment) มาทับถม ทำให้ปากน้ำงอกออกมามาก เขตที่ราบ (alluvial plain) ในจีนเมื่อ 7,000 ปีก่อนไม่มี มีอยู่แห่งหนึ่งดินงอกเร็วถึงปีละ 23 ตารางกิโลเมตร โดยเฉลี่ยใน 100 ปีคงจะตั้งเป็นอำเภอได้ทั้งอำเภอ

(น.117)

รูป 82 แผนที่แสดงการจัดการลุ่มแม่น้ำเหลือง
A map showing the usage of water resources of the Yellow River.

(น.118) มีภาพผู้นำมาตรวจงานชลประทาน เช่น ท่านประธานเหมา หลิวเซ่าฉี จูเต๋อ และโจวเอินไหล เรื่องการควบคุมน้ำท่วม ต้องควบคุมน้ำแข็งคือ ธารน้ำแข็งในหนิงเซี่ยและมองโกเลียใน ซึ่งอาจจะทำให้น้ำท่วมในฤดูร้อน เขาใช้วิธีทำฝาย ส่วนวิธีการที่ไม่ใช่ทางวิศวกรรมนั้นก็คือ การบริหาร การติดต่อกับคนเพื่อสร้างความเข้าใจ และการใช้ระบบ microwave ส่งข่าว สมัยก่อน (เขื่อนซานเหมินเสีย ค.ศ. 1957-1966) ไม่ได้คิดเรื่องเขื่อนที่แก้ปัญหาตะกอน ยังสร้างไม่ทันเสร็จดี มีตะกอนมาถมเสียครึ่งหนึ่งแล้ว ในระยะหลังมีเทคโนโลยีดีขึ้น จึงใช้วิธีทำอุโมงค์ให้ตะกอนไหลออกไป และมีการแก้ไขการกัดเซาะด้วย เรื่องการใช้น้ำก็ต้องระมัดระวัง เพราะมีเขตแห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งอยู่เป็นบริเวณกว้าง การส่งน้ำต้องใช้ท่อส่งน้ำไป การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ สร้างโรงไฟฟ้าในมณฑลส่านซี เมืองหลานโจวในมณฑลกานซู่ และที่หลงหยังเสียเป็นที่ใหญ่ที่สุด

(น.118)


รูป 83 โมเดลแสดงการควบคุมน้ำ
Model showing water controlling.

(น.119)


รูป 84 วิ่งดูเสร็จ
Finishing a running tour.

(น.119) การพัฒนาระบบน้ำแก้ไขน้ำท่วม นอกจากการสร้างคันกั้นน้ำแล้ว ยังใช้วิธีสร้างอ่างเก็บน้ำ (detention basin) เช่น ให้น้ำไหลเข้าทะเลสาบตงหลิง โดยทำเป็นประตูน้ำผันน้ำเข้าทะเลสาบในเวลาน้ำมาก ถ้าน้ำน้อยก็เอาน้ำมาเข้าแม่น้ำ โครงการนี้จะเสร็จในปีหน้า ฟังๆ ดูฉันว่าคล้ายๆ โครงการแก้มลิงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำในบ้านเรา ทะเลสาบตงผิงอยู่ทางตะวันตกของมณฑลซานตง ระหว่างอำเภอตงผิงกับเหลียงซาน ทางตะวันออกและทางเหนือของทะเลสาบติดกับแม่น้ำหวงเหอ แต่เดิมทะเลสาบนี้ในฤดูร้อนจะมีพื้นที่เพียง 153 ตารางกิโลเมตร แต่ใน ค.ศ. 1953 เมื่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแล้ว พื้นที่ของทะเลสาบขยายกว้างขึ้นถึง 600 ตารางกิโลเมตร โครงการจัดหาน้ำเข้าเมือง ใช้วิธีทำประตูน้ำ เขายกตัวอย่างที่มหานครเทียนสิน และยังมีตัวอย่างอื่นๆ ที่ทำเสร็จแล้ว โครงการที่กำลังจะเสร็จและกำลังวางแผน ในอนาคตนั้นการอนุรักษ์ดินเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นอกจากนั้นยังมีโครงการที่คิดไว้ในอนาคต เช่น การผันน้ำไปภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเอาน้ำจากแม่น้ำฉังเจียงมาแม่น้ำหวงเหอ โครงการแม่น้ำโขง โครงการปรับปรุงคลองขุดใหญ่ที่ไปมหานครเทียนสิน โครงการความปลอดภัยในการใช้น้ำ มีเวลาน้อยมากเลยจ๊ะ ไม่ใช่เดินดู เรียกว่าวิ่ง เลยจดได้ไม่ดีนัก

(น.120) ไปพิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รูปร่างอาคารดูสมัยใหม่มาก แต่ที่จริงแล้วทำเลียนแบบหอดูดาวโบราณ ผู้อำนวยการมาต้อนรับอธิบายว่าพิพิธภัณฑ์เหอหนานเริ่มก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1927 แต่ก่อนอยู่ที่เมืองไคเฟิง ปลายทศวรรษ 1950 ต่อต้น 1960 ที่ทำการรัฐบาลย้ายมาอยู่นครเจิ้งโจว พิพิธภัณฑ์จึงย้ายมาด้วย สร้างเสร็จ ค.ศ. 1959 มีพื้นที่ใช้สอย 15,000 ตารางเมตร ไ ด้สร้างอาคารใหม่ระหว่าง ค.ศ. 1991-1994 เปิดให้เข้าชมได้ใน ค.ศ. 1998 จัดแสดงวัตถุโบราณในมณฑลเหอหนาน ซึ่งมีประมาณ 13,000,000 ชิ้น พื้นที่จัดแสดงประมาณ 78,000 ตารางเมตร ได้ดูวัตถุโบราณ 3 ห้อง ได้แก่ วัฒนธรรมโบราณเหอหนาน ศิลปะแกะสลักหิน มี 2 ห้อง คือ 1. ศิลปะชาวบ้าน 2. ศิลปะทางพุทธศาสนา เครื่องหยกโบราณ ส่วนมากค้นพบจากในสุสาน เครื่องทองสำริดของรัฐฉู่ ซึ่งเป็นรัฐที่มิใช่ชนชาติจีน เป็นรัฐใหญ่มากกลางประเทศ อาณาเขตกว้างขวางถึงแถบมณฑลหูเป่ย รัฐฉู่มีภาษาและวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากจีน มีวรรณคดีตกทอดมาจนทุกวันนี้ จิ๋นซีฮ่องเต้มาตีรัฐนี้ จึงรวมประเทศได้ ศิลปกรรมสมัยราชวงศ์หมิงและชิง แสดงงานศิลป์ต่างๆ หลายรูปแบบ นอกจากนั้นมีการแสดงเรื่องของไดโนเสาร์และไข่ไดโนเสาร์ให้เยาวชนชม แสดงประวัติภาคกลางเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง วัตถุโบราณที่แสดงในส่วนนี้มีประมาณ 3,000 ชิ้น

Next >>