Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2543 "

(น.133) จดหมายฉบับที่ 7

(น.134)


รูป 99 หยุดรถบนสะพานดูแม่น้ำเหลือง
We stopped our cars in the middle of the bridge to admire the Yellow River.

(น.135) โรงแรมโซฟิเตล นครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน
วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2543
Hi ประพจน์
วันนี้ต้องเดินทางค่อนข้างไกลคือ ตั้งสองชั่วโมง รถผ่านคนนุ่งกระสอบไว้ทุกข์ในพิธีศพเดินมาเป็นแถว หงเยี่ยนบอกว่าเดี๋ยวนี้ในปักกิ่งเขาไม่ทำพิธีแบบนี้กันแล้ว มีแต่ต่างจังหวัด ฉันนึกถึงว่าคนจีนเคยบอกว่าถ้าจะศึกษาธรรมเนียมจีน ต้องศึกษากับจีนโพ้นทะเล เพราะยังรักษาไว้ได้ดีกว่า เมื่อคืนนี้ที่ดื่มเหล้าตู้คังกันนั้น เหล้ามีแอลกอฮอล์ถึง 58% ถ้าผู้หญิงดื่มได้ 10 แก้ว ไม่ยากเลย แต่เมื่อคืนฉันก็ดื่มไม่ถึง 10 แต่คิดว่าถึงก็คงไม่เป็นไร รถหยุดบนสะพานเพื่อให้ดูแม่น้ำหวงเหอ แต่แรกฉันคิดว่ารถเสียอีกแล้ว

(น.136) อานหยังอยู่ทางเหนือของมณฑล เป็นเมืองหลวงหนึ่งใน 7 เมืองของจีน มีชื่อเสียงเรื่องเป็นต้นกำเนิดของจารึกเสี่ยงทายบนกระดูก มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ด้านทรัพยากรธรรมชาติที่นี่ก็ค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ มีถ่านหิน เหล็ก เป็นต้น ในด้านการเกษตรมีธัญพืช ฝ้าย ผลไม้ ถั่วลิสง และลูกเกด ปัจจุบันถือว่าอานหยังเป็นเมืองอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเบา เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักร เภสัชกรรม ถ่านหิน เคมีภัณฑ์ เครื่องก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบันนครอานหยังพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษาและวัฒนธรรม มีสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายแห่ง มีศูนย์การบินแห่งชาติ ได้มีการแลกเปลี่ยนและร่วมมือทางการค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับต่างประเทศหลายประเทศ มีความร่วมมือกับต่างประเทศหรือบริษัทร่วมทุน รวมทั้งมีความร่วมมือแบบเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองในต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อไปถึงยังรู้สึกประทับใจว่าเป็นเมืองใหญ่ ฉันนึกภาพว่าเป็นเมืองโบราณ เมืองสมัยใหม่จะเล็ก เมืองเก่าอินซวี อยู่เมืองอานหยังด้านตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณหมู่บ้านเสี่ยวถุนชุนและบริเวณใกล้เคียงสองฝั่งแม่น้ำเหิงเหอ เป็นซากเมืองซังยุคปลาย เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ก่อนคริสต์กาล กษัตริย์ผานเกิง ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 20 ของราชวงศ์ซังได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองเหยี่ยนมาที่นี่ จึงเรียกว่าเมืองอินตามชื่อเดิมของราชวงศ์ซัง ตั้งแต่กษัตริย์องค์แรกที่ย้ายเมืองมาจนถึงกษัตริย์อินโจ้วองค์สุดท้าย รวมเป็นเมืองหลวงอยู่ 273 ปี ถึงศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสต์กาลถูกกษัตริย์โจวอู่หวังโค่นอำนาจ แต่ถึงกระนั้นโจวอู่หวังยังอนุญาตให้โอรสของอินโจ้วชื่อ อู่เกิงอยู่ที่เมืองนี้เพื่อบวงสรวงบรรพบุรุษ ภายหลังอู่เกิงก่อกบฏ จึงถูกปราบราบคาบ เมืองอินซวีจึงกลายเป็นเมืองร้างจนกลายเป็นซากเมืองอยู่จนทุกวันนี้ ได้ขุดพบอักษรกระดองเต่า วังเก่า สุสาน สถานที่ทำพิธี พาหนะ เครื่องใช้ทำพิธีมากมาย

(น.137)


รูป 100 หน้าเมืองเก่าอินซวี
In front of the ancient city of Yin Xu.

(น.138) ไปที่พิพิธภัณฑ์อินซวี (Yin Xu) พิพิธภัณฑ์นี้ทำเป็นรูปเหมือนกับสุสาน ของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ดูเหมือนจะไม่ใช่ของจริง แต่ทำขึ้นเพื่อให้คนที่มาชมเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมราชวงศ์ซัง หรืออิน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่กว่า 3,000 ปี ฉันก็ไม่แน่ใจว่าที่นี่เป็นสถานที่สุสานจริงหรือสมมติเอาเองเป็นสุสานของฟู่เห่า มเหสีของกษัตริย์อู๋ติ่ง ราชวงศ์ซัง ซึ่งตามเรื่องเล่าว่าเป็นสตรีที่มีความสามารถยิ่งท่านหนึ่ง ของจริงขุดพบใน ค.ศ. 1975 มีเครื่องสำริดที่มีค่าเกือบ 500 ชิ้น บริเวณนี้มีอายุเก่าแก่ ขุดพบเมืองโบราณ (ราว 1766-1122 ก่อนคริสต์กาล) ที่สำคัญที่สุดคือ ในสมัยนี้มีการเขียนตัวอักษรเป็นครั้งแรก เป็นจารึกบนกระดองเต่าและกระดูกวัว ส่วนมากจะเป็นเรื่องการทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าหรือการทำนายทายทัก (devination) จึงเรียกกระดูกเหล่านี้ว่ากระดูกเสี่ยงทาย (oracle bones)

(น.139) แต่ก่อนไม่มีใครเคยทราบเรื่องกระดูกเหล่านี้ จนใน ค.ศ. 1899 มีคนเห็นกระดูกแบบนี้ที่ร้านขายยา ภายหลังจึงมีการขุดค้นทางโบราณคดีและมีการศึกษาขึ้น อักษรบนกระดองเต่าหรือบนกระดูกนี้เป็นอักษรภาพคล้ายๆ อักษรจีนในปัจจุบัน จะพบกระดูกเหล่านี้รวมกันอยู่มากๆ ในหลุมที่ใช้ทำพิธี ส่วนที่เป็นหลุมศพอย่างที่เขาทำไว้ให้ดูนี้ นอกจากจะมีโครงกระดูกเจ้าของสุสานแล้วยังมีโครงกระดูกข้าทาสบริวารอีกด้วย กระดูกเด็กก็มี (รวม 16 คน) สมัยหลังๆ ไม่ได้เอาข้าทาสจริงๆ ฝังลงไปเหมือนสมัยนี้ แต่จะเป็นตุ๊กตาหรือหุ่นคนรับใช้ คล้ายๆ กับพิธีกงเต๊กที่ทำกันทุกวันนี้ นอกจากคนแล้วยังมีสุนัขอีก 8 ตัวพร้อมทั้งเครื่องหยก เปลือกหอย (ใช้เป็นเงินตรา) มีภาชนะสำริด มีที่สลักชื่อ ฟู่เห่า อาวุธต่างๆ 134 ชิ้น แสดงว่าเจ้าของสุสานต้องเป็นนักรบ เครื่องหุงต้ม คันฉ่อง โลงที่ใส่นั้นเป็นโลงไม้ลงรักอย่างดี แสดงว่าเจ้าของต้องเป็นคนสำคัญสมัยนั้น

(น.140)


รูป 101 สุสานพระสนมฟู่เห่า
Tomb of Concubine Fu hao.

(น.140) จากบันทึกกระดองเต่าทำให้ทราบว่านางฟู่เห่าเป็นสนมคนโปรด หญิงงามในวังมี 60 นาง แต่ที่เป็นพระสนมมี 3 คน นางฟู่เห่าเป็นหนึ่งในสามนั้น นางไม่เพียงแต่เป็นคนมีหน้าตางดงาม ความประพฤติเรียบร้อย ยังมีนิสัยห้าวหาญ อดทนและซื่อสัตย์ มีฝีมือทางการรบและรู้หลักยุทธศาสตร์ นำทัพออกศึกปกป้องและรวมแผ่นดิน ขับไล่ศัตรูทางชายแดนและขยายดินแดน ถือเป็นขุนศึกหญิงคนแรกของจีน นอกจากนี้นางยังรับผิดชอบงานบวงสรวงต่างๆ ความตรากตรำทำให้เสียชีวิตขณะที่อายุยังไม่ถึง 40 ปี สำนักงานโบราณคดี ที่นี่เขาไม่ได้เขียนไว้ในหมาย แต่จะดีกว่าที่พิพิธภัณฑ์ เพราะมีของจริงมากกว่า เมื่อนักโบราณคดีขุดค้นขึ้นมาแล้วต้องนำมาศึกษาก่อนแล้วจึงส่งให้พิพิธภัณฑ์ ในสำนักงานมีแผนที่แสดงบริเวณแถบนี้ เห็นได้ว่ามีส่วนที่เป็นเมืองโบราณอยู่ริมแม่น้ำอานหยังและมีการขุดคูทดน้ำเข้ามาใช้และทำคูเมือง สุสานต่างๆ อยู่รอบนอกออกไป บริเวณรอบเมืองมีส่วนที่ทำหัตถกรรม เช่น ทำเครื่องปั้นดินเผา นักโบราณคดีที่สำนักงานอธิบายว่าสมัยนั้นเขาเสี่ยงทายอย่างเป็นระบบ เมื่อเสี่ยงทายแล้วจะมีการวิเคราะห์ด้วยว่าถูกต้องสักเท่าไร ที่ดีก็เก็บไว้ ที่ไม่ดีก็ทิ้งไป ที่เก็บไว้หลุมหนึ่งเป็นหมื่นชิ้นก็มี ของที่เขาขุดขึ้นมาได้นอกจากจะเป็นกระดูกเสี่ยงทายแล้วยังมีอาวุธประจำตัว เครื่องใช้ประจำวัน เช่น หม้อหุงข้าว ภาชนะใส่อาหาร เนื้อหมูที่ขุดขึ้นมายังไม่เน่า ปิ่นปักผม ท่อน้ำทิ้ง ส่วนของกำแพง ที่สำนักงานมีภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณนี้ติดข้างฝาไว้ด้วย

(น.141)


รูป 102 หลุมขุดบริเวณสำนักงานโบราณคดี พบโครงกระดูก
Excavation hole in the area of the Archaeology Department, where skeletons were found.


รูป 103 รถม้าโบราณ
Ancient horse chariot.

(น.141) ชั้นบน มีแม่พิมพ์ทองสำริด เตาหลอมทองสำริดรูปหน้าคนซึ่งเขาสันนิษฐานว่าเป็นคนมองโกเลีย เครื่องมือกระดูก กระดูกสัตว์ต่างๆ เช่น วัว ม้า สุนัข หมู กวาง เสือ หนู หมาจิ้งจอก ลิง สมเสร็จ ช้าง (เขาว่าสมัยก่อนอากาศอบอุ่นกว่าตอนนี้) มีโมเดลจำลองรูปหลุมศพ มีหลุมที่พบรถม้า มีศพม้า 2 ตัว ศพคนขับรถ รับประทานอาหารที่โรงแรมอานหยัง เป็นโรงแรม 2 ดาว รองนายกเทศมนตรีเป็นเจ้าภาพ แทนนายกเทศมนตรีตามเคย

(น.142)


รูป 104 เรือนจำโบราณโหยวหลี่เฉิง
Ancient prison of Li cheng.

(น.142) เมื่อรับประทานเสร็จแล้วไปเรือนจำโบราณโหยวหลี่เฉิง มีอายุกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ความสำคัญที่นี้มีเรื่องเล่าว่ากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซังคืออินโจ้วเป็นคนเหลวไหล เอาแต่ความสำราญ การปกครองยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบ ซีป๋อจีชังหรือโจวเหวินหวังหัวหน้าเผ่าโจว ซึ่งมาจากตะวันตก อาศัยความรู้ ความสามารถพัฒนาการเกษตร ทำให้มีดินแดนใหญ่ขึ้นทุกที อินโจ้วหวัง กษัตริย์ซังไม่พอพระทัยซีป๋อจีชัง หลอกมากักขังถึง 7 ปี ระหว่างที่ถูกกักขัง ได้พยายามศึกษาอี้จิง หรือที่เรียกว่า Book of Changes และเอาสัญลักษณ์ 8 อย่างที่เรียกว่า ปากั้ว (ซึ่งกล่าวกันว่าหัวหน้าเผ่าโบราณชื่อ ฝูซี จำแบบมาจากกระดองเต่า) มาเขียนเพิ่มเติม (88 = 64) ในบริเวณโหยวหลี่เฉิงเป็นสถานที่ที่เขาทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนทุกๆ ที่ คือมีอาคารต่างๆ ให้ดู เข้าไปถึงมีโรงคลุมกองดิน เข้าไปดูเขาบอกว่าเป็นซากกำแพงโบราณ ว่าบริเวณนี้ขุดพบวัตถุโบราณ กระดูกสัตว์ เครื่องใช้วัฒนธรรมหลงซานเพิ่งพบ จึงยังไม่ได้นำมาจัดให้ประชาชนชม

(น.143)


รูป 105 เรือนจำโบราณโหยวหลี่เฉิง
Ancient prison of Li cheng.


รูป 106 ปากั้ว
Ba gua.

(น.143) มีศิลาจารึกสรรเสริญกษัตริย์อวี่ซึ่งเป็นกษัตริย์โบราณที่ต่อสู้อุทกภัยโดยการทำเขื่อน ตัวอักษรในจารึกมีลักษณะแปลกประหลาด จารึกหลักนี้เป็นของจำลอง ของจริงอยู่ที่เหิงซาน มณฑลหูหนาน นายอำเภอเอามาตั้งที่นี่

(น.144)


รูป 107 ภาพประวัติการคิดปากั้ว
Pictures telling the History of Ba gue invention.


รูป 108 ภาพประวัติการคิดปากั้ว
Pictures telling the History of Ba gue invention.

(น.144) ข้างในอาคารมีรูปสลักหิน (ดูไม่ค่อยจะเก่าเท่าไร) เป็นรูปหัวหน้าเผ่า (ฝูซี) ที่คิดปากั้วด้วยการศึกษาจากน้ำ (แม่น้ำเหลือง?) ตามตำรากล่าวว่า ม้ามังกรผุดขึ้นจากแม่น้ำเหลือง แบกลายที่เรียกว่า เหอถู ขึ้นมา นอกจากนั้นยังมีเต่าวิเศษผุดขึ้นจากแม่น้ำลั่วสุ่ย แบกลายที่เรียกว่า ลั่วซู ลายเหล่านี้ต้องศึกษาร่วมกับดาราศาสตร์ เรื่องนี้เขาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องกษัตริย์อวี่ดูลายกระดองเต่าและคำนวณเลข 15 ได้ด้วยวิธีการต่างๆ ภายหลังขงเบ้งเอาวิธีการเช่นนี้มาคำนวณแผนการรบของทหาร หนังสืออี้จิงนี้เป็นเรื่องศิลปะ วัฒนธรรมการทหาร สามารถบอกปรากฏการณ์ธรรมชาติ เมื่อจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาที่นี่ เมื่อ ค.ศ. 1750 ได้ทรงเขียนบทกวีไว้บทหนึ่ง ชมเชยโจวเหวินหวังว่าแม้แต่ถูกกักขังก็ยังสร้างผลงานได้ มีจารึกของโจวเหวินหวังที่อธิบายปากั้วแสดงความสัมพันธ์ของอิน (ความมืด ผู้หญิง เส้นที่ตรงกลางขาด) และหยัง (ความสว่าง ชาย เส้นที่เขียนติดต่อกันเต็มเส้น ) ซึ่งใช้ในการเสี่ยงทายและเป็นหลักปฏิบัติให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น การเขียนตัวที่แปลว่า ฟ้าแทนกษัตริย์ แปลว่ากษัตริย์เข้าไปอยู่ในหมู่ประชาชน ไต่ถามทุกข์สุข เสียสละเพื่อได้ผลยิ่งใหญ่ จึงเป็นสิริมงคล คำว่า ฟู่ หมายถึง เข้าออกไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เผิง ที่แปลว่า เพื่อน เขาว่า หมายถึง เงินตราที่มีค่าเท่ากับเบี้ยเปลือกหอย 10 อัน เป็นการเสี่ยงทายว่าการเดินทางออกไปไม่มีโรคภัยเจ็บ พบเพื่อนดี ได้ผลประโยชน์ในด้านการค้า 7 วัน กลับบ้านได้ราบรื่น

Next >>