Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันอังคารที่ 14 มีนาคม 2543 "

(น.149) จดหมายฉบับที่ 8

(น.150) โรงแรมโซฟิเตล นครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน
วันอังคารที่ 14 มีนาคม 2543
ประพจน์เพื่อนรัก
วันนี้ไปลั่วหยัง (ลกเอี๋ยง) เดินทาง 2 ชั่วโมงเหมือนเมื่อวานนี้ ลั่วหยังอยู่ทางตะวันตกของมณฑลเหอหนาน เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ต่างๆ รวม 9 ราชวงศ์ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก มีแหล่งศิลปะโบราณคดีจำนวนมาก ถ้ำหลงเหมินถือว่าเป็นแหล่งหนึ่งใน 3 แห่งที่เป็นคลังเก็บศิลาจารึก วัดม้าขาวเป็นวัดแรกในจีนที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 68 สมัยจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หลังจากการเผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามาในจีนแล้ว (จริงหรือเปล่าประพจน์) เขาถือกันว่าดอกโบตั๋นของลั่วหยังสวยที่สุดในโลก ตั้งแต่ ค.ศ. 1983 นครลั่วหยังจัดงานแฟร์โบตั๋นทุกปี ลั่วหยังมีแร่ธาตุสำคัญหลายอย่าง ส่วนที่เป็นภูเขาก็เป็นแหล่งสัตว์และพืชพรรณนานา และยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว มีโครงการสำคัญๆ มาตั้งที่นี่ เช่น โรงงานทำรถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรต่างๆ โรงงานเหล่านี้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ โครงการชลประทานที่สำคัญที่สุดคือ โครงการเสี่ยวลั่งตี่ มีเงื่อนไขที่ดีในการลงทุน การคมนาคมสะดวก มีโรงแรมทันสมัย รวมทั้งได้สร้างความสัมพันธ์กับเมืองอื่นหลายเมือง เมื่อไปถึงก็รู้สึกว่าเมืองใหญ่โตสวยงาม

(น.151)


รูป 113 ไปถ้ำหลงเหมินที่ลั่วหยัง
Visiting Longmen Cave, Louyang.

(น.152) จุดแรกที่ไปคือ ถ้ำหลงเหมิน บริเวณถ้ำหลงเหมินนี้มีภูเขาสองด้าน มีแม่น้ำอี๋ไหลผ่านกลาง อีกฝั่งหนึ่งเป็นภูเขาเซียงซาน ซึ่งกล่าวกันว่ามีสมุนไพรหลายชนิด ด้านหลงเหมินซานมีถ้ำที่สลักพระพุทธรูปจำนวนมาก ไม่ทราบว่าธรรมเนียมสลักพระพุทธรูปไว้ในถ้ำเริ่มเมื่อไร ฉันว่าที่อินเดียคงจะเริ่มก่อน เช่น ถ้ำอชันตา เอลลอร่า หรือถ้ำที่พระธุดงค์มาอยู่ พระสมัยใหม่นี้ยังชอบปั้นพระพุทธรูปไว้ในถ้ำ ไม่รู้เป็นการดีหรือทำลายธรรมชาติ เพราะส่วนใหญ่จะไม่สวยงาม

(น.152)


รูป 114 ตามช่องเคยเป็นที่เก็บพระพุทธรูป ปัจจุบันชำรุดเสียหายไปเกือบหมด
The niches on the wall were once adorned with the Buddha images, now mostly damaged.


รูป 115 ตามช่องเคยเป็นที่เก็บพระพุทธรูป ปัจจุบันชำรุดเสียหายไปเกือบหมด
The niches on the wall were once adorned with the Buddha images, now mostly damaged.

(น.153)


รูป 116 พระพุทธรูปที่วัดเฟิ่งเซียน
Buddha images at Feng xian Temple.

(น.154)


รูป 117 จตุโลกบาล
Heavenly Guardians.

(น.154) พวกที่เริ่มสลักหินที่ถ้ำที่นี่คือ พวกทั่วป๋าเว่ย หรือที่ภาษาไทยเรียกเคลื่อนมาว่าโทปาเว่ย เป็นคนกลุ่มน้อยที่รับนับถือพุทธศาสนา อาจจะก่อนชาวจีนเสียด้วยซ้ำไป เริ่มสลักใน ค.ศ. 495 ในช่วงนี้พวกเว่ยย้ายศูนย์กลางการปกครองของแคว้นเว่ยเหนือจากเมืองต้าถงมาที่ลั่วหยัง เมื่ออยู่ที่ต้าถงได้แกะสลักพระพุทธรูปที่ถ้ำหยุนกั่ง (ที่ฉันจะได้ไปดูทีหลัง) หินปูนที่หลงเหมินแข็งกว่าที่หยุนกั่ง จึงสลักยากกว่า มีถ้ำ 3 กลุ่ม คือ ถ้ำกู่หยัง ปินหยัง และเหลียนฮวา หลังจากสมัยเว่ยก็สลักถ้ำต่อมาเรื่อยๆ ที่สำคัญที่สุดคือ สมัยราชวงศ์ถังตอนสมัยพระนางบูเช็กเทียน ซึ่งเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้าในพุทธศาสนา ผู้ที่อุปถัมภ์การสลักถ้ำคือ จักรพรรดิ พระราชวงศ์ ตระกูลที่ร่ำรวย เพื่อหวังทำบุญ นายพลที่ต้องการชัยชนะในสงคราม เขาว่าทั้งหมดมีของสมัยเว่ยราว 30% เท่านั้น เนื่องจากเราไม่ค่อยจะมีเวลา จึงได้ดูไม่หมด เข้าดูเพียงถ้ำปินหยัง (ที่จริงจะว่าเข้าไปดูเต็มที่ก็ไม่ได้ เพราะว่าเขากั้นไว้ไม่ให้เข้า ถามไกด์ก็บอกว่าไม่เคยเข้าเหมือนกัน) ถ้ำกลางเป็นถ้ำที่สลักในยุคต้นจักรพรรดิเซวียนอู่ทำบุญถวายพระราชบิดาและพระราชมารดา จารึกบอกไว้ว่าใช้กรรมกร 8 แสนกว่าคน สลักตั้งแต่ ค.ศ. 500 ถึง ค.ศ. 523 มี 3 ถ้ำ มีร่องรอยว่าสมัยก่อนคงจะระบายสีด้วย ถ้ำอีกสองข้างสร้างเสร็จสมัยราชวงศ์ถัง

(น.155)


รูป 118 ถ่ายภาพที่วัดเฟิ่งเซียน
A photograph taken at Feng xian Temple.

(น.156) ถ้ำ 140 มีพระพุทธรูป 3 องค์ เสร็จแต่รูปพระศากยมุนี สมัยนั้นแฟชั่นยังชอบผอมๆ มาสมัยราชวงศ์ถังจึงชอบอ้วนๆ บริเวณที่ว่างเปล่าหลังรูปพระทำเป็นรูปนางอัปสรเหาะเหมือนที่ถ้ำตุนหวง ถ้ำที่นี่ถูกทำลายมาก ทั้งที่พังเสียหายตามธรรมชาติและถูกคนทำลาย เริ่มตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 9 เมื่อมีการรบบ่อยๆ และภายหลังพวกฝรั่งที่มาเก็บของไปศึกษาหรือเอาไปเก็บไว้ เขาว่ามีของที่นี่อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่นิวยอร์ก Metropolitan Museum และที่ Nelson Art Museum ที่แคนซัส (รูปจักรพรรดิและพระมเหสีเสด็จมาบูชาพระพุทธเจ้า) ถ้ำ 159 มีรูปเจดีย์ (ถ่า) ราว 40 องค์ ขึ้นบันไดไปที่พระองค์ใหญ่ อยู่บริเวณที่เรียกว่าวัดเฟิ่งเซียน สร้างราว ค.ศ. 675 ไกด์แนะนำให้ถ่ายรูป มีรูปพระไวโรจนะ พระกาศยปะและพระอานนท์ อยู่สองข้าง พระมัญชุศรี (เหวินซู) ข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างละ 2 เป็นจตุโลกบาล พระพุทธรูปเหล่านี้พระนางบูเช็กเทียนพระราชทานพระอุปถัมภ์ ใช้เงินทองไปมากมาย บางคนว่าหน้าตาพระประธานเหมือนพระนาง ให้ดูแค่นี้เขาบอกว่าหมดเวลาไปได้แล้ว ตอนที่สมเด็จป้าเสด็จ ได้ทอดพระเนตรมากกว่านี้มาก ตอนนี้น้ำในแม่น้ำไม่ค่อยมี ชาวบ้านก็เลยปลูกข้าวสาลีอยู่บนท้องแม่น้ำ

(น.157)


รูป 119 สุสานกวนอู
Guanyu's Tomb.

(น.157) จากนั้นไปสุสานกวนอู ตอนนี้กำลังสร้างลานจอดรถ มีที่แสดงงิ้ว ในแต่ละปีที่มีพิธีไหว้กวนอูจะจัดงานในวันขึ้น 13 ค่ำเดือนอ้าย (ทำไมก็ไม่ทราบ) เดือน 5 และเดือน 9 ประตูทางเข้าสร้างในราชวงศ์ชิง ตัวสุสานสร้างในรัชศกว่านลี่ ราชวงศ์หมิง เป็นสุสานฝังหัวกวนอู ส่วนตัวฝังที่ตังหยัง มณฑลหูเป่ย ฉันรู้สึกว่าฝังแบบตัวไปทาง หัวไปทางนี่ไม่ดีเลย แต่ถ้าไม่ถือ คิดเสียว่าตายไปแล้วก็ทิ้งร่างก็ไม่เป็นไร ดูเหมือนว่าโจโฉเป็นผู้ฝังหัวกวนอู เพราะข้าศึกตัดหัวกวนอูส่งให้โจโฉเพื่อเอาความดีความชอบ แต่โจโฉกลับทำพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ ทั่วประเทศมีศาลเจ้ากวนอูมากมาย แต่ที่สำคัญมี 3 แห่ง คือ
1. กวนหลิน เมืองลั่วหยัง
2. กวนหลิง อำเภอตังหยัง มณฑลหูเป่ย
3. อำเภออวิ้นเฉิง มณฑลซานซี เป็นบ้านเก่า

(น.158)


รูป 120 รูปจำลองกวนอู
Statue of Guanyu.


รูป 121 ภาพกวนอูกำลังอ่านหนังสือ
Guanyu reading a book.

(น.159) ทางเดินเข้าศาลเจ้า มีสิงโตเป็นเสาสะพาน ฉันไม่ได้นับ แต่คนจีนเขานับว่ามีทั้งหมด 104 ตัว พ่อค้าสมัยนั้นบริจาค พ่อค้านับถือกวนอู เพราะถือว่าเป็นเทพแห่งความซื่อสัตย์ ถ้าค้าขายอย่างซื่อสัตย์จึงจะเจริญรุ่งเรือง ข้างในมีรูปกวนอู จักรพรรดิสมัยราชวงศ์หมิงตั้งกวนอูเป็นจักรพรรดิ สองข้างรูปกวนอูเป็นรูปบริวารที่ติดตาม ด้านหนึ่งมีโจวชังและเสี่ยวอั่ว อีกด้านเป็นหวังฝู่และกวนผิง ในศาลมีของขาย แต่ฉันไม่ทันได้ซื้อ ป้าจันดูเหมือนจะซื้อบอกว่าของที่นี่ถูกกว่าที่อื่น เขาให้ง้าวของกวนอู (จำลอง) บอกว่ากันผีได้ ด้านหลังมีอาคารอีกสองสามอาคาร ข้างนอกมีต้นไม้ (ต้นไป๋) ลำต้นบิดๆ คำอธิบายเกี่ยวกับกวนอูตามเคย บอกว่ากวนอูขี่ลมไปปราบผี ลมพัดทำให้ต้นไม้ที่อยู่บริเวณนั้นบิดไปตามกระแสลม ซานเตี้ยน เป็นห้องนอนของกวนอู มีภาพปั้นกวนอูกำลังอ่านหนังสือ ด้านหลังสุดมีที่ฝังหัวกวนอู จักรพรรดิเฉียนหลงเขียนคำสรรเสริญไว้ว่า กวนอูเป็นพระมหาราชาที่มีความซื่อสัตย์ เมตตา และกล้าหาญ ได้รับความคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้าวหาญ เก่งสามารถ ศักดิ์สิทธิ์ ถือว่าเป็นคำยกย่องที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ เขียนเมื่อ ค.ศ. 1765

Next >>