Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2543 "

(น.246)


รูป 183 รูปปั้นนูนต่ำระบายสี เป็นเรื่องพุทธประวัติ
Painted bas-relief stucco depicting life of the Buddha.

(น.246) ถ้ำที่ 3 พระพุทธรูปหินแกะสลักสมัยต้นราชวงศ์ถัง มี 3 องค์เรียกถ้ำนี้ว่า วัดหลิงเหยียน ลักษณะพระพุทธรูปนี้ มีพระกายอวบอ้วน จีวรพลิ้วตามองค์เป็นรูๆ ถามไกด์ว่าทำไมเป็นแบบนี้ เขาบอกว่า เวลาสลักต้องเจาะสำหรับใส่ไม้ปีนขึ้นไป แล้วเอาดินเหนียวหุ้ม แต่ตอนนี้ดินหลุดออกมา
ถ้ำที่ 5 เป็นรูปพระศากยมุนี รูปใหญ่ที่สุดของหยุนกั่ง สูง 17 เมตร ปางสมาธิยกนิ้วพระหัตถ์ สร้างสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย ชำรุดเสียหายมาก ที่เห็นปัจจุบันเป็นส่วนที่ซ่อมแซมสมัยราชวงศ์ชิง (รัชศกซุ่นจื้อปีที่ 8 ค.ศ. 1651) โดยการพอกดินและทาสี มีรูปต้นโพธิ์และรูปคนกลุ่มน้อย เข้าใจว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่อุปถัมภ์พุทธศาสนา

(น.247)


รูป 184 รูปปั้นนูนต่ำระบายสี เป็นเรื่องพุทธประวัติ
Painted bas-relief stucco depicting life of the Buddha.

(น.248) หน้าถ้ำมีรูป 16 อรหันต์ (ทั่วๆ ไปจะเป็น 18 อรหันต์) และจารึกภาษามองโกล
ถ้ำที่ 6 (ค.ศ. 470-493) เป็นถ้ำที่อนุรักษ์ไว้ได้ดีที่สุด พระพุทธรูปในถ้ำนี้สร้างในสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย เป็นหินแกะสลักพุทธประวัติงามมาก แต่เสียที่มีเวลาดูน้อย มีภาพปางประสูติ ขี่ช้างเข้าเมือง อสิตพราหมณ์มาพยากรณ์ว่าพระกุมารจะเป็นพระศาสดา เพราะทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักขณะ 80 ประการ ทรงอภิเษกสมรส ก่อนหน้านั้นได้ประลองฝีมือการยิงธนู ในวังมีการเล่นสารพัดอย่าง สาวๆ ชาววังดื่มสุรากันเมามาย พระสิทธัตถะขอออกไปนอกวัง พบคนแก่ คนตาย (ข้อสังเกต คือ เขาไม่แกะรูปคนตาย อาจจะเห็นว่าไม่เป็นมงคล จะทำเป็นสัญลักษณ์คือเป็นรูปธง) และได้พบสมณะผู้สงบระงับ จึงลาพระนางพิมพาขณะที่หลับ (มีคนเล่นดนตรี) ขี่ม้ากัณฐกะเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ต่อจากนี้มีภาพอื่นๆ แต่ไกด์ว่าไม่มีเวลาเลยไม่ได้ดู ข้ามมาดูรูปปฐมเทศนา เป็นรูปแท่นวางธรรมจักร มีกวางหมอบอยู่สองด้านอันเป็นสัญลักษณ์ของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ข้อที่ฉันสงสัยคือเหตุใดธรรมจักรบนแท่นจึงมี 3 วง ไกด์บอกว่าธรรมจักรหมุนเร็วๆ คนดูตาลายมองเห็นธรรมจักรเป็น 3 วง ฉันไม่ค่อยพอใจคำอธิบายนี้ แต่ป่วยการเถียง จึงดูต่อไป
ถ้ำที่ 7 (ค.ศ. 470-493) คู่กับถ้ำที่ 8 ถูกลมพัดเสียหายมาก พระพุทธรูปไม่มีพระพักตร์เลย ใน ค.ศ. 1993 คณะกรรมการของถ้ำได้รับอนุมัติให้ทำประตูไม้กั้นหน้าปากถ้ำ พระพุทธรูปเป็นพระศรีอริยเมตไตรย มีพระโพธิสัตว์ซื่อเว่ย ตรงกรอบประตูหน้าถ้ำมีหู้ฝ่าเทียนเสิน ไกด์อธิบายว่าเป็นวินัยธร เป็นเทพดูแลพุทธศาสนา มี 30 องค์ สององค์นี้ดุที่สุด เป็นพระศิวะมเหศวร 5 เศียรหกกร และ พระวิษณุหกกร กุมารกเทวะ 3 เศียร (เห็นจะต้องไปค้นต่ออีกเหมือนกัน)

(น.249) ถ้ำที่ 9-10 (ค.ศ. 470-493) มีเสารูป 8 เหลี่ยม พระพุทธรูปขนาดเล็กสูงราว 2 เซนติเมตร แต่มีรายละเอียดครบถ้วน มีเรื่องชาดก ไม่มีเวลาดูว่าเป็นชาดกอะไร รูปตกแต่งเป็นรูปดอกไม้ ถ้ำ 10 มีเขาพระสุเมรุ พระพุทธรูปเศียรหายไป เขาว่าแรงลม แต่ที่จริงคงจะเป็นคนตัด
ถ้ำที่ 12 (ค.ศ. 470-493) ภาพที่ถ้ำนี้เป็นหลักฐานการศึกษาเครื่องดนตรีสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย ซึ่ง Gandharvadeva (คนธรรพ์) เล่น มี 27 ชนิด บางชนิดปัจจุบันสูญไปแล้ว

(น.249)


รูป 185 พระพุทธรูปในถ้ำ
Sculptures of Buddhas in a cave.

(น.250)


รูป 186 พระพุทธรูปในช่อง
Buddha images in the niches.

(น.250) ถ้ำ 16-20 (ค.ศ. 460-465)
ถ้ำ 18 พระยืนสูง 15.5 เมตร และมีพระอรหันต์
ถ้ำ 19 พระนั่งสูง 16.8 เมตร ใหญ่อันดับสองของหยุนกั่ง
ถ้ำ 20 ด้านหน้าพังไปสมัยราชวงศ์เหลียว 900 ปีก่อน ข้างในมีพระพุทธรูป 3 องค์ ฝีมือชาวอินเดีย ศิลปะคันธาระจากเปษวาร์ และกรีกยุค Hellenistic 2,000 กว่าปีมาแล้ว พระเนตรของพระพุทธรูปเป็นกระเบื้องเคลือบ แต่มองดูเหมือนเป็นแก้ว

(น.251)


รูป 187 ภาพเนื่องด้วยพุทธศาสนาในถ้ำ
Caves with Buddhist thems.


รูป 188 ภาพเนื่องด้วยพุทธศาสนาในถ้ำ
Caves with Buddhist thems.

(น.252) ดูแค่นี้ก็เป็นอันว่าหมดเวลา อาจารย์หลี่ให้หนังสือหยุนกั่งเล่มโตสองเล่มจบ กลับโรงแรม เป็นอันว่า e-mail ใช้ไม่ได้ รับประทานอาหาร พวกผู้นำต้าถงเขามารับประทานด้วย แต่ว่าไม่ต้องมีพบปะกันก่อนอาหาร เขาใช้วิธีแจก Sheet เกี่ยวกับต้าถง ก็ดีเหมือนกัน ต้าถงตั้งอยู่ทางเหนือของมณฑลซานซี ติดเหอเป่ยและมองโกเลียใน อยู่บนที่ราบสูงดินเหลือง (loess plateau) สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ล้อมรอบด้วยภูเขา ประกอบด้วย 4 เขตในเมือง และ 7 อำเภอ มีเนื้อที่รวม 14,127 ตารางกิโลเมตร ประชากร 2.8 ล้านคน ต้าถงดำเนินนโยบาย เปิดสู่ภายนอก รัฐบาลประกาศเป็นเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตั้งแต่ ค.ศ. 386-494 เป็นนครหลวงของราชวงศ์เป่ยเว่ย เป็นเมืองหลวงที่ 2 ของราชวงศ์เหลียวและจินระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 รวมทั้งเป็นที่ตั้งจังหวัดในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงด้วย

(น.252)


รูป 189 ภาพเนื่องด้วยพุทธศาสนาในถ้ำ
Caves with Buddhist thems.

(น.253) ต้าถงอุดมด้วยแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่านหินที่เกิดขึ้นสมัยจูรัสสิก และคาร์บอนนิเฟอรัส สามารถส่งออกได้ มีการลงทุนร่วมกับต่างประเทศในธุรกิจหลายโครงการ การเกษตรก็เจริญเพราะว่าอยู่ในที่สูง ได้รับแสงแดดต่อปีมาก ฉะนั้นสามารถปลูกพืชเขตอบอุ่นได้ นอกจากนั้นยังมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ดีอีกด้วย นครต้าถงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรถไฟและถนนไปสู่ทุกทิศทางในประเทศจีน กำลังวางแผนโครงการสนามบิน ต้าถงได้ทำข้อตกลงกับนครต่างๆ ทั่วโลกในด้านเศรษฐกิจการค้า วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวัฒนธรรม โดยถือหลักการความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน หลังอาหารขึ้นมาที่ห้องครู่หนึ่ง แล้วลงไปให้ของที่ระลึกทั้งฝ่ายจีนและไทย เก็บของเตรียมกลับบ้าน
Ni de pengyou

(น.254)


รูป 190 พระพุทธรูปในถ้ำ
Buddha images in the caves.

(น.254) หมายเหตุ เมื่อข้าพเจ้ากลับจากถ้ำหยุนกั่งได้โทรศัพท์ถึงประพจน์ถามเรื่องธรรมจักร 3 วง ประพจน์ช่วยวินิจฉัยให้ดังนี้ เรื่องธรรมจักร 3 วง อาจตีความได้ดังนี้
1. ถ้าว่าตาม ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนา หมายถึงการหมุน 3 หนของอริยสัจ 4 มีอธิบายดังนี้ การตรัสรู้หรือการรู้แจ้งอริยสัจ 4 นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ต้องประกอบไปด้วย ญาณ หรือความรู้ 3 ประการ คือ สัจจญาณ รู้ว่าอริยสัจ 4 แต่ละข้อคืออะไร
ตามภาษาปัจจุบันก็คือ รู้ข้อมูลหมดจด ถ่องแท้ ถูกถ้วน

(น. 255) กิจจญาณ รู้ว่าจะต้องปฏิบัติกิจอะไร ในอริยสัจ 4 แต่ละข้อ คือ
ทุกข์ ควรกำหนดรู้ รู้ว่าปัญหามีสภาพมีขอบเขตอย่างไรบ้าง
สมุทัย ควรละเสีย เพราะเป็นเหตุแห่งทุกข์ รู้ว่าจะแก้ไขอะไรได้ ก็ต้องแก้ที่สาเหตุ
นิโรธ ควรทำให้แจ้ง รู้จุดมุ่งหมายที่จะต้องบรรลุ
มรรค ควรจะเจริญ ทำให้เกิดมีขึ้น ต้องลงมือปฏิบัติจึงจะแก้ไขปัญหาและไปถึงจุดมุ่งหมายได้
กตญาณ รู้ว่าได้กระทำกิจอันควรทำในอริยสัจ แต่ละข้อเรียบร้อยแล้ว
ญาณทั้ง 3 ในอริยสัจ 4 นี้เรียกเป็นศัพท์ว่า ญาณทัสสนะอันมีปริวัฏฏ์ (คือรอบ) 3 คือ รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ 4 ครบ 3 รอบ รู้แจ้งอริยสัจแต่ละข้อด้วยความรู้ 3 อย่าง รวมเป็นอาการ 12 การที่ทำรูปธรรมจักร 3 วง อาจหมายถึง ญาณทัสสนะอันมีปริวัฏฏ์ 3 ของอริยสัจ 4 นี้ 2. ตามคัมภีร์มหายาน มีการตีความพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเป็นหลายแบบ อาจกล่าวได้ว่า ทางมหายานมี ธัมมจักกัปปวัตตนะ หรือการยังวงล้อแห่งธรรมให้หมุนไปหลายหน ในฝ่ายมหายานเองแต่ละสำนักก็มีมติต่างกันไป พอสรุปได้เป็น 2 แนวดังนี้ ก. คัมภีร์ของฝ่ายโยคาจาร (วิชญานวาท) กล่าวว่า พระพุทธเจ้าแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือ “ปฐมเทศนา” ที่อิสิปตนมฤคทายวัน 3 หน หนแรก แสดงธรรมจักรเพื่อพระสาวก เป็นหลักของสาวกยาน มหายานเห็นว่า เน้นเรื่องบุคคลศูนยตา คือ บุคคลไม่มีตัวตนไม่มี

Next >>