Please wait...

<< Back

"เจียงหนานแสนงาม วันศุกร์ที่ 2 เมษายน 2542 "

(น. 7) วันศุกร์ที่ 2 เมษายน 2542
มาถึงปักกิ่งประมาณบ่าย 5 โมงเวลาท้องถิ่น คราวนี้ผู้รับรองประจำตัวคือ ท่านทูตจังเหลียน เป็นผู้ติดตามฝ่ายจีน ท่านทูตจังเหลียนนี้เคยเดินทางไปกับข้าพเจ้าตอนที่ไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเมื่อ พ.ศ. 2537 ท่านทูตเล่าว่าตอนนี้กำลังสร้างสนามบินใหม่ให้เสร็จทันงานฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และจะใช้สนามบินปัจจุบันเป็นสนามบินสำหรับสายการบินในประเทศ ท่านกล่าวต่อไปว่าขณะนี้จะเห็นได้ว่ากำลังซ่อมแซมสถานที่สำคัญหลายๆ ที่เพื่อเตรียมการให้ทันงานเฉลิมฉลองที่มีความหมายยิ่งต่อชาวจีน ส่วนเดือนธันวาคมก็จะมีการฉลองที่มาเก๊ากลับคืนเป็นของจีน ที่เทียนอันเหมินมีการปูหินใหม่และปลูกหญ้า


(น. 7) รูป 1 คุณธรรมนูญ หวั่งหลี และคุณหญิง เลี้ยงวันเกิดให้
Birthday cake given on board the plane by Mr. Thamnoon Wanglee and his wife.

(น. 8) วันนี้อากาศดีมากไม่หนาวไม่ร้อนสมกับเป็นฤดูใบไม้ผลิหรือชุนเทียน สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชุนเทียนก็คือ ดอกอวี้หลาน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า แม็กโนเลีย ดอกสีขาวทั้งต้นไม่มีใบ ดอกอวี้หลานนี้เป็นไม้ดอกสกุลเดียวกับจำปีจำปาของไทย ลมชุนเทียนพัดทำให้รู้สึกเย็นสบาย คนปักกิ่งจะรู้สึกว่าชุนเทียนนี้สั้นนัก ประเดี๋ยวเดียวลมหยุดพัดก็เป็นฤดูร้อนเสียแล้ว การเตรียมตัวรับการเฉลิมฉลองอีกประการหนึ่งก็คือ การแก้ไขมลภาวะทางอากาศโดยห้ามใช้ถ่านหิน คุยกันถึงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ขณะนี้จีนมีการปรับปรุงเรื่องวิสาหกิจของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่สร้างในทศวรรษ 1950 และ 1960 ซึ่งมีเทคนิคการผลิตล้าหลังและการบริหารไม่ดี ปัญหาคือคนงานต้องประสบภาวะว่างงาน เมื่อก่อนนี้การตัดสินใจทุกอย่างอยู่ที่ส่วนกลาง ไม่เน้นเรื่องประสิทธิภาพ ไม่เน้นเรื่องกลไกตลาด ระบบการผลิตการบริหารในปัจจุบันต้องการผู้ที่มีฝีมือสูงขึ้น รัฐบาลพยายามอบรมพวกที่ว่างงานซึ่งอายุยังไม่มากนักให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้นเพื่อที่จะได้ทำงานใหม่ ในบางแห่งถึงกับต้องจ่ายเงินรายเดือนให้เป็นค่าใช้จ่ายผู้ที่ตกงาน อีกวิธีคือการให้คนงานมีโอกาสถือหุ้น เพื่อให้รู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของกิจการ เมื่อมีกลไกของตลาดก็ต้องแข่งขัน ไม่เฉพาะแต่แข่งขันกันเอง แต่ต้องแข่งขันกับบริษัทต่างประเทศด้วย จีนจึงต้องพัฒนาด้านเทคโนโลยีและปรับปรุงการบริหารให้ดีขึ้น ทุกๆอย่างต้องใช้เวลา ปัญหาเวลานี้ต่างจากสมัยก่อนที่สินค้าต่างๆขาดแคลนถึงกับต้องใช้คูปองปันส่วน ปัจจุบันผู้ผลิตต้องแย่งลูกค้ากัน


(น. 9) รูป 2 สนทนากับรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิง
Coversation with Deputy Prime Minister, Mr. Li Lanqing.

(น. 9) ไปถึงบ้านรับรองเตี้ยวอวี๋ไถ อาคารหลังที่ 10 อยู่ห้องเดิมที่เคยอยู่ สามารถต่อคอมพิวเตอร์ใช้อินเตอร์เนตได้ วันนี้ได้รับ email มาก เพราะใครๆ พากันอวยพรวันเกิดให้ข้าพเจ้า เวลา 18.30 น. ไปอาคารหลังที่ 2 (กำหนดเดิมเขียนไว้ว่าอาคารหลังที่ 18) รองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงและภริยาต้อนรับ ข้าพเจ้าได้พบท่านเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมปีที่แล้ว ขณะที่ท่านเตรียมมาร่วมกีฬาเอเชียนเกมส์ในเมืองไทย (น. 10) ข้าพเจ้ากล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้จะได้ไปเมืองเจิ้นเจียงตามที่ท่านแนะนำว่าเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านว่าได้ดูจากกำหนดการเดินทางของข้าพเจ้าแล้ว เห็นว่าข้าพเจ้าจะได้ไปที่บ้านเกิดของภริยาท่านด้วยคือ เมืองเซ่าซิง ท่านขอเล่าประวัติศาสตร์ย้อนถึงสมัยจั้นกั๋ว (Warring States– เลียดก๊ก ก่อน ค.ศ. 476 – ก่อน ค.ศ. 221) ในสมัยนี้จีนเป็นเอกภาพแต่ในนาม มีกษัตริย์ราชวงศ์โจวปกครองอยู่ก็จริง แต่เจ้านครต่างๆ ตั้งตัวเป็นอิสระ บ้านเกิดของท่านรองนายกรัฐมนตรีเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋ บ้านเกิดของภริยาเป็นเมืองในแคว้นเย่ว์ สองก๊กนี้รบกันดุเดือดมากที่สุด ไปดูบ้านเมืองเดี๋ยวนี้ก็ดูไม่ออกว่าเคยรบกันมาก เรื่องประวัติศาสตร์นี้สนุกดี ท่านกล่าวต่อไปว่าได้ทราบว่าวันนี้เป็นวันเกิดข้าพเจ้า รู้สึกปลาบปลื้มมากที่ได้จัดงานทั้งเป็นการต้อนรับและอวยพรวันเกิด ข้าพเจ้าว่าเป็นการฉลองวันเกิดในจีนครั้งแรก ท่านว่า รู้สึกดีใจและให้ศีลให้พร ให้มีความสุขสบายระหว่างอยู่ในประเทศจีน เป็นห่วงอยู่แต่ว่าอากาศเย็น ข้าพเจ้าว่าไม่เป็นไร เพราะเคยไปตงเป่ยหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือในหน้าหนาวมาแล้ว ท่านว่ามณฑลเจียงซูและมณฑลเจ้อเจียงสภาพภูมิศาสตร์ต่างจากตงเป่ย อากาศแค่เย็นพอควร ไม่ถึงขั้นหนาวมาก


(น. 11) รูป 3 งานเลี้ยงอาหารค่ำ
Dinner in my honour.

(น. 11) เมื่อไปนั่งโต๊ะรับประทานอาหาร ท่านห่วงว่าข้าพเจ้าใช้ตะเกียบเป็นหรือไม่ ข้าพเจ้าว่าคนทางตะวันออกใช้ตะเกียบเป็นทั้งนั้น ท่านว่ามีประวัติเล่ากันว่าเมื่อ 2 พันปีก่อน คนจีนไม่ได้ใช้ตะเกียบ ใช้แต่มีดซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามีดโต๊ะของฝรั่ง สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (ก่อน ค.ศ. 1122 – ก่อน ค.ศ. 770) มีงานพระราชทานเลี้ยง กษัตริย์เห็นว่ามีดเป็นของมีคมอาจเป็นอันตรายได้ จึงหั่นเนื้อเป็นชิ้นเล็กๆ (ลืมถามว่าแล้วคิดประดิษฐ์ตะเกียบใช้หรือไม่) ท่านเล่าต่อไปว่าท่านเคยไปเยี่ยมปันชันลามะนานมาแล้ว ตอนรับประทานอาหารก็ใช้มีดตัดแล้วใช้มือหยิบอาหาร คนทิเบต มองโกล อุยกูร์ ยังใช้มีดแบบนี้ ข้าพเจ้าถามว่าเขาใช้ส้อมจิ้มอาหารหรือเปล่า ท่านว่าใช้มือ ท่านบรรยายถึงสถานที่ที่ข้าพเจ้าจะไป ได้แก่ วัดจินซาน ในเมืองเจิ้นเจียง มีเจดีย์นางพญางูขาว และเล่าเรื่องย่อว่ามีนางพญางู

(น. 12) อายุหลายพันปี มีฤทธิ์สามารถแปลงกายเป็นสาวงามมาเป็นภรรยาของนักศึกษาผู้หนึ่ง คือ สวี่เซียน เจ้าอาวาสวัดจินซานชื่อ พระฝาไห่ ไม่เห็นด้วยว่า ปีศาจจะมาสมสู่อยู่กับมนุษย์ได้อย่างไร จึงพยายามกีดกัน นางพญางูเคยทำให้น้ำท่วมวัดจินซาน แสดงว่าวัดนี้เคยจมน้ำอยู่หนหนึ่ง ภายหลังนางพญางูขาวพ่ายแพ้ฤทธิ์ของพระฝาไห่ ถูกครอบไว้ในเจดีย์ถึง 19 ปี จนลูกชายมาช่วย จึงออกจากเจดีย์ได้ ข้าพเจ้าเคยอ่านเรื่องนี้ที่มีผู้แปลเป็นภาษาไทยพิมพ์รวมเล่มนิทานจีน แต่ลืมรายละเอียดไปแล้ว สมัยสามก๊กบ้านเกิดของท่านเคยเป็นเมืองหลวงของง่อก๊ก (หรืออู๋กั๋วของซุนกวน) มีอยู่คราวหนึ่ง ง่อก๊กพยายามรวมกับจ๊กก๊ก (หรือสู่กั๋วของเล่าปี่) เพื่อไปตีวุ่ยก๊ก (หรือเว่ยกั๋วของโจโฉ) โดยจะให้เจ้าหญิงง่อก๊กแต่งงานกับพระเจ้าเล่าปี่แห่งจ๊กก๊ก แต่การรวมก๊กก็ไม่สำเร็จ การแต่งงานแบบนี้ถือว่าเป็นการสมรสทางการเมือง งิ้วชอบแสดงเรื่องนี้ อีกตอนหนึ่งที่งิ้วชอบแสดงคือเรื่องจับโอรสเล่าปี่ แต่หนีไปได้ (เห็นจะเป็นตอนจูล่งมาช่วย) อีกวัดหนึ่งเป็นสถานที่ที่มีกวีมาเขียนกลอน เช่น ซูซื่อหรือซูตงปัว (ค.ศ. 1037? – ค.ศ. 1101) กวีเอกสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960 – ค.ศ. 1279) นอกจากนั้นในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 317 – ค.ศ. 589) ซึ่งเป็นช่วงแห่งการแตกแยกทางการเมืองเป็นราชวงศ์ทางเหนือและทางใต้ รวมทั้งมีราชวงศ์ปกครองสืบต่อกันทางเหนือ – ใต้หลายราชวงศ์นั้น ราชวงศ์เหลียง (ค.ศ. 502 – ค.ศ. 557) ซึ่งอยู่ทางใต้ ก็มีเจ้านายองค์หนึ่งไม่สนใจการเมือง ชอบแต่การแต่งบทกวี ได้มาแต่งไว้ ข้าพเจ้าจะได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ซึ่งเล่าประวัติของเมืองหลายยุคหลายสมัย

(น. 13) ท่านเล่าถึงเมืองหยังโจว ว่าเป็นบ้านเกิดของเจิ้งป่านเฉียว (ค.ศ. 1693 – ค.ศ. 1765) จิตรกรและนักเขียนตัวหนังสือหรือลายมือที่มีชื่อเสียงในราชวงศ์ชิง เขียนตัวหนังสือสวยมาก เหตุที่ลายมือของเขางามเป็นพิเศษ ก็เพราะว่าเขาได้ศึกษาค้นคว้าลายมือของคนสมัยก่อน แล้วได้มาหัดเขียนลายมือโดยคิดแบบของตนเอง เขายังมีความสามารถพิเศษในการเขียนภาพไม้ไผ่ด้วย ข้าพเจ้าถามถึงเมืองเซ่าซิง ภริยาของท่านรองนายกรัฐมนตรีเล่าว่าเป็นบ้านเกิดบุคคลสำคัญ เช่น นางชิวจิ่น วีรสตรีที่ได้เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยของท่านซุนยัดเซ็น ท่านหลู่ซวิ่น นักประพันธ์มีชื่อ (ซึ่งข้าพเจ้าเคยเขียนประวัติของท่านอย่างละเอียดแล้วในหนังสือ เย็นสบายชายน้ำ) สุสานของกษัตริย์ต้าอวี่ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ก็อยู่ที่เซ่าซิง พระราชบิดาของกษัตริย์ใช้วิธีปิดกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้ามา แต่กษัตริย์พระองค์นี้ใช้วิธีระบายน้ำออก สตรีมีชื่อของเมืองนี้ คือ นางชิวจิ่น วีรสตรีผู้ห้าวหาญ นางเฉาเอ๋อ หญิงยอดกตัญญู นางไซซี หญิงผู้มีความงามเลอลบ มีบทกวีของซูซื่อหรือซูตงปัวชมทะเลสาบซีหูในเมืองหังโจวว่างามเหมือนนางไซซี ดังพรรณนาที่ว่า จะเปรียบซีหูกับซีจื่อ (นางไซซี) แต่งเข้มแต่งอ่อนก็งามงด ทะเลสาบซีหูงามเสมอไม่ว่าจะอยู่ในสภาพอากาศเช่นใด ที่หยังโจวมีทะเลสาบสวยเหมือนที่เมืองหังโจว แต่แคบและเล็กกว่า จึงเรียกว่า โซ่วซีหู (โซ่ว แปลว่า ผอม) คนมักนิยมล่องเรือลอดสะพานที่ทะเลสาบนี้ (ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะแปลคำ โซ่วซีหู

(น. 14) เป็น ซีหูแคบ ดูจะเข้าทีกว่าซีหูผอม ซี แปลว่า ตะวันตก หู แปลว่า ทะเลสาบ ทะเลสาบสวยของหังโจวและหยังโจวต่างอยู่ทางตะวันตกของเมือง จึงเรียกว่า ซีหู) ข้าพเจ้าถามถึงซูโจว หังโจว ภริยาท่านรองนายกรัฐมนตรีเอ่ยเอื้อนคำกล่าวว่าภาษาจีนที่รู้จักกันดีว่า “ซั่งโหย่วเทียนถัง เซี่ยโหย่วซูหัง” ตรงกับความในภาษาไทยว่า “บนฟ้ามีสวรรค์ บนแผ่นดินมีซูโจวและหังโจว” เรียกเมืองซูโจวและหังโจวรวมๆ กันว่า ซูหัง คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า เมืองซูโจวและหังโจวเป็นเมืองที่สวยงามน่ายลยิ่ง ท่านกล่าวต่อไปว่า เมืองซูโจวมีเอกลักษณ์คือ เป็นเมืองโบราณที่คงสภาพเดิมไว้ ที่มีชื่อเสียงคือ เรื่องสวนและคฤหาสน์ สมัยก่อนขุนนางที่เกษียณอายุชอบไปสร้างสวนเล็กบ้างใหญ่บ้าง ความจริงแล้วสามารถจัดทัศนียภาพสวนให้สวยงามได้โดยไม่ต้องใหญ่โต สวนที่มีชื่อคือ สวนจัวเจิ้ง ซึ่งขุนนางใหญ่ผู้สร้างต้องการสวนนอกเมือง เพื่ออยู่อย่างสงบ ห่างไกลจากวงราชการและการเมืองที่ตนเองได้รับพิษภัยมา สิ่งที่มีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งคือ การดีดพิณเล่านิทาน แต่เขาเล่าภาษาท้องถิ่น คนมาจากทางเหนือฟังไม่เข้าใจ ท่านเล่าต่อถึงเรื่องงิ้วของเมืองเซ่าซิงว่าคนท้องถิ่นชอบมากกว่างิ้วปักกิ่ง ซึ่งเป็นของประจำชาติ งิ้วทางใต้นี้เรียกว่า เย่ว์จวี้ มีความงามหลายด้านคือ นักแสดงหน้าตาสวยงาม รูปร่างดี ขับร้องไพเราะ ร่ายรำงดงาม เสื้อผ้างาม

(น. 15) พอดีเขายกชามเส้นหมี่เข้ามา ท่านรองนายกรัฐมนตรีอธิบายว่าในวันเกิดต้องรับประทานเส้นหมี่ เพราะเส้นหมี่ยาว จะได้อายุยืน ข้าพเจ้าเล่าว่าอยากไปดูนิคมอุตสาหกรรม ได้ข่าวว่ามีทั้งที่ซูโจวทำเองและที่ร่วมมือกับสิงคโปร์ ท่านเล่าว่าทั้ง 2 แห่งพัฒนาไปได้ดีมาก มีเอกลักษณ์ของตนเอง ท่านรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ร่วมเซ็นสัญญากับรองนายกรัฐมนตรีหลีเสี่ยนหลงของสิงคโปร์ ข้าพเจ้าจึงเล่าว่าเมื่อคืนวานนี้ข้าพเจ้าเลี้ยงอาหารค่ำท่านรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และภริยา ซึ่งมาเยือนเมืองไทย เพราะเมื่อ 2 เดือนก่อนข้าพเจ้าไปสิงคโปร์โดยมาดามเหอชิง ภริยาท่านรองนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพให้ไปดูงานการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในงานต่างๆ ท่านหลี่หลานชิงว่า การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งสองตอนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งแพงและกินเนื้อที่มากนั้นต่างกับตอนที่ก่อสร้างนิคม ตอนนี้ท่านพยายามปรับปรุง โดยถือว่านิยมตั้งอยู่ใกล้เมือง ไม่ต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมากนักก็ได้ (ใช้ของเมืองได้หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ) ท่านรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงเล่าว่าเคยไปเชียงใหม่และขึ้นภูพิงค์ บรรยากาศสวยงามมาก ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้าเองก็เห็นว่าเป็นพระตำหนักที่งามมาก มีชื่อเสียงในเรื่องสวนกุหลาบ แต่ตัวข้าพเจ้าเองไม่ค่อยได้ไปอยู่เพราะลำบากในการลงเขาขึ้นเขา ข้าพเจ้าจึงอยู่ที่สำนักงานชลประทานในเมือง ท่านรองนายกรัฐมนตรีเล่าว่าไปประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1980 ขณะนั้นจีนเริ่มเข้าสู่ระบบธนาคารระหว่างประเทศ (ขณะนี้ท่านดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการควบคุมการส่งออกนำเข้า และ

(น. 16)งานด้านเศรษฐกิจอื่นๆด้วย เช่น อธิบดีกรมเงินทุนต่างประเทศ) จีนยังไม่มีความชำนาญ ฝ่ายไทยได้แนะนำให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และพาไปดูการทำงานของธนาคารพาณิชย์ รัฐบาลไทยจัดเจ้าหน้าที่มาประจำคนหนึ่ง ไปไหนด้วยกันจนสนิทสนม เจ้าหน้าที่ผู้นั้นขอให้ท่านช่วยตามหาพี่ชายซึ่งอยู่ที่ฝูเจี้ยน (มณฑลฮกเกี้ยน) ท่านก็ได้ตามให้จนพบ (เพราระบบสำมะโนครัวของจีนดี เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงไปสืบได้ความ) เป็นเรื่องน่าประทับใจว่าจีนกับไทยนอกจากจะเป็นมิตรกันแล้วยังเป็นญาติกันอีกด้วย คุณอู่จากกระทรวงการต่างประเทศบอกว่าเป็นเพื่อนนักเรียนกับครูหวังจวินเซียง (ที่เคยสอนภาษาจีนข้าพเจ้าและเมื่อ พ.ศ. 2539 ไปล่องแม่น้ำฉังเจียงหรือแยงซีเกียงมาด้วยกัน ขณะนี้ติดตามสามีซึ่งเป็นทูตจีนอยู่ที่ไนเจอร์) ข้าพเจ้ากล่าวว่ายังติดต่อกับคุณครูทาง email แต่ก็ไม่สามารถจะคุยอะไรได้มาก เพราะว่าข้าพเจ้าพิมพ์ภาษาจีนไม่คล่อง ท่านรองนายกรัฐมนตรีบอกว่าสมัยนี้ไม่ต้องพิมพ์ก็ได้ พูดใส่คอมพิวเตอร์มันก็พิมพ์ออกมาเอง ข้าพเจ้าบอกว่าเคยลองแล้ว มันไม่พิมพ์ ข้าพเจ้าคงจะออกเสียงภาษาจีนไม่ชัดเจน ท่านบอกว่าจำเป็นต้องฝึกคอมพิวเตอร์ให้ชินกับเสียงของเรา คอมพิวเตอร์ของท่านภริยาท่านก็เคยใช้ไม่ได้ เสียงเพลง Happy Birthday ดังขึ้นเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน มีเค้กวันเกิดและแชมเปญ ข้าพเจ้านึกขึ้นมาได้ว่าน่าจะตามโทรทัศน์มาถ่าย พอดีไม่ได้บอกกันไว้ล่วงหน้าเลยไม่ได้มา ต้องรอครู่หนึ่ง ต้องไปจุดเทียนใหม่ มาดามบอกว่าที่เตี้ยวอวี๋ไถนี้เขาทำเค้กได้ดีไม่หวานเกินไป


(น. 17) รูป 4 เค้กจีน
Blowing birthday cake after dinner.

(น. 17) ท่านรองนายกรัฐมนตรีพูดถึงเรื่องการแก้ไขมลภาวะในน้ำที่ทะเลสาบเตียนฉือในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน และการแก้ไขสภาพอากาศเป็นพิษโดยใช้รถไฟฟ้า รถยนต์ก็ให้ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว แก้ไขระบบท่อไอเสีย พูดกันถึงเรื่องการจัดกีฬาโอลิมปิกว่าจะพยายามจัดใน ค.ศ. 2008 หวังว่าไทยจะสนับสนุน เมื่อเลี้ยงเสร็จกลับมาที่อาคาร 10 ข้าพเจ้าวิ่งอยู่ในห้องประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วจึงลงมือเขียนหนังสือ อ่าน China Daily มีเรื่องการเตรียมกฎหมาย Basic Law ที่จะใช้ในมาเก๊าให้ทันในวันที่ 20 ธันวาคมปีนี้ นอกจากนั้นมีเรื่องความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา มีการ


(น. 18) รูป 5 งานเลี้ยงวันเกิดที่รองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงและภริยาจัดให้
Birthday celebreation hosted by Deputy Prime Minister and his wife.

(น. 18) ร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง การส่งออกหมูและวิทยาศาสตร์ระดับสูงอื่นๆ ยังเตรียมการร่วมมือด้านการป้องกันภัยธรรมชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข และการประหยัดพลังงาน เป็นต้น หลังจากงานฉลองฮ่องกงคืนสู่จีนแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้เดินทางมาประเทศจีนอีกเลย ครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้พบเพื่อนชาวจีน และไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆที่ไม่เคยไป