Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันอังคารที่ 6 เมษายน 2542 "


(น. 103) รูป 83 นั่งเก้าอี้ของท่านเติ้งอิ่งเชา
Sitting on Madam Deng Yingchao's chair.


(น. 104) รูป 84 นั่งแสดงท่าเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์เพราะเทียบกับรูปที่ติดไว้
Posing as a Communist leader to imitate their picture above the fireplace.

(น. 104) ดูในตู้หนังสือ มีหนังสือจีนต่างๆ มีหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่งคือ Palgrave’s Dictionary of Political Economy หลายเล่มจบ ด้านซ้ายของห้องเป็นห้องรับแขก มีโซฟา วิทยุ (เขาให้ข้าพเจ้านั่งบนโซฟาและถ่ายรูปให้ดูเหมือนกับรูปที่พวกของบ้านโจวเอินไหลถ่าย และติดไว้เหนือเตาผิง) อีกด้านเป็นห้องกินข้าว มีช่องส่งของออกมาได้จากครัว หลังบ้านเป็นลาน ทางซ้ายขวาเป็นห้อง ข้างขวาใช้เป็นโรงรถ มีรถ Buick จอดอยู่ ว่ายังแล่นได้ ทางซ้ายเป็นห้องของเลขานุการของท่านโจวเอินไหล และเลขานุการของต่งปี้อู่

(น. 105) บ้านเลขที่ 35 เป็นห้องทำงานของโฆษกคณะผู้แทน ซึ่งมีหน้าที่โฆษณาพรรคด้วย มีห้องต่งปี้อู่ เป็นห้องนอนเล็กๆ มี 2 เตียง อยู่กัน 5 คน ตอนนั้นท่านต่งอายุ 61 ปีแล้ว ห้องมีขนาด 8 ตารางเมตรเท่านั้น ผ้าห่มที่จัดแสดงได้ก็ขาดๆ ปะๆ เพราะใช้งานนานถึง 20 ปี หน้าลานมีต้นไห่ถัง ออกดอกเต็ม ที่นี่เขามีระบบการปกปักรักษาต้นไม้อยู่อย่างหนึ่ง กล่าวคือ ต้นไม้ที่สำคัญเขาจะลงทะเบียนไว้ แต่จะมีวิธีการหรือเครือข่ายอย่างไรไม่ได้ถาม เขาจะมีคำอธิบายชนิดของต้นไม้ ชื่อวิทยาศาสตร์ ความสำคัญพิเศษของต้นไม้ และคำอธิบายอีกหลายอย่างผูกป้ายเอาไว้ อีกอย่างหนึ่งคือ เห็นต้นไห่ถังแล้วทำให้ข้าพเจ้านึกถึงบทกวีของหลี่ชิงเจ้า กวีหญิงผู้มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้ศึกษากวีนิพนธ์ของท่านหลายบท มีบทหนึ่งพรรณนาว่า
เมื่อคืนวานฝนตกหยิมๆ ลมกรรโชก
หลับสนิท เมาค้างไม่สร่าง
ลองถามคนม้วนมู่ลี่
กลับตอบว่า ไห่ถังยังเหมือนเดิม
รู้หรือไม่ รู้หรือไม่
ควรจะเป็นว่า เขียวอ้วน แดงผอม


(น. 105) รูป 85 ต้นไห่ถัง
Haitang tree.

(น. 106) หลี่ชิงเจ้า (ค.ศ. 1084 – ค.ศ.1155?) เป็นบุตรีของขุนนางผู้ใหญ่ ในวัยเยาว์ได้เรียนหนังสือ จนมีความรู้แตกฉานในด้านภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์ มีอัจฉริยภาพในการแต่งบทกวี ฝีมือประพันธ์ดีเยี่ยม เมื่ออายุ 18 ปีแต่งงานกับเจ้าหมิงเฉิง ผู้ซึ่งเป็นบุตรของอัครมหาเสนาบดี เป็นคู่สมรสที่เหมาะเจาะ มีรสนิยมตรงกันทั้งในด้านบทกวี ศิลปะ และวิชาการ ต่อมาหลี่ชิงเจ้าและสามีต้องอพยพจากภาคเหนือลงมาอยู่ทางภาคใต้ เพราะว่าราชวงศ์ซ่งเสียดินแดนแก่ชนเผ่าหนี่ว์เจินแห่งราชวงศ์จิน (พวกกิมก๊ก) จนใน ค.ศ. 1127 ต้องมาตั้งมั่นอยู่ทางใต้ ตั้งเมืองหลวงที่หังโจว เป็นราชวงศ์ซ่งใต้ (หนานซ่ง ค.ศ. 1127 – ค.ศ. 1279) สามีของหลี่ชิงเจ้าถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1129 เมื่อสามีจากไปแล้ว ชีวิตของหลี่ชิงเจ้าก็ผกผัน ฐานะตกต่ำลง อยู่อย่างลำบาก เงียบเหงา เดียวดาย บทกวีของหลี่ชิงเจ้านั้น ในช่วงแรกชีวิตมีสุข รำพันถึงความรัก ความรื่นรมย์ ชีวิตในช่วงหลังมีความทุกข์ พรรณนาถึงความเศร้า ความเดียวดาย และชะตากรรมของยุคสมัย


(น. 106) รูป 86 ดอกไห่ถัง
Haitang in full bloom.

(น. 107) บทกวีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นพรรณนาถึงความเศร้ารันทดไว้อย่างแนบเนียนซับซ้อน ให้ผู้อ่านจิตนาการเองจากรสคำที่สั้น กระชับ เป็นคำคู่ที่ตัดกันในบาทเดียวกันและสื่อความลึกซึ้ง เช่น ฝนหยิมๆ ลมกรรโชก หลับสนิท-เมาค้าง เขียวอ้วน-แดงผอม บทกวีนี้สื่อถึงความเศร้ารันทด ความคิดคำนึงถึง การพรากจากกัน โดยสื่อจากภาพฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจากไป เทคนิคการแต่งนั้นเริ่มสองบาทแรกอย่างเรียบๆ ต่อด้วยคำถามที่ไม่ได้เผยออกมา ซ่อนเอาไว้ แต่คำตอบบอกให้รู้ว่าคนถามถามอย่าง กังวล แต่คนใช้ตอบอย่างจืดชืด ไม่สนใจ ตอบไปอีกทางหนึ่ง จนคนถามต้องบอกว่า รู้หรือไม่ รู้หรือไม่ ควรจะเป็นว่า เขียวอ้วน แดงผอม บาทสุดท้ายเป็นจุดสุดยอดของบทกวีนี้ ลวี่เฝย หงโซ่ว หรือ เขียวอ้วน แดงผอม เป็นวลีที่ผู้อ่านติดใจท่องติดปาก บทกวีให้ภาพฝนตก ลมกรรโชก ทำให้ดอกไห่ถังสีแดงร่วงหล่นไปมาก (แดงผอม) เหลือแต่ใบงามเขียวขจี (เขียวอ้วน) ดอกไห่ถังร่วงหล่นโรยรา ฤดูใบไม้ผลิที่งดงามกำลังหมดไป เหมือนชีวิตของกวี เห็นต้นไห่ถัง ณ ลานบ้านเลขที่ 35 แล้ว ข้าพเจ้านึกถึงบทกวีของหลี่ชิงเจ้า เลยออกนอกเรื่องไปอยู่ที่บทกวี ข้าพเจ้าเรียนร้อยกรองบทนี้มานานแล้ว แต่เพิ่งได้เห็นดอกจริงๆ ตอนนี้เอง ถึงอย่างนั้นยังสงสัยว่าต้นไห่ถังตามบทกวีน่าจะเป็นไม้ล้มลุกต้นเล็กๆ


(น. 108) รูป 87 สัตว์ดึกดำบรรพ์ในตำนานสมัยราชวงศ์เหลียง
Statue of animal in Chinese legends, Liang Dynasty.

(น. 108) จากนั้นไปพิพิธภัณฑ์นานกิง หรือ พิพิธภัณฑ์มณฑลเจียงซู อาคารพิพิธภัณฑ์สร้างแบบจีนมุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีเหลือง เก็บสิ่งของที่พบในเจียงซู สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1933 ห้องโถงข้างหน้ามีสัตว์ในตำนานตั้งอยู่ กล่าวกันว่าเป็นสัตว์สิริมงคลชนิดหนึ่ง สร้างในสมัยราชวงศ์เหลียง (ค.ศ. 502 – ค.ศ. 557) ตามทางเดินมีรูปคนที่ได้มาจากสุสานต่างๆ แสดงให้เห็นหน้าตาของคนสมัยนั้นๆ ได้ดูห้องที่จัดแสดงไว้ดังนี้

(น. 109) ห้องหยก แสดงหยกโบราณจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ใส่ตู้ตั้งเรียงรายไปแบบเดิม มีคำอธิบายดีพอประมาณ ผู้อำนวยการอธิบายไปพลางออกตัวไปพลางว่า พิพิธภัณฑ์นี้ไม่ดีเท่าไร เพราะว่าสร้างมานานแล้ว อาคารใหม่เสร็จจะจัดแสดงได้ดีกว่านี้ ของเขาดีๆ ทั้งนั้น มีชุดหยกที่ใช้บรรจุศพ สมัยก่อนเชื่อกันว่าจะทำให้ศพไม่เน่า (แต่ก็ไม่เป็นจริงเพราะศพที่ขุดได้ก็เน่าทั้งนั้น) ด้ายที่ร้อยแผ่นหยก แบ่งออกเป็นหลายชั้น ถ้าเป็นของจักรพรรดิจะเป็นทอง ของเจ้านายชั้นสูงเป็นเงิน ทองแดงและไหม ลดหลั่นกันไป เสื้อที่จัดแสดงอยู่นี้ร้อยด้วยเงิน พบสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25 - ค.ศ. 220)


(น. 109) รูป 88 ชุดหยกใส่ศพ
Jade funeral suit.


(น. 110) รูป 89 หุ่นสำริด แสดงจุดที่ให้นักเรียนหัดฝังเข็ม
Bronze model with marks to indicate important spots on the human body for students to practise acupuncture.

(น. 110) หยกรูปกลมเรียกว่า ปี้ เป็นสัญลักษณ์ของท้องฟ้า หยกรูปเหลี่ยมหมายถึงดิน ใช้ในการบวงสรวง มีสายรัดเอวหยก และเครื่องหยกต่างๆ ที่ใช้ในราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644 – ค.ศ. 1911) เครื่องสำริด เครื่องสำริดตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง มีตะเกียงสำริด เครื่องเผากำยาน และเครื่องสำริดทรงต่างๆ โดยมากใช้ในพิธีกรรม หุ่นสำริดแสดงจุดต่างๆ ขอร่างกาย ตัวโตเท่าคนจริงหรืออาจจะโตกว่าเสียด้วยซ้ำ สำหรับให้นักเรียนฝึกฝังเข็มลงไปในตัวหุ่นซึ่งมีขี้ผึ้ง ถ้าจิ้มถูกที่ ขี้ผึ้งจะไหลออกมา หุ่นชนิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง หุ่นที่มีในพิพิธภัณฑ์นี้เป็นของราชวงศ์หมิง ทางพิพิธภัณฑ์จำลองหุ่นนี้ให้นักศึกษาที่เรียนวิชาแพทย์แผนโบราณได้ฝึก

(น. 111) เครื่องเขิน เดิมลงรักไปบนเครื่องปั้นดินเผาสมัยเมื่อ 5,000 – 6,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมาจึงใช้โครงไม้แล้วลงรัก ในตู้นี้เขาเก็บเครื่องลงรักทั้งสีดำและสีแดงของทุกสมัย เครื่องลงรักแบบหยังโจว คือลงรักสีแดงให้หนาแล้วแกะลายของบางชิ้นก็ฝังมุก มีทองแดงลงรักปิดทองก็มี หรูอี้ลงรักแดงแกะลายสมัยจักรพรรดิเสียนเฟิง (ค.ศ. 1851 – ค.ศ. 1861) แห่งราชวงศ์ชิง ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหรูอี้แบบนี้ เคยเห็นแต่ที่เป็นหยก นอกจากนั้นมีกล่องใส่อาหารลงรักแดงบนพื้นดำ แกะลายเป็นทิวทัศน์และเขียนตัวหนังสือ ยางรักส่วนใหญ่มาจากมณฑลยูนนาน เครื่องปั้นดินเผา มีศิลาดล มีประวัติว่าพวกเย่ว์เป็นผู้ทำตั้งแต่สมัยหินใหม่ พวกเย่ว์นี้อยู่ทางใต้ของแม่น้ำแยงซีในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จากนั้นมีมาเรื่อยจนถึงราชวงศ์ชิง เครื่องลายคราม เริ่มมีมาตั้งแต่ราชวงศ์ถัง ที่จริงแล้วได้เศษมาชิ้นเดียว แต่ว่าพบในชั้นดินสมัยถัง ไม่ทราบว่าในวิชาโบราณคดีสันนิษฐานแบบนี้จะพอหรือไม่ นอกนั้นเป็นสมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง มีข้าวของที่ประสมทั้งลายคราม ทั้งเขียนสีก็มี


(น. 111) รูป 90 เครื่องเขิน
Lacquerwares.

Next >>