Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2542 "


รูป 166 รูปปั้นในสวน
Sculptures in the garden.


(น. 228) รูป 167 ขึ้นเขา
Climbing up the hill.

แต่โบราณภูเขานี้มีแม่น้ำไหลอยู่ทั้งสองด้าน ทางขึ้นมีเจดีย์ซึ่งเริ่มสร้างสมัยราชวงศ์ถัง และสร้างเป็นเหล็กในสมัยราชวงศ์ซ่งเมื่อ ค.ศ. 1078 สมัยนั้นไม่รู้จักการทำสายล่อฟ้า จึงถูกฟ้าผ่าพังลงมา สมัยราชวงศ์หมิงบูรณะขึ้นไปก็ถูกฟ้าผ่าอีก ที่เห็นในปัจจุบันฐานล่างเป็นสมัยราชวงศ์ซ่ง ชั้นบนเป็นของราชวงศ์หมิง แสดงความสามารถของคนสมัยก่อนในการหลอมเหล็ก ใน ค.ศ. 1960 ขุดพบสิ่งของต่างๆ มากมายในเจดีย์ รวมทั้งกล่องใส่ขวดพระธาตุที่เห็นที่พิพิธภัณฑ์

(น. 229) ทางขึ้นวัดกานลู่ ทำเป็นทางเดินมีหลังคาคลุม ในหนังสือเรื่องสามก๊กกล่าวถึงระเบียงทางขึ้นนี้ด้วย แต่ที่เห็นอยู่นี้เป็นของทำขึ้นใหม่ ตรงทางขึ้นใกล้ถึงวัด มีจารึกศิลาเขียนว่า เทียนเซี่ยตี้อีเจียงซาน แปลว่า ทิวทัศน์เป็นที่หนึ่งแห่งแผ่นดิน จักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ (ค.ศ. 502 – 519) เคยพูดถึงเขาเป่ยกู้ซานว่าเพิ่มความสง่างามให้แก่เมืองเจิ้นเจียง ลายมือตัวหนังสือที่เขียนบนแผ่นหินนั้นเขียนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ฝีมืออู๋จวี แต่มาจารึกบนหินสมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง ขึ้นไปข้างบนมองเห็นวิวเมืองเจิ้นเจียงได้ดี เห็นอู่ต่อเรืออยู่ข้างๆ


(น. 229) รูป 168 ทางขึ้นวัดกานลู่
On the way up to Ganlu Temple.

(น. 230) ไปถึงวัดกานลู่ ไม่มีหอจตุโลกบาลแบบวัดอื่นที่เห็น มีวิหารไม่ใหญ่นัก มีพระพุทธรูป 3 องค์ พระพุทธรูปจริงถูกทำลายไปนานแล้ว มีรูปหุ่นเป็นเรื่องในสามก๊กเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หุ่นเล่าเรื่องเล่าปี่แต่งงานกับน้องสาวของซุนกวน มีรูปเล่าปี่หารือกับขงเบ้ง แม่ของซุนกวนออกมาดูตัวเล่าปี่ เดิมที่วางแผนเรื่องการแต่งงานนั้น แม่ไม่รู้เรื่องเลยเนื่องจากเป็นกลอุบายของจิวยี่ที่จะลวงเล่าปี่มาขังเป็นตัวประกัน ไม่ได้จะให้น้องสาวไปจริง แม่จึงโกรธซุนกวน และพ่อสื่อซึ่งเป็นญาติของซุนกวน เมื่อนัดมาดูตัวกันที่วัดกำลอหรือกานลู่ ดูลักษณะก็รู้ว่าเป็นผู้มีบุญคือ หูยาว แขนยาว จึงยอมให้แต่งงาน และคอยพิทักษ์รักษาไม่ให้เล่าปี่เป็นอันตราย แม่ซุนกวนรู้เรื่องแต่งงานนี้ก็ด้วยกลอุบายของขงเบ้งที่บอกแก่จูล่งไว้


(น. 230) รูป 169 หุ่นเรื่องสามก๊ก ตอนเล่าปี่แต่งงานกับน้องสาวซุนกวน
Models of an episode from the Romance of the Three Kingdoms : the marriage between Liu Bei and Liu Bei and Sun Quan's sister.


(น. 231) รูป 170 หุ่นเรื่องสามก๊ก ตอนเล่าปี่แต่งงานกับน้องสาวซุนกวน
Models of an episode from the Romance of the Three Kingdoms : the marriage between Liu Bei and Liu Bei and Sun Quan's sister.

(น. 231) หุ่นพวกนี้มีลักษณะเหมือนหุ่นที่ไป๋ตี้เฉิง เมืองวั่นเซี่ยน มณฑลเสฉวน (ที่ข้าพเจ้าล่าไว้ในหนังสือเย็นสบายชายน้ำ) เรื่องโดยละเอียดของตอนนี้อยู่ในตอนที่ 45 ของสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)


(น. 232) รูป 171 ทิวทัศน์จากระเบียงหอเทียนเซี่ยตี้อีโหลว
View from Tian Xia Di Yi Lou Tower.

(น. 232) ไปที่หอเทียนเซี่ยตี้อีโหลว เป็นหอชมทิวทัศน์ เดิมมักมีกวีและนักปราชญ์มาชุมนุมกันมาก เพราะเห็นทิวทัศน์แม่น้ำแยงซีและภูเขาได้โดยรอบ วันนี้หมอกลงเลยไม่เห็น ถ้าอากาศโปร่งดีจะเห็นเขาจินซานทางทิศตะวันตก เจียวซานทางทิศตะวันออก ทางเหนือเป็นแม่น้ำใหญ่ เดี๋ยวนี้ตื้นเขิน เป็นสันทรายโดยมาก หอนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ ที่เห็นนี่สร้างขึ้นใหม่ และกำลังจะรื้อสร้างใหม่ขยายให้ใหญ่โตเพื่อรับนักท่องเที่ยว หอนี้เป็นหนึ่งในสามของหอที่มีชื่อเสียงสมัยราชวงศ์ซ่ง เดี๋ยวนี้ใช้เป็นร้านน้ำชาและขายของนักท่องเที่ยว

(น. 233) ลงจากหอไปที่ศาลาจี้เจียงถิง เป็นศาลาที่น้องสาวซุนกวนขณะนั้นอยู่เมืองกังตั๋ง สร้างเป็นที่ระลึกถึงเล่าปี่เมื่อได้ข่าวลือว่าตายในที่รบ ก่อนที่นางจะกระโดดน้ำตายตามไปด้วย ในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 65 กล่าวไว้ว่า ฝ่ายนางซุนฮูหยินอยู่ในเมืองกังตั๋ง ได้ยินเขาลือว่าพระเจ้าเล่าปี่แตกแล้วทหารล้มตายเป็นอันมาก ตัวก็ตายอยู่ในที่รบ ก็สงสารร้องไห้รักพระเจ้าเล่าปี่ผู้ผัวแล้วคิดว่าเกิดมาเป็นหญิงจะให้มีชายต้องถึงสองคนก็ไม่ควรนัก บัดนี้ผัวเราก็ตายแล้ว จะอยู่ไปก็เรื่องเป็นราคีอายแก่คนทั้งปวง คิดแล้วก็ขึ้นรถขับไปที่ริมฝั่งแม่น้ำโจนลงแม่น้ำตาย คนทั้งปวงก็สรรเสริญนางซุนฮูหยินเป็นอันมาก ที่จริงตอนนั้นเล่าปี่ยังไม่ตาย ไปเจ็บตายภายหลังที่เมืองเป๊กเต้หรือไป๋ตี้เฉิง ดูเสร็จแล้วกลับโรงแรม รับประทานอาหารกลางวัน แล้วเดินทางไปซูโจว ขึ้นทางด่วนซึ่งเพิ่งสร้างใหม่เรียบดี มีป้ายบอกจำกัดความเร็วรถเก๋ง 120 รถบัส 110 รถบรรทุก 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีป้ายบอกให้ขับทิ้งระยะกัน 200 เมตร มีป้ายเทียบระยะให้ดูด้วย ผ่านเมืองฉังโจว ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม รถแล่นไปทางเดียวกับถนนไปเซี่ยงไฮ้ ระหว่างทางเจอรถขนหมูที่ส่งหมูไปขายเซี่ยงไฮ้ถึง 5 คัน บ้านเรือนชาวบ้านแถวนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมพิเศษ หลังคาเหมือนกับมีช่อฟ้า ผ่านอู๋ซี ถึงซูโจวแล้วไปที่สวนอุตสาหกรรมซูโจว (Suzhou Industrial Park SIP)

(น. 234) เมื่อเข้าเขตเห็นเป็นที่โล่ง มีตึกสูงอยู่บ้าง มีสวน มีร้านค้า ตึกที่อยู่อาศัย ถนนภายในโครงการกว้างมากมี 6 ช่อง มีทางจักรยาน ทางคนเดิน และปลูกต้นไม้ตลอดแนว รถแล่นไปถึงอาคารที่ทำการ อยู่ข้างโรแรมใหญ่ เป็นเรือนแบบจีน เข้าไปห้องรับแขก มีจอโปรเจ็กเตอร์ เครื่องฉายแผ่นใส เมื่อแนะนำรองประธานโครงการและรองประธานบริหารแล้ว รองนายกเทศมนตรีกล่าวต้อนรับ และบอกว่าจะฉายวีดีโอเทปแนะนำโครงการก่อน ส่วนเรื่องเมืองซูโจวนั้น คืนนี้นายกเทศมนตรีจะบรรยายเอง วีดีโอเทปเริ่มเล่าว่าเมืองซูโจวนี้มีประวัติมายาวนาน 2,500 ปี และกำลังจะก้าวไปข้างหน้าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาให้ทันสมัยในทุกด้าน SIP จะช่วยทำให้อนาคตของเมืองซูโจวสดใส โครงการนี้เป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างประเทศ เริ่มต้นที่นี่ก่อนแล้วจะขยายไปทั่วประเทศ ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินกล่าวว่า โครงการนี้จะทำให้จีนได้รวบรวมข้อมูลทางเทคนิคและสร้างผลประโยชน์ให้ผู้ลงทุนทั้งสองฝ่าย แล้วพัฒนาให้กว้างไกลออกไป SIP แบ่งเป็น 3 เขต แต่ละเขตมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ขณะนี้เขตที่ 1 เริ่มก่อสร้างไปแล้ว รวมเนื้อที่ทุกเขตเกือบ 70 ตารางกิโลเมตร คาดว่าจะมีประชากรเข้ามาอยู่ที่นี่รวม 600,000 คนตามที่วางแผนไว้ แต่ละเขตจะมีพื้นที่ใช้สอยทางเศรษฐกิจและสังคมครบถ้วน กล่าวคือ จะมีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ธนาคาร สนามกีฬา เครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งมีโครงการ

(น. 235) ช่วยคนชราที่รับบำนาญ ส่วนการคมนาคมจะมีทั้งสนามบิน รถไฟ เมืองท่า ถนน แม่น้ำลำคลอง เขตศุลกากร ในด้านระบบสาธารณูปโภค มีน้ำประปา โรงกำเนิดไฟฟ้าพลังไอน้ำ ระบบกำจัดของเสีย น้ำเสีย การระบายน้ำ ก๊าซ ระบบโทรคมนาคมสื่อสารที่ทันสมัย ถนนทางด่วนไปเซี่ยงไฮ้ การจัดจราจร เคเบิลทีวี ขณะนี้มีผู้มาลงทุนแล้ว 500 โรงงาน เป็นพวกโรงงานไฮเทคอิเล็กทรอนิกส์ มีบริษัทต่างประเทศ เช่น AMD, Lilly, Hitachi, Sumitomo, NOKIA ฯลฯ มาลงทุน บริษัทแห่งชาติของจีนหลายบริษัทก็มาลงทุนที่นี่ด้วย SIP เป็นตัวอย่างใหม่ของชุมชนการค้าแบบสังคมนิยม (Socialist Commercial Community) จะทำให้เป็นระบบเมืองใหญ่ที่มีแบบแผนเป็นเอกลักษณ์ของตะวันออก ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองที่มีความเขียวขจี (สิ่งแวดล้อมดี) ที่นี่มีเจ้าหน้าที่และคนงานที่เลือกมาจากหลายแห่งในประเทศ แล้วส่งไปฝึกที่สิงคโปร์ ขณะนี้ไปกันประมาณ 600 กว่าคน ไปอยู่ราว 2 – 3 สัปดาห์ (ในวีดีโอเห็นรองนายกรัฐมนตรีหลีเสี่ยนหลงของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการร่วมกับท่านหลี่หลานชิงของจีน) บริษัทก่อสร้าง SIP มีทั้งของจีนและของสิงคโปร์ ในด้านการลงทุน สิงคโปร์ลงทุน 65% จีนลงทุน 35% การบริหารจัดการทำเป็นรูปบริษัท ติดต่อได้รวดเร็ว อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน ถือแนวคิดเปิดสู่โลกภายนอกตามยุคโลกาภิวัตน์ รองประธานบริหาร SIP บรรยายต่อเรื่องความเป็นมาของ SIP โดยใช้แผ่นใส เริ่มจากมีการลงนามกันเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์

(น. 236) ค.ศ. 1994 ระหว่างรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงของจีนกับรัฐมนตรีอาวุโสลีกวนยูของสิงคโปร์ ความเหมาะสมของซูโจวคือ การอยู่ใกล้เซี่ยงไฮ้ (ข้าพเจ้ายังไม่ค่อยเข้าใจว่าตกลงการอยู่ใกล้เซี่ยงไฮ้นั้นเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เรื่องดีคือติดต่อกับเซี่ยงไฮ้ได้ง่ายเพราะเป็นศูนย์ความเจริญของประเทศอยู่แล้ว จะได้ใช้บริการต่างๆ แต่บางคนว่าไม่ดีคือ เซี่ยงไฮ้จะแย่งการบริการต่างๆ ไปหมด) มีทะเลสาบจิงจี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าทะเลสาบซีหูในหังโจว ห้าปีแรกเป็นการพัฒนาด้านใต้ของเขตที่ 1 ภายใน 15 ปีจะพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง โครงการนี้รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ มีผู้นำมาเยี่ยมชมกว่า 40 คนแล้ว เช่น ท่านหลี่เผิง ท่านจูหรงจี ผู้นำต่างชาติก็มา นายกรัฐมนตรีโกจ๊กตงของสิงคโปร์กล่าวว่าการการพัฒนาไปได้เร็วกว่าที่คิด มีการพัฒนาด้านต่างๆ ดังนี้
๐ การวางระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด เรื่องสิทธิประโยชน์กฎหมายด้านเศรษฐกิจการค้า
๐ การวางผังเมือง
๐ การจัดการบริหาร
กฎเกณฑ์ต่างๆ นั้นตั้งขึ้นตามความเหมาะสมของประเทศจีนและของซูโจว
มีการลงทุนในอุตสาหกรรมหลายด้าน เช่น semiconductor ลงทุนไปแล้ว 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านเภสัชกรรม ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ประเทศที่มาลงทุนมาก เช่น เยอรมนี (Siemens) ญี่ปุ่น (Hitachi, Sumitomo) อังกฤษ (Wellcome)

(น. 237) ในบริเวณนี้มีโรงเรียนนานาชาติขนาด 18 ห้องเรียน มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และห้องคอมพิวเตอร์ มีการสอนดนตรีและเต้นรำ สอนตั้งแต่ชั้นก่อนประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา มีนักเรียนทั้งที่เป็นชาวจีนและชาวต่างประเทศ สอนเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และภาษาเกาหลี ปีหน้าจะสร้างสระว่ายน้ำ สรุปลงท้ายว่า ซูโจวเป็นแหล่งวัฒนธรรมแคว้นอู๋ในสมัยชุนชิว รุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ชิง มีชื่อเสียงด้านวัฒนธรรม ยูเนสโกประกาศเป็นมรดกโลก ผู้ที่สนใจเพิ่มเติมค้นรายละเอียดได้ที่ http://www.cs-sip.com แวะไปเข้าห้องน้ำที่โรงแรมข้างๆ เป็นห้องที่ทันสมัยมาก จากนั้นไปที่โรงงาน semiconductor ของบริษัทซัมซุง ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ตั้งโรงงานเสร็จ เริ่มทำงานเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1994 ขณะนี้มีคนงาน 900 คนผลิต chip เดือนละ 50 ล้านชิ้น นำวัตถุดิบเข้ามาผลิต ตรวจสอบ แล้วส่งออกขายสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี และที่อื่นๆ ขณะนี้กำลังหาตลาดในยุโรปและอเมริกา การทำงานแบ่งเป็น 3 กะ ตลอด 24 ชั่วโมง 6 วัน จากนั้นไป Suzhou Industrial Park Institute of Vocational Technology เป็นโครงการร่วมมือเพื่อฝึกช่างฝีมือตามแบบของ Singapore Nanyang Polytechnic สร้างอยู่ในเนื้อที่ 4.8 เฮกตาร์ เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะรับนักเรียนได้ 1,200 คน ปัจจุบันมีนักเรียน 72 คน เป็นนักเรียนรุ่นแรก ปีหน้ารับได้เป็นสองเท่า ขณะนี้รับนักเรียนจากวิทยาลัยเทคนิคของรัฐบาลที่


(น. 238) รูป 172 โรงเรียนเทคนิคในสวนอุตสาหกรรมซูโจว
Institute of Vocational Technology at Suzhou Industrial Park.

(น. 238) จบปีที่ 4 แล้ว มาเรียนที่นี่อีกปีหนึ่ง ที่ผ่านมาคือใน ค.ศ. 1998 มีหลักสูตรอบรมด้าน Industrial Electronics, Mechatronics และ Precision Engineering การสอนเน้นหนักที่จะให้ผู้เข้าฝึกอบรมสามารถใช้อุปกรณ์ทันสมัยในโรงงานที่มาตั้งใน SIP ตามที่โรงงานเหล่านี้ต้องการ มีทั้งที่บริษัทให้ทุนการฝึกอบรมและที่นักเรียนออกค่าใช้จ่ายเอง นักเรียนที่มาเรียนต้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีต่างๆ และการบริหาร

(น. 239) เครื่องมือที่ใช้ในการฝึกอบรมที่มีอยู่ในขณะนี้มาจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น เช่น เครื่องระบบ Flexible Manufacturing System (FMS) เป็นเครื่องที่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม จากบริษัท FESTO เครื่อง Servo Motor System จาก LEYBOLD โรงงานนี้มีอาจารย์ประจำ 18 คน และยังมีอาจารย์พิเศษด้วย อาจารย์ประจำมีทั้งที่มีวุฒิปริญญาโทและปริญญาตรี อาจารย์ทุกคนมีประสบการณ์วิชาชีพอย่างน้อย 5 ปี ต้องคัดเลือกคนที่อุทิศตนให้แก่งาน มีความคิดสร้างสรรค์ และหัวก้าวหน้า อาจารย์เหล่านี้ยังได้ไปอบรมเพิ่มเติมที่ Singapore Nanyang Polytechnic บางครั้งมีอาจารย์ชาวต่างประเทศมาอบรมให้พิเศษ

Next >>