Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันเสาร์ที่ 10 เมษายน 2542 "

(น. 275) นอกจากหินพยักหน้าแล้ว ที่เนินเสือยังมีหินที่ชื่อว่า หินทดสอบกระบี่ หรือ ซื่อเจี้ยนสือ (ซื่อ = ทดสอบ เจี้ยน = กระบี่ สือ = หิน) ใช้ชื่อนี้เพราะเล่ากันว่า ฉินสื่อหวงตี้เคยใช้กระบี่ของพระองค์ฟันหินก้อนนี้ เพื่อทดสอบว่ากระบี่จะกล้าแข็งกว่าก้อนหินหรือไม่ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเนินเสืออีกมาก ขอยุติเพียงเท่านี้ บนเนินเสือมีเจดีย์ ซึ่งสร้างตั้งแต่ ค.ศ. 961 เป็นเจดีย์ 7 ชั้น 8 เหลี่ยม ดินแถวนี้ทรุดทำให้เจดีย์เอียง เขาพยายามหาวิธีที่จะพยุงเจดีย์นี้ไว้ เช่น ฝังเสาเข็มเพิ่มเติม แต่ก็ไม่สำเร็จ ขณะนี้เอียงไป 2.3 เมตรแล้ว ทำให้นึกถึงหอเอนปิซ่า ที่ข้าพเจ้าเคยขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1988 แต่ภายหลังเขาไม่อนุญาตให้ใครขึ้นแล้ว ที่นี่ก็เช่นกัน ห้ามไม่ให้ขึ้น ถ้าขึ้นได้ เมื่อไปถึงชั้นสูงสุด จะเห็นทิวทัศน์เมืองซูโจวได้อย่างดี จากนั้นไปนั่งพักดื่มน้ำชาที่สวนจิ่งซาน เรื่องดื่มน้ำชานี้สำหรับข้าพเจ้าลำบากสักหน่อยหนึ่งคือ คนจีนสามารถรับประทานอาหารร้อนๆ น้ำร้อนมากได้ เมื่อข้าพเจ้ารอให้น้ำเย็นลงสักนิดหนึ่งแล้วค่อยดื่ม เขาก็เติมน้ำร้อนไปจนดื่มไม่ได้อีก ตกลงเลยไม่ได้ดื่ม ออกไปชมสวนบอนไซ มีบอนไซกระถางเป็นร้อยๆ เมื่อกลับถึงโรงแรม คุณหวังคนขับรถ ซึ่งทำงานในมณฑลเจียงซูมา 20 ปีแล้ว ให้ข้าพเจ้าเซ็นชื่อในสมุดที่ระลึก ในสมุดเล่มนั้น คนที่เซ็นก่อนข้าพเจ้าคือ ประธานาธิบดียอร์ช บุช พวกข้าราชการสถานกงสุลมาจากเซี่ยงไฮ้ แต่แรกคิดว่าเขาจะมาร่วมการเลี้ยงอาหารคืนนี้ด้วย แต่ปรากฏว่าเป็นภัตตาคารเล็กเลยไปไม่ได้


(น. 276) รูป 198 ภัตตาคารเต๋อเย่ว์โหลว
Deyuelou Restaurant.

(น. 276) ไปภัตตาคารเต๋อเย่ว์โหลว เป็นภัตตาคารอาหารพื้นเมืองของซูโจว รองนายกเทศมนตรีที่มารับเราวันแรกมาร่วมรับประทานด้วย เขาว่ากันว่าอาหารแบบซูโจวนี้แต่ละร้านจะมีรสชาติของตนเองคือ จะมีน้ำแกงที่ต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่มีการเททิ้งเลย เรียกว่า เหล่าทัง ชาที่มีชื่อของซูโจวคือ ชาปี้หลัวชุน เป็นชาเขียว ปลาของทะเลสาบไท่หูก็มีชื่อเสียง น่าเสียดายที่เราไม่มีเวลาไปทะเลสาบไท่หูของซูโจว ขณะนี้ทางการซูโจวมีนโยบายอนุรักษ์ทะเลสาบไท่หูนี้ให้โรงงานต่างๆ ที่ปล่อยของเสียย้ายออกไปพ้นรัศมี

(น. 277) จากภัตตาคารตรงไปที่สวนหวั่งซือ เป็นสวนที่เล็กที่สุดในซูโจว แต่บางคนถือว่าสวยที่สุด สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่ถูกทิ้งร้างไป บูรณะขึ้นใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 สมัยจักรพรรดิเฉียนหลง สร้างเป็นบ้านของขุนนางผู้ใหญ่ชื่อ ซ่งจงหยวน ซึ่งเกษียณแล้วเบื่อชีวิตราชการที่ผ่านมา มองเห็นชาวประมงและรู้สึกว่าชีวิตของพวกเขามีความสุขสงบกว่าชีวิตราชการ เมื่อได้ปรัชญาชีวิตจากชาวประมงจึงถือชาวประมงเป็นอาจารย์ เมื่อสร้างสวนแล้ว จึงตั้งชื่อว่า สวนหวั่งซือ โดยสื่อนัยว่าหมายถึง สวนพรานปลา


(น. 277) รูป 199 เดินไปสวนหวั่งซือ ระหว่างทางมีของขาย
Many things for sale on the way to Wang Shi Garden.

(น. 278) ทางเข้าสวนเป็นซอยเล็กๆ สำหรับคนเดินชื่อ ซอยกั้วเจิ่นโถว สองข้างมีร้านขายของกระจุกกระจิก สิ่งก่อสร้างในสวนนี้มองไม่เห็นเลยเพราะมาตอนกลางคืน ต้องอธิบายไปตามหนังสือว่าด้านตะวันออกเป็นที่อยู่อาศัย มีที่เก็บเกี้ยว ห้องรับแขก และห้องนั่งเล่น มีระเบียงคดเคี้ยวถึงกัน ตรงกลางเป็นสวนมีสระน้ำมีศาลา มีห้องทำงานของเจ้าของสวน ด้านตะวันตก ประดับด้วยเครื่องเรือนแบบราชวงศ์หมิง มีโคมไฟสวยงาม (จำลองไปสร้างที่ Metropolitan Museum of Art ที่นิวยอร์ก เมื่อ ค.ศ. 1981 และ ที่ Centre Pompidou ในปารีส จำลองหุ่นของสวนนี้ทั้งสวนไปตั้งแสดง เมื่อ ค.ศ. 1982) ความดีเด่นของสวนนี้คือ การใช้พื้นที่ พื้นที่สวนไม่มาก อาคารค่อนข้างใหญ่ แต่สามารถออกแบบได้ดี ไม่อึดอัด มองทิวทัศน์ใกล้ให้เป็นไกลได้จากหน้าต่างและธารน้ำที่คดเคี้ยว เข้าไปนั่งดูการแสดงในห้อง ดูในหนังสือ จีนตะวันออก ที่สมเด็จป้าเล่าเรื่องเสด็จจีนเมื่อ 5 ปีก่อน การแสดงก็คล้ายๆ แบบที่ดูคืนนี้คือ
1. ขุนนางเต้นระบำ เป็นการอวยพร แต่งเป็นตัวงิ้ว เต้นอยู่สองคน ตอนสุดท้ายมีป้ายอวยพรเป็นภาษาจีนและอังกฤษ สุดท้ายแจกช็อกโกแลต ฉากนี้ยืนดู
2. เดินไปห้องที่ 2 เป็นงิ้วซูโจว เรื่องอะไรก็ไม่ทราบ เล่าว่าขโมยชื่อ หลิวอาสู่ ขโมยน้ำมัน ผู้ว่าราชการมณฑลซูโจวปลอมตัวเป็นพระเต๋าหมอดู ให้ขโมยเสี่ยงเซียมซี คำทำนายออกมาว่าขโมยของคนอื่น จึงจับได้ว่านายคนนี้เป็นขโมย


(น. 279) รูป 200 การแสดงดนตรีกู่เจิง
Guzheng solo.

(น. 279)
3. เดินมาห้องที่ 3 มีร้านขายของที่ระลึกอยู่ในห้อง มีฝรั่งมานั่งดูด้วย แสดงผิงถาน ร้องบทกวีสมัยราชวงศ์ถังชื่อ เฟิงเฉียวเยี่ยปั๋ว หรือ จอดเรือที่สะพานเฟิงเฉียวยามราตรี กับเรื่อง อานถังเริ่นเหนียง หรือ ตามหาจำมารดาได้ที่วัด (เป็นแม่ชี) เป็นเรื่องนักศึกษาสอบเข้ารับราชการได้ แต่ตามหาแม่ไม่ได้ เพราะพ่อแม่ทะเลาะกันและแม่หนีไปเป็นชี เมื่อนักศึกษาเดินเข้ามา แม่ชีรำพึงว่าชายหนุ่มคนนี้หน้าตาเหมือนสามีของนาง ส่วนนักศึกษาเห็นแม่ชีก็สะดุ้ง คิดว่าน่าจะมีเหตุผลพิเศษ เมื่อแสดงเสร็จเขาให้ข้าพเจ้าเซ็นเยี่ยมแล้วเดินต่อไป


(น. 280) รูป 201 นักดนตรีเป่าขลุ่ย
Flute solo.

(น. 280)
4. ห้องที่ 4 เรียกว่า ห้องกินเจ ที่จริงคือห้องอ่านหนังสือ ฟังดนตรีขิมโบราณ (กู่เจิง) เพลงปู้ปู้เกา หมายถึง ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เพลงที่สองเป็นการเล่นพิณผีผาเพลงของชนชาติอี๋ที่อยู่แถวๆ เมืองฉู่สง มณฑลยูนนาน เพลงที่สามสาวร้องเพลงเดี่ยว กล่าวถึงภาพทิวทัศน์ซูโจวสวยงาม
5. รำพัดเพลงพระจันทร์ค่อยๆ ขึ้นจากแม่น้ำในฤดูใบไม้ผลิ
6. เดินออกมาที่ข้างนอก ตรงที่เป็นห้องจัดแบบสมัยราชวงศ์หมิง มีงิ้วซูโจว สาวน้อยไปเที่ยวสวนที่ศาลาโบตั๋น ชมดอกตู้จวน คุยกันเรื่องไปพบหนุ่มที่มาสอบจอหงวนแล้วจากกัน พอหนุ่มมาอีก สาวตายแล้ว มีภาพอยู่ในสวน ภายหลังกวนอิมมาชุบให้ฟื้น

(น. 281)
7. ไปที่ศาลาริมน้ำ (อากาศค่อนข้างเย็น) มีนักดนตรีแต่งตัวสมัยราชวงศ์หมิงเป่าขลุ่ยตี๋ นักดนตรีแต่งตัวเป็นเจ้าสมัยราชวงศ์ถังเป่าขลุ่ยเซียวแบบราชวงศ์ถัง นักดนตรีดีดกู่เจิงเพลงชุนเหมียวหรือต้นกล้ายามฤดูใบไม้ผลิ และการตีกลองฉลองการเก็บเกี่ยวที่สมบูรณ์ ระหว่างดูการแสดงข้าพเจ้าบอกอึ่งให้ไปดูตามร้านไปซื้อกาน้ำชามา ทางร้านเขาว่าเป็นแขกเมืองมาเลยลดราคาให้ เล่าว่าลีกวนยูก็เคยซื้อของร้านเขา ขาออกมาข้าพเจ้าซื้อขวดยานัตถุ์ชนิดที่เขียนภาพข้างใน แต่ไม่เอาแบบแพงนัก ว่าจะไว้ใส่ยานัตถุ์ไทยไว้ใช้เวลาเป็นหวัด กลับโรงแรม มอบของที่ระลึกให้เจ้าหน้าที่ ที่ตามมาจากมณฑลเจียงซู เสร็จแล้ววิ่งในห้อง ทางเจิ้นเจียงเอาสมุดข้าพเจ้าขึ้นรถไฟมาให้แล้ว รู้สึกว่าเขาดีจริงๆ ถ้าเป็นที่อื่นคงทิ้งไปแล้ว ส่วนนาฬิกาใหม่ก็เดินดีมาก ซื้อแถวๆ นี้เอง แต่ made in Thailand ข้าพเจ้ามาซูโจวเพียง 30 กว่าชั่วโมง จึงยังชมเมืองสวนสวยแพรไหมงามนี้ไม่ครบถ้วน แต่ก็ได้เห็นแล้วว่าเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ซูโจวตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลเจียงซูติดกับฝั่งตะวันออกของทะเลสาบไท่หู มีคลองต้าอวิ้นเหอหรือคลองใหญ่ไหลผ่านทางตะวันตกของตัวเมือง รวมทั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟเซี่ยงไฮ้-นานกิงด้วย ซูโจวมีประวัติให้ศึกษาย้อนหลังไปได้ถึงสมัยชุนชิว ในสมัยนี้เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋ ในสมัยราชวงศ์ฉินเปลี่ยนฐานะเป็นอำเภออู๋ สมัยราชวงศ์สุยปรับฐานะกลับมาเป็นเมืองชื่อว่า ซูโจว โดยได้ชื่อเมืองมาจากภูเขาของที่นี่

(น. 282)ที่ชื่อว่า กูซูซาน สมัยราชวงศ์ซ่งเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นผิงเจียงฝู่ สมัยราชวงศ์หมิงได้เปลี่ยนกลับมาใช้ว่า ซูโจว และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน เมืองซูโจวมีทั้งประวัติศาสตร์อันยาวนานและสภาพภูมิศาสตร์ที่ดี ทั้งเมืองเต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลองและทะเลสาบใหญ่น้อย การคมนาคมทางน้ำสะดวก น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศอบอุ่น จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกรวมทั้งการติดต่อค้าขาย ทั้งการค้าภายในและการค้ากับต่างประเทศ ซูโจวเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าแพรไหมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ช่วงที่ราชวงศ์ชิงยังรุ่งเรืองเมืองซูโจวมีเครื่องทอแพรไหมถึง 3,000 - 4,000 เครื่อง มีคนงานหมื่นกว่าคน ด้วยประวัติความเป็นมาและสภาพภูมิศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้น ซูโจวจึงเป็นเมืองหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนไปสู่ความทันสมัยตามนโยบายสี่ทันสมัยที่รัฐบาลจีนใช้เป็นนโยบายในการพัฒนาประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ซูโจวเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม สวนสวย แพรไหมงาม เศรษฐกิจดี เป็นเมืองงามน่ายลมาตั้งแต่อดีตคู่มากับเมืองหังโจว จนเรียกรวมๆ กันว่า ซู-หัง และก่อเกิดคำกล่าวที่ว่า “บนฟ้ามีสวรรค์ บนแผ่นดินมีซูหัง” ในนวนิยายกำลังภายในหลายเรื่องก็ได้ใช้เมืองซูโจวหรือโซวจิวตามภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นฉากของเรื่อง จังจี้ กวีในสมัยราชวงศ์ถังที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 8 ได้แต่งบทกวีเกี่ยวกับเมืองซูโจวชื่อว่า “จอดเรือที่สะพานเฟิงเฉียวยามราตรี” บทกวีนี้ใช้ภาษาเรียบง่าย กระชับ และบรรยาย

(น. 283) ภาพได้ดี จึงเป็นบทกวีที่รู้จักกันแพร่หลาย และมักจะพูดถึงเมื่อเอ่ยถึงเมืองซูโจว รวมทั้งทำให้วัดหานซานที่เอ่ยถึงในบทกวีนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง นักท่องเที่ยวปรารถนามาเยี่ยมเยือน บทกวีนี้พรรณนาว่า
จันทร์ตก นกการ้อง เกล็ดน้ำแข็งเต็มฟ้า
ต้นเฟิงริมคลอง แสงไฟเรือประมง ส่องถึงผู้นอนเป็นทุกข์
วัดหานซานอยู่นอกกำแพงเมืองซูโจว
กึ่งราตรีเสียงระฆังดังถึงเรือโดยสาร
บทกวีนี้ทำให้วัดหานซานเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองซูโจว พวกนักท่องเที่ยวนิยมไปตีระฆังที่วัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสุดท้ายของปีก่อนเข้าวันตรุษจีนนั้น จะไปคอยตีระฆังวัดหานซานตอนเที่ยงคืน ถือเป็นสิริมงคล และได้สัมผัสบรรยากาศสมัยโบราณตามที่พรรณนาในบทกวี เรื่องตีระฆังตอนเที่ยงคืนนั้นมีจริงหรือไม่ บางคนว่ามี บางคนว่าไม่มี กลุ่มหลังนี้เห็นว่า ที่กล่าวในบทกวีเป็นเพียงการบรรยายเกินจริงตามศิดลปะการประพันธ์ (เกล็ดน้ำแข็งเต็มฟ้า กึ่งราตรีเสียงระฆังดังถึงเรือโดยสาร) ต้นเฟิงในบทกวีก็คือ ต้นเมเปิ้ล มีใบเป็นแฉกๆ ก่อนจะทิ้งใบในฤดูใบไม้ร่วงจะเป็นสีแดงสด ในเมืองไทยก็มีต้นไม้หลายชนิดที่ใบเป็นสีแดงก่อนที่จะร่วง เช่น ต้นก่วมแดง