Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน 2542 "


(น. 295) รูป 209 คั่วชา
Roasting tea leaves.

(น. 295) ไปถึงที่หมู่บ้านเหมยเจียอูที่ผลิตใบชาหลงจิ่ง เขาปลูกต้นชาตามเนินเขา เนื่องจากฝนตก เลยดูพอเป็นสังเขป สาวเก็บชาเขาจะรู้จักเลือกยอดชาที่กำลังพอดี กิโลกรัมหนึ่งประมาณ 80,000 ยอด วันหนึ่งเก็บได้ครึ่งกิโล ชาที่เก็บในฤดูใบไม้ผลิ คือในช่วงนี้เป็นชาดีที่สุด เมื่อเก็บมาแล้วต้องมาคั่วในกระทะ ใช้มือคนคั่ว เวลานี้ใช้กระทะไฟฟ้า มีปุ่มสำหรับหมุนตั้งอุณหภูมิ เริ่มต้นอุณหภูมิประมาณ 40 องคศาเซลเซียส ต้องคั่วอยู่ประมาณ 20 ชั่วโมง ตอนที่นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลมาชมจึงกล่าวว่าเป็นศิลปหัตถกรรม คนที่มาทำงานด้านชานี้ต้องฝึกอยู่กับอาจารย์ 5 ปี เข้าไปในห้อง ผู้จัดการเป็นอาจารย์โรงเรียนใบชา อธิบายเกี่ยวกับเรื่องชา ให้คนมาสาธิตการชงชา และชวนดื่มชาด้วย

(น.296) น้ำที่ใช้ชงชามาจากธารน้ำหู่เผาเฉวียนของเมืองหังโจว ถือว่าเป็นน้ำที่ดี เมื่อชงแล้วชารสไม่เปลี่ยน เวลาจะชงชาต้องปูผ้า สาวที่มาสาธิตการชงชามานั่งคุกเข่าชง ทำท่าเหมือนรำละคร มีคนเล่นเจิงคลอเป็นเพลง ก่อนอื่นจุดธูปปักไว้ เพื่อทำใจให้สงบ มีสมาธิ หลังจากนั้นจะเอาน้ำที่จะชงชาและใบชาที่จะชงมาให้แขกดูและดม แล้วตักใบชาออกมาจากถ้ำชาดีบุก ใส่ถ้วยแล้วเทน้ำประมาณสามในสิบของแก้ว ถ้าเป็นน้ำเดือดจะทำให้ชาเสียรส ต้องใช้น้ำอุณหภูมิประมาณ 85 องศา แล้วให้แขกดมกลิ่นอีก สักพักจึงเทน้ำจนเต็มถ้วย ลีลาการเทน้ำลงถ้วยเรียกว่า หงส์ผงกหัวสามครั้ง การเทน้ำให้เทประมาณ 3 ใน 4 ของแก้ว สำหรับชาเขียวหลงจิ่งนี้เมื่อเทน้ำร้อนลงไปแล้วไม่ควรปิดฝา ถ้าปิดฝาแล้วจะอบเกินไป ส่วนดีจะเสียไป ท่านหลู่ซวิ่นกล่าวว่า คนที่รู้จักดื่มชา มีใบชาดีถือว่าเป็นความสุขยิ่ง จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาหลายครั้ง แต่แรกทรงรู้สึกว่าชาที่นี่จืด ไม่มีรสมีชาติ ภายหลังจึงทรงทราบว่ามีรสหอมหวานออกมาจากปาก นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลมาที่นี่ 5 ครั้ง นอกจากดื่มหมดแล้ว ยังรับประทานใบชาเข้าไปอีก กล่าวว่า ใบชามีค่าสูง หาไม่ง่าย และอีกประการหนึ่ง รับประทานใบชาทำให้ได้ประโยชน์ทางโภชนาการครบถ้วนทั้งหมด คนท้องถิ่นหังโจวไม่เรียกว่า ดื่มน้ำชา จะเรียกว่า กินน้ำชา นักธุรกิจชาวฮ่องกงคนหนึ่งให้พ่อครัวประจำตัวทำกุ้งผัดชาหลงจิ่ง ผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่ๆ ต้องการอาหารบำรุง แม่ผัวจะตุ๋นไก่ให้ลูกสะใภ้ จะมีกลิ่นคาว คนที่เพิ่งออกลูกจะรับประทานไม่ลง แม่ผัวเอาใบชาใส่ถุงผ้าใส่ในตัวไก่ที่จะตุ๋น จะหมดกลิ่นคาว มีแต่หอมใบชา


(น. 297) รูป 210 พิธีชงชาของจีน
Chinese Tea Ceremony.

(น. 297) น้ำชามีคุณค่าสูงมาก ดื่มเข้าไปทำให้เลือดลมดี ผิวพรรณสวยงาม ผู้บรรยายเคยเห็นคุณแม่และเพื่อนบ้านหญิงเอาใบชาผสมไข่ขาวปะไว้ที่เปลือกตาและหน้าผาก ทำให้หายอ่อนเพลียได้ เมื่อ ค.ศ. 1987 สถาบันวิจัยใบชาของจีนได้ค้นคว้าวิจัยออกมาว่า ใบชานี้มีคุณสมบัติต้านมะเร็งได้ ดังนั้นใน ค.ศ. 1995 มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงได้สกัดตัวยามาจากใบชาใช้ต้านมะเร็งได้ดีที่สุด และยังแก้เส้นโลหิตในสมองตีบ โรคหัวใจ ยานี้เรียกว่า “ที่เป่า” ชาหลงจิ่งยังมีวิตามินซีสูงกว่าผักผลไม้ อีกอย่างหนึ่งนั้นเมื่อชงชาแล้วเอากากไปตากแดดให้แห้ง แล้วใส่ไว้ในหมอนสำหรับหนุนนอนจะทำให้หลับสบาย นอกจากนั้นชายังช่วยแก้โรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานด้วย

(น. 298) ในสังคมของชาวจีนสมัยก่อนหากผู้หญิงไปดื่มชาของตระกูลใดก็ต้องเข้าเป็นสะใภ้ของตระกูลนั้น อีกอย่างหนึ่งผู้หญิงที่แต่งงานจะต้องนำกล่องเมล็ดชาไปบ้านสามีด้วย เมื่อปลูกชาแล้วแสดงว่าต้องอยู่ที่นั่น อยู่ด้วยกันจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง โดยทั่วไปถือว่าการดื่มน้ำชาเป็นการสร้างบรรยากาศมิตรภาพ การคุยกัน จิบน้ำชาจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ คนจีนถือว่าชาเป็น “สื่อดอกไม้” ชาเขียวให้บรรยากาศฤดูใบไม้ผลิ ธรรมชาติสีเขียว ความสดชื่น การดื่มชาจะต้องดมกลิ่นชา ชิมรสชา ชื่นชมกาน้ำชา ถ้ารักษาไว้ดีๆ จะเก็บใบชาไว้ได้โดยไม่เปลี่ยนคุณภาพ 18 เดือน (ควรเก็บในตู้เย็น) เขาให้ชาเป็นของขวัญกล่องหนึ่งมี 2 กระป๋อง ห้องข้างๆ เป็นที่ขายของ มีของสารพัด แต่ราคาแพงมากทุกอย่าง เลยไม่ได้ซื้อ อีกห้องมีชาวางอยู่ ซื้อมากล่องหนึ่ง ชาราคาแพงมาก กระป๋องหนึ่งมี 150 กรัม ราคาถึง 300 หยวน บ้านเรือนเกษตรกรในหังโจวนี้ใหญ่โต เดี๋ยวนี้พวกเกษตรกรที่นี่มีเงิน สร้างบ้านเรือน มีห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับแขก ห้องครัว และมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามากมาย ตอนค่ำผู้ว่าราชการมณฑลเลี้ยงที่เรือนรับรอง ก่อนรับประทานอาหารมีการกล่าวสุนทรพจน์ตามเคย บรรยายสรุปว่ามณฑลเจ้อเจียงมีเนื้อที่ประมาณ 100,000 กว่าตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 47 ล้านคน ในประวัติศาสตร์เจ้อเจียงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งรวมไหมและใบชาทุกประเภท เป็นแหล่งวัตถุโบราณและการท่องเที่ยว เมื่อเปิดสู่โลกภายนอกด้วยการชี้นำของ

(น. 299) ท่านเติ้งเสี่ยวผิง ก็ได้พัฒนาไปมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เศรษฐกิจก้าวหน้าเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศจีน มีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 1,000 โรง ส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมขนาดเบา ปีที่แล้วมีคนเข้ามาลงทุน 10,800 ล้านเหรียญ มีนักธุรกิจไทยมาลงทุนด้วย เขาให้ของที่ระลึกเป็นแจกันทำเลียนแบบเครื่องเคลือบจากเตาเผาหลวงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ เทคนิคการทำเครื่องเคลือบแบบนี้สูญหายไปนานแล้ว แต่มีการศึกษาค้นคว้าทำขึ้นมาใหม่ เข้าไปรับประทานอาหาร วันนี้เหล้าที่เลี้ยงเป็นเหล้าจากเซ่าซิง คนทั่วไปชอบใส่บ๊วยเค็มในเหล้า แต่คนที่รู้จักดื่มจริงๆ ไม่นิยมใส่ ท่านผู้ว่าฯ ไม่เคยไปเมืองไทย แต่ว่ามีคนในมณฑลไปกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนตรุษจีน ปีที่แล้วประมาณสองหมื่นคน ส่วนคนที่มามณฑลนี้มากที่สุดเป็นคนญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และไต้หวันตามลำดับ อาหารที่เลี้ยงมีของพิเศษคือ ซูตงปัวโร่ว หรือ เนื้อซูตงปัว เล่ากันว่าสมัยที่เป็นเจ้าเมืองหังโจว ซูตงปัวได้เอาเนื้อหมูตุ๋นซีอิ๊วด้วยหม้อดินเลี้ยงชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์มาขุดลอกซีหู ชาวบ้านชอบใจเลยได้ชื่อว่า ซูตงปัวโร่ว ต่อมากลายเป็นอาหารจานโปรดของชาวเมืองหังโจว เป็นอาหารมีชื่อของที่นี่ พูดถึงการอนุรักษ์ทะเลสาบซีหูโดยการไม่อนุญาตให้ใช้เรือน้ำมันในการท่องเที่ยวในทะเลสาบ แนะนำให้ใช้เรือแบตเตอรี่

(น. 300) อุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมผ้าไหม ที่นี่เลี้ยงไหมเอง เป็นแหล่งผลิตไหมมาแต่โบราณ ไหมที่นี่เอาไปขายในเส้นทางแพรไหมสมัยโบราณ ปีที่แล้วได้กำไรจากการขายผ้าไหมถึงพันล้านเหรียญสหรัฐ ไหมคุณภาพดี จึงแพงกว่าที่อื่น ส่วนมากส่งไปขายญี่ปุ่นและอิตาลี พอดีมีอาหารชนิดหนึ่งเรียกว่า เจี้ยวฮวาจี หรือ ไก่ขอทาน ห่อกระดาษหนังสือพิมพ์มาเสิร์ฟ ตอนที่จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จเจียงหนานเคยได้เสวย ข้าพเจ้าคิดถึงเรื่องมังกรหยกที่มีเฒ่าขอทานอั้งชิดกงชอบกินไก่ กิมย้งคงได้ความคิดจากไก่ขอทานของหังโจวนี่เอง ท่านผู้ว่าฯ บอกว่ากิมย้งเป็นเพื่อนท่าน มาอยู่ที่หังโจว 20 วัน เพิ่งไปเมื่อเช้านี้เอง เดี๋ยวนี้ท่านไม่ได้แต่งนิยาย ทำแต่งานวิชาการและสอนหนังสือ (เช่น วิชาประวัติศาสตร์จีน วรรณกรรมจีน และอื่นๆ) สอนทั้งในประเทศจีนและในยุโรป ผู้ว่าราชาการมณฑลมีแผนพัฒนามณฑลว่าจะให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานคือ ตัดถนนสร้างทางด่วน สร้างเขื่อนริมทะเลป้องกันลม เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว มาดามจังนำช่างตัดเสื้อของมาดามมาวัดตัวข้าพเจ้า จะเอาไปตัดเสื้อให้ ซุป (ศุภรัตน์) ผู้ซึ่งชอบเรื่องมังกรหยกมากมาหา บอกว่าถามข้อมูลไก่ขอทานจากพวกชาวจีนที่รับประทานอาหารด้วยกัน เขาเล่าว่าไก่ขอทานเป็นอาหารที่มีชื่อของมณฑลเจียงซู มีทั้งที่ซูโจว หังโจว วิธีทำปรับปรุงมาจากวิธีปรุงไก่ของพวกขอทานสมัยราชวงศ์ชิง พวกขอทานขโมยไก่มา แต่ไม่มีหม้อหรือกระทะ

(น. 301) เลยเอาไก่ทั้งตัว มิได้ถอนขน พอกด้วยดินเหนียว แล้วเผาไฟ เมื่อไก่สุกแกะดินที่ติดขนและหนังออก ก็ได้เนื้อไก่แสนอร่อยกิน ต่อมามีคนนำวิธีทำนี้มาประยุกต์ กล่าวคือ นำไก่สดที่เอาเครื่องในออกหมดแล้ว ล้างให้สะอาด นำเนื้อหมูและแฮม (หัวถุ่ย) ที่สับเป็นเม็ดเล็กๆ รวมกับกุ้งแห้ง พร้อมกับเครื่องปรุงรส ยัดเข้าไปในท้องไก่ ห่อไก่ด้วยใบบัว แล้วพอกตัวไก่ด้วยดินเหนียวสีเหลือง นำไปเผาหรือหมกในถ่านไฟจนไก่สุกได้ที่ แกะดินเหนียวและใบบัวออก ก็รับประทานได้เอร็ดอร่อย เนื่องจากประยุกต์วิธีปรุงแบบพิสดารมาจากวิธีทำของพวกขอทาน จึงเรียกว่า เจี้ยวฮวาจี หรือ ไก่ขอทาน มีอีกชื่อหนึ่งว่า หวงหนีเว่ยจี หรือ ไก่ห่อดินเหนียวสีเหลืองหมกถ่านไฟ แต่ชื่อแรกฮิตกว่า ไก่ขอทานของภัตตาคารหวังซื่อ ที่อำเภอฉังสู อยู่ห่างจากเมืองซูโจวประมาณ 40 กิโลเมตร ขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุด เมื่อซุปไปแล้ว ข้าพเจ้าเอาหนังสือเกี่ยวกับเมืองหังโจวที่อยู่ในห้องพักมาอ่าน หังโจวตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลเจ้อเจียง ในช่วงปลายของแม่น้ำเฉียนถังเจียงทางฝั่งเหนือ คลองขุดต้าอวิ้นเหอไหลมาสิ้นสุดที่หังโจว เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ปรากฏร่องรอยหลักฐานให้ศึกษาย้อนหลังไปได้ถึง 7,000 ปี (วัฒนธรรมหินใหม่เหอมู่ตู้) ในสมัยราชวงศ์ฉินมีชื่อเรียกขานกันว่า เมืองเฉียนถัง ในสมัยราชวงศ์สุยเปลี่ยนชื่อเป็นหังโจว ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋เย่ว์ [หลังจากที่ราชวงศ์ถังล่มสลายใน ค.ศ. 907 แล้ว ประเทศจีนได้แตกแยกกัน

(น. 302) อีกครั้งหนึ่งอยู่ 70 กว่าปี (ค.ศ. 907 – 979) จึงรวมตัวกันได้ใหม่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 979 – 1279) ช่วงแตกแยกนี้ ในประวัติศาสตร์จีนเรียกกันว่า สมัยห้าราชวงศ์ (ค.ศ. 970 - 960) สิบแคว้น (ค.ศ. 907 – 979) แคว้นอู๋เย่ว์เป็นแคว้นหนึ่งในสิบแคว้น] ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ซึ่งหนีการรุกรานของพวกกิมก๊กมาอยู่ทางใต้ได้มาตั้งเมืองหลวงที่หังโจว และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหลินอาน หังโจวเป็นเมืองที่ทิวทัศน์ธรรมชาติทั้งภูเขาและทะเลสาบงดงามยิ่ง ทะเลสาบที่มีชื่อเสียงเลื่องลือคือ ทะเลสาบซีหู และที่ตำบลเอี๋ยนกวน อำเภอไห่หนิงซึ่งพื้นที่ทางใต้ติดกับอ่าวหังโจวนั้นเป็นที่ชมคลื่นทะเลเฉียนถังอันเลื่องชื่อ มาร์โคโปโลเคยมาเที่ยวหังโจวและชื่นชอบมาก จนกล่าวว่า หังโจวเป็นเมืองสวรรค์ซึ่งสวยงามและภูมิฐานที่สุดของโลก ไป๋จวีอี้ กวีเอกผู้ซึ่งเคยมาเป็นเจ้าเมืองหังโจวอยู่ 2 ปีในช่วง ค.ศ. 822 – 824 ก็ชมชอบเมืองหังโจวมาก จนเคยแต่งบทกวีพรรณนาถึงเองหังโจวโดยขึ้นต้นบาทแรกว่า “คิดถึงเจียงหนาน คิดถึงหังโจวที่สุด” (เจียงหนานอี้ จุ้ยอี้ซื่อหังโจว) หังโจวเป็นเมืองงาม แดนอุดมมาแต่โบราณ เป็นแหล่งผลิตผ้าแพร ผ้าไหม และมีหัตถกรรมการปักผ้า การทำร่มแพรไหม พัดไม้จันทน์หอม กรรไกร รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตชาหลงจิ่งที่มีคุณภาพสูง รสชาติดี และชาอื่นอีกหลายชนิด อาหารที่อร่อยก็มีหลายอย่าง นอกจากนั้นยังเป็นเมืองหลวงสำคัญหนึ่งในเจ็ดเมืองของจีน (ปักกิ่ง ซีอาน ไคเฟิง ลั่วหยัง อานหยัง หนานจิง และหังโจว ในประเทศจีน ยังมีเมืองที่เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้น

(น. 303) ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมืองเหล่านี้มิได้อยู่ในกลุ่มเมืองหลวงสำคัญของประเทศ) ด้วยสภาพภูมิศาสตร์และความอุดมสมบูรณ์ หังโจวจึงเป็นเมืองหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนไปสู่ความทันสมัยตามนโยบายสี่ทันสมัยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1978 เมืองหังโจวหรือฮั่งจิวในภาษาแต้จิ๋วเป็นสถานที่ที่เป็นฉากสำคัญของเรื่องมังกรหยกอยู่หลายตอน รวมทั้งนวนิยายกำลังภายในอื่นๆ อีกหลายเรื่องด้วย ใน ค.ศ. 1127 ราชวงศ์ซ่งได้หนีการรุกรานของชนเผ่าหนี่ว์เจินแห่งราชวงศ์จิน (ราชวงศ์กิม) มาอยู่ทางใต้ ตั้งเมืองหลวงที่หังโจวหรือหลินอาน จึงเรียกกันในทางประวัติศาสตร์ว่า ราชวงศ์หนานซ่งหรือซ่งใต้ เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ผู้นำและพวกขุนนางส่วนหนึ่งก็หลงระเริงใช้ชีวิตสำราญในแดนงามทางใต้จนลืมความทุกข์ของประชาชนและลืมหน้าที่การกอบกู้แผ่นดินคืนมา พวกกวีรู้สึกรันทดกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงได้เขียนบทกวีจำนวนไม่น้อยพรรณนาถึงชะตากรรมของยุคสมัย บทกวีของหลินเซิง (ประมาณ ค.ศ. 1131 – 1189) ชื่อ ถีหลินอานตี่ หรือ เขียน ณ ที่พักในหลินอาน เป็นบทกวีที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย บทกวีพรรณนาความว่า
นอกเขา มีเขาเขียว นอกหอ ยังมีหอ
ร้องรำทำเพลงข้างซีหู เมื่อไหร่จะพัก
ลมอุ่นมอมเมาคนเดินทาง
จนหลงว่าหังโจวเป็นเปี้ยนโจว

(น. 304) บทกวีนี้เขียนสั้นๆ เพียง 4 บรรทัด แต่แฝงความหมายที่ลึกล้ำด้วยภาษาที่เรียบง่าย งามกระจ่าง สื่อทั้งภาพทิวทัศน์และอารมณ์ความรู้สึกไปพร้อมกัน ใช้กลวิธีการแต่งที่แฝงสิ่งใหญ่ในสิ่งเล็ก แฝงสิ่งสำคัญในเหตุการณ์ธรรมดา เริ่มจากบาทแรกพรรณนาภาพทิวเขางามที่สลับซับซ้อน พร้อมกับภาพหอต่างๆ ในเมือง ต่อด้วยภาพการใช้ชีวิตสำราญ ข้างทะเลสาบซีหู ในที่นี้มิได้สื่อความแค่ซีหู แต่หมายถึงหังโจวทั้งเมือง หลงระเริงกับความสำราญ มัวเมากับวัตถุ ลืมหน้าที่ความรับผิดชอบ จนต้องถามว่า เมื่อไหร่จะหยุด จบบาทที่สองอย่างหนักแน่น มีพลัง กวีตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจด้วยความผิดหวังและกังวล ภาพในบาทที่สาม สายลมอุ่นที่พัดโชยทำให้คนเดินทางมึนด้วยความสุข สื่อความนัยว่า ความสุขสบายในหังโจวมอมเมาจนทำให้ลืมเหตุการณ์ในอดีต มิได้นำมาเป็นบทเรียน มิได้ใช้ชีวิตอย่างมีสติในความถูกต้อง หลงคิดว่าเมืองหังโจวเป็นเปี้ยนโจว (เมืองไคเฟิง) เมืองหลวงเมื่อครั้งยังอยู่ทางเหนือ เมื่อก่อนจะแตกเสียเมืองแก่พวกกิมก๊กนั้น ก็มีสภาพหลงระเริงมัวเมากับความสำราญเฉกเช่นนี้ บทกวีนี้มีชื่อเสียง ถูกใจผู้คน คงคู่มากับยุคสมัย แม้จะผ่านมา 800 กว่าปีแล้วก็ยังให้แง่คิดที่ดี “ร้องรำทำเพลงข้างซีหู เมื่อไหร่จะพัก ลมอุ่นมอมเมาคนเดินทาง”