Please wait...

<< Back

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง วันอังคารที่ 4 มกราคม 2537

(น.17) ท่านซ่งเล่าว่าการดูงานในเมืองไทยนั้นท่านสนใจว่ามหาวิทยาลัยประสานงานด้านการศึกษากับการผลิต(อุตสาหกรรม)อย่างไร ข้าพเจ้าเล่าว่าได้มีบางมหาวิทยาลัยประสานงานกับสถาบันการศึกษาที่ซีอาน ท่านทูตมนตรีเล่าว่าที่ซีอานมีสถาบันการศึกษา 40 แห่ง ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ท่านซ่งเล่าต่อไปว่าเคยไปสงขลาเข้าเยี่ยมศูนย์วิจัยยาง ท่านมีความเห็นว่า งานที่สำคัญคือเทคโนโลยีระดับสูง ถ้าไม่มีประเทศก็พัฒนาไม่ได้ นอกจากนั้น ด้านการควบคุมมลภาวะซึ่งทำให้ประเทศสกปรกก็สำคัญเช่น กัน ข้าพเจ้าถามว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงานหรือไม่ ท่านบอกว่าปัญหาใหญ่ของจีนคือการใช้ถ่านหินเป็นพลังงานประมาณ 1,000 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 70% ของพลังงานทั้งหมด ทำให้เกิดปัญหาอย่างหนึ่งคือ green house effect และเกิดเรื่องมลภาวะจากไอเสีย ต้องควบคุมให้น้อยลง ขณะนี้กำลังพิจารณาร่วมมือเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่ากับไทย เพราะพวกมิจฉาฉีพได้ลักลอบนำสัตว์เข้ามาขายข้ามประเทศ นอกจากนั้นสัตว์ป่ายังวิ่งไปมาข้ามแดนโดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง ชาวบ้านไม่ทราบว่าอะไรจะต้องอนุรักษ์ ก็ยังล่าสัตว์สงวนกับอยู่ เจ้าหน้าที่ควบคุมไม่ได้ทั่วถึง จีนอนุรักษ์แต่สัตว์ที่เพาะเลี้ยงไม่ได้ จระเข้เพาะได้แล้ว ส่วนเสือนี้เลี้ยงลำบากเพราะต้องให้วัววันละตัว

(น.18) การอนุรักษ์พืชพรรณธรรมชาติเขตร้อน ซึ่งสามารถร่วมงานกับไทยได้นั้นมีอยู่ 2 แห่ง คือ ที่สิบสองปันนา และที่เกาะไหหลำ อยากให้มีการขยายงานเพิ่ม และแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญกับไทย ในจีนเริ่มทดลองปลูกยางพารา โดยเอาพันธุ์จากไทยและพม่า ส่วนมากซื้อจากไทย (ว่าท่านรัฐมนตรีกู้เป็นผู้ซื้อ) หลายแสนตัน น้ำมันปาล์มซื้อจากมาเลเซีย ท่านรัฐมนตรีกู้ (เคยเป็นผู้แทนอยู่มณฑลเจียงซู) เล่าว่าปีที่แล้วไปเมืองไทย ทำความตกลงซื้อยางพารา และได้ไปสวนยางพาราทางด้านตะวันออกได้ไป EASTERN SEABOARD ด้วย ท่านทูตหลี่ซื่อฉุนบอกว่าข้าพเจ้าเป็นทหาร ข้าพเจ้าจึงว่าสอนประวัติศาสตร์อยู่ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ท่านซ่งว่าเรื่องการสอนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติให้เยาวชนรู้นั้นเป็นเรื่องสำคัญตามคำสุภาษิตจีนกล่าวว่า “ให้เอาประวัติ ศาสตร์เป็นกระจกส่อง” ข้าพเจ้าพูดว่าเคยไปศึกษาเรื่องรีโมทเซนซิ่งที่ AIT ต่อมาได้ร่วมประชุมเรื่องนี้หลายครั้ง ได้พบกับศาส- ตราจารย์เฉินซู่เผิง รู้จักกัน และได้ดูงานในจีนตอนไปแสดงกิจการที่ห้องสมุดปักกิ่ง ท่านซ่งบอกว่าศาสตราจารย์เฉินเป็นเพื่อนกัน ท่านได้แต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์รีโมทเซนซิ่งแห่งชาติ ปีนี้ได้งบประมาณมากในด้านการศึกษาสำรวจทรัพยากร ศาสตราจารย์เฉินมีพื้นฐานการศึกษาด้านธรณีวิทยา ส่วนท่านศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศในด้านทฤษฏี วงจรอิเล็กทรอนิกส์ การคำนวณวิถีการยิงจรวด แต่เห็นว่าในขณะนี้เทคโนโลยีที่ต้องสนับสนุนมากอีกอย่างคือ

(น.19) เรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ต้องถือว่าสำคัญเป็นอันดับ 1 เพราะเป็นเรื่องของการผลิตอาหาร เสื้อผ้า เครื่อง- นุ่งห่ม ยารักษาโรค ท่านทูตหลี่เล่าขึ้นมาอีกเรื่องข้าพเจ้าไปแอนตาร์กติกา ไปอยู่ฐานของนิวซีแลนด์ ดูงานทางวิทยาศาสตร์หลายอย่าง เช่น การศึกษาเรื่องโอโซน แผ่นดินไหว (Seismology) ด้านชีววิทยา เป็นต้น ท่านซ่งเล่าว่าจีนมีฐานที่แอนตาร์กติกา 2 ฐาน คือ ฐานที่ต้องเดินทางจากอาร์เจนตินา และอีกฐานเดินทางจากออสเตรเลีย ศึกษาเรื่องธรณีวิทยา และชีววิทยาทางทะเล (Marine Biology) แล้วเล่าเรื่องแผ่นดินแอนตาร์กติกาที่แต่ก่อนติดกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเอเชีย แล้วแยกออกจากกัน แผ่นดินกระทบกันทำให้เกิดเทือกเขาหิมาลัย เกิดทะเลทราย พอดีรับประทานเสร็จ สองทุ่มตรง จึงยุติการสนทนาแต่เพียงเท่านี้ ก่อนจะลา ท่านซ่งแนะนำว่า เดินทางไปตะวันออกเฉียงเหนือต้องสวมเสื้อหนาๆ และดื่มน้ำมากๆ ซึ่งตรงกับคำแนะนำที่ข้าพเจ้าได้รับตอนไปแอนตาร์กติกา อาหารวันนี้อร่อยดีตามเคย มีออร์เดิฟ ซุปเยื่อไผ่ใส่ไข่นกพิราบ หูฉลามปนกับปลิงทะเล กระเพาะปลา หอยเป๋าฮื้อ ปลานึ่งในกระดาษฟอยล์ เป็ดปักกิ่ง ( เขาเติมให้ข้าพเจ้า ! ) ผักต้ม แถมบะหมี่เสฉวน ของหวานมีเค้ก มันกบ (ที่จริงคือต่อมหลังใบหูของกบ) ลอยแก้ว เป็นอาหารพิเศษของมณฑลจี๋หลิน (รักษาโรคได้หลายอย่าง) ซาละเปาทอด และผลไม้ (น.20) เมื่อรับประทานเสร็จลากลับตึก 12 วันนี้ไม่ค่อยหนาวเห็นจะเป็นเพราะไม่มีลม นัดกันว่าพรุ่งนี้จะวิ่งหกโมงครึ่ง เพราะก็เท่ากับตีห้าครึ่งบ้านเรา ตอนนี้หน้าหนาว คงมืดตื้อ จากนั้นก็รื้อข้าวของ อาบน้ำ แลกเงิน ฯลฯ ข้าพเจ้ามาอยู่เตี้ยวหยูว์ไถครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว ไม่ได้คิดเขียนหรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับอาคารรับรองนี้ แต่พี่หวานว่าน่าสนใจดีเลยแปลย่อๆมาให้ ข้าพเจ้าได้นำข้อมูลมาเรียบเรียงไว้ในภาคผนวก ข อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษมีข่าวน่าสนใจอื่นๆอีก เช่น เรื่องธนาคารโลกให้เงินกู้จีนสำหรับการอนุ- รักษ์ป่าไม้ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในโครงการปลูกป่า ขยายป่าสงวนแห่งชาติ การปลูกป่าเศรษฐกิจ (เพื่อใช้ไม้) เขตโครงการอยู่ทางทิศใต้ และตะวันออกของจีน (กวางตุ้ง กวางสี ไหหลำ ยูนนาน หูหนาน หูเป่ย เจ้อเจียง และชานตุง) มีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมศูนย์ป่าไม้ทั้งประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกันแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น มีระบบติดตามควบคุมผลไม่ให้การปลูกป่าก่อให้เกิดการพังทลายของดิน โครงการเงินกู้ของธนาคาร โลกนี้นอกจากมีเป้าหมายในการปลูกป่าแล้ว ยังมุ่งให้มีแนวคิดใหม่และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในงานป่าไม้ การสร้างแนวป่ากันชน (Shelter-belts) และปรับปรุงการดำเนินการของอุทยานแห่งชาติ


(น.21) รูป 9 การเดินทางครั้งนี้มีข้อมูลมาก เพราะฉะนั้นต้องเรียบเรียงเป็นประจำทุกวัน