Please wait...

<< Back

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2537


(น.67) รูป 98 มนุษย์หิมะแห่งเมืองเฮยหลงเจียง


(น.68) รูป 99 มนุษย์หิมะแห่งเมืองเฮยหลงเจียง


(น.69) รูป 100 รองผู้ว่าราชการมณฑลและประธานสภาบรรยายเกี่ยวกับมณฑล

(น.69) เมื่อกลางวันนี้อาจารย์ธิดา หมอ และขลุ่ยตามมารับประทานด้วยได้ บอกว่าท่านทูตไม่เป็นอะไร ตอนกลางคืนรองผู้ว่าราชการมณฑลและประธานสภาประชาชนของเฮยหลงเจียงเลี้ยง ก่อนเลี้ยงอาหารมีการบรรยายเช่นเคย แต่ครั้งนี้แบ่งเป็นการบรรยายของรองผู้ว่าฯ เรื่องสภาพทั่วไปด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากร สถานการณ์การผลิตและอุตสาหกรรม ท่านซุน ประธานสภา จะพูดเรื่องความร่วมมือระหว่างมณฑลกับประเทศไทย มณฑลเฮยหลงเจียงเป็นมณฑลที่อยู่เหนือที่สุดของจีน มีพรมแดนติดกับต่างประเทศ เนื้อที่ประมาณ 460,000 ตาราง

(น.70)กิโลเมตร ประชากร 36.5 ล้านคน มีรูปร่างคล้ายกับห่านฟ้าบินทะยานขึ้นสู่ฟ้า มีพรมแดน 3,045 กิโลเมตร ติดต่อกับประเทศรัสเซีย มีแม่น้ำเฮยหลงเจียงกั้น มณฑลนี้นับเป็นฐานที่สำคัญที่สุดในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของจีน อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ปิโตรเคมี เครื่องจักร เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ถ่านหิน ป่าไม้ อาหารต่างๆ น้ำมันดิบที่นี่มีประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำมันทั่วประเทศ ถ่านหินมีหนึ่งในสาม มีทองคำ เงิน กราไฟท์ (ซึ่งใช้คำขั้วบวกของแบตเตอรี่) ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวเจ้า ข้าวฟ่าง ขณะนี้เปิดประเทศติดต่อกับประเทศเครือจักรภพรัฐเอกราช ซึ่งเป็นส่วนของสหภาพโซเวียตเก่า มี 21 ด่าน ได้ทำการค้าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ บางส่วนก็แลกเปลี่ยนกันเป็นสิ่งของ มีการค้าระหว่างมณฑลกับประเทศในยุโรปตะวันออกรวมประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ทราบว่าข้าพเจ้าสนใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน จึงอยากจะบรรยายเสริมว่าได้พบมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์หลายแหล่ง เช่น ที่อั๋งอั๋งซี เมืองฉีฉีฮาเอ่อร์ เป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ สำหรับในปัจจุบันนี้มีคนกลุ่มน้อย 48 ชนเผ่า รวม 2 ล้านกว่าคน ในสมัยราชวงศ์ถัง บริเวณหมู่บ้านตานเจียง อำเภอหนิงอัน เป็นที่ตั้งของประเทศโป๋ไห่ซึ่งเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญมาก ปัจจุบันมีร่องรอยประวัติศาสตร์เหลืออยู่ที่ซ่างจิง มีนิทาน


(น.71) รูป 101 งานเลี้ยงอาหารค่ำ

(น.71)เรื่องโป๋ไห่สืบทอดกันมา มีเรื่องงิ้วที่ส่งไปแสดงที่ฮ่องกงเกี่ยวกับพระราชธิดากษัตริย์โป๋ไห่ซึ่งมีความงามและความสามารถ ท่านประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วได้ร่วมกับคณะเดินทางไปเมืองไทย 8 วัน เพื่อดูงานด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชากรและการศึกษา สนใจเรื่องอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และเรื่องปูนซีเมนต์ ได้หารือเรื่องการผลิตอาหารสัตว์และปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ก็มีเรื่องสำนักพิมพ์ มณฑลนี้มีน้ำมันมากจึงกลั่นทำยางมะตอยได้ การร่วมมือเป็นไปได้สูงมาก คนจีนและคนไทยผูกพันกันมานาน มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันที่จะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ได้พูดถึงประสบการณ์ที่ไปเมืองไทย


(น.72) รูป 102 ของขวัญที่ได้รับ

(น.72) เมื่อพูดจบแลกของขวัญ แล้วไปรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นแบบจีนปนรัสเซีย มีสลัดมันฝรั่ง ซุปมะเขือเทศ ทำแบบ borsch ของรัสเซีย ไก่บดแบบ Kiev ซุปอุ้งตีนหมี ปลา sturgeon สตูเนื้อวัว วัวนี้เรียกว่า เฝยหนิว แปลว่า วัวอ้วนพี แต่ไม่ได้มีมันมาก เป็นการเลี้ยงอย่างพิเศษคือให้วัวกินเบียร์วันละ 4 ครั้ง และนวดให้ด้วยวันละ 2 ครั้ง ตัวหนึ่งน้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ต้นพันธุ์มาจากเมืองฉินฉวนในมณฑลส่านซี แต่ก่อนเคยสั่งวัวแบบนี้จากเกาหลี เวลานี้ไม่ต้องสั่งแล้ว เนื้อธรรมดาเวลาเอาไปทอดหรือต้มนานๆ จะแข็ง แต่เนื้อวัวแบบนี้จะไม่แข็ง อาหารนอกจากนั้นมีกะหล่ำปลีทำแบบอาหารฝรั่ง ซุปมักกะโรนี ข้าวผัด ซาละเปานึ่ง ซาละเปาทอด จบด้วยไขมันกบหิมะลอยแก้วเช่นเคย แต่แรกข้าพเจ้าเข้าใจว่าฮาชื่อมาเป็นไขมันหน้าท้องกบ ที่จริงแล้วเป็นไขมันบริเวณหูที่กบใช้เวลาจำศีล ส่วนที่หน้าท้องเป็นไข่กบที่ชาวบ้านชอบ ขากบก็ทอดกินได้ กบชนิดนี้ออกไข่ในน้ำที่มีสัตว์เล็กๆ เพื่อให้ลูกที่ออกจากไข่มีอะไรกิน


(น.73) รูป

(น.73) สิ่งที่เขาภูมิใจอีกอย่างคือน้ำแร่จากทะเลสาบปล่องภูเขาไฟทั้ง 5 หรือที่เรียกกันว่าอู่ต้าเหลียน ปล่องภูเขาไฟนี้ไม่เก่าแก่มาก อายุประมาณ 200 ปีมานี้เอง มีแร่ที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น โซเดียม แคลเซียม โปตัสเซียมไบคาร์บอเนต คาร์บอนไดออกไซด์ แมกนีเซียม ทะเลสาบทั้ง 5 นี้น้ำไหลติดต่อกันได้ มีคนไปอยู่บริเวณทะเลสาบทั้ง 5 เนื่องจากเชื่อว่าน้ำนี้ใช้ปลูกผมได้ วิธีการคือโกนหัวให้เกลี้ยงก่อนแล้วเอาน้ำผสมดินพอก ต่อไปจะผมงอกมากขึ้นกว่าเดิม (พอดีข้าพเจ้าไม่ได้หัวล้านจึงไม่ได้สนใจไปมากกว่านี้) นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณรักษาโรคเก๊าต์ ไขข้อ โรคกระเพาะอาหาร บางคนไปอยู่บริเวณนี้เป็นเดือนๆ การเดินทางไปนั่งรถ 5 ชั่วโมงจากฮาร์บิน (อยู่ระหว่างเฮยเหอกับฮาร์บิน ใกล้เฮยเหอมากกว่า) บริเวณอู่ต้าเหลียนนี้ รองผู้ว่าฯ เล่าว่ากำลังปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ภูเขาไฟในอุทยานแห่งชาติ เพราะเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เมื่อ 200 ปีกว่าภูเขาไฟระเบิดลาวา ทำให้เกิดทะเลสาบทั้ง 5 มีน้ำพุแร่

(น.74) รองผู้ว่าฯ เป็นคนเหอเป่ย คือพ่อแม่อยู่ที่นั่น ตัวเองเกิดที่มณฑลเหลียวหนิง แล้วไปเรียนอุตสาหกรรมเคมีที่ปักกิ่ง ทางนี้มีงานด้านอุตสาหกรรมเคมีมากจึงมาอยู่ ข้าพเจ้าคุยถึงเรื่องวัดรัสเซียที่ไปดูเมื่อเช้า ประธานสภาฯ เล่าว่าเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว มีคนรัสเซียอยู่ถึง 7 แสนคน ส่วนมากจะกลับประเทศหรือไปประเทศอื่น ที่ไปมากได้แก่อิสราเอล (เพราะส่วนใหญ่เป็นพวกยิว) อีกแห่งคือออสเตรเลีย ข้าพเจ้าถามถึงชื่อเมืองฮาร์บิน ท่านประธานสภาฯ อธิบายว่าเป็นคำภาษาเอ้อหลุนชุน แปลว่า ที่ตากแห อธิบายว่าสมัยนั้นชนกลุ่มน้อยจะทำการประมงอยู่ในแม่น้ำเฮยหลงเจียงและอูซูหลี่เจียง จะต้องเอาแหออกตากเพื่อซ่อม แสดงว่าหนังสือที่ข้าพเจ้าอ่านกับที่อาจารย์สารสินอ่านถูกกันคนละครึ่ง (พวกเอ้อหลุนชุนเป็นพวกมองโกลแขนงหนึ่ง) ข้าพเจ้าถามถึงสถานสงเคราะห์คนชราต่างประเทศหรือว่ายเฉียวหยางเหล่าย้วน บางทีก็ใช้คำว่า “จิ้ง” แทน “หยาง” แสดงความเคารพ คนที่อยู่ในสถานที่นี่เป็นคนต่างชาติ หรือไม่ก็ไร้สัญชาติที่ไม่สามารถกลับถิ่นเดิมได้ ที่มีจำนวนมากที่สุดได้แก่ พวกรัสเซีย ส่วนมากเป็นพวกยิว ญี่ปุ่นก็เคยมี มีสุสานสำหรับบุคคลเหล่านี้ด้วย ที่แปลกคือ เล่ากันว่าหินที่ทำเป็นหินปักหน้าหลุมศพ ส่วนหนึ่งมาจากอินเดียและไทย เพราะมีคุณภาพดี


(น.75) รูป 103 การแกะสลักน้ำแข็งจากแม่น้ำเป็นอาคารต่างๆ

(น.75) เมื่อรับประทานเสร็จแล้วกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าให้หนาขึ้น และไปดูงานน้ำแข็งแกะสลัก น้ำแข็งที่ใช้สลักคัดมาจากแม่น้ำซงฮัว ที่นี้ทำมานานและเป็นระบบ มีอาคารถาวรเป็นของบริษัท ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 20 ต้องเตรียมงานครั้งหนึ่งนานถึง 6 เดือน มีบริษัทต่างๆ ให้เงินทุนสนับสนุนและได้โฆษณาสินค้าไปในตัว มี


(น.76) รูป 104 การแกะสลักน้ำแข็งจากแม่น้ำเป็นอาคารต่างๆ


(น.77) รูป 105 การแกะสลักน้ำแข็งจากแม่น้ำเป็นอาคารต่างๆ

Next >>