Please wait...

<< Back

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 3 จี๋หลิน วันอังคารที่ 11 มกราคม 2537


รูป 262 ภายนอกอาคารที่เหวินเมี่ยว

(น.161) จากนั้นกลับเรือนรับรอง รองนายกเทศมนตรีอธิบายว่า ช่วง 2 ปีนี้มีการตัดถนนใหม่ สร้างที่อยู่ของประชาชนใหม่ให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ในแม่น้ำซงฮัวนี้แต่ก่อนมีปลามาก 50 กว่าชนิด สำรวจใหม่พบแค่ 43 ชนิด บางอย่างมีค่ามาก สมัยก่อนต้อง


(น.162) รูป 263 ภายนอกอาคารที่เหวินเมี่ยว

(น.162) ส่งถวายจักรพรรดิ ผ่านหลงถานซาน มีสะพานหลงถาน ข้ามไปเป็นเขตอุตสาหกรรมเคมี มีบริษัทเคมีภัณฑ์ที่รัฐบาลวางแผนตั้งแต่แผนเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับปี ค.ศ. 1952 – 1957 ทำพวกสีย้อม ท่านจูหลินภรรยาท่านหลี่เผิงเคยทำงานอยู่ที่นั่น เชื้อเพลิงจรวดก็ผลิตเมืองนี้ มีโรงงานผลิตกระดาษใหญ่ที่สุดในจีน ผ่านโรงพยาบาลเด็ก โรงละคร ธนาคาร กรมตำรวจ แม้ตอนบ่ายนี้อู้ซงก็ยังอยู่ ประมาณบ่าย 5 โมงไปที่อาคารซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับที่พัก นายกเทศมนตรีมารับ ถ่ายรูปหมู่กันหน้าลายพระหัตถ์ของพระเจ้าคังซี เป็นบทกวีเกี่ยวกับแม่น้ำซงฮัว เข้าไปในห้องรับรอง นายกเทศมนตรีกล่าวต้อนรับแสดงความยินดีที่มาในช่วงที่เมืองจี๋หลินกำลังงดงาม ได้พัฒนามิตรภาพไทย – จีนยาวนานมาถึง 1,000 ปี ซึ่งได้พัฒนาเพิ่มขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ทางการทูต การที่ข้าพเจ้ามาเมืองจีนครั้งที่ 5 ก็เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์เป็นอย่างดี มาครั้งนี้ได้มาจี๋หลินเป็นครั้งแรกจึงขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับเมือง เรื่องธรรมชาติและการพัฒนา


(น.163) รูป 264 อาหารค่ำ นายกเทศมนตรีต้อนรับ

(น.163) จี๋หลินอยู่ภาคเหนือของจีน มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง แต่ก่อนเรียกว่าฉวนฉ่าง สมัยชิงจึงเปลี่ยนชื่อเป็นจี๋หลินอูลา เป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 22 ในเมืองใหญ่ทั้งหมด 54 เมืองของจีน เขตการปกครองมี 2 อำเภอ 3 เทศบาลนคร 4 เขต เนื้อที่ 24,200 ตารางกิโลเมตร ประชาชน 4 ล้าน 2 แสน 6 หมื่นคน เป็นเมืองเปิดที่รัฐบาลอนุมัติ มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก มีแร่ธาตุทั้งที่เป็นโลหะและอโลหะถึง 27 ชนิด มีเหล็กมาก (เลยดูดอุกาบาตเหล็กมาอีก อันนี้ข้าพเจ้าว่าเอง) ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ราว 50.3 % มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นเมือง 1

(น.164) ใน 6 ของจีนที่ไม่เคยขาดน้ำ มีอุตสาหกรรมหลัก 4 ประเภท คือ ปิโตรเคมี โลหะ ไฟฟ้า รถยนต์ ปิโตรเคมีใหญ่ที่สุด มีการทำกระดาษ ถลุงโลหะ มีการท่องเที่ยวทั้ง 4 ฤดู แม่น้ำซงฮัวเจียงไหลผ่านกลางเมือง ไหลเป็นรูปตัว S รอบเมืองล้อมด้วยภูเขา ดินฟ้าอากาศกึ่งอากาศทะเล มีแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างประเทศสนใจ ได้แก่ หมอกควันน้ำแข็ง (อู้ซง) (ไม่ทราบจะแปลอย่างไร) เป็นลักษณะทางธรรมชาติพิเศษ 1 ใน 4 ของสิ่งมหัศจรรย์จีน คือ แม่น้ำฉางเจียง ป่าหิน กุ้ยหลิน และจี๋หลิน อู้ซงนี้ไม่ใช่หิมะ ไม่ใช่น้ำแข็ง เป็นผลึกเหมือนปะการังสีขาว มีแสงระยิบระยับ ดังได้เห็นมาแล้ว สิ่งมหัศจรรย์อีก 3 อย่าง (ทิวทัศน์กุ้ยหลิน ป่าหินที่ยูนนาน และช่องแคบซานเสียแห่งแม่น้ำฉางเจียง) ไปได้ทุกเวลา แต่ที่จี๋หลินนี้มีอู้ซงแค่ 3 เดือนและไม่ได้มีทุกวัน ประมาณ 30 หนเท่านั้น (เวลาทำกำหนดการการมาเยือนภาคอีสานของจีนในครั้งนี้ ยังต้องเขียนว่าถ้ามีอู้ซงทำอย่างไร ไม่มีอู้ซงจะทำอย่างไร) การได้เห็นนับว่าเป็นมงคล ส่วนมาก 10 โมงก็หมดแล้ว ตอนประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินมาเยือนก็ได้ชมและได้เขียนบทกวีชมความงามของอู้ซงไว้ว่า
ต้นหลิวริมธารน้ำหนาวเหน็บประดับด้วยเกล็ดหิมะ
ประดุจต้นไม้หยกแซมด้วยดอกไม้สีขาว
เกล็ดหิมะในสายหมอกที่จี๋หลิน
สวยงามสมดังคำร่ำลือเสียนี่กระไร


(น.165) รูปโคม

(น.165) ประธานาธิบดีมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1991
ที่นี่มีสนามฝึกสกีและสเกตน้ำแข็ง มีแม่น้ำ ทะเลสาบที่งามที่สุดก็คือเทียนฉือ ยังมีไป๋ซานหู หงหู อุทยานแห่งชาติเนื้อที่ 580 ตารางกิโลเมตร รักษาสภาพป่าไว้ แม้กระทั่งต้นไม้สองฝั่งถนนก็เป็นที่พักอย่างดี


(น.166) รูป 265 ของที่ระลึกที่มีชื่อเสียงของเมืองจี๋หลินคือ รากไม้ที่อยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ ศิลปินเอามาตกแต่งเป็นรูปร่างต่างๆ


รูป 266 ของที่ระลึกที่มีชื่อเสียงของเมืองจี๋หลินคือ รากไม้ที่อยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ ศิลปินเอามาตกแต่งเป็นรูปร่างต่างๆ

(น.166) นักท่องเที่ยวยังสามารถชมประเพณีแมนจูหลากหลาย เพราะที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดของชนชาติแมนจู จักรพรรดิคังซี จักรพรรดิเฉียนหลงก็เสด็จมา มีตำหนัก ศิลาจารึก ภาพเขียน มีพิพิธภัณฑ์ลูกอุกกาบาตใหญ่ที่สุดในโลก มีดาวตกปี ค.ศ. 1976 สรุปจบด้วยการอวยพร ให้ของขวัญเป็นรากไม้รูปช้าง รากไม้นี้งมขึ้นมาจากทะเลสาบซงฮัว ซึ่งน้ำท่วมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1937 เปลือกรากต้นไม้เน่าไปแล้วเหลือแต่แก่น ต้องให้ศิลปินพิจารณาจึงจะดูว่ารากไม้ชิ้นนั้นเหมือนอะไร แล้วตกแต่งเล็กน้อย


(น.167) รูป 267 เลี้ยงอาหารพื้นเมือง

(น.167) นายกเทศมนตรีเป็นคนชานตุง เป็นผู้เชี่ยวชาญทางคมนาคม เคยสร้างทางจี๋หลิน – ฉางชุน และวางแผนสร้างอีกสายปี ค.ศ. 1995 สร้าง 3 ปี ไปฉางชุน เสิ่นหยาง ปักกิ่ง จากฉางชุนไปอีก 9 เมือง อาหารที่จัดวันนี้เป็นอาหารพื้นเมืองท้องถิ่นจริงๆ ตั้งแต่เหล้าก็เป็นเหล้าแดงทงฮั่ง รากกระเทียมป่า ปลาดิบใบไม้ (ใบต้วน) ห่อข้าวเหนียวไส้ถั่ว ปลานึ่งจากแม่น้ำซงฮัวเจียงเป็นปลาขาว เดิมปลาชนิดนี้เป็นของสำหรับถวายจักรพรรดิโดยเฉพาะ (ของที่เป็นบรรณาการมีอยู่ 4 ชนิดคือ 1. ข้าวไร่ 2. ข้าวฟ่างขาว (อูลาเจียง) 3. ข้าวเจ้า (ปลูกน้ำ) 4. ปลา) นอกจากนั้นมีกบหิมะ (ทั้งคาวและหวาน) เนื้อกวางย่าง ซี่โครงหมูแบบอู๋ซี ซุปข้นเอ็นกวางสามอย่าง (เขา เอ็น หัวใจ) ไก่ฟ้าทอด ที่ข้าพเจ้าชอบมากเป็นพิเศษคือถุงแป้ง ใช้แป้งแบบที่ใช้ห่อเป็ดปักกิ่ง ใส่หอมหัวใหญ่ลงไปก่อน ราดน้ำจิ้มซึ่งเหมือนกับน้ำจิ้มเป็ดปักกิ่ง ใส่ไก่ทอดลงไป สุดท้ายกินสุกี้ใส่หม้อไฟ


(น.168) รูป 268 เลี้ยงอาหารพื้นเมือง


รูป 269 เลี้ยงอาหารพื้นเมือง

Next >>