Please wait...

<< Back

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง วันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2537

(น.32) ห้องที่ 6 สมัยเหลียว วัฒนธรรมพวกฉีตาน (ค.ศ. 926-1125) คนส่วนนี้กลุ่มหนึ่งไปอยู่ทางตะวันตกแถบมณฑลซินเกียง เรียกว่าเหลียวตะวันตก การศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนี้ค่อนข้างยากเพราะชื่อเมืองก็เรียกต่างๆกันไป ผิดจากที่ใช้กันก่อนสมัยราชวงศ์เหลียว เช่น เมืองปักกิ่งเรียกกันว่าซ่างจิง ส่วนเมืองหลินหวงฝู่ (ปัจจุบันอยู่มองโกเลียใน) กลับเรียกว่าเมืองเป่ยจิง ส่วนเมืองต้าถงเรียกซีจิง เมืองเหลียวหยางเรียกตงจิง เป็นเมืองหลวงในขณะนั้น


(น.33) รูป

(น.33) วัฒนธรรมในแถบนี้คล้ายกับราชวงศ์ฮั่น แต่ที่พิเศษคือมีการโยกย้ายเร่ร่อน เจอสุสานของสตรีสูงศักดิ์ ทำเป็นรูปบ้านคน ศพใส่โลงหิน ของที่ใส่ในสุสานหลายอย่างไม่ใช่ของในท้องถิ่น เป็นของมาจากทางใต้ มีภาชนะเคลือบขาวสมัยราชวงศ์ซ้อง (ถ้าไม่บอกว่าเป็นของเก่าก็ดูไม่ออก คิดว่าเป็นชามก๋วยเตี๋ยวยุคปัจจุบัน) หมากรุกโบราณเรียกว่าชวงลู่ เข้าใจว่าเป็นอย่างเดียวกับที่มีบรรยายไว้ในวรรณคดีเรื่องหงโหลวมิ่ง เครื่องเขิน ผู้ตายสวมเสื้อไหมปักทองซ้อนกันหลายชั้น มีเครื่องประดับม้า มีม้วนภาพเขียน ของทำด้วยแก้วโมรา


(น.34) รูป 48 ฟังบรรยายก่อนให้ดูของพิเศษ

(น.34) ห้อง 7 ก็เป็นของราชวงศ์เหลียวเช่นเดียวกัน มีมงกุฎกาไหล่ทอง เครื่องประดับม้า กระดิ่ง เครื่องม้าสลักรูปมังกรคู่ ตัวอย่างหินจากโลงศพสลักเป็นรูปรถเทียมอูฐ เครื่องเซรามิกเคลือบขาว แผ่นปิดหน้าคนตายทำด้วยทองแดง นิทรรศการส่วนหนึ่งในห้องนี้เกี่ยวกับพุทธศาสนาสมัยเหลียวใต้ซึ่งเจริญมาก มีพระเจดีย์ พระธาตุ ภาพที่สลักบนเจดีย์ ขอบทำเป็นรูปเทวดาเหาะ คล้ายๆกับที่พบแถบถ้ำตุนหวง ภาพเขียนฝาผนังภายในก็คล้ายๆกัน มีรูปทวารบาลไว้ทรงผมแปลก คือโกนหัวหมดปล่อยแต่ข้างๆยาว ทำให้นึกถึงพวกผู้ชายแมนจูที่โกนหัวครึ่งหนึ่งและที่เหลือถักเปียยาว พวกมูเซอร์ดำทั้งชายหญิงโกนหัวด้านหน้าด้านหลังปล่อยยาว พวกนายพลเหลียวก็ไว้ผมสองแกละอย่างนี้เช่นกัน


(น.35) รูป 49 ของพิเศษในพิพิธภัณฑ์

(น.35) เมื่อดูแค่นี้ทางพิพิธภัณฑ์เชิญมานั่งที่ห้องรับรองและกล่าวต้อนรับ กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โบราณของเหลียวหนิงว่าเก็บศิลปวัตถุ ภาพเขียน ผ้าแพรไหม ภาชนะกระเบื้องสำริด ทองแดง เครื่องบูชาทางพระพุทธศาสนา ของจากต่างประเทศ ปีหลังๆ มีการติดต่อร่วมงานกับทางสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮอลแลนด์ อิตาลี มีการส่งของโบราณไปแสดงต่างประเทศ โบราณวัตถุที่มีในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นับว่าสมบูรณ์ดีมากเมื่อเทียบกับที่อื่นทั่วจีน


(น.36) รูป 50 มังกรทำด้วยหยก

(น.36) การบริหารพิพิธภัณฑ์เมื่อเทียบกับชาวต่างประเทศยังถือว่าด้อยอยู่ฉะนั้นอยากมีการแลกเปลี่ยนความรู้กับพิพิธภัณฑ์ของประเทศอื่น หวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนกับไทย ให้มีคนไทยมาดูมากขึ้น มีของบางอย่างที่มีค่าสูง ซึ่งเขาเก็บเอาไว้ไม่ได้จัดแสดงของจริงในพิพิธภัณฑ์ แต่จะเอามาให้ข้าพเจ้าดูเป็นพิเศษ แต่ห้ามถ่ายรูป เขาหยิบมาทีชิ้นๆ ดูเสร็จยกไป แล้วจึงเอาชิ้นใหม่มา


(น.37) รูป 51 มังกรทำด้วยหยก

(น.37)
1.มังกรทำด้วยหยก ศิลปะของวัฒนธรรมหงซาน 5,500 ปีมาแล้ว ที่เป็นสัญลักษณ์ของห้องที่ 2 เข้าใจว่าเป็นเครื่องประดับ เหมืองหยกนี้อยู่ที่ไหนไม่ทราบ หยกที่เหลียวหนิงก็มีแต่ก็ไม่เหมือนกับหยกชิ้นนี้ซึ่งแข็งมาก อาจจะมาจากซินเกียง หรือรัสเซีย
2. หยกรูปสี่เหลี่ยมมีรูตรงกลาง เรียกว่าปี้
3. หยกรูปกระบอก ไม่ทราบว่าสำหรับทำอะไร อาจเป็นเครื่องประดับผม หรือประดับศีรษะ เพราะพบวางอยู่ใกล้ศีรษะคนตายในหลุมศพ ของลักษณะนี้มีในพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ผู้บรรยายเขาว่าข้าพเจ้ายังไม่เคยไปดู) ที่ออสเตรเลียก็มี


(น.38) รูป 52 หยกรูปสี่เหลี่ยมมีรูกลมตรงกลาง


(น.39) รูป 53 ของพิเศษบางชิ้นต้องใช้ถุงมือก่อนจับ


รูป 54 ของพิเศษบางชิ้นต้องใช้ถุงมือก่อนจับ

(น.39)
4. กล่องนี้มี 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นรูปนกเฟิ่งทำด้วยหยก อีกชิ้นหนึ่งมีรูกลม 3 รู ด้านข้างๆ 2 ด้านเป็นรูปหน้าคนไม่ทราบว่าทำด้วยหินอะไร
5. กำไลหยก วัฒนธรรมหงซาน ผู้ชายใส่กำไลข้างเดียว ผู้หญิงใส่สองข้าง อีกชิ้นหนึ่งในกล่องนี้เข้าใจว่าเป็นกำไลต้นแขน พบน้อย


(น.40) รูป 55 หน้ากากดินเผา

(น.40)
6. หน้ากากดินเผา อยู่ในครอบพลาสติก ชิ้นนี้เป็นของจริง ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นของจำลอง เข้าใจว่าเกี่ยวกับพิธีศพ ปั้นตามหน้าคนตาย ส่วนที่ตาเป็น 2 ข้างทำด้วยแผ่นหยก ลักษณะเป็นผู้หญิงชาวมองโกล (ข้าพเจ้าดูแล้วไม่ทราบว่าเขาบอกเช่นนั้นได้อย่างไร) เขาว่าหน้าแบบนี้ยังมีอีก หน้าใหญ่กว่าคนจริง 3 เท่า พบที่วิหารเทพมารดา

7. ภาพที่จักรพรรดิฮุยจงแห่งราชวงศ์ซ้องเป็นผู้เขียนตามเรื่องว่า พระองค์ทอดพระเนตรนกกระเรียนหัวแดงบินเหนือพระตำหนักเป็นสิริมงคล (ทำให้อายุยืน) จึงเขียนภาพไว้ พระนามที่เขียนไว้แปลว่า ผู้เดียวใต้สวรรค์ หมายความว่าเป็นที่ 1 ในโลก จักรพรรดิพระองค์นี้เป็นศิลปินเอก แต่ว่าเป็นนักปกครอง

Next >>