Please wait...
<

<< Back

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก จ

พระราชนิพนธ์บทกวีของพระเจ้าคังซีเกี่ยวกับแม่น้ำซงฮัวเจียง


(น.46) รูป

(น.47) ภาคผนวก จ
(น.48) พระราชนิพนธ์บทกวีของพระเจ้าคังซีเกี่ยวกับแม่น้ำซงฮัวเจียง
ใน ค.ศ. 1682 พระเจ้าคังซีได้เสด็จประพาสภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เสด็จทอดพระเนตรอู่ต่อเรือที่เมืองจี๋หลิน และสักการะเขาฉางไป๋ซาน การเสด็จประพาสในครั้งนั้นได้ทรงพระราชนิพนธ์บทกวี เกี่ยวกับแม่น้ำซงฮัวเจียงไว้ด้วยมีความดังนี้
ลำน้ำซงฮัวเจียง น้ำใสสะอาด
ฝนเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาได้ก่อเกลียวคลื่นแห่งฤดูใบไม้ผลิ
ระลอกคลื่นลูกแล้วลูกเล่างามวิจิตรตระการตา (ซัดกระทบกราบเรือ) แลเห็นเนื้อไม้ต้นกู่ (榖)1 เด่นชัด
ใบเรือหลากสีที่แต่งแต้มด้วยรูปนกเป็ดน้ำพลิ้วไหวลู่ลม

(น.49)
เสียงกระแสน้ำไหลแผ่วเบาดุจบรรเลงเพลง “เซียวเสา” (蕭韶)2
ช่างเจิดจ้าแพรวพราวเสียจริง เจ้าดวงอาทิตย์ที่ทะยานสูงขึ้นจากหมู่เมฆที่ลอยฟ่อง
มังกรคะนองน้ำตื่นตระหนก เมื่อแลเห็นนาวาลอยละลิ่วแล่นฉิวตามกระแสน้ำ
เสากระโดงเรือรบเรียงรายลำแล้วลำเล่า ตั้งมั่น ณ นครริมฝั่งแม่น้ำ
ทหารเสือผู้กล้าหาญพร้อมด้วยสรรพาวุธอันเกรียงไกร
พู่สีแดงบนยอดธงที่ประดับด้วยขนนกและธงที่ประดับด้วยหางจามรีทอดเงาลงบนผิวน้ำ
เรามาเยี่ยมเยียนพสกนิกรหาใช่มาตรวจพล
ลำน้ำซงฮัวเจียง น้ำใสสะอาด
สายน้ำกว้างใหญ่ไพศาล ถาโถมเคลื่อนรุดหน้าไป
แสงเงินแสงทองบนขอบฟ้ากว้างไกลนับหมื่นลี้สะท้อนแสงบนผิวน้ำใสของลำน้ำซงฮัวเจียง

1. “轂” (gŭ) หมายถึง ล้อรถ “榖” (gŭ) เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีเนื้อไม้ลายสวยงาม ใช้ประกอบการต่อเรือ จึงประมาณว่า ประโยคที่ 3 น่าจะลงท้ายด้วย “榖明” มากกว่า “轂明” มีข้อสังเกตว่า ตัวอักษร “轂” และ “榖” เขียนละม้ายคล้ายคลึงกัน และอ่านออกเสียง “gŭ” เช่นเดียวกันด้วย

2.“蕭韶” (Xiāosháo) เป็นชื่อเพลงสมัยพระเจ้าหยูว์ซุ้น (虞舜) ในยุค 4,000 กว่าปีมาแล้ว