<< Back
" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม 2544 "
(น.120) รูป 133 แม่ของเด็กอนุบาลปักกิ่งพาลูกมาหาข้าพเจ้าตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน
A mother took her daughter to meet me in the morning before going to Peking University's kindergarten.
(น.120) วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม 2544
วันนี้อากาศอุ่นขึ้นมาบ้าง ลงไปข้างล่าง ก่อนรำมวยจีนมีแม่ลูกคู่หนึ่งมารออยู่ ได้ความว่าสาวน้อยคนนี้เป็นนักเรียนอนุบาล เมื่อวานโรงเรียนไม่ได้จัดให้มารับข้าพเจ้า เสียใจร้องไห้ คุณแม่จึงต้องพามาหาข้าพเจ้าก่อนไปโรงเรียน มวยจีนวันนี้ต่อถึงท่าที่ 15 แล้ว เป็นท่ายกขาข้างหนึ่ง ยืนไม่ค่อยอยู่
(น.121) รูป 134 รำมวยจีน
Practising Taiji.
(น.121) เรียนภาษาจีนวันนี้ ครูจังอิงอธิบายการบ้านเก่า ข้าพเจ้าเขียนหนังสือตกๆ หล่นๆ ครูเลยเล่าเรื่อง จี้หยุน ซึ่งเป็นเสนาบดีมหาดไทยสมัยราชวงศ์ชิง เป็นคนที่ลายมือดี วันหนึ่งเขาลอกบทกวีของหวังจือฮ่วน
(ค.ศ.688-742) กวีสมัยราชวงศ์ถังถวายจักรพรรดิเฉียนหลง ทรงเห็นว่า จี้หยุนลอกตกไปคำหนึ่ง จี้หยุนกราบทูลว่านี่ไม่ใช่ซือ (ซึ่งแต่ละบรรทัดมีคำเท่ากัน และมีสัมผัส) แต่เป็นฉือ (ซึ่งจำนวนบรรทัดและจำนวนคำในแต่ละบรรทัดเป็นไปตามแบบแผนฉันทลักษณ์ที่แน่นอน และมีสัมผัส) แบ่งคำใหม่ อ่านได้ความเหมือนกัน
ครูเล่าเรื่อง ไช่หยวนเผย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพราะว่าเราได้เดินผ่านอนุสาวรีย์ของท่าน แล้วคุยกันว่าท่านผู้นี้เป็นอธิการบดีเมื่อไร ครูไปดูจารึกที่อนุสาวรีย์ เห็นว่าเป็นอธิการระหว่าง ค.ศ.1906 ถึง 1907 เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนที่มีชื่อเสียง เช่น หลู่ซวิ่น มาทำงานด้วย เคยเป็นรัฐมนตรีศึกษา 2 ปี
(น.122) เรียนศัพท์หน้าที่ 73 ครูเล่าเรื่องในหนังสือและให้ข้าพเจ้าสรุปเพื่อดูว่าจะฟังออกหรือไม่ ปรากฏว่าฟังได้ดี ก่อนเลิกให้การบ้านและศึกษาประวัติของสำนวนจีนว่า เหมาสุ้ย จื้อเจี้ยน ที่แปลว่า เสนอตัวเอง
อาจารย์จังซิ่วหวนมาบอกว่าไปหาข้อมูลแล้ว นิทรรศการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนั้นมีที่ปักกิ่งจริงๆ (ดูทีวีรายการเดียวกัน ข้าพเจ้าฟังถูก หงเอี้ยนฟังผิด) หนูที่มีหูคนอยู่บนหลังที่ข้าพเจ้าเห็นในทีวีนั้นเอามาจากเซี่ยงไฮ้ ตอนนี้ไม่ได้แสดงแล้ว ให้พักผ่อนอยู่ที่โรงพยาบาลทหาร เข้าไปดูไม่ได้ เตรียมส่งกลับเซี่ยงไฮ้ งานนิทรรศการยังดำเนินต่อไป
วันที่ 8 จัดให้พบศาสตราจารย์จี้เซี่ยนหลิน อาจารย์สอนภาษาสันสกฤต เวลา 16:30 น. ปีที่แล้วตอนที่ข้าพเจ้ารับรางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน ท่านมาร่วมงานและกล่าวปาฐกถาด้วย อาจารย์ท่านนี้อายุ 90 ปีแล้ว ได้ยินว่าช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมท่านก็ถูกทำร้ายด้วยประการต่างๆ แต่ก็ทนได้มาจนทุกวันนี้ เห็นจะอาศัยการศึกษาพุทธศาสนา
อีกเรื่องคือ อธิการบดีจะไปต่างประเทศวันที่มหาวิทยาลัยจะเลี้ยง ฉะนั้นจะเชิญไปรับประทานข้าวกันก่อน แต่ยังไม่ทราบว่าไปที่ไหน
เรียนสนทนาภาษาจีน เตรียมเรื่องปัญหาสตรี
(น.122) รูป 135 ดอกไม้ประจำวัน
Flowers of the day.
(น.123) รูป 136 รูปที่เขียนแล้วปิดฝาผนังไว้
The paintings are set on the wall.
(น.123) รับประทานอาหาร วันนี้อาหารเยอะมากมีทั้งข้าวผัด เนื้อปั้นก้อน ซุป ผักดองแบบกิมจิของเกาหลี
รับประทานเสร็จจดบันทึก
ครูมาซ้อมเขียนตัวหนังสือ และเขียนชื่อเป็นอักษร 3 แบบ ข้าพเจ้าเขียนได้แต่ตัวบรรจง (ไข่ซู) ตัวหวัดแกมบรรจง (สิงซู) ตัวหวัด (เฉ่าซู) เขียนไม่เป็น วันนี้ครูชมว่าพัฒนาขึ้น ได้ความว่าครูจังสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสอนพู่กันจีนด้วย
เป็นเพื่อนกับอาจารย์หวังเจี๋ยที่ข้าพเจ้าฟังบรรยายเมื่อวานนี้ ถามว่าทำไมยังไม่เกษียณ อาจารย์บอกว่าศาสตราจารย์เกษียณอายุ 63 ข้าพเจ้าถามว่าทำไมศาสตราจารย์จี้ไม่เกษียณ อาจารย์จังว่านั่นเป็นกรณีพิเศษ วันนี้ครูเขียนหนังสือให้ 4 ตัวว่า เสวีย อู๋ จื๋อ จิ่ง แปลว่า เรียนไม่รู้จบ เหมือนที่นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลพูดไว้ว่า หัว เต้า เหล่า เสวีย แปลว่า มีชีวิตถึงแก่ ก็เรียนถึงแก่
(น.124) รูป 137 เชิญครูที่เคยสอนที่เมืองไทยมารับประทานอาหาร
I invited my Chinese teachers who taught me in Thailand to have dinner.
(น.124) เมื่ออาจารย์ไปแล้ว อาจารย์นิออน พี่หนูเล็ก และจี้มาช่วยจัด “ปาร์ตี้” เลี้ยงครูจีนที่จะมา ส่วนมากเป็นของมาจากสถานทูต เตรียมการเสร็จมาพอดี มีครูจังเยี่ยนชิว ครูคนแรก ครูจิ้งหนานเซิง ครูฟู่อู่อี้ ครูหวังเยี่ย และครูฟั่น
ครูฟู่อู่อี้เอาภาพวาดของซ่งชิ่งหลิงมาให้ ครูหวังเยี่ยเอาหนังสือเด็กสมัยก่อนมาให้ 2 เล่ม ครูจี้หนานเซิงเอากรงนกใส่ถ่านไฟแล้วตบมือนกจะร้อง กับตะเกียบมีกล่องใส่ คราวที่แล้วไปบ้านครูหวังเยี่ย ครูจี้หนานเซิงบอกว่าคราวหน้ามีเวลาให้ไปบ้านครู ครูจังบอกว่าตอนนี้งานยุ่งมาก ตั้งแต่เกษียณอายุก็เลิกสอนภาษาอังกฤษ มาทำงานด้านวัดมาตรฐานความรู้ภาษาอังกฤษ
(น.125) รูป 138 ครูฟู่อู่อี้ และครูหวังเยี่ย
Mrs. Fu Wuyi and Mrs. Wang Ye.
รูป 139 ครูฟู่อู่อี้ให้ภาพวาดฝีมือซ่งชิ่งหลิง
Mrs. Fu Wuyi giving me a painting by Song Qingling.
Next >>