Please wait...

<< Back

" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันพุธที่ 7 มีนาคม 2544 "

(น.175) วันพุธที่ 7 มีนาคม 2544
ลองต่อคอมพิวเตอร์ก็ยังไม่ได้ ช่างมัน อ่านภาษาจีนดีกว่า ตอน 7 โมงลงไปรำมวยจีนเช่นเคย ปรอท -2 ◦c ป้าจันไม่ยอมลงจากอาคารเลย บอกว่าอาจารย์นิออนสั่งไว้ไม่ให้ป่วย ขนาดข้าพเจ้าใส่เสื้อเพิ่มอีกชั้นหนึ่งยังรู้สึกหนาว อาจารย์จังบอกว่าไปรำมวยจีนในโรงยิมดีกว่า วันนี้ต่ออีกท่าหนึ่งเป็นท่าที่ 19 ท่างมเข็มในมหาสมุทร ต่อเฉพาะท่ามือ ยังไม่ทำท่าเท้า อีก 5-6 ท่าก็จบแล้ว ท่าหลังๆ ง่าย เรียนจบแล้ว มีเวลาซ้อมเสียด้วยซ้ำไป ก่อนเรียนอาจารย์จังเอาหนังสือพิมพ์กับจดหมายมาให้


(น.175) รูป 193 อากาศหนาวจึงไปรำมวยจีนในโรงยิม
Practising Taiji in the gym due to cold weather.


(น.176) รูป 194 ดอกไม้ประจำวันและหนังสือเรียนภาษาจีนที่ซื้อมาจากมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง
Today flowers and texts on Chinese language bought from Beijing Language and Culture University.

(น.176) เก้าโมงเรียนภาษาจีน เรียนศัพท์ใหม่และอ่านเรื่องภรรยาตกงานเพราะบริษัทล้ม วันแรกๆ สามีมีความสุขดีเพราะภรรยาทำกับข้าวดูแลบ้านอย่างดี แต่ภรรยาไม่มีความสุข เพราะไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน ก็เลยออกไปหางาน งานดีไม่ดีไม่สนใจขอให้ได้งานก็แล้วกัน ในที่สุดก็ได้งานกะกลางคืน ตั้งแต่นั้นชีวิตในบ้านก็แย่ ลูกสาวก็เอะอะว่าเวลาพ่อยังไม่กลับจากงานจะอยู่กับใคร สามีต้องทำกับข้าวทำงานบ้านทุกอย่างเพราะสงสารภรรยาที่ทำงานเหนื่อย กลับมาก็เอาแต่นอน สามีไปทำงานก็ไม่กล้ากลับบ้านดึกเป็นห่วงลูกสาว จนเพื่อนที่ทำงานล้อว่าเป็นคนกลัวเมีย เรียนไปแค่นี้พอดีหมดเวลา อาจารย์หวังมาบอกว่าพอดีอ่านหนังสือพิมพ์พบข่าวเรื่องหนูที่มีหูคนอยู่บนหลังว่าไม่ใช่ว่าเขาเอายีนคนปลูกบนหลังหนู แต่ใช้ยีนของหนูเอง แต่มีแม่พิมพ์เป็นรูปหูคน (น่ากลัว) ปกติเขาต้องเลี้ยงหนูนี้อย่างดีในห้อง lab ไม่ให้เชื้อโรคเข้า คนจะเข้าไปต้องใส่เสื้อพิเศษ ใส่หมวกมีผ้าปิดปากปิดจมูก ห้องต้องรักษาอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 22-25◦c เอามาแสดงในนิทรรศการคนเยอะแยะ อุณหภูมิ 30◦c หนูไม่มีความต้านทานเชื้อโรคเลยป่วย แถมยังกินนอนไม่เป็นเวลา ต้องเอาไปอยู่โรงพยาบาล วันที่ข้าพเจ้าไปนั้น มีผู้นำจีนไปกันหลายคน ทุกคนอยากดูหนูตัวนี้ เขาก็เลยเอาออกมาแสดงอีก หนังสือพิมพ์สรุปว่าน่าสงสารหนู ป่วยยังต้องทำงาน

(น.177) วันนี้ครูให้ข้าพเจ้าพูดเรื่องการแสดงละครไทย เมื่อเรียนเสร็จแล้ว อาจารย์เผย์มาเอาที่ช่วยแปลเกี่ยวกับอิทธิพลจีนในศิลปะไทยมา อาจารย์เผย์ไม่ทราบว่าบางคำจะใช้ภาษาจีนว่าอย่างไรดี เช่น คำว่า ไม้ประกับคัมภีร์ ตอนนี้ใช้คำว่า ปกคัมภีร์ไปก่อน ต้องโทรศัพท์ไปถามพุทธสมาคม ถามว่าเขาใช้ศัพท์เฉพาะว่าอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้ข้าพเจ้าจะเตรียมไว้พูดปาฐกถา ในห้องข้าพเจ้ามีเครื่องส่งโทรสาร อ้อยส่งแฟกซ์ไปที่ออฟฟิซ ขอให้ส่งฟิล์มมาเพิ่มเติม ข้าพเจ้าไม่เคยส่งแฟกซ์เลยตั้งแต่มา อ้อยเลยทดลองเป็นคนแรก ข้าพเจ้าจะถ่ายซีร็อกซ์ที่ข้าพเจ้าเขียนปาฐกถาเรื่อง “วัฒนธรรมไทย” ก็เลยใช้เครื่องนี้ อาจารย์เผย์ไปแล้ว ข้าพเจ้ารับประทาน มีข้าว ซุปข้าวโพด พริกผัด ไข่ผัดพริก ข้าพเจ้าเอากระทงทองใส่ไก่ผัดตั้งฉ่ายที่ป้าจันทำมารับประทานด้วย รับประทานมะม่วงสุกเป็นของหวาน รับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ป้าจัน จี้ และครูฟั่นมา ถึงเวลาบ่าย 2 โมงครึ่ง อาจารย์จังกับอาจารย์หวังพาอาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง 4 คน คือ


(น.177) รูป 195 อาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง 4 ท่าน มาสนทนาเรื่องปัญหาสตรี
Four professors from Peking University came to discuss about women's problem.


(น.178) รูป 196 ดูสถิติการเข้าเรียนระดับต่างๆ
Looking at the graph indicating various levels of education Chinese women attend.

(น.178)
1. ศาสตราจารย์เว่ยกั๋วอิง เป็นบรรณารักษ์วารสารมหาวิทยาลัยปักกิ่งและเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาศาสตร์ของปักกิ่ง
2. องศาสตราจารย์เจิ้งเจินเจิน เป็นอาจารย์การวิจัยประชากรศาสตร์
3. ศาสตราจารย์แพทย์หญิงหวงหลินหง รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและอบรมสุขภาพสตรีและเด็ก มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ปักกิ่ง
4. ศาสตราจารย์แพทย์หญิง โจงฉงเล่อ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลหมายเลข 1 แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (เป็นกุมารแพทย์)
ทั้ง 4 คนมาสนทนาเรื่องปัญหาสตรี อาจารย์เว่ยกั๋วอิง กล่าวว่าในจีนสตรีมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่าประเทศอื่น ในต่างประเทศมีการวิจัยเรื่องนี้ เมืองจีนก็มีเหมือนกัน จึงเปรียบเทียบเรื่องนี้ได้ (อาจารย์ยกตัวเลขมาเยอะแยะจะไม่ขอกล่าวในที่นี่) นอกจากสมาชิกสภาต่างๆ แล้ว กรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ก็มีผู้หญิงเป็นจำนวนมาก พนักงานของรัฐระดับผู้ใหญ่ก็มี เช่น ผู้ใหญ่ระดับรองนายกเทศมนตรีนครใหญ่ๆ ผู้ว่าราชการมณฑลและรอง


(น.179) รูป 197 ด้านการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และด้านสุขภาพ
Discussing about women's political participation and health.

(น.179) ในด้านการศึกษา เมื่อดูในกราฟแล้วเห็นได้ว่าระดับประถมศึกษา ผู้หญิงได้เรียนเป็นจำนวนมาก แต่ในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาถือว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร ในเมืองกับในชนบทแตกต่างกัน ในเมืองชายกับหญิงได้รับการศึกษาเท่าๆ กัน แต่ในชนบท ชายการศึกษาสูงกว่าหญิง ถึงแม้ว่าชายหญิงจะมีโอกาสศึกษาเท่าๆ กันแล้ว ชายยังมีโอกาสในเรื่องการทำงานมากกว่า เพราะบริษัทยังคิดว่าผู้หญิงทำงานในที่ทุรกันดารไม่ได้ ต้องออกลูก (ลาคลอด) ทางศูนย์วิจัยเคยไปศึกษาที่ทำงานต่างๆ มีเงื่อนไขการหยุดงานของสตรีต่างๆ กัน บางแห่งให้หยุดปีหนึ่ง แต่มาตรฐานของประเทศคือ 3 เดือน ที่จริงพวกผู้หญิงก็ไม่ได้อยากหยุดงาน เพราะหยุดไปปีหนึ่ง เพื่อนร่วมงานได้เลื่อนขั้นสูงกว่าแล้ว ในตะวันตกผู้หญิงหยุดงาน 3 ปี จนลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลก็เปลี่ยนงานใหม่ได้ จุดประสงค์ที่ให้หยุดงานเพราะ


(น.180) รูป 198 อาจารย์ 4 ท่านที่มาเป็นวิชาการ
With the four lecturers.

(น.180) ต้องการให้ลูกกินนมแม่ เรื่องกินนมแม่นั้น ในชนบทไม่มีปัญหา มีปัญหาแต่ในเมือง เพราะแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เลี้ยงนมแม่ 4 เดือน เดี๋ยวนี้พวกผู้หญิงมีความรู้มากขึ้น เวลาตั้งครรภ์จะพยายามหาของดีๆกิน ปัญหาเรื่องออกลูกตายก็ไม่มีแล้ว บางทีที่ล้าหลังก็ยังมีการออกลูกที่บ้าน หลังคลอดต้องอยู่บ้านเดือนหนึ่ง ออกจากบ้านไม่ได้ ไม่รับประทานโน่นนี่ ไม่สระผม เรื่องการขาดธาตุอาหารมีอยู่บ้าง ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ การขาดแคลเซียม เรื่องธาตุอาหารนี้สำคัญมากสำหรับหญิงมีครรภ์และเด็ก สภาพภาคเหนือและภาคใต้ไม่เหมือนกัน ภาคเหนือมีปัญหามาก เพราะอากาศหน้าหนาวหนาวมาก เด็กบางคนไม่ได้ออกจากบ้านเลย ไม่ได้รับแสงอาทิตย์ทำให้กระดูกอ่อนแอ หลังคด หัวแบน ส่งเสริมให้เด็กกินไข่กินนม สมัยนี้นมก็เติมสารอาหารต่างๆ ธาตุเหล็กช่วยให้เลือดเดินได้ดี สมองแจ่มใส เด็กในเมืองมีเจ้าหน้าที่อนามัยตรวจสุขภาพเป็นประจำ

(น.181) เรื่องโรคพยาธิมีน้อยลง เพราะมีการรณรงค์เรื่องอนามัยให้เด็กล้างมือก่อนรับประทานอาหาร แต่ก่อนนี้ผักมีพยาธิเพราะนิยมใช้อุจจาระรด แต่ว่าปัจจุบันนี้นิยมใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ไม่นิยมใช้อุจจาระ สมัยก่อนชอบทำห้องน้ำกับห้องครัวรวมกัน ปัจจุบันทางการให้แยกกันคนละที่ ขณะนี้นับว่าพ่อแม่มีลูกคนเดียว (ในชนบทอาจจะมี 1-3 คน) มีลูกน้อยคนก็เลยรักลูกมาก หาของดีๆ ให้กิน ให้รับการศึกษาดีที่สุด ชายหญิงก็เลี้ยงดีเหมือนกัน ทางการก็ไปตรวจตามโรงเรียน ฉีดยาสร้างภูมิคุ้มกัน ในที่ทุรกันดารมีโรคขาดสารอาหารไอโอดีนก็ส่งเสริมให้ใช้เกลือไอโอดีนและน้ำไอโอดีนหยดในน้ำดื่ม การศึกษาระดับประถมจัดได้กว้างขวาง ขจัดการไม่รู้หนังสือ ในท้องถิ่นที่รัฐบาลเข้าไปจัดการได้ยาก มักมีผู้บริหารระดับพื้นที่จัดตั้งโรงเรียน มีครูสอน ชาวบ้านร่วมกันลงทุนในด้านการศึกษา นอกจากนั้นมีผดุงครรภ์ หมอหมู่บ้านดูแลสุขภาพ เวลา 16:30น. ไปที่ตึกภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เมื่อเข้าไปเห็นรูปศาสตราจารย์เฉิน (รองอธิการกำลังถือต้นพิทูเนียที่ผสมใหม่ให้ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน) รองหัวหน้าภาควิชาชื่อ ดร. กู้หงยา มาต้อนรับ นำขึ้นไปที่ห้องประชุมบรรยายสรุปเรื่องการทำงาน ฟังไม่ค่อยทัน ขอเอกสารก็บอกว่ายังไม่ได้พิมพ์ ที่จริงน่าจะขอให้เขาช่วย print เอกสารเท่าที่เขาแสดงใน powerpoint เอาเป็นว่าภาควิชาได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และมีการวิจัยของภาควิชาเอง การวิจัยบางอย่างก็ร่วมกับภาคเอกชน เช่น มีการปลูกถ่ายยีนที่ป้องกันโรคได้และทำให้มีผลผลิตสูงขึ้นในข้าว มีการปลูกถ่ายยีนป้องกันเชื้อไวรัส CMV ในพริกลูกใหญ่ เป็นการเพิ่มผลผลิต การทดลองภาคสนามทำที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และในมณฑลยูนนาน

(น.182) การผสมพันธุ์ดอกไม้ เช่น ดอกพิทูเนีย ให้มีสีต่างๆ ในต้นเดียวกัน มีทั้งสีม่วง สีขาว และลายๆ (ขาวๆ ม่วงๆ) การผลิตยารักษาโรคร่วมกับบริษัท Kexing ใช้วิธี cloning และตัดต่อยีนพืช โรงงานอยู่ที่เซินเจิ้น (พัฒนาการใช้เทคโนโลยีให้เป็นระดับการค้า ) เช่น ผลิตยาด้วยการ clone เม็ดเลือดขาว รักษาไวรัสในตับทั้งชนิด A และ B ทั้งยังมีส่วนรักษามะเร็งในตับ ผลิตยาซึ่งมีสรรพคุณรักษาโรคเอดส์ website : http://www.cbi.pku.edu.cn มีโครงการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น โครงการอนุรักษ์หมีแพนด้า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหมีแพนด้าของภาควิชาได้รับเชิญไปบรรยายที่ต่างประเทศหลายแห่ง หมีแพนด้าพวกนี้ชอบอยู่ในป่าไผ่ กินใบไผ่ (ฉะนั้นต้องอนุรักษ์ป่าไผ่ด้วย?) โครงการอนุรักษ์ลิงหัวขาว ซึ่งอยู่ในภูมิประเทศแบบคาร์สต์ (Karst - ภูมิประเทศแบบหินปูน) ที่มณฑลก่วงซี (กวางสี) เป็นลิงกินใบไม้ (ซึ่งเรียกว่าลิงใบไม้หัวขาว แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นลิงกินใบไม้ เคยเห็นแต่ลิงกินผลไม้) ลิงประเภทนี้ตัวผู้ตัวเดียวมีเมียหลายตัว


(น.182) รูป 199 ไปตึกเทคโนโลยีชีวภาพ
Biological technology section.

Next >>