Please wait...

<< Back

" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2544 "

(น.190)
(น.191) วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2544
ซ้อมสีซอจีน รำมวยจีนวันนี้พวกที่มาใหม่ก็มาร่วมงานด้วย ยกเว้นซุป แต่แรกรู้สึกว่าค่อนข้างเย็น (-3◦c) อาจารย์หวัง (วีดีโอ) มาถ่ายบอกว่าให้รำอยู่ริมทะเลสาบนั่นแหละ ไม่ได้ต่อท่าใหม่ เมื่อวานนี้สอนท่างมเข็มในมหาสมุทรเฉพาะท่ามือ วันนี้สอนท่าเท้า ถามครูว่างมเข็มในมหาสมุทรคืออะไร ครูว่าที่จริงเป็นศัพท์วิชาฝังเข็ม หมายถึง ส่วนล่างของร่างกาย ขึ้นมาอาบน้ำแล้วคุยภาษาไทย จนถึงเวลาเรียน พรรคพวกจะช่วยเตรียมที่ข้าพเจ้าจะต้องบรรยาย ครูจังอิงทวนศัพท์ที่เรียนเมื่อวานนี้ เล่าเรื่องที่อ่านเมื่อวาน ทำแบบฝึกหัด ให้การบ้านแต่งประโยค และเขียนเรื่องสถานภาพสตรี ที่จริงก็สมกับกาลเวลาเพราะวันนี้เป็นวันสตรีสากล


(น.191) รูป 207 มวยจีน
Practising Taiji.
v (น.192) ครูให้หนังสือที่เขียนเองเกี่ยวกับพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอีกเล่มมีผู้ร่วมเขียนหลายคนเกี่ยวกับสถานที่น่าสนใจในปักกิ่ง สนทนาภาษาจีน เรียนเรื่องของศาสตราจารย์จี้เซี่ยนหลิน เพราะเราจะไปหาท่านที่บ้านบ่ายนี้ อ่านแล้วรู้สึกประทับใจถือว่าเป็นคนพิเศษ ท่านเป็นคนซานตง เริ่มแปลหนังสือภาษาอังกฤษตั้งแต่อายุน้อย ต่อมาเรียนวรรณคดีตะวันตก ที่จริงสอบได้ทั้งที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยซิงหัว แต่เลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยซิงหัว แปลบทกวีของเฮอลเดอรีน (Holderin) เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนของมหาวิทยาลัย ไปที่มหาวิทยาลัยเกอร์ทิงเกน (Gottingen) ได้เรียนภาษาสันสกฤตจนจบปริญญาเอก เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับไวยากรณ์ในหนังสือมหาวัสตุ เรียนสันสกฤตแล้วยังเรียนภาษาบาลี (เรียนภาษารัสเซีย ยูโกสลาเวีย อาหรับ) กลับมาสอนภาษาสันสกฤต เขียนหนังสือเกี่ยวกับศกุนตลาของกาลิทาส ไปที่พม่าเยี่ยมสมาคมค้นคว้าเกี่ยวกับพม่า เขียนเกี่ยวกับปัญจตันตระ ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมทำอะไรไม่ค่อยได้ แอบแปลรามายณะภายหลังเขียนเกี่ยวกับรามายณะต่อไป ค้นคว้าเรื่องความสัมพันธ์จีน อินเดีย ศึกษาพุทธศาสนา ท่านเคยเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นบุคคลตัวอย่าง เนื่องจากศึกษามาก เขียนหนังสือไม่หยุดทั้งๆ ที่ทำงานบริหารด้านการสอน เป็นนักวิชาการที่ทำได้ครบถ้วนพร้อมทุกอย่าง ทั้งเป็นนักเขียนนักวิจัย ครู ผู้บริหาร เวลานี้อายุ 90 ปีแล้ว เตรียมเรื่องพบอธิการบดีคืนนี้ ครูหวังบอกว่าให้ดูเทปที่พูดกับรัฐมนตรีเฉินจื้อลี่ และเห็นว่าตรงไหนที่ยังเขียนไม่ดีให้แก้ไข ที่ข้าพเจ้าพูดวันนั้นครูฟังแล้วเขียนออกมาให้เป็นบทสนทนา ศัพท์ไหนที่ข้าพเจ้าพูดไม่ออกหรือใช้คำผิดก็แก้ให้เสร็จ แล้วเขียนให้ด้วยว่าอ่านอย่างไร แปลว่าอะไร บางตอนที่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเสียด้วยซ้ำว่ารัฐมนตรีหมายถึงอะไร ครูเขียนให้ เช่น ข้าพเจ้าบอกว่าอยู่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เช้าขึ้นก็เรียนมวยจีน รัฐมนตรีบอกว่า สมัยเรียนหนังสือกระทรวงศึกษาธิการให้เรียนมวยจีน ครู

(น.193) เล่าว่าสมัยนั้นเป็นช่วงข้าวยากหมากแพง (ค.ศ.1960-1963) ไม่มีอะไรกินเลย นักเรียนนักศึกษาสุขภาพไม่ดี รัฐบาลไม่ให้วิ่ง ไม่ให้ว่ายน้ำ ให้รำมวยจีนเพราะช้าหน่อย เรียนเสร็จรับประทานอาหาร ขนาดบอกแล้วว่ารับประทานคนเดียว ก็ยังเอาอาหารมาเยอะ มีข้าว กระดูกหมูผัดเปรี้ยวหวาน ที่จริงจะไปว่าเขาก็ไม่ได้ว่าเอาอาหารมากเกินไป ข้าพเจ้าเอาไก่ผัดตั้งฉ่ายที่ป้าจันทำใส่กระทงทอดรับประทานด้วย แล้วยังรับประทานสตรอเบอรี่ใส่นม ตอนบ่ายอ้อยมาถึงก่อนนั่งคุยกันไป สักประเดี๋ยวประพจน์ ซุป และครูฟั่นมา ซุปขอดูต้นฉบับบันทึกที่ข้าพเจ้าเขียนถึงกิจกรรมในแต่ละวันที่มาแสวงหาวิชาความรู้ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง อ้อยดูด้วย เขาก็เลยขอเอาไป xerox เราขอให้ครูฟั่นช่วยแปลปาฐกถาของรัฐมนตรีเฉินจื้อลี่ เป็นภาษาฝรั่งเศส ส่วนประพจน์ช่วยเลือกรูปที่ข้าพเจ้าจะใช้พูดปาฐกถา ครูสอนสีซอมา ข้าพเจ้าให้ดูซออีกคันหนึ่ง คันแรกหาหมอนซอไม่เจอ พอดีเอาของซออีกคันหนึ่งมาใส่ ครูก็เลยบอกวิธีรักษาซอว่าให้ใส่กล่องอย่างดี หยิบออกมาสีทุกวัน ต้องคอยเช็ดทำความสะอาดให้ดี เอาผ้าแพรบางๆ ห่อ กินขนมห้ามสีซอต้องล้างมือให้ดีก่อน ไม่ให้คันชักสกปรก ซอคันที่สองที่รัดอกเป็นด้ายธรรมดา ครูบอกว่าไม่สวยให้เอาสายเอกซอด้วงของไทยรัดแทน การวางหมอนซอก็ต้องมีวิธีไม่ให้ครูดกับหน้าซอ ตำแหน่งที่วางซอจะเหลี่ยมกับซอ 8 เหลี่ยม ไม่เหมือนกัน ตอนแรกครูให้สีเพลง jingle bell ก่อน แล้วสีเพลงแข่งม้า (ไซ่หม่า) ซึ่งข้าพเจ้ายังรู้สึกว่ายาก แล้วกลับไปเพลงง่ายๆ อีก ปัญหาเดิมยังแก้ไม่ตกทั้งมือซ้ายมือขวา ครูให้เสื้อผ้าไหมลายเป็นรูปของโบราณ มีไม้แขวนเสื้อทำด้วยไผ่ ดูแปลก แต่แรกดูไม่ออกว่าเป็นอะไรนึกว่าเป็นคันชักซอขนาดใหญ่ๆ ครูให้เดาว่าอะไร ข้าพเจ้าคิดอีกทีบอกว่าเป็นไม้แขวนเสื้อ เป็นอันว่าทายถูก เสื้อนี้แขวนไว้ดูเล่นก็ได้สวมก็ได้ นอกนั้นเป็นหนังสือบทกวีเล่มหนึ่ง


(น.194) รูป 208 เรียนซีซอเอ้อร์หู
Practising Er-hu fiddle.

(น.194) มีโน้ตเพลงจีน 3 เล่ม ครูให้นามบัตรผู้อำนวยการวิทยาลัยดนตรี บอกว่าผู้อำนวยการคนนี้เป็นนักร้อง ข้าพเจ้าบอกว่าร้องเพลงจีนไม่เป็นสักเพลง ช่างภาพที่กระทรวงศึกษาส่งมาบอกว่าเขาร้องได้ แล้วร้องให้ฟัง เนื้อเพลงเป็นบทกวีโบราณ ร้องเสียงดีมาก ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเพลงแบบนี้เลย เวลา 4 โมงครึ่ง อาจารย์หลายท่านมาพาข้าพเจ้าไปที่หอพักอาจารย์ เดินผ่านอาคารเตี้ยๆ อาจารย์จังอธิบายว่าสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงเป็นที่ประทับของเจ้าหญิง มีหลังหนึ่งเป็นสมาคมศิษย์เก่าจากยุโรปและอเมริกา ศิษย์เก่าจากเอเชียไม่ยักมีสมาคม เดินสวนกับผู้สูงอายุคนหนึ่งได้ทราบทีหลังว่าเป็นนักเขียนพู่กันจีนที่มีชื่อเสียงมาก เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่งเหมือนกัน


(น.195) รูป 209 เรียนสีซอเอ้อร์หู
Practising Er-hu fiddle.


(น.196) รูป 210 ไปบ้านอาจารย์จี้เซี่ยนหลิน
Visiting Prof. Ji Xianlin.

(น.196) เราไปเยี่ยมอาจารย์จี้เซี่ยนหลิน ถึงจะอายุมากแล้ว แต่สุขภาพยังดีอยู่ สมองดี พูดชัดเจน มีเลขานุการคนหนึ่ง ลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่ท่านอยู่มีหลายห้อง เป็นห้องเล็กๆ มีหนังสือเต็มไปหมด มีของตั้งประดับอยู่บ้าง ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาก็มี ในห้องมีรูปเขียนดอกบัวสีชมพู ดอกบัวชนิดนี้ผู้ที่ผสมพันธุ์ (?) ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ท่านว่า จี้เหอ คือดอกบัวของอาจารย์จี้ ที่คูน้ำหน้าห้องของท่านเป็นต้นบัวที่อาจารย์จี้ปลูกเอง ตอนนี้ยังหนาวบัวจึงไม่มีดอกไม่มีใบ ข้าพเจ้าต้องกลับมาใหม่ตอนฤดูร้อน (คิดว่าจะกลับมาอยู่แล้ว) ถามท่านว่า

(น.197) ทำไมเรียนภาษาสันสกฤต ท่านอธิบายว่าวัฒนธรรมใหญ่ๆ มีวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งสองวัฒนธรรมมีความเกี่ยวข้องกัน จีนรับวัฒนธรรมหลายอย่างจากอินเดียที่เห็นชัดเจนคือพุทธศาสนา ท่านเล่าเรื่องการสอนภาษาสันสกฤตในมหาวิทยาลัยปักกิ่งว่าเรียนกันมา 4 รุ่นแล้ว พูดชื่อคนโน้นคนนี้ข้าพเจ้าไม่รู้จัก สรุปได้ว่าแต่ละรุ่นมีคนเรียนไม่มากนัก รวมๆ กันทั้งหมดมี 18 คน ตอนนี้ก็ยังมีคนเรียนกับท่าน มาเรียนที่บ้าน ข้าพเจ้าบอกว่าตอนที่ข้าพเจ้าเรียนภาษาบาลีก็ไปเรียนที่บ้านอาจารย์แย้ม ข้าพเจ้าถามว่าท่านสอบเข้าได้ทั้งมหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยซิงหัว ทำไมไม่เรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ไปเรียนที่ซิงหัว (ซึ่งส่วนใหญ่เรียนด้านวิศวะ) อาจารย์จี้ (ซึ่งลูกศิษย์เรียกกันว่า จี้เหล่า หมายถึง อาจารย์ผู้ใหญ่) บอกว่าสมัยนั้นมหาวิทยาลัยซิงหัวมีความสัมพันธ์อันดีกับมหาวิทยาลัยเกอร์ทิงเกนในเยอรมนี ท่านคิดว่าจะมีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ ตอนที่ไป เรียนทั้งภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาพระเวท ภาษาปรากฤต ภาษา Hybrid Sanskrit ซึ่งเป็นภาษาที่ท่านชำนาญ


(น.197) รูป 211 ห้องหนังสือของอาจารย์จี้
His library.


(น.198) รูป 212 ห้องคัมภีร์
The room where scriptures are kept.

(น.198) เขียนวิทยานิพนธ์ก็เขียนภาษาเยอรมัน เรื่อง มหาวัสตุ ซึ่งเป็นภาษา Hybrid Sanskrit ท่านแปลรามายณะจนจบ เอามาให้ข้าพเจ้าทั้งหีบ มีหนังสือรวมบทความ หนังสือสอนภาษาสันสกฤต ที่นั่นเรียนกับอาจารย์ Waldschmidt และอาจารย์ Sieg (สอนไวยากรณ์มหาภาษยะ) ท่านบอกว่าเวลานี้มหาวิทยาลัยเกอร์ทิงเกนก็ยังมีความสัมพันธ์กับท่าน ส่งนักศึกษามาเรียน ถามท่านว่าภาษาถูหั่วหลัวที่ท่านเรียนเป็นภาษาอะไร ท่านบอกว่าภาษาโทคาริก ซึ่งเป็นภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน อยู่ในซินเจียง มีสองกลุ่ม เรียกกันว่ากลุ่ม A และกลุ่ม B หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับภาษานี้เป็นหนังสือที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกอร์ทิงเกนเป็นผู้พิมพ์ ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเกอร์ทิงเกนนี้พิมพ์หนังสือดีๆ เห็นท่าจะต้องลองไป ข้าพเจ้าคิดจะไปเรียนภาษาเยอรมันที่ประเทศเยอรมันสักครั้งหนึ่ง ทางสถาบันเกอเธ่ที่ประเทศไทยแนะนำให้ไปเรียนที่เกอร์ทิงเกน มีคนชวนไปที่อื่นซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าน่าสนใจเหมือนกัน คิดอีกทีไปเกอร์ทิงเกนดีกว่า จะได้มีโอกาสไปเรียนภาษาสันสกฤตบ้าง

(น.199) ท่านมีห้องหนังสือหลายห้อง มีหนังสือโบราณ หนังสือทางพุทธศาสนาก็เยอะแยะ มีพระไตรปิฎก ตอนนี้กำลังค้นคว้าพุทธศาสนานิกายวัชรยาน (แบบทิเบต) ในเมืองคู่เชอ (เมืองนี้ชาวต่างชาติมักเรียกเคลื่อนเป็นเมืองกุฉา-Kucha) ทางตะวันตกของภูมิภาคปกครองตนเองซินเจียง มีหนังสือของ Pali-Text Society ข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้าก็มี แต่ตัวแมลงกินไปบ้าง อาจารย์ว่าที่เมืองจีนก็มีแมลงต้องระวังเหมือนกัน ข้าพเจ้าหยิบหนังสือมาดูเล่มหนึ่ง เป็นพจนานุกรมภาษาอิหร่านโบราณแปลเป็นภาษาเยอรมัน ภาษาอิหร่านโบราณกับภาษาสันสกฤตมีส่วนใกล้เคียงกันมาก ห้องกระจกเล็กๆ มองไปเห็นคูน้ำ เป็นห้องที่จี้เหล่าใช้นั่งเขียนพู่กันจีน มีกระดาษเขียนจดหมาย มีตราของจี้เหล่าและมีรูปดอกบัว


(น.199) รูป 213 ห้องนอน
The bedroom.

Next >>