Please wait...

<< Back

" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม 2544 "

(น.222)

(น.222) วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม 2544
เช้านี้กำลังคิดว่าจะเริ่มทำอะไรก่อน มีเรื่องการบรรยายปาฐกถาและนักข่าวสัมภาษณ์ พอดีประพจน์โทร.มาจากสถานทูตว่าที่ประพจน์ จี้ ป้าจัน บอกว่าจะมาตอนเช้านั้น มาไม่ได้แล้ว เพราะเมื่อวานนี้นัดกันเรื่องรถไม่ค่อยรู้เรื่องป่านนี้รถยังไม่มา หกโมงครึ่งข้าพเจ้าลงไปวิ่งรอบทะเลสาบตามปกติ อากาศไม่หนาวสว่างเร็วกว่าแต่ก่อน แต่ดูเหมือนว่าน้ำแข็งในทะเลสาบจะมากกว่าเมื่อวาน ที่แปลกกว่าวันอื่นคือ มีนก (ตำรวจบอกว่ากา) ฝูงใหญ่บินไปบินมาบนท้องฟ้า นกสี่เชวี่ย (กาเหว่า, Magpie?) เยอะขึ้น เจอคนวิ่งพลางฟังภาษาอังกฤษไปพลางอีก คิดว่ากลับเมืองไทยจะทำแบบนี้บ้าง

(น.223) ขึ้นมาทำกิจวัตรประจำวันเสร็จ นั่งรับประทานส้มพลางเขียนหนังสือเปิดหน้าต่าง ฟังเสียงนกร้อง ประมาณ 8 โมง พวกที่มาจากสถานทูตมาถึง ท่านทูตจัดโต๊ะที่จะเลี้ยง วันที่ 13 และคนที่อยากพบวันที่ 15 วันนี้ข้าพเจ้าใส่เสื้อที่พิมพ์ลายเป็นบทกวี “จิ้งเยี่ยซือ” หรือ “ความคิดคำนึงในคืนสงบ” ของหลี่ไป๋ ที่ข้าพเจ้าแปลและพิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว มีความว่า
หน้าเตียงแสงจันทร์กระจ่าง
ประดุจว่าน้ำค้างแข็งบนพื้นดิน
เงยหน้ามองดูจันทร์สว่าง
ก้มหน้านึกถึงบ้านเกิด


(น.224) รูป 232 นั่งรถกระเช้าขึ้นกำแพงเมืองจีน
Going up to the Great Wall in a cable car.

(น.225) 9 โมงออกเดินทางไปกำแพงเมืองจีน ส่วนที่เรียกว่า มู่เถียนอวี้ กำแพงเมืองจีนส่วนนี้ ข้าพเจ้ายังไม่เคยไป ในรถหงเอี้ยนดูหนังสือฉลองพระชนมายุ 6 รอบ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นผู้เขียน ศาสตราจารย์ จี้เซี่ยนหลิน เขียนคำถวายพระพร นอกเมืองเห็นคนขับรถเทียมลากันมาก ไปถึงกำแพงเมืองจีน เดินขึ้นไปหน่อยหนึ่ง ขึ้นกระเช้าไปดูทัศนียภาพกำแพงช่วงนี้อยู่ที่อำเภอหวยโหรว ห่างจากนครปักกิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 70 กิโลเมตร เริ่มบูรณะ ค.ศ.1983 เปิดให้คนชมได้ ค.ศ.1988 ขึ้นไปมีป้ายเขียนว่า บริษัทเฮงเคลจากเมืองดุสเซลดอร์ฟช่วยซ่อมใน ค.ศ.1989 กำแพงส่วนนี้สร้างสมันราชวงศ์หมิง คำว่า มู่เถียน เป็นชื่อสถานที่ อวี้ แปลว่า หุบเขา กำแพงสร้างตามหลักพิชัยสงคราม มีลักษณะพิเศษคือ สร้าง 3 แนว มีป้อมสำหรับตรวจสถานการณ์อยู่ในที่ที่จะสามารถสั่งการได้ดี มีหอสำหรับจุดไฟส่งสัญญาณ กำแพงด้านในเมืองจะชันน้อยกว่าด้านนอก ฉะนั้นศัตรูจะเข้ามาได้ยาก แถมมีหลุมป้องกันไม่ให้กองทหารม้าของข้าศึกเข้าไปได้


(น.226) รูป 233 นายพลบนกำแพงเมืองจีน
A general on the Great Wall.


(น.227) รูป 234 ช่องบนกำแพงเมืองจีน
On the Great Wall.


รูป 235 เด็กๆ มาเที่ยว มีปืนใหญ่
Young tourists beside a cannon.


(น.228) รูป 236 บนกำแพงเมืองจีน (ใส่เสื้อบทกวีของหลี่ไป๋)
At the Great Wall (in a shirt with Li Bai's poem on it).


(น.229) รูป 237 ประกาศนียบัตรแสดงว่าได้เยือนกำแพงเมืองจีนแล้ว
A certificate to mark the visit.

(น.229) กำแพงตอนนี้สร้างเมื่อ ค.ศ.1368 ภายใต้การควบคุมของจูหยวนจังหรือจักรพรรดิหงอู่ ผู้สถาปนาราชวงศ์หมิง ส่วนที่สูงที่สุด สูงกว่าระดับน้ำทะเลพันกว่าเมตร เดินขึ้นชันมาก แต่ซุปกับป้าจันเดินได้ มีของขายหลายอย่างตามแบบสถานที่ท่องเที่ยว คนขายชอบพูดโฆษณา คนที่พูดภาษาอังกฤษได้ก็มี ก่อนกลับผู้ดูแลสถานที่ให้ประกาศนียบัตรว่าปีนกำแพงเมืองจีนแล้ว

(น.230) ไปที่ร้านอาหารเซี่ยงหยังถุน แปลว่า หมู่บ้านทานตะวัน เป็นอาหารแบบชนบทสมัยโบราณ มีแต่ผักเป็นส่วนใหญ่ แต่แพงมาก ที่แพงคงเป็นเพราะว่า ผักพวกนี้ไม่ใช่ของที่กินในตลาดทุกวัน เช่น ใบหยัง ใบหลิว ใบอะไรไม่ทราบรสขม ส่วนมากเป็นอาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ ข้าพเจ้ารับประทานเสร็จ (ที่จริง คือ เหล่าเติ้งมาบอกว่าหมดเวลาแล้ว) พอกลับถึงหอพัก อาจารย์โป๋พาคุณดอน พี่ไก่ อ้วน ประพจน์ ไปพิพิธภัณฑ์แซกเคลอร์ (Sackier Museum) ซุปและอึ่งลากลับสถานทูตจะไปทำงาน ส่วนข้าพเจ้าคุยกับอาจารย์จังซิ่วหวนและอาจารย์จังอิงเรื่องรายการต่างๆ ที่เปลี่ยนไป วันพฤหัสบอกว่าจะไปวังฤดูร้อน ข้าพเจ้าว่าวังฤดูร้อนเคยไปแล้ว 4-5 ครั้ง อาจารย์ว่ารายการนี้คงยังไม่เคยไปคือปีนหอสูง อีกอย่างหนึ่งคือ จะชวนไปเมืองซูโจวจำลอง ข้าพเจ้าว่าเคยไปแล้วตอนเปิดใหม่ๆ อาจารย์ว่าถ้าอย่างนั้นไปสวนพฤกษศาสตร์ดีกว่า วันพรุ่งนี้ให้เตรียมคอมพิวเตอร์ที่จะพูด เตรียมลองเสื้อครุย เพราะวันที่ 13 จะมีการมอบปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ ข้าพเจ้าว่าอยากจะเรียนเขียนตัวอักษรอีกครั้งหนึ่งก่อนกลับกรุงเทพฯ แต่ดูเวลาแล้วไม่มีจริงๆ เพราะเช้าวันที่ 15 มีนาคมนั้นข้าพเจ้าควรดูข้าวของว่าไม่มีอะไรหายหกตกหล่น กลางวันรับประทานอาหารกับบุคคลต่างๆ แล้วกลับกรุงเทพฯ ตอนบ่าย ส่วนเรื่องสัมภาษณ์วันที่ 13 นั้น นักข่าวถามอะไรมา ไม่อยากตอบก็ไม่ต้องตอบ เอาสั้นๆ ข้าพเจ้าว่าคำถามที่ส่งมาให้ดู มีอยู่คำถามหนึ่งที่รู้สึกว่าถามซ้ำเป็นสองข้อ พอดีคณะไปพิพิธภัณฑ์กลับมา ประพจน์เอาหนังสือมาฝากเล่มหนึ่งแล้วบอกว่าจะไปศูนย์สรรพสินค้าหงเฉียวกับพี่ไก่ อ้วน

(น.231) เขาไปกันหมดแล้ว ข้าพเจ้าลองเขียนตัวอักษรอีกทียังไม่เข้าท่าเลย เขียนได้ชั่วโมงหนึ่งก็เลิก เปลี่ยนมาเตรียมเรื่องที่จะให้สัมภาษณ์ จี้กับป้าจันมาเก็บของไปเสียบ้าง ถึงเวลา อีก 10 นาที 6 โมง ไปโรงแรมแชงกรีลา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพเลี้ยง ท่านบอกว่าเลือกที่โรงแรมนี้ เพราะว่าอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ข้าพเจ้าจะได้ไม่ลำบาก พูดถึงจะไปทิเบต ท่านบอกว่ามีฝรั่งคนหนึ่งมีโอกาสต้องไปทิเบตทุกปี ไปเก็บอะไรก็ไม่ทราบ แสดงว่าเรื่องของพืชที่ทิเบตก็น่าสนใจ ข้าพเจ้าสนใจเรื่องสัตว์ที่ทิเบตด้วยว่ามีนักวิจัยจีนไปวิจัยบ้างหรือไม่ มีการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่นั่นบ้างหรือไม่ พูดถึงที่น่าไปอื่นๆ เช่น ภูเขาฉังไป๋ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่ต้องไปหน้าร้อน ข้าพเจ้าเคยไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนหน้าหนาวขึ้นไปบนภูเขานี้ไม่ได้ ที่ตุนหวงก็มีการค้นคว้าเพิ่มเติม มีหนังสือใหม่ๆ ที่น่าสนใจเช่นกัน พูดกันถึงเรื่องคนอายุยืน ทุกคนอดไม่ได้ที่จะยกตัวอย่างศาสตราจารย์จี้เซี่ยนหลิน คนชอบถามว่าท่านออกกำลังกายอย่างไร (เช่น คนแก่มักจะเดินเล่น หรือรำมวยจีน) ท่านว่าไม่ออกกำลังใดๆ ทั้งสิ้น ที่จริงแล้วออกกำลังกายคือ ทำงานบ้านกวาดบ้าน ซักผ้า ทำทุกๆ อย่างด้วยตัวเอง ไม่ยอมให้คนอื่นช่วย ไม่จ้างลูกจ้าง สำหรับคนอายุ 90 ปี เท่านี้ก็นับว่ามากแล้ว ในเรื่องการศึกษาท่านรัฐมนตรีช่วยฯ ไปเรียนที่ Aachen ที่ Tubingen Gottingen ก็ไปแล้ว ถูกถามเรื่องศาสนา ตอนนี้คนจีนมีอิสระเรื่องนับถือศาสนา มีหลายศาสนา เช่น พุทธศาสนา อิสลาม คริสต์ มีศาสนาเต๋า แต่ลัทธิขงจื้อนั้นทางจีนถือว่าเป็นลัทธิความเชื่อถือไม่ใช่ศาสนา ผู้นำจีนถึงจะไม่นับถือศาสนา ส่วนมากก็ไหว้พระ จะเป็นอะไรไป

(น.232) ท่านสนใจปัญหาเรื่องสตรี มีหน้าที่ไปประชุมในเรื่องนี้ นอกนั้นกำลังสนใจการศึกษาของเด็กประถมศึกษา ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เช่น MIT ฮาร์วาร์ด ค้นคว้าเรื่องกลไกสมองของเด็กโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย และการใช้วิธีการด้านจิตวิทยา สามารถช่วยเด็กที่มีปัญหาได้ กระทรวงศึกษาธิการจีนสนใจการร่วมมือกับฝรั่งเศส ถ้าข้าพเจ้ามีโอกาสก็น่าจะไปศึกษาวิธีของเขาที่สอนในโรงเรียนประถมศึกษาที่เรียกว่า hands on คือเด็กได้หยิบจับทดลองจริงๆ อาจารย์เฮ่าผิง ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นรองประธานและเลขาธิการของมูลนิธิการศึกษา มหาวิทยาลัยปักกิ่งไม่มีโอกาสเจอข้าพเจ้า ฝากหนังสือที่เขาแต่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งมาให้ (ฝากไว้กับหงเอี้ยน) อาจารย์จี้เซี่ยนหลินเป็นคนเขียนคำนำให้ กลับมาที่หอพัก มีแต่ป้าจันและจี้มารอกลับพร้อมท่านทูต เพราะคนอื่นๆ ไม่มาแล้ว เตรียมเรื่องนักข่าวจะสัมภาษณ์ จะรีบเขียน จะได้ให้ครูจังอิงดูพรุ่งนี้